จาก”นักข่าว”สู่ทีมสื่อสารพรรคการเมือง  เล่าเนื้องาน-ประสบการณ์จริง          

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

...............................................

            ในเส้นทางอาชีพ"นักข่าว-สื่อสารมวลชน"บางคนก็อาจทำอาชีพนี้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ก็มีอีกจำนวนมาก ที่เส้นทางชีวิตก็หันเหให้ไปทำอาชีพอื่น แต่ด้วยความที่เคยมีประสบการณ์การเป็นนักข่าวในสายต่างๆ มาก่อน ทำให้ เมื่อไปทำอาชีพอื่นเช่น การเป็นที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์-การเป็นพีอาร์องค์กรต่างๆ -เป็นนักวิชาการสอนหนังสือ  ก็พบว่า อดีตนักข่าวหลายคนก็ใช้ทักษะ ประสบการณ์การเป็นนักข่าว ไปทำงานใหม่ได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ 

            "ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน"ไปพูดคุยกับอดีตนักข่าว-อดีตคนทำสื่อ ที่ตอนนี้ไปทำงานด้านการสื่อสารทางการเมือง-ทีมโฆษกพรรคการเมือง-การพีอาร์ทางการเมือง ซึ่งคนที่เราพูดคุยด้วย นักข่าวหลายคนในปัจจุบันโดยเฉพาะ"สายการเมือง"ที่ติดตามทำข่าวพรรคการเมืองต้นสังกัดที่คนซึ่งเราสัมภาษณ์มาส่วนใหญ่ก็จะรู้จักดีอยู่แล้ว เพื่อให้เล่าประสบการณ์การทำงานในส่วนนี้ที่น่าสนใจ ซึ่งบางแง่มุม หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน     

จากนักข่าวการเมืองหกปี

สู่ทีมงานกองโฆษกพรรค

“คนที่อยู่ในวงการ ทำอาชีพข่าว สิ่งที่ทำกันเป็นปกติอยู่ทุกวัน ก็คือการต้องอ่านข่าว ติดตามข่าวตลอดทั้งวัน และทุกวันเพื่อให้ได้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะข่าวการเมือง และเมื่อเรามาทำงานในส่วนนี้ เราสามารถเอาประสบการณ์ เอาฟิลลิ่งข่าว เอาความรู้สึกที่เรารู้ได้ว่านักข่าวการเมืองต้องการอะไร การแสดงความเห็นเรื่องทิศทางข่าวการเมือง ในแต่ละช่วงจะเป็นอย่างไร  ในส่วนตรงนี้ เราสามารถนำมาแชร์ไอเดียให้กับทางพรรคได้”

เริ่มที่ "พัชรพรรณ โอภาสพินิจ"หรือชื่อเล่น"แพร" ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งใน"ทีมงานกองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย" ที่มีดร.อุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง เป็นหัวหน้าพรรค เล่าถึงประสบการณ์การทำข่าวก่อนหน้าจะมาเป็นทีมงานกองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทยว่า เดิมเคยเป็นนักข่าวสายการเมืองอยู่ "สยามรัฐ"มา6 ปี ที่ตอนนั้นทำข่าวสาย"กระทรวงมหาดไทย-ทำเนียบรัฐบาล -รัฐสภา-สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง-องค์กรอิสระต่างๆ" อีกทั้งช่วงดังกล่าว มีประสบการณ์การทำข่าวพรรคการเมืองอยู่บ้าง ต่อมาได้ลาวงการนักข่าว ไปใช้ชีวิตส่วนตัวอยู่ช่วงหนึ่ง    

             ต่อมา มีพี่นักข่าวที่รู้จักกันที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งปกติติดต่อกันมาตลอด ได้โทรศัพท์มาบอกว่า ทางพรรคสร้างอนาคตไทย ที่เพิ่งเปิดตัวตั้งพรรคได้ไม่นาน กำลังต้องการทีมงานไปช่วยในเรื่องการสื่อสารทางการเมืองของพรรคกับสื่อมวลชน เช่นการช่วยเขียนข่าว  การประสานกับสื่อมวลชน เพราะหลังจากเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการ ก็มีงานเพิ่มขึ้น พี่ซึ่งทำอยู่ก่อนแล้วในทีมกองงานโฆษกของพรรค ที่ก็เป็นอดีตผู้สื่อข่าวเหมือนกัน ก็บอกว่าทำไม่ค่อยทัน ต้องการหาคนช่วยโดยเฉพาะอดีตนักข่าวที่ว่างอยู่ ทางพี่นักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลก็เลยติดต่อมาให้ลองไปคุยดู พอคุยแล้วก็เลยได้เข้ามาทำงานเป็นทีมงานกองโฆษกของพรรคสร้างอนาคตไทย จนถึงปัจจุบันก็ประมาณสองเดือน  

