บทบาท “สื่อ” กับข่าวสาร นำเสนออย่างไร? ลดความอ่อนไหวสังคม ฮีลใจทุกคน

รายงานพิเศษ

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน

...............................................

“การที่เราวิเคราะห์การนำเสนอของสื่อ ไม่ใช่เพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ แต่เป็นเพราะเห็นคุณค่าของสื่อมวลชน หมอเชื่อว่า ทุกคนมีความตั้งใจทำงานให้สำเร็จ เพียงแต่ เราจะทำให้ออกมาในรูปแบบไหน คงไม่ใช่เพียงให้คนสนใจข่าว แต่ประชาชนต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต ซึ่งนั่นจะเป็นคุณค่าที่สูงสุด และเราอยากให้พี่น้องสื่อมวลชนประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ได้ อะไรที่เราช่วยได้ เราก็อยากจะช่วย” พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเริ่มต้นบทสนทนา  

ปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับสุภาพจิตไม่แพ้สุขภาพกาย แม้กระทั่งสื่อมวลชนเองก็จะต้องปรับตัว สร้างองค์ความรู้ในการนำเสนอข่าวสาร เพื่อลดความขัดแย้ง ลดการละเมิดสิทธิของบุคคล สร้างผลกระทบต่อสังคมให้มากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขสังคมที่มากขึ้น ภายใต้โลกออนไลน์ที่ข่าวสารเดินทางอย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้ว

พญ.อัมพร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการสื่อสารสุขภาพจิต ว่า หากจะพูดถึงประเด็นความรุนแรงใน
สังคม หรือประเด็นที่มีเรื่องสุขภาพจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องระวังเรื่องการพูดถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวของเจ้าของเรื่องราว โดยเฉพาะเหตุความขัดแย้ง ความรุนแรง ความไม่ลงตัวกันของบุคคล

“ในความคิดเห็นของหมอ สื่อจะต้องไม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวในการเปิดเผยเรื่องราวของผู้เสียหาย เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่เรื่องข่าวเป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้าง เช่น การนำเสนอว่าคนหนึ่งมีความคิดทำร้ายตัวเอง เป็นเหยื่อความรุนแรงจากเหตุบางอย่าง อาทิ เรื่องชู้สาว การพนัน หรือกระทั่งความเจ็บป่วยทางจิต” พญ.อัมพร ระบุ

พูดได้หรือไม่? ทำร้ายตัวเองหวังดับชีวิต เรื่องอ่อนไหวในสังคม

พญ.อัมพร กล่าวว่า การบอกเล่าข่าวตามเป็นจริงอย่างเรียบๆ เพื่อจุดประสงค์ในการรับรู้ข่าวสารเท่านั้น
เป็นสิ่งที่ดีกว่าการที่จะบอกรายละเอียด บรรยายสีสันของเรื่องที่เกิดขึ้น โดยอย่างยิ่งคือ “กระบวนการฆ่าตัวตาย” ที่ใส่ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก มีภาพสะท้อนความเกี่ยวข้องขององค์ประกอบต่างๆ นั่นเป็นการอธิบายข่าวเกินความจำเป็น 

“สมมติการเสนอข่าว เหตุผู้เสียชีวิตจากการกระโดดจากที่สูง ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอควรมีเพียง เพศ อายุ
พื้นที่เกิดเหตุ แต่กลับกันหลายครั้งเราจะเห็นการบอกเล่าวิธีการ เช่น การขึ้นไปชั้นสูงของอาคาร สวมชุดสีอะไร วางรองเท้าไว้อย่างไร รวมถึงจดหมายร่ำลาที่บอกถึงความขัดแย้ง นี่เป็นการทำลายความเป็นส่วนตัวและบางครั้งก็เป็นการให้เจตคติที่เข้าข่ายสนับสนุนการฆ่าตัวตาย เช่น การให้แนวคิดว่าบูชาความรัก ความยึดมั่นในอุดมการณ์จนยอมแลกชีวิต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตในทางดีหรือไม่ดีต่างก็ส่งผลกระทบตามมาทั้งนั้น สีสันของการเสนอข่าวในการฆ่าตัวตาย ที่มีอารมณ์ความรู้สึก อาจเป็นแนวทางให้คนที่กำลังอยู่ในความเจ็บปวดเหมือนกัน คิดเลียนแบบได้ง่าย ซึ่งความจริงแล้วการฆ่าตัวตายเป็นเหตุปลายทางสุดท้าย แต่ไม่ใช่เหตุเดียวอยู่แล้ว โดยมีหลายองค์ประกอบที่นำมาสู่การคิดฆ่าตัวตาย ดังนั้น การตัดสินจากสิ่งที่ผู้ลงมือสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายว่าเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ถือเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เพราะเป็นเพียงมุมมองเดียวที่ถูกถ่ายทอด” พญ.อัมพร กล่าว

