23พย52-เสรีภาพสื่อกัมพูชา ในกรงเล็บรัฐบาล

http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/48406

เสรีภาพสื่อกัมพูชา ในกรงเล็บรัฐบาล


สื่อกัมพูชามีทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และอื่นๆครบครัน
ทุก สื่อเชื่อกันว่าอยู่ในอุ้งมือรัฐบาล ไม่ว่าจะเสนอข่าวสารใด ล้วนต้องครุ่นคำนึงถึงผลต่อรัฐบาล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คนทำหน้าที่สื่อและผู้รับรู้ข่าวสารจะเป็นอย่างไร

"สื่อสารมวลชน กัมพูชาก็ไม่แตกต่างจากสื่อสารมวลชนไทย เขามีสมาคมผู้สื่อข่าวกัมพูชา เป็นสมาคมอิสระไม่สังกัดรัฐ แต่ก็ถูกควบคุมโดยกระทรวงการข่าว"

อาจารย์ บัญญัติ สาลี ประธานสาขาวิชาภาษาเขมร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม นักวิชาการที่เข้าออกประเทศกัมพูชาเป็นประจำ และเป็นผู้มีความรู้ภาษาเขมรเป็นอย่างดี พอๆกับภาษาไทยบอก

อาจารย์ บัญญัติเล่าเรื่องการเสพสื่อในกัมพูชาว่า การอ่านหนังสือพิมพ์ในพนมเปญถือว่าคึกคักมาก ส่วนในจังหวัดต่างๆจะมีโอกาสอ่านเฉพาะในชุมชนเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ

กัมพูชา ในโลกยุคใหม่ การอ่านข่าวในอินเตอร์เน็ตกำลังมีความนิยมมาก เพราะไม่ต้องซื้อหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาเขมรที่เดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการนำหนังสือพิมพ์ ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุตอนเช้าทุกช่องและทุกคลื่น

สื่อ โทรทัศน์ อาจารย์บอกว่า กัมพูชามีทีวีถึง 10 ช่อง อาทิ TVK เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ...TV5 เป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพ...TV9 เดิมเป็นสถานีโทรทัศน์ประจำพรรคฟุนซินเปค...TV3 (TV ประจำราชธานีพนมเปญ)...CTN (ช่อง 21) สถานีโทรทัศน์ของออกญากึดเมง เป็นของเอกชน มีสองช่อง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ...

BAYON บาย็วน เป็นของเอกชน...Absra (อัปสรา) สถานีโทรทัศน์พรรคประชาชนกัมพูชา และ My TV (ช่องบันเทิง) เป็นของเอกชน


สถานี วิทยุโทรทัศน์ทั้งหมดมีรายการข่าวตอนเช้าและตอนเย็น ยกเว้น TVK ไม่มีข่าวตอนเช้า เพราะเริ่มออกอากาศเวลา 09.00 น. ส่วนสถานี TCN มีรายการข่าวมากที่สุด นอกจากรายการข่าวเช้าเย็นแล้ว ยังมีรายการข่าวทุกต้นชั่วโมง

สื่อที่ทรงพลังอย่างหนังสือพิมพ์  ก็มีหลายฉบับ  ทั้งภาษาเขมรและภาษาอังกฤษ เช่น รัศมีกัมพูชา เกาะสันติภาพ กัมปูเจียเทม็ย เดิมอำปึล พนมเปญโพสต์ (ภาษาอังกฤษ) แคมโบเดียเดลี่ (ภาษาอังกฤษ)

หนังสือพิมพ์ที่เด่นและได้รับความนิยมมากคือ รัศมีกัมพูชา และ เกาะสันติภาพ ทั้งสองเน้นเสนอข่าวทั่วไป ไม่ได้เจาะจงเรื่องการเมือง และไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใด แต่ก็เขียนข่าวเฉพาะการทำดีของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ปรากฏเห็นเขียนถึงรัฐบาลในทางไม่ดีหรือไม่มีการเขียนขัดแย้งกับรัฐบาลเลย

เมื่อมีข่าวคราวไม่ดีของรัฐบาล หนังสือพิมพ์ทั้งสองก็เลี่ยงไม่เขียนถึง

ถึง กระนั้นก็มีหนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจคือ เดิมอำปึล (ต้นมะขาม) เป็นหนังสือพิมพ์เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ เขียนตามความเป็นจริง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด รายงานข่าวทุกครั้งทั้งดีและไม่ดีของรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ข่าวออนไลน์ http://www.dap-news.com/ รายงานข่าวผ่านเว็บไซต์อัพเดตทุกนาที

ส่วน หนังสือพิมพ์ฝ่ายค้านคือ มนัสสิการและเขมรมจ๊าส์สรุก เขียนสนับสนุนสม รังสี แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก ส่วนใหญ่เขียนวิเคราะห์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล


ความ เชื่อต่อสื่อของชาวกัมพูชาเป็นอย่างไรนั้น อาจารย์บอกว่า การเชื่อสื่อของชาวเขมรในประเทศกัมพูชา มีลักษณะเหมือนไทย บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ บางคนก็เบื่อไม่อยากรับรู้รับเห็น