            ...สำหรับงานหลักๆ ในความรับผิดชอบก็คือการเขียนข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆ ของพรรคสร้างอนาคตไทยเช่น ข่าวที่พรรคจัดเสวนาต่างๆ -การลงพื้นที่ของผู้บริหารพรรค ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรค ซึ่งงานของทีมกองโฆษก ก็มีหลายส่วนเช่น งานด้านมีเดีย อย่างการทำคลิปเพื่อสื่อสารเรื่องนโยบายของพรรค โดยทีมงานกองโฆษกก็เข้าไปช่วยแชร์ไอเดียในการนำเสนอว่าควรมีอะไรบ้าง แต่ในส่วนของการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียเช่นเว็บไซด์หรือเพจของพรรค ก็จะมีอีกส่วนหนึ่งรับผิดชอบ แต่หากเขาต้องการคอนเทนต์เนื้อหาที่พรรคทำกิจกรรมการเมืองไปเช่นการจัดเสวนาในประเด็นต่างๆ ที่พรรคจัดขึ้น ทางทีมสื่อสารโซเชียลมีเดีย ก็จะนำตัววีดีโอการจัดงานไปตัดเป็นคลิปย่อยๆ เผยแพร่ทางช่องทางโซเชียลมีเดียโดยกองงานโฆษกก็จะทำคอนเทนต์เนื้อหาให้สอดรับกับตัวคลิป

            "แพร-พัชรพรรณ"เล่าการทำงานในส่วนนี้ให้ฟังอีกว่า การทำงานแต่ละวัน ลักษณะการทำงาน ก็จะเข้าไปที่ทำการพรรคสร้างอนาคตไทยเกือบทุกวัน จันทร์-ศุกร์ โดยทางทีมงานกองโฆษกจะมีการประชุมกันสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเพื่อสรุป-บรีฟงานเช่น ทางพรรคจะมีกิจกรรมอะไรในรอบสัปดาห์อย่างการจัดเสวนาภายในในหัวข้อต่างๆ อะไรหรือไม่ โดยหากไม่มีการประชุมหรือไม่ได้ลงพื้นที่  ก็จะมาสแตนบายด์ทำงานที่พรรคตลอดทุกวัน เพื่อคอยทำงานในหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบเช่น การคอยมอนิเตอร์ข่าวตลอดทั้งวันเพื่อดูว่า มีประเด็นข่าวอะไรที่น่าสนใจและจะเกี่ยวโยงอะไรกับพรรคสร้างอนาคตไทยหรือไม่ หากมีประเด็นใดพาดพิงหรือเกี่ยวโยงกับพรรค เราก็จะนำเสนอผู้ใหญ่ในพรรคให้พิจารณา รวมถึงคอยมอนิเตอร์ว่า ผู้ใหญ่ในพรรคคนใด มีความเคลื่อนไหวในการโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นอะไรหรือไม่ หากมีทางทีมโฆษกพรรคก็จะนำเนื้อหาดังกล่าวมาย่อยหรือสรุปให้เป็นข่าวแล้วส่งไปยัง"กลุ่มไลน์สื่อมวลชนที่ทำข่าวพรรคสร้างอนาคตไทย"เพื่อเผยแพร่ต่อไป

            ...โดยหลังจากทีมกองโฆษกพรรคส่งข่าวไปในทางไลน์แล้ว ทางทีมโฆษกพรรคก็จะคอยมอนิเตอร์อีกครั้งหนึ่งว่า มีสื่อสำนักใด โดยเฉพาะเว็บไซด์ข่าวต่างๆ มีสื่อสำนักใด ที่นำเสนอข่าวดังกล่าวที่เราเผยแพร่ไปในทางไลน์กลุ่มของพรรคบ้าง เมื่อมอนิเตอร์เสร็จ ทางทีมโฆษกจะรวบรวมลิงค์ของสำนักข่าวต่างๆ รวมถึงพาดหัวข่าวที่สื่อพาดหัว ส่งให้ผู้ใหญ่ในพรรคต่อไป โดยการรวบรวมข่าวดังกล่าว จะทำเป็นสองรอบ รอบแรก จะส่งให้ทางพรรคในช่วงประมาณ 15.30 น. และอีกรอบหนึ่งคือ 18.30 น. เพื่อดูว่าจะมีสื่อนำเสนอข่าวเพิ่มเติมจากรอบแรกหรือไม่ โดยเมื่อทีมงานเราส่งเนื้อหาข่าวไปแล้ว หากสื่อจะมีการเขียนคำพาดหัวอย่างไร ที่อาจไม่เหมือนกับเนื้อหาพาดหัวที่ออกมาจากทางเรา เรื่องนี้ ทางผู้ใหญ่ในพรรค ไม่เคยมาถามว่าทำไมสื่อนำเสนอแบบนั้น เนื่องจากเขาเข้าใจธรรมชาติของสื่ออยู่แล้ว 