​อย่างไรแล้ว พญ.อัมพร กล่าวถึงการนำเสนอข่าวในประเด็นการฆ่าตัวตายที่เหมาะสม ว่า ควรนำเสนอถึงสาเหตุการตัดสินใจฆ่าตัวอย่างมาจากหลายปมประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ ไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวในครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะขาดสติและกระทำโดยความหุนหันพลันแล่น พร้อมเสนอวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกขึ้นควรทำอย่างไร แนะนำวิธีการดูแลจากครอบครัว เพื่อนและคนรอบข้าง

“คาดว่าป่วยทางจิต” ข้อสันนิษฐานแรกที่ถูกตั้งคำถามหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ

​พญ.อัมพร กล่าวว่า สำหรับการตั้งสมมติฐานว่า ผู้ที่ลงมือทำบางอย่างด้วยความผิดแปลกจากคนทั่วไป ว่า มีปัญหาทางจิต ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะตั้งคำถาม ขณะที่ การนำเสนอข่าวบอกเหตุความเป็นไปได้ในการลงมือทำร้ายตัวเอง หรือการสร้างความรุนแรงอื่นๆ จะว่าไปแล้วตนมองว่า สื่อกำลังทำหน้าที่ให้ความรู้ประชาชนเพื่อความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพจิต เช่น สาเหตุการเสียชีวิตที่ดูแปลกอาจเกิดจากความเชื่อ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นความเจ็บป่วยทางจิต รวมถึงการตั้งสมมติฐานเรื่องการใช้ยาเสพติด ซึ่งสื่อมวลชนสามารถเผื่อพื้นที่ในตรงนี้ได้ตราบใดที่ยังอยู่ในการเคารพสิทธิส่วนบุคคลไม่ละเมิดถึงชื่อ นามสกุล บ้านที่อยู่ แต่ทว่าเป็นการลงข้อมูลเชิงลึก มีรูปภาพประกอบแล้วสรุปว่ามีการป่วยทางจิต นั่นเป็นการด่วนสรุปเกินไป

“เว้นแต่บุคคลที่มีความรุนแรง เป็นอันตรายต่อสังคม การนำเสนอข่าวที่ทำให้เกิดการช่วยเหลือ ป้องกัน เช่น มีคนหนึ่งทำร้ายตัวเองและผู้อื่น โดยยังถือมีดซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ คาดว่าเกิดจากการเสพสารเสพติด หรือป่วยโรคจิตเวชแล้วขาดยา ดังนั้น การเสนอข่าวก็จะเป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้ระวัง” พญ.อัมพร กล่าว

​เมื่อคนให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตแล้ว ควรคิดให้ทะลุไปยังสาเหตุและการแก้ไขปัญหาที่สามารถคลี่คลายได้ โรคทางจิตเวชเองก็สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ “การเห็นเป็นตราบาป” ก็จะผ่อนคลายลงไปเยอะทีเดียว แต่ขอย้ำว่า จะต้องไม่มองเป็นความหวาดกลัวหรือเกลียดชัง ขอให้เป็นการมองเพื่อเป็นเหตุแห่งการป้องกันมากขึ้น สร้างความหวังที่ดีขึ้น เพราะสุขภาพจิตแทรกอยู่ในทุกมิติและวิถีชีวิตของเรา

อดีตส่องทางให้ปัจจุบัน สื่อทำหน้าที่ตัวเองดีหรือยัง?

