เวิร์คช็อปทำคู่มือสื่อในภาวะวิกฤติ สร้างมาตรฐานวิชาชีพ ไม่เป็นภาระจนท.ปฏิบัติหน้าที่
นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22-23 กันยายนที่ผ่านมา 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต" เป็นหนึ่งในโครงการถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน : จริยธรรมของสื่อ" จัดที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ จอมเทียนพัทยา และ ค่ายมหาเจษฎาราชเจ้า จ.ชลบุรี เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับสื่อมวลชนด้วยการจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อดูประกอบการอบรมว่าหากมีคู่มือดังกล่าวแล้วจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของสื่อมวลชนหรือไม่ในภาวะวิกฤติ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ แต่อีกมิติคือการคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติที่สื่อมวลชนจะต้องไม่เป็นอุปสรรคและภาระในการทำงานของเจ้าหน้าที่เช่นกัน
“คู่มือเล่มดังกล่าวเปรียบเหมือนตำราของสื่อมวลชนในการทำข่าวในภาวะวิกฤติที่มีทั้งต้องชื่นชมสื่อมวลชนและหลายสำนักข่าวปฏิบัติได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพียงแต่การมีคู่มือจะช่วยยกระดับให้กับสื่อมวลชนในการทำข่าวในภาวะวิกฤติให้มีมาตรฐานแห่งวิชาชีพในมาตรฐานเดียวกัน ลดช่องว่างความไม่เข้าใจกันกับเจ้าหน้าที่ โดยการอบรมจะมีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ พร้อมกับจะเป็นเครื่องมือหนึ่งให้สังคมได้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเช่นกันในภาวะวิกฤติเช่นกัน”
สำหรับรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการมีสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวกับภาวะวิกฤตเข้าร่วมจำนวน 100 คน ในการฝึกและสังเกตการณ์ โดยช่วงเช้าวันที่ 22 กันยายน ใช้ทีมวิทยากรจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จากโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ( Safety training) ที่ฝึกอบรมสื่อมวลชนครบ 10 ปีในปีนี้ ใช้รูปแบบการจำลองการปฏิบัติงานจริง(Drill Exercise)สถานการณ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุทำให้เกิดน้ำท่วม ที่สื่อมวลชนต้องลงพื้นที่ทำข่าว ถ่ายภาพ สัมภาษณ์ เขียนข่าว รายงานข่าว และจากนั้นมีการตรวจผลงานในช่วงเช้าวันที่ 23 กันยายน
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่า การถอดบทเรียนเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเพื่อยกระดับการทำงานของสื่อมวลชน และเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากหน่วยงานต่างๆ จากนั้นจึงร่างแนวปฏิบัติออกมาซึ่งหากดูรายละเอียดจะพบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนปฏิบัติอยู่แล้ว แต่คู่มือดังกล่าวนำมาจัดระบบให้เป็นฐานข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนสิ่งใดที่ไม่ได้ระบุอยู่ในคู่มือถือว่าเป็นสิทธิที่สื่อมวลชนสามารถทำได้ เพราะ ตามปกติมีกฎหมายควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนอยู่แล้ว เช่น หากละเมิดสิทธิผู้อื่นจะมีกฎหมายเรื่องการละเมิดสิทธิกำกับดูแลและมีบทลงโทษอยู่แล้ว สำหรับการอบรมครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรและนักประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐเข้าร่วมด้วย เพื่อร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนการปฏิบัติงานในเหตุภัยพิบัติทั้งการเรียนรู้เพื่อนำไปปรับแผนการทำงานของภาครัฐและเพื่อสะท้อนมุมมองการทำงานของสื่อมวลชน
ด้าน นางพิชญา เมืองเนา รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต โครงการ ถอดบทเรียน กรณีถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน และจริยธรรมของสื่อ ซึ่งออกแบบสถานการณ์ให้ผู้เข้าอบรมเข้าพื้นที่และฝึกปฏิบัติจริงในสถานการณ์จำลอง เพื่อเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติตนว่าควรดำเนินการอย่างไร หลังก่อนหน้านี้คณะทำงานจัดทำคู่มือ 29 ข้อที่พึงปฏิบัติของสื่อมวลชนระหว่างการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งคู่มือนี้ถอดบทเรียนจากกรณีถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน สำหรับคู่มือดังกล่าวหากกผ่านการเห็นชอบจะมีการนำไปแปลเป็นภาคภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตามมติคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
ดาวโหลด แนวปฏิบัติสื่อในภาวะวิกฤติ