             นอกจากนี้ หากผู้บริหารพรรคหรือทีมงานของพรรคมีการลงพื้นที่ ทางเราก็จะเป็นทีมงานส่วนหนึ่งไปเซอร์เวย์ล่วงหน้าพื้้นที่ดังกล่าวก่อนล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งวัน เพื่อดูพื้นที่เช่น ต้องลงพื้นที่ตรงจุดไหน ไปดูโลเคชั่นว่า เมื่อลงพื้นที่แล้ว ควรให้สัมภาษณ์กับสื่อ ตรงจุดไหน -ควรลงพื้นที่บริเวณใดบ้าง ควรพักรับประทานอาหาร ตรงร้านใด จากนั้น ก็ทำรายงานส่งพรรค แล้วก็ตามด้วยการทำหมายแจ้งสื่อถึงการลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเชิญให้สื่อมวลชนไปทำข่าวที่ก็จะมีการแจ้งล่วงหน้าให้ทราบ

ทักษะ-ประสบการณ์นักข่าว

กับการปรับใช้ในงาน

ทีมพีอาร์พรรคการเมือง

            -การเป็นอดีตนักข่าวมาก่อน ทำให้การทำงานในส่วนนี้เช่นการเขียนข่าว จับประเด็นข่าว คิดว่าทำให้ทำงานในส่วนนี้ได้ดีกว่า คนที่ไม่เคยเป็นนักข่าวมาก่อนหรือไม่?

            แน่นอนว่าเป็นจุดแข็ง เพราะคนที่อยู่ในวงการ ทำอาชีพข่าว สิ่งที่ทำกันเป็นปกติอยู่ทุกวัน ก็คือการต้องอ่านข่าว ติดตามข่าวตลอดทั้งวัน และทุกวันเพื่อให้ได้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะข่าวการเมือง และเมื่อเรามาทำงานในส่วนนี้ เราสามารถเอาประสบการณ์ เอาฟิลลิ่งข่าว เอาความรู้สึกที่เรารู้ได้ว่านักข่าวการเมืองต้องการอะไร การแสดงความเห็นเรื่องทิศทางข่าวการเมือง ในแต่ละช่วงจะเป็นอย่างไร  

            ในส่วนตรงนี้ เราสามารถนำมาแชร์ไอเดียให้กับทางพรรคได้ เพื่อให้ทางพรรคสื่อสารออกไปได้ถูกใจสื่อ ประมาณนี้ 

แต่ก็อยากบอกว่า ในการเป็นนักข่าวเช่นนักข่าวการเมือง บทบาทของนักข่าวคือการทำหน้าที่เหมือนกับเป็น"ฝ่ายรุก"กับทางนักการเมือง เช่น ตั้งคำถามกับนักการเมือง ถามรัฐมนตรี แต่พอเรามาทำงานตรงนี้ กลายเป็นว่าเราคือผู้เสนอข่าวให้กับเขา เราก็ต้องดูในเรื่องของ"ภาพลักษณ์"และให้ดูออกมาเป็น"เชิงบวก" อย่างการพาดหัว เราจะมาใช้แบบเดิมเช่น"โว"แบบนี้ ก็ไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนให้มันซอฟท์ลง ให้มันเป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น 

            นอกจากนี้ เราก็ต้องคอยดูแล ทั้งผู้ใหญ่ในพรรคและสื่อมวลชนที่มาทำข่าวที่พรรค ที่ผิดกับตอนเราเป็นนักข่าวที่การทำหน้าที่เราไม่ต้องแคร์ใคร ที่ก็ทำให้เราจำได้ตอนที่เราเรียน อาจารย์ที่สอนก็เคยบอกว่า ความแตกต่างระหว่างนักข่าวกับพีอาร์ คือหากเราเป็นนักข่าว ทางพีอาร์ต้องมาเทคแคร์เรา นักข่าวไม่ต้องเทคแคร์ใคร ซึ่งตอนนี้ พอเราสลับบท มาเป็นทีมโฆษกทำงานพีอาร์ เราถึงเพิ่งเข้าใจตอนนี้ว่า ที่เราต้องเทคแคร์เขาคืออะไร ก็คือเราต้องดูแลเขา ทั้งคนในพรรคและผู้สื่อข่าว ก็ทำให้การวางตัวในการทำงานด้านนี้เป็นสิ่งสำคัญ 

            ส่วนงานอื่นๆเช่นการตัดต่อคลิป การทำกราฟฟิค การถ่ายวีดีโอ จะมีทีมงานส่วนอื่นที่รับผิดชอบอีกต่างหาก ทางทีมโฆษกจะเน้นเรื่องคอนเทนต์ เนื้อหาข่าวของพรรคในการสื่อสารออกไปเป็นหลัก แต่เราก็จะคอยช่วยซับพอร์ตเรื่องเนื้อหา ประเด็นให้กับเขาอีกทีหนึ่ง รวมถึงการคอยประสานในด้านต่างๆ เช่น การให้ข้อแนะนำเรื่องมุมภาพของผู้บริหารหรือคนในพรรค ที่เราจะพอรู้ได้ว่าสื่อต้องการภาพลักษณะอย่างไรเพื่อนำไปใช้ในงานข่าว หรือหากมีการสัมภาษณ์ผู้บริหารพรรคหรือมีงานเสวนาที่พรรคจัดขึ้น เราก็จะให้ความเห็นข้อแนะนำว่า ประเด็นใดที่ควรจะตัดต่อออกมาเป็นคลิป เช่นเมื่อมีการแถลงข่าว แล้วต้องตัดต่อเป็นคลิป เราก็จะให้ข้อแนะนำกับทีมงานที่รับผิดชอบด้านการทำคลิปและตัดต่อว่าประเด็นการแถลงข่าวอยู่ตรงไหนที่ควรจะเป็นคีย์หลักในการนำเสนอและตัดต่อออกมาเป็นคลิป

            "พัชรพรรณ"เล่าการทำงานให้เราฟังอีกว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานและได้ติตต่อสื่อสารกับสื่อพบว่า สิ่งที่สื่อโดยเฉพาะสายการเมืองต้องการส่วนใหญ่ก็คือ อยากได้คลิปมาเสริมคอนเทนต์พวกบทสัมภาษณ์ หรือเนื้อหาการเสวนา ที่ก็อาจมีบางงาน ที่พรรคจัดกิจกรรมภายในโดยไม่ได้มีการแจ้งสื่อ และเมื่อทีมโฆษกพรรคทำเป็นข่าวส่งไปในไลน์กลุ่มพรรค ทางสื่อสนใจอยากได้ภาพหรือคลิปประกอบ ที่สอดคล้องกับเนื้อหาข่าว เราก็จะคอยประสานให้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเด็นที่สื่อสนใจที่เป็นประเด็นเชิงสถานการณ์ สื่อก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของแหล่งข่าวในพรรคอยู่แล้ว เขาก็จะโทรศัพท์ไปถามความเห็นเองเป็นปกติอยู่แล้ว หรือหากมีบางประเด็นที่คนในพรรคต้องการแสดงความเห็น เขาก็จะประสานเรามา แล้วเราก็ทำให้เป็นข่าวส่งผ่านไปยังสื่อต่างๆ ต่อไป 

            สำหรับสิ่งที่ผู้ใหญ่ในพรรคต้องการ ก็คือการทำให้สื่อมีการนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อให้ผู้คนรับรู้เกี่ยวกับพรรคในด้านต่าง ๆเช่น ให้รู้ว่าพรรคมีนโยบายอย่างไร ให้คนจดจำแบนด์พรรค ให้คนรู้ว่าในพรรคมีใครบ้าง และทางพรรคกำลังทำอะไรอยู่ ขณะที่เรื่องการประสานกับสื่อ ก็ต้องทำในส่วนนี้ด้วยเช่นการประสานกับสื่อเพื่อให้ได้เจอกับผู้ใหญ่ในพรรค ให้ได้มีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ หรือเวลาสื่อต้องการขอสัมภาษณ์พิเศษผู้บริหารพรรค เราก็จะคอยประสานอีกทาง รวมถึงการร่วมคณะกับทีมโฆษกพรรคไปร่วมงานวันเกิดของสื่อแต่ละสำนัก 

            จากเส้นทางการทำงานที่เคยเป็นสื่อสายการเมืองมาก่อน และมาวันนี้เมื่อมาเป็นหนึ่งในทีมงานกองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย "พัชรพรรณ"ถ่ายทอดประสบการณ์ในส่วนนี้ไว้ตอนท้ายว่า จากประสบการณ์ที่เราเคยทำข่าวมา แล้วเรามาทำงานในส่วนนี้ ในเรื่องการเขียนข่าว ก็ถือว่าไม่ยากแล้ว แต่จะยากเรื่องการปรับตัว การปรับความเคยชินในการทำงานเช่นการพาดหัวข่าว การเขียนข่าว ก็ต้องปรับสไตล์การเขียนให้ออกมาเป็นเชิงบวก ซอฟท์กับทางพรรค 

            "การทำงานในส่วนด้านงานโฆษกพรรค งานพีอาร์ เราก็ต้องปรับตัวระดับหนึ่ง อย่างการทำข่าว เราก็จะมีความคล่องตัวในการทำงานในส่วนนั้นเช่น เราถ่ายภาพเอง ถ่ายคลิป เขียนข่าว ตามสไตล์ของเรา แล้วก็ส่งงานเข้าออฟฟิศก็จบ แต่ในส่วนของงานพีอาร์ เมื่อเราเขียนข่าวแล้วก็จะมีกระบวนการต่างๆ ตามระบบงานของทางพรรคอีกทีหนึ่งเพื่อดูว่าโอเคหรือไม่ เช่น การให้หัวข่าว ภาษาที่เราใช้ ตรงนี้ก็ต้องใช้เวลาบ้าง อยากให้เข้าใจ บางทีคนก็ถามมาว่าข่าวของทางพรรคเสร็จหรือยัง ต้องการแล้ว ก็อยากบอกว่าต้องมีหลายขั้นตอน"

เกือบ 30 ปี บนเส้นทาง

จากอดีตนักข่าว-นักนสพ.

