กรุงเทพฯ – 8 พ.ค. ศูนย์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ร่วมกับกรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเขตปกครองตนเองซีจ้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว “เสน่ห์ชาจีนหอมทั่วหล้า-ลิ้มรสชาร่วมชมซีจ้าง” เชิญชวนคนไทยทำความรู้จักความงดงามของภูมิทัศน์และวัฒนธรรมซีจ้าง โดยกิจกรรมดังกล่าว นอกจากมีนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายมงคล บางประภา ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ทรงเกียรติฝ่ายจีนและไทยเข้าร่วมงานแล้ว ยังมีสื่อมวลชนไทยและจีนร่วมด้วย
นายเชว่ เสี่ยวหัว ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กล่าวในพิธีเปิดว่า เดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ถือเป็นเดือนที่อบอวลไปด้วยกลิ่นใบชาจีน และทิวทัศน์ในซีจ้าง กำลังงดงาม จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว “เสน่ห์ชาจีนหอมทั่วหล้า-ลิ้มรสชาร่วมชมซีจ้าง” ขึ้น เพื่อเชิญชวนให้คนไทยได้รู้จักซีจ้างมากขึ้น แม้ว่าชามีต้นกำเนิดที่ประเทศจีน แต่เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมจีนกับโลกผ่านเส้นทางสายไหมด้วย ชาจึงมีความสำคัญดังจะเห็นได้จากการที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ยังขึ้นทะเบียนให้กระบวนการชงชาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อ พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ยังเผยว่า ซีจ้างเป็นดินแดนภูเขาสูงมีเมฆปกคลุม จึงเป็นแห่งชาบริสุทฺธิ์ของโลก ภายในงานนี้จึงนำของดีของซีจ้างมาจัดแสดง ซึ่งประกอบด้วย ชาซีจ้าง ซึ่งเป็นชาจีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ถือเป็นไข่มุกแห่งชาจีน, ธูปซีจ้าง และ เครื่องแต่งกายของซีจ้าง ซึ่งล้วนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมระดับประเทศของจีน เมื่อ พ.ศ. 2551 รวมทั้ง นิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนความสวยงามของภูมิทัศน์ในซีจ้าง เช่น ภูเขา และพระราชวังโปตาลา
ด้านนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า วัฒนธรรมการดื่มชาแฝงด้วยแนวคิดวัฒนธรรมตะวันออก ทั้งยังสื่อถึงการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ ขณะที่การดื่มชาร่วมกันยังเป็นการแสดงถึงน้ำใจและมิตรภาพ จึงหวังว่าวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวจีนที่มีมาตั้งแต่ 6,000 ปีก่อน และได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกจะเป็นการส่งผ่านวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร สร้างสันติและความสงบสุขร่วมกัน นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ซีจ้าง มิได้เป็นดินแดนที่มีเพียงชาดีและภูมิทัศน์งดงามเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยไปเที่ยวและทำความรู้จักซีจ้างเมื่อมีโอกาส
ขณะที่นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ว่า บนเส้นทางมิตรภาพไทย-จีน นับเป็นความพิเศษที่ทั้ง 2 ประเทศร่วมกันหล่อหลอมความสัมพันธ์ใกล้ชิด และเป็นที่น่ายินดีที่ไทยและจีนต่างมีมาตรการ visa free ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งเสริมกระชับความสัมพันธ์กันในภาคประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างกัน และช่วยกระจายรายได้ไปยังประชาชนระดับฐานรากของไทยด้วย พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าไทยจะมุ่งเน้นการบริการที่มีคุณภาพ และให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว