นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการและโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2567 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมสัมมนายุทธศาสตร์ “ โครงการพัฒนาการกำกับดูแลกันเองอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้บริบทสื่อใหม่เพื่อให้สังคมมีความปลอดภัย“ ณ นครริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ
โดยมี นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมฯ กล่าวเปิดการสัมมนาฯและมีนายพงศ์พันธ์ ประภาสิริลักษณ์ รักษาการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับ และมีการบรรยายพิเศษโดย ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในหัวข้อ การกำกับดูแลกันเองภายใต้บริบทสื่อใหม่
นายจีรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เชิญคณะกรรมการบริหารสมาคม ที่ปรึกษาสมาคม กรรมการจริยธรรม อนุกรรมการและคณะทำงานชุดต่างๆ เข้าร่วมการสัมมนากว่า 40 คน โดยมีการบรรยายให้เห็นถึงโครงสร้างการกำกับกันเองภายใต้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
และอนุกรรมการแต่ละฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษและพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน และฝ่ายเลขา ได้บอกเล่าถึงแผนงาน กิจกรรมการทำงานในอนาคตให้เห็นภาพร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม และผศ.อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ ได้นำผู้ร่วมสัมมนาระดมสมองเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์สมาคมภายใต้หัวข้อ "ยุทธศาสตร์สมาคมวิชาชีพเพื่อพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ สร้างสมดุล บทบาท คุณค่าและการหารายได้ขององค์กรสื่อ"
ด้าน ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายในหัวข้อ การกำกับดูแลกันเองภายใต้บริบทสื่อใหม่ ตอนหนึ่งว่า การกำกับดูแลกันเองภายใต้บริบทสื่อยุคใหม่ เป็นการแสดงให้เห็นว่าสมาชิกขององค์กรวิชาชีพมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศมีมาตรฐานและมีคุณภาพตามหลักวิชาชีพ ซึ่งการกำกับดูแลกันเองไม่ได้หมายถึงการไม่ให้เกิดระเบียบหรือไม่ให้มีมาตรฐาน แต่ต้องเป็นระเบียบที่องค์กรวิชาชีพเองกำหนดขึ้นมาและบังคับใช้ร่วมกันในกลุ่มสมาชิก
การกำกับดูแลกันเองในอุตสาหกรรมสื่อ ยุคปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในประเทศที่เป็นอารยชน การพัฒนามาตรฐานต่อวิชาชีพ นอกจากจะเป็นการรับประกันว่าเป็นความยั่งยืนในวิชาชีพแล้วยังสร้างอำนาจในการต่อรอง ขณะเดียวกันต้องทำให้เกิดการยอมรับและศรัทธาจากประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในกลไกประชาธิปไตย เมื่อสื่อมีการพัฒนาเข้าสู่สื่อยุคใหม่จึงทำให้ความศรัทธาที่เกิดกับสื่อลดลง สะท้อนถึงความรับผิดชอบของสื่อที่มีต่อสังคม ดังนั้นสิ่งที่สื่อต้องยึดเหนี่ยวคือ หลักประโยชน์สาธารณะ ปกป้อง สร้างสุขภาพและความปลอดภัยสาธารณะให้สังคม