สู่ทีมงานสื่อสารพรรคการเมือง

“ประสบการณ์การทำข่าว-เป็นนักข่าว เมื่อมาทำงานในส่วนของการสื่อสารทางการเมือง การทำพีอาร์ทางการเมือง มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการทำงาน เพราะทำให้เรามองประเด็นออก เพราะพอเราฟังหรือเห็นอะไรในช่วงการทำงาน เราจะรู้ได้ทันทีว่านี้คือ"ประเด็นข่าว"หรืออันนี้วนแล้ว ยังไม่ใช่ แต่บางอันพอเราได้ยินได้รับรู้ เราจะรู้เลยว่า อันนี้นำเสนอได้  เพราะประสบการณ์การเป็นนักข่าวมาก่อน จะรับรู้ได้โดยสัญชาติญาณของคนทำข่าวมาก่อน”

            ถัดมาที่ "นางสาวฉัตร์ฤดี อนันต์ศิริขจร"หรือ"พี่ต่าย"ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งใน”ทีมงานฝ่ายสื่อสารทางการเมืองและประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง” ที่ทางผู้ให้สัมภาษณ์ได้ขอสงวนในการเปิดเผยชื่อพรรคการเมืองดังกล่าว  เพื่อความสะดวกใจในการให้สัมภาษณ์ แต่บอกให้พอรู้คร่าวๆ ก็ได้ว่า พรรคการเมืองดังกล่าว เป็นพรรคจัดตั้งใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาโดยเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ถูกจับตาทางการเมืองไม่น้อยเพราะแกนนำพรรค-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ล้วนเป็นนักการเมืองชื่อดังของประเทศ มีทั้งอดีตระดับอดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส.หลายสมัย มารวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองพรรคนี้  

            โดย"พี่ต่าย-ฉัตร์ฤดี"เล่าถึงเส้นทางการทำงานด้านสื่อมวลชนให้เราฟังว่า เรียนจบด้านนิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งตอนเรียนชอบการเมือง-ข่าวการเมือง โดยตอนเป็นนักศึกษา ได้ไปฝึกงานการเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์วัฏจักร โดยไปฝึกการทำข่าวที่กระทรวงมหาดไทย พอเรียนจบ ก็ได้งานที่หนังสือพิมพ์วัฏจักรที่ตอนนั้นมีการเปิดเซคชั่นใหม่ในหนังสือพิมพ์เป็นหน้าข่าวตลาดทุน เลยได้ไปทำข่าวที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

            ...ทำอยู่วัฏจักรประมาณหกเดือน พอดีมีพี่นักข่าวชวนไปสมัครที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ก็เลยไปสมัครและได้เข้าไปเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจที่กรุงเทพธุรกิจ ช่วงปี พ.ศ.2532 ที่ตอนนั้นอยู่ในช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังบูมมากทั้งตลาดหุ้น ตลาดทุน 

            ...หลังจากเข้าไปแล้ว เราทำงานอยู่ที่กรุงเทพธุรกิจประมาณ 27 ปี ซึ่งตอนอยู่กรุงเทพธุรกิจ ก็จะเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจโดยเฉพาะสายตลาดหุ้น -กระทรวงการคลัง-ธนาคารแห่งประเทศไทย-ธนาคารพาณิชย์ แต่ส่วนใหญ่จะดูเรื่องของตลาดทุนเป็นหลัก ที่เมื่อเป็นตลาดทุน จึงทำให้ลักษณะการทำข่าว เลยทำข่าวในภาพรวมเชิงเศรษฐกิจมหภาคไปด้วยเพราะมีความเชื่อมโยงกัน ต่อมาเมื่อทางบริษัทฯ มีโครงการEarly Retire เราก็ออกมา โดยตำแหน่งก่อนออกมา ก็เป็นบรรณาธิการข่าวโต๊ะหุ้น-การเงิน และบก.ข่าวหน้า1 กรุงเทพธุรกิจ 

            ...หลังจากนั้น ก็เริ่มทำงานด้านการพีอาร์ ที่เป็นการทำงานแบบฟรีแลนซ์ เพราะมีบริษัทด้านประชาสัมพันธ์มาชวนให้ไปทำ โดยไปทำด้านการเขียนข่าว -เขียนคอนเทนต์ให้เขา ก็ทำงานไปได้สักพัก พอดีมีคนรู้จักที่ทำงานด้านพีอาร์ชวนให้ไปรู้จักพูดคุยกับ ไกรเสริม โตทับเที่ยง (อดีตเลขานุการรมว.ศึกษาธิการ-อดีตผู้สมัครส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ) ซึ่งก่อนหน้านั้น เคยรู้จักกันมาก่อนสมัยทำข่าว โดยตอนนั้นเขายังไม่ได้เล่นการเมือง แต่ได้คุยกับเราว่า มีความสนใจทางการเมือง อยากให้เราไปช่วยเป็นผู้จัดการดูแลงานให้ช่วงหาเสียง ต่อมาอีกสักพัก เขาก็แจ้งว่า ตัดสินใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคพลังประชารัฐ 

