“อุดช่องโหว่งภัยออนไลน์ เด็กตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ บุกถึงห้องนอน ”   

            สื่อออนไลน์ ทำให้คนอยู่ในโลกส่วนตัวของตัวเองมากขึ้น และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ส่งผลให้เกิดปัญหาการถูกล่อลวง  ทั้งในกลุ่มเด็ก เยาวชนและผู้หญิง  เพราะสมาร์ทโฟนใช้ง่าย วิธีสื่อสารผ่านทางตัวหนังสือแทนการพูดคุย โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อน หรือไม่ต้องพบปะหน้ากัน  จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงว่า จะชักจูงเด็ก เยาวชนและสตรีออกนอกบ้าน  จนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงง่ายขึ้น  และส่งผลให้เกิดปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม  นำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การกระทำรุนแรงในเด็กและสตรี  รวมทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น ติดเกม ติดยาเสพติด ติดพนันบอล เป็นต้น 

            ณิชชนันทน์ แจ่มดวง และนันทพร ทาวะระ พูดคุยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”  ถึงภัยทางโลกออนไลน์ ที่ส่งผลร้ายล่อลวงว่า หนึ่งในสาเหตุอันดับต้นๆ  มาจากโซเชียลมีเดีย  เพราะเด็กและเยาวชนในชั้นประถมและมัธยม ต้องใช้สมาร์ทโฟนเรียนออนไลน์  โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องซื้อมาให้เป็นอุปกรณ์การเรียน   

            จึงเป็นช่องโหว่งอย่างไม่ตั้งใจ ที่ทำให้อาชญากร ที่จ้องจะทำร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย  ซึ่งปัจจุบันนี้อายุเฉลี่ยของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ ลดลงจากในอดีตที่อายุ 13 - 17 ปี มาเป็นอ่อนวัยกว่านั้น เพราะเด็กจะโฟกัสไปที่สมาร์ทโฟน ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ทันได้ระวังหรือตระหนักถึงผลกระทบที่  มิจฉาชีพแฝงเข้ามาในรูปแบบของออนไลน์ จนเรียกได้ว่าการใช้สื่อออนไลน์แทบไม่ต่างจากการที่ปล่อยให้มิจฉาชีพเข้าได้ถึงห้องนอนลูกหลาน 
            มีการสร้างบัญชีปลอม  หรือบัญชีอวตาร และทักเข้าไปในสื่อโซเชียลมีเดียของเด็ก หรือแฝงตัวเข้าไปในไลน์กลุ่มของเด็กที่เรียนออนไลน์  แล้วแอดไลน์ไปหาทีละคน  ชวนคุยตีสนิททำเป็นเพื่อน ขอให้ถ่ายรูปไม่เหมาะสมส่งไปให้ดู ขอภาพลับ นัดพบ ไปจนถึงล่อลวงไปล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งวิธีการจะทำตัวเป็นเด็กวัยใกล้เคียงกัน  พูดคุยลักษณะชื่นชม  และให้ถ่ายรูปปกติส่งมาก่อน  หลังจากนั้นจะค่อยๆเกลี้ยกล่อม ให้ถ่ายรูปอนาจารส่งไป  เมื่อเด็กไม่รู้เท่าทัน จึงทำตามที่ถูกล่อลวง 

            ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2564  โดยเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามทางออนไลน์  กับกลุ่มตัวอย่าง 44,545 คน ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 พบว่า กลุ่ม Gen Z อายุน้อยกว่า 21 ปี ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง 5 นาที

             ขณะที่หลายภาคส่วนที่เกาะติดปัญหาเรื่องนี้  อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาคนทุกช่วงวัย ให้เป็นพลเมืองดิจิตอล รู้เท่าทันสื่อและสร้างปัจจัยแวดล้อม ด้วยระบบนิเวศสื่อสุขภาพวะที่ดี  หวังลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามออนไลน์  เพราะนอกจากเด็กจะถูกล่อลวงและล่วงละเมิดทางเพศแล้ว  ยังรวมถึงการเสพติดเกม เล่นการพนันต่างๆ ทำให้เด็กที่อยู่กับโลกออนไลน์มาก เข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นอันตรายแบบไม่รู้ตัว