​พญ.อัมพร กล่าวว่า ขอพูดถึงสื่อหลัก ที่ต้องแยกออกจากประชาชนทั่วไปที่ตั้งตนเป็นสื่อในโซเชียลมีเดีย ภาพรวมตนมองเห็นสิ่งที่พัฒนาดีขึ้นอย่างมากจากเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปยุคสมัยนั้น มีการใส่สีสันในข่าวความรุนแรง ฉายภาพซ้ำในจอโทรทัศน์ เปิดภาพสะเทือนใจที่น่าสะพรึงกลัวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งละเมิดต่อสิทธิของผู้ก่อความรุนแรงหรือเหยื่อ ปัจจุบันนี้ สื่อทำหน้าที่ได้ดีมากขึ้นมาก แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ใช่ข่าวที่รุนแรง เพราะข่าวเหล่านี้มักถูกละเมิดในการฉายภาพซ้ำ ขยี้ข่าวจนความเป็นส่วนตัวหายไป

​“ปัจจุบันก็ยังมีข่าวการกระโดดตึกบ้าง กระโดดน้ำบ้างแต่ไม่ได้ลงข่าวในรายละเอียดมากเกินไป รวมถึงเห็นการช่วยเหลือที่มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจ” พญ.อัมพร กล่าว

ข่าวสะเทือนใจสื่อและสังคม สะท้อนปัญหา ที่ต้องการทางออก

​พญ.อัมพร กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2565 มีข่าวที่สะเทือนใจคนไทยในการสูญเสียนักแสดงสาวชื่อดัง ที่เป็นที่รักของประชาชน ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเครียดของคนไทยที่มีอยู่เดิมจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการสูญเสียเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นที่รักของคนจำนวนมาก มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนไม่น้อย ฉะนั้น ความทุกข์ยิ่งถูกขยาย ดูรุนแรงขึ้น และเมื่อมีความพยายามตั้งสมมติฐานปมการเสียชีวิต ความขัดแย้ง ก็ยิ่งเร้าให้เกิดความรู้โกรธ เกลียดชังตามๆ กัน ก่อเป็นปฏิกิริยาของสังคม

“ผู้เสียชีวิตจากไปแล้ว แต่ยังทิ้งบาดแผลที่เจ้าตัวไม่ได้เจตนาเลย แต่สื่อเหมือนสื่อไปรุมประหารตัวเขาและคนรอบข้างเขา แม้กระทั่งสื่อมวลชนที่ต้องคอยติดตามข่าวก็มีความรู้สึกทุกข์ เครียด บางคนถูกสะกิดบาดแผลของการสูญเสียซ้ำแล้ว ซ้ำอีกจากความพยายาบบรรยายเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ”

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีความห่วงใยสุขภาพจิตสื่อมวลชน ที่ต้องรับแรงกดดันทางสังคมอย่างหลากหลาย ฉะนั้น กรมสุขภาพจิตจึงมีโครงการที่จะดูแลความเข้มแข็งทางจิตใจของพี่น้องสื่อมวลชนที่ต้องเผชิญความเครียดทั้งจากโควิด-19 จากข่าวความรุนแรง

“ได้พูดคุยกับสื่อมวลชนบางคน พบว่าบางคนร้องไห้ ขณะที่พูดคุยกัน โดยเฉพาะการพูดถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้นฉับพลัน ซึ่งเหล่านี้เป็นกลไกทางจิตใจนี่จึงเป็นที่มาของการทำโครงการขึ้น ระยะแรกนี้ ทีมวิชาการกรมสุขภาพจิต อยู่ระหว่างการร่างทิศทางของโครงการเพื่อนำเสนอต่อสื่อมวลชน เพราะเราต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อดำเนินโครงการในระยะถัดไป” พญ.อัมพร กล่าวทิ้งท้าย