            ..เมื่อเข้าไปช่วยงานให้กับคุณไกรเสริม ต่อมาทางคุณไกรเสริม เขาก็ชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่เข้าสู่การเมืองครั้งแรกและจะลงสมัครส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ  ก็มีประมาณสิบกว่าคนมารวมกลุ่มกันภายใน  เราก็เข้าไปช่วยแต่เป็นการไปช่วยแบบส่วนตัวกับทางกลุ่มของคุณไกรเสริม เราไม่ได้ไปทำกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งช่วงแรกที่เข้าไปทำ ก็ยอมรับว่ายังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำตรงนี้ได้หรือไม่ แต่ก็เห็นว่าเป็นงานที่ท้าทาย เพราะเราก็ใหม่สำหรับงานพีอาร์สายการเมือง เพราะเดิมทีก็อยู่กับภาคเอกชน ภาคธุรกิจ แต่ก็เห็นว่าเป็นงานที่ท้าทายดี เลยเข้าไปทำ 

            "ฉัตร์ฤดี"เล่าถึงการทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่เข้าไปทำงานแบบส่วนตัวเพื่อซับพอร์ตการพีอาร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพลังประชารัฐหาเสียงว่า ตอนเริ่มทำ เราก็คิดถึงเรื่องการนำประสบการณ์ตอนไปช่วยงานพีอาร์ภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับใช้กับงานครั้งนี้ ก็ใช้หลักคิดว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ดังกล่าวที่เปิดตัวเข้ามาเล่นการเมืองตอนนั้น ก็เหมือนกับ product ที่ออกใหม่ โดยตอนนั้น ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีเพราะกลุ่มดังกล่าว ที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ และลงสมัครในพื้นที่กทม.ทั้งหมด ตอนนั้นก็มีกระแสตอบรับค่อนข้างดี เราก็มีการวางแผนพีอาร์ประชาสัมพันธ์เช่น นำคนในกลุ่มไปเดินสายตามออฟฟิศขององค์กรสื่อแต่ละแห่ง เพื่อแนะนำตัวให้สื่อได้รู้จัก และทำข่าว ซึ่งสื่อก็ให้ความสนใจค่อนข้างมาก หลายคนก็ถูกเชิญให้ไปสัมภาษณ์พิเศษ ออกทีวี ไปร่วมดีเบตตอนหาเสียงเวทีต่างๆ จากนั้นพอเสร็จการเลือกตั้ง ก็จบภารกิจ แต่ต่อมาหลังมีการจัดตั้งรัฐบาล และคุณณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้เป็นรมว.ศึกษาธิการ ต่อมาก็มีการตั้ง ไกรเสริม เป็นเลขานุการรมว.ศึกษาธิการ ทางไกรเสริม ก็มาชวนให้ไปช่วยงานไปดูเรื่องเกี่ยวกับข่าวงานต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เลยทำให้ได้รู้จักกับ คุณณัฏฐพล ด้วย โดยเราทำงานในส่วนนี้อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการประมาณปีกว่า

            ...ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แล้วคุณณัฏฐพล ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ต่อมา วันหนึ่ง ทางทีมงานของคุณณัฎฐพล ก็ติดต่อมาว่าจะขอให้ไปช่วยงานคุณสกลธี ภัททิยกุล ที่ตัดสินใจลงสมัครผู้ว่าฯกทม. โดยตอนไปช่วยงานสกลธี ก็ทำแบบเต็มตัวเลยตอนช่วงหาเสียงร่วมๆ สองเดือน ตอนนี้ก็ได้ติดต่อสื่อสารกับสื่อสายการเมืองโดยตรง ที่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่สนุกเพราะได้ทำเต็มที่ เพราะอย่างตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ไปช่วยผู้สมัครส.ส.กทม.พลังประชารัฐ งานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสื่อมากกว่า แต่การไปช่วยสกลธี เรามีทั้งไปช่วยเดินหาเสียง และทำเรื่องเกี่ยวกับคอนเทนต์การหาเสียงของคุณสกลธีด้วย ซึ่งเราก็ไปลงพื้นที่ช่วยหาเสียงกับสกลธีด้วยทุกวัน ไปรับฟังปัญหาของกทม.ในด้านต่างๆ แล้วก็นำสิ่งที่ได้พบมานำเสนอเป็นคอนเทนต์ในการหาเสียงที่มีทั้งทำคลิป -ภาพนิ่งเพื่อส่งให้กับสื่อ ที่ตอนนั้นทำและส่งให้สื่อ วันละประมาณสามรอบ เช้า-กลางวัน-เย็น 