            ทั้งนี้มีการสำรวจว่า ภัยออนไลน์ในเดือน พ.ค.- ก.ค.2565 กลุ่มเด็กตัวอย่าง 9 -18 ปี จำนวนกว่า 30,000 คน  ผลออกมาระบุว่าเด็ก 81% ต้องมีแท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟนของตัวเอง และ 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน  85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน  36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์  ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ซึ่งการรวบรวมดังกล่าว บอกว่าคนร้ายจะพยายามทำให้เด็กเชื่อใจ แล้วตกหลุมรัก ในส่วนของเด็กวัยรุ่นอยากคบหาเป็นแฟน จะนำไปสู่การขอภาพลับ นัดพบและล่วงละเมิดทางเพศ แล้วก็จะมีการถ่ายรูปแบล็คเมล์ เรียกว่าทำเป็นขั้นตอน

            ทั้งนี้เมื่อดูตัวเลขแล้วยิ่งน่าหดหู่มาก เพราะอายุของเด็กที่เป็นเหยื่อและเสียหายที่พบข้อมูลจากในระบบการร้องเรียนขอความช่วยเหลือ  คือช่วงวัยประถมปลาย อายุประมาณ 10 ขวบ เคยถูกล่อลวง ถึงร้อยละ 12% ใน 12% นี้ มี 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร  และเป็นสื่อลามกอนาจารเด็กถึง 60% ขณะที่เด็กอีก 11% ถูกคุกคามทางเพศ และ 26% เคยวิดีโอคอลโชว์สยิว

            แต่ก็ยังพบว่ามีเด็กอยู่นอกระบบการสำรวจ อีกเป็นจำนวนมาก  ที่ไม่รู้ว่ามีหน่วยงานไหนบ้าง  ที่พวกเขาจะไปขอความช่วยเหลือ หรือเรียกร้องความยุติธรรมและความเป็นธรรม  ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ยังถูกหลอกให้รักแล้วลวง ซึ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกรมเมอร์ก็เข้าไปแฝงตัวอยู่ในแอปหาคู่ หรือโดนชาวต่างชาติหลอกให้โอนเงิน สุดท้ายเสียทั้งความรัก เงินทอง และความรู้สึก

            นักจิตวิทยาคลินิกของมูลนิธิศานติวัฒนธรรม บอกว่าคนไข้จำนวนมาก ต้องทนทุกข์กับความทรงจำที่เลวร้าย รบกวนจิตใจอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อการเรียน หลายคนรู้สึกอับอายไม่กล้าไปเรียกร้อง   ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า เครียด โมโหร้ายก้าวร้าว  และพยายามฆ่าตัวตาย  หลายคนพยายามแก้ปัญหาด้วย การทานยากล่อมประสาท  ดื่มสุราหรือยาเสพติด  นำไปสู่ปัญหาการติดยาเสพติดไม่รู้ตัว  เพราะยังไม่หลุดพ้นความทุกข์ ที่เคยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ  ที่ฝังอยู่ในสภาพจิตใจลึกๆ 

            ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการคุ้มครองเด็กในขณะนี้ ตำรวจซึ่งดูแลคดี บอกว่าแม้กฎหมายจะครอบคลุม แต่ยังไม่รุนแรงพอที่จะเกิดแรงกระเพื่อม ทำให้พวกมิจฉาชีพกลุ่มนี้ เกิดความกลัวเกรง เพราะเคยทำผิดแล้วได้รับโทษ จากนั้นถูกลดหย่อน  สุดท้ายจำคุกไม่กี่ปีก็ออกมา จึงทำให้ย่ามใจไม่เกรงกลัว ทำความผิดซ้ำอีก

            สำหรับวิธีรับมือเบื้องต้น ถ้าตกเป็นผู้เสียหาย  อย่างแรก คือ ห้ามลบข้อมูล และห้ามบล็อก แต่ให้หยุดตอบโต้ แล้วเก็บไว้เป็นหลักฐานสำคัญ  , บันทึกบทสนทนากับคนร้าย ทั้งรูปภาพ วิดีโอ เพราะบางครั้งภาพ ใช้เป็นหลักฐานไม่พอ ต้องมีเสียง  , หยุดตอบโต้กับคนร้ายทั้งทางตรงและทางอ้อม , หากเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้แจ้งผู้ปกครองทราบทันที  ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องทำตัวเป็นเพื่อนกับลูกหลาน เปิดรับทุกปัญหา หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็จะกล้าเล่าให้ฟัง  และรีบส่งเรื่องพร้อมหลักฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์  ซึ่งพร้อมที่จะรับเรื่องร้องทุกข์  เพื่อเอาผิดให้ได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องหามาตรการป้องกันเชิงรุก ไม่ทำแบบวัวหายล้อมคอก 

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5