            พอเสร็จจากการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม."พี่ต่าย-ฉัตร์ฤดี"เล่าถึงเส้นทางการทำงานในเวลาต่อมาให้เราฟังว่า พอจบจากเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็มีคนมาชวนให้เราเข้าไปช่วยงานด้านการสื่อสาร-การทำคอนเทนต์-การประสานกับสื่อมวลชน ให้กับพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ ที่ทำอยู่ปัจจุบัน โดยงานที่รับผิดชอบปัจจุบัน ที่ทำอยู่กับพรรคการเมืองเวลานี้ ด้วยความเป็นพรรคการเมือง ทำให้คอนเสตป์โครงสร้างงานก็จะใหญ่ขึ้น เพราะเป็นพรรคการเมือง แต่อย่างของสกลธี เป็นผู้สมัครอิสระคนเดียว เมื่อโครงสร้างใหญ่ขึ้น ก็จะมีการแบ่งงานตามความรับผิดชอบในส่วนต่างๆ เช่น ทีมงานด้านโซเชียลมีเดีย ที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง แต่ของเราจะรับผิดชอบด้านพีอาร์ ที่คอยประสานกับสื่อมวลชน เช่น เวลาผู้บริหารพรรค ลงพื้นที่ เราก็จะติดตามไปด้วยแล้วก็ทำคอนเทนต์ออกมาเพื่อส่งให้สื่อ

            ....ลักษณะการทำงาน ก็เหมือนกับเราทำหน้าที่แทนนักข่าวไปในตัว เพราะบางประเด็นเราก็อยากรู้ เราจะถามผู้บริหาร หัวหน้าพรรคเช่น เวลาผู้บริหารพรรคไปลงพื้นที่ เราก็จะถามว่า ที่มาครั้งนี้เพื่อมาดูอะไร ปัญหาของประชาชนคืออะไร แล้วจะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างรวดเร็วจะทำได้อย่างไร โดยที่ผ่านมา ก็มีการไปลงพื้นที่และทำข่าวออกมาหลายครั้งเช่น ตอนลงพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด ระยอง ชลบุรี อาทิไปแก้ปัญหาประมงที่แสมสาร ชลบุรี ที่พอผู้บริหารพรรคไปลงพื้นที่แล้วเจอปัญหาและแก้ไขปัญหาทันที เราก็จะหยิบตรงนั้นมาเขียนเป็นประเด็นส่งให้สื่อ 

การจับประเด็น-เห็นมุมข่าว

ซัพพอร์ตงานสื่อสารทางการเมือง

            "ฉัตร์ฤดี"ย้ำว่า ประสบการณ์การทำข่าว-เป็นนักข่าว เมื่อมาทำงานในส่วนของการสื่อสารทางการเมือง การทำพีอาร์ทางการเมือง มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการทำงานดังกล่าว เพราะทำให้เรามองประเด็นออก เพราะพอเราฟังหรือเห็นอะไรในช่วงการทำงาน เราจะรู้ได้ทันทีว่านี้คือ"ประเด็นข่าว"หรืออันนี้วนแล้ว ยังไม่ใช่ แต่บางอันพอเราได้ยินได้รับรู้ เราจะรู้เลยว่า อันนี้ได้ นำเสนอได้ สามารถหยิบมาเขียนได้ เพราะประสบการณ์การเป็นนักข่าวมาก่อน จะรับรู้ได้โดยสัญชาติญาณของคนทำข่าวมาก่อน และพอเรามาทำตรงนี้ มันก็เพิ่มความเป็นนักข่าวที่เราอยากรู้ เราก็ถามเองเลยเพื่อที่จะดึงประเด็นจากหัวหน้าพรรค-คนในพรรค เพื่อนำมาเขียนเป็นข่าว ซึ่งคำถามเราก็ตรงกับสิ่งที่คนอยากรู้ เพราะเราก็จะถามตรงๆ เพราะหลายครั้งเราก็ถามหัวหน้าพรรค เหมือนที่คนเขาอยากรู้ อีกทั้งประสบการณ์การทำข่าวมาก่อน ก็จะช่วยในเรื่องการเรียบเรียงข่าว การเขียนข่าว การพาดหัวข่าว ที่จะส่งให้สื่อด้วย  เพราะอย่างการพาดหัวข่าว ก็จะมีเสน่ห์ของมันเองที่พอคนเห็นเราพาดหัวข่าวส่งไปแล้ว เขาก็อาจสนใจแล้วนำไปสื่อสารต่อ 

            ...จากที่ได้เข้ามาทำงานในส่วนนี้กับทางพรรคที่ทำอยู่ปัจจุบัน ที่ตอนนี้ก็สื่อสารกับสื่อสายการเมืองที่เขาติดตามทำข่าวของพรรคโดยเฉพาะทางไลน์กลุ่ม ก็พบว่า สื่อก็ต้องการทั้งคลิป ภาพนิ่ง โดยจากประสบการณ์สมัยทำข่าว ต้องคอยปิดหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้เรารู้ว่า สื่อเขาต้องการภาพแบบไหน ภาพมุมไหน เพื่อนำไปลง ทำให้เรารู้ว่า ภาพแบบไหนที่สื่อชอบ หากเราส่งภาพแบบนี้ไปให้ สื่อจะนำไปใช้ หรือคลิป เวลาเราลงพื้นที่หรือทำข่าวของพรรค เราก็จะบอกทีมงานทุกครั้งว่าให้เน้นการถ่ายภาพแบบมุมกว้าง และควรให้มีบรรยากาศ แล้วก็โฟกัสจุดต่างๆ มีการเก็บช็อตเข้าไป เราจะอธิบายให้น้องทีมงานฟังว่าเราอยากได้ภาพแบบไหน และการที่หากเราต้องการให้สื่อนำเสนอเร็ว หากใช้กล้องใหญ่แบบทีวีหรือกล้องถ่ายรูปที่ถ่ายวีดีโอได้ก็ไม่ทัน หากต้องการส่งให้สื่อนำไปเผยแพร่แบบเร็วๆ เพราะอุปกรณ์แบบนั้น ต้องมีการนำกล้องกลับสำนักงาน ต้องมีการdownload ต้องเลือกภาพ และบางครั้งต้องมีการตัดต่ออีก ก็ให้เขาใช้มือถือที่คุณภาพดี ถ่ายภาพได้ละเอียด และให้ถ่ายสั้นๆ เช่น 20 วินาที ตัดเป็นคลิปสั้นๆ รีบส่งให้สื่อ รวมถึงให้ทีมงานเลือกรูปมาให้เลยเช่น ถ่ายไป 100 รูป ก็ขอให้เขาเลือกมาสัก 10รูป แบบคัดมาเลย เพื่อส่งต่อให้สื่อได้ในเวลาอันรวดเร็ว  

            จากประสบการณ์การทำข่าว การเป็นนักข่าว ที่เราเคยอยู่ที่องค์กรเครือเนชั่นฯ ตอนนั้น คุณสุทธิชัย หยุ่นบอกว่า การเป็นนักข่าว การทำข่าวต้อง 360 องศา คือต้องเป็นทั้งนักข่าว ช่างภาพ คนเล่าข่าว สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้นำมาใช้ในปัจจุบัน อย่างตอนนั้นที่เขาให้นักข่าว-กองบก.ต้องทำเพจ ของตัวเอง ปรากฏว่าวันนี้เรื่องการทำเพจ ก็ถูกนำมาใช้ในการทำงานปัจจุบัน เช่นการเลือกKeyword ต้องใช้แบบไหน หรือการวางภาพ ต้องวางภาพแบบไหน ทำให้เราได้นำประสบการณ์จากตรงนั้นมาใช้ในการทำพีอาร์ ที่มันอาจทำให้เราได้เปรียบคนอื่นที่ไม่เคยเป็นนักข่าวมาก่อน 

            -ทางพรรคมีระบบการมอนิเตอร์ข่าวแต่ละวันอย่างไรบ้าง ?

            ก็ใช้ NewsCenter เพราะต้อง clipping news ทุกวัน รวมถึงก็ต้องมีการเช็คข่าวแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อออฟไลน์ เพื่อส่งให้ทางผู้บริหารพรรคทราบว่า แต่ละวันสื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับพรรคอย่างไรบ้าง มีสื่อนำเสนอกี่แห่ง มีบทวิเคราะห์รายงานเกี่ยวกับพรรคอย่างไร ทีมงานจะมีการสรุปข่าวแบบนี้ทุกวัน 

            -เรื่องของคอนเนคชั่นการที่เราเคยเป็นนักข่าวทำสื่อมาก่อน ที่รู้จักคนในแวดวงสื่อ มีผลต่อการทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ สื่อสารทางการเมือง บ้างหรือไม่?

            ก็มี เพราะส่วนหนึ่งด้วยความเป็นพี่เป็นน้องกันของสื่อ ความเป็นเพื่อนกัน เราเองอาจโชคดีที่เจอน้องๆสื่อ ที่น่ารักกันทุกคน เวลามีอะไร เราก็คุยกัน ทุกคนก็ให้ความเอ็นดู และคอยช่วยเหลือ อย่างเวลา บางครั้ง หากเราจะพาคนที่เราทำงานให้ ไปแนะนำตัวหรือไปที่สำนักงานของสื่อ เขาก็ต้อนรับพูดคุยดี และให้คำแนะนำ ก็เป็นน้ำใจที่เขาให้กับเรามา 

            การได้ทำงานในส่วนการสื่อสารการพีอาร์ทางการเมือง ต้องบอกว่ามันต้องเป็นจังหวะเวลา และการเจอผู้คน ซึ่งอาจเป็นโชคดีของเรา ที่เจอแต่คนดีๆ และเข้าใจการทำงาน ให้ความอิสระในการทำงาน ให้เราได้แสดงความคิดเห็น ให้เราได้ทำเต็มที่ และสิ่งสำคัญคือ สื่อเองก็ให้ความเมตตา ให้ความช่วยเหลือ ก็ทำให้ตลอดเวลาของการทำงานด้านการสื่อสารพีอาร์ทางการเมืองของเรา เป็นงานที่สนุก ท้าทาย และอยากจะทำ โดยตลอดเวลาที่ทำมา ไม่เคยมีความรู้สึก ท้อหรือไม่อยากทำ แต่รู้สึกท้าทาย และอยากจะทำ