สำหรับคนเชื่อจะ สังเกตเห็นได้จาก การนำข่าวที่ตนอ่านไปคุยสนทนากันที่ร้านกาแฟ หรือเรียกกันว่า สภากาแฟ ในตอนเช้าหลังจากกินกาแฟเสร็จก็ไปทำงานปกติ การสนทนากันในโต๊ะกาแฟกับเพื่อนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ถกเถียงกันอย่างดุเดือด แต่ไม่มีการลงไม้ลงมือและรุนแรง และคอยดูข่าวในวันต่อไปแล้วก็นำมาคุยกันอีก ส่วนใหญ่คุยไปก็ลืมไป ไม่ได้เอาเป็นอารมณ์มากนักและไม่บานปลาย อย่างเรื่องสถานการณ์ต่างๆระหว่างไทยกับกัมพูชา บางคนก็สนับสนุนรัฐบาล บางคนก็คัดค้าน เป็นเรื่องปกติ

การศึกษาเรื่องสื่อของกัมพูชาเท่าที่ ทราบมา พัฒนาการเรื่องสื่อกัมพูชา เริ่มต้นจากการนำความจริงมากล่าวไว้ ต่อมาก็เปลี่ยนแนวคิดไปเป็นเรื่องธุรกิจบ้าง เรื่องสนับสนุนตัวบุคคลบ้าง เพื่อความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์

อย่างหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ แต่ก่อนก็ตรงไปตรงมา ต่อมาเมื่อมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสื่อ ก็เลยเลี่ยงการเขียนถึงรัฐบาล หรือไม่ส่วนใดที่เขียนแล้วกระทบกับรัฐบาลจะไม่เขียนถึง

ความเป็นมา ของหนังสือพิมพ์ในกัมพูชา อาจารย์บัญญัติบอกว่า การพิมพ์ หนังสือพิมพ์มีมาพร้อมๆกับที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองในดินแดนแถบนี้ แต่ยังพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส แจกจ่ายให้ชาวฝรั่งเศสในกัมพูชา ในต้นศตวรรษที่ 19 มีวารสารปฐมศึกษาชื่อ วารสารปฐมภูมิฝรั่งเศส-เขมร ขึ้นในปี ค.ศ.1925, วารสารกัมพุชสุริยา ปี ค.ศ. 1926, วารสารสรุกเขมร (เมืองเขมร) ปี ค.ศ. 1927

ใน ปลายปี ค.ศ.1936 มีหนังสือพิมพ์การเมืองเกิดขึ้น เป็นหนังสือพิมพ์ต่อต้านลัทธิพระมหากษัตริย์กับอาณานิคมนิยม ชื่อว่า หนังสือพิมพ์นครวัด นักเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ โงก ทัน

หลังจากที่ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราช ข่าวสารเขมรก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ รัฐบาล สังคม ราษฎรนิยม ที่มีสมเด็จสีหนุเป็นประธาน ได้จัดพิมพ์ หนังสือพิมพ์ชื่อว่า  นักชาตินิยม  ในปี  ค.ศ.  1959  เป็นหนังสือพิมพ์ทางการเมือง และรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีวารสารเกิดขึ้นใหม่อีกมาก มีหนังสือภาพ การ์ตูน เกิดมาพร้อมๆกัน

หลัง จากที่รัฐบาลสาธารณรัฐถูกทำรัฐประหารโดยรัฐบาลเขมรแดง คือตั้งแต่ปี ค.ศ.1975-1979 วารสารสนับสนุนรัฐบาลเขมรแดงก็เกิดขึ้นชื่อว่า กัมพูชา ประชาธิปไตย

ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 1979 เขมรแดงถูกขับไล่โดยการยึดครองของกองทัพเวียดนาม มีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาชื่อว่า รัฐบาลคอมมิวนิสต์ กัมพูชา ข่าวสารที่สนับสนุนรัฐบาลนี้ก็ถือกำเนิดขึ้นอีก ชื่อว่า มหา-สามัคคี ร่มธงรณสิรส์

เมื่อประเทศกัมพูชามีรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุข ในปี 1993 ข่าวสารทั้งที่เป็นภาษาเขมรและภาษาต่างประเทศได้ผลิตขึ้นมากมาย เช่น กุลบุตรอังกอร์ คงค์ สุวรรณณารเป็นเจ้าของ

ทรรศนะ ส่วนตัวต่อสื่อกัมพูชา ทรรศนะส่วนตัวก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ใส่ใจกับสื่อมากนัก เพราะว่าสื่อต่างๆก็ต้องค้นหาเรื่องราวที่สดใหม่และมีประเด็นแห่งความขัด แย้งตามลักษณะของสื่อ แต่บางครั้งก็เลือกอ่านสื่อที่มีประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ไม่อ่านประเด็นที่ขัดแย้งและปัญหาสังคม

การเขียนข่าวในกัมพูชามี การตอกใข่ใส่สีได้มากน้อยเพียงใดนั้น อาจารย์บัญญัติบอกว่า โดยทั่วไปสามารถใส่สีได้มาก แต่ก็ต้องมีหลักฐานบางอย่างที่อ้างอิง ซึ่งอาจอ้างเอกสารต่างๆหรือบุคคล ไม่เช่นนั้นก็ถูกรัฐบาลแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท

เรื่องการข่าว โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเมือง รัฐบาลก็จะเข้มงวดบ้าง แต่ก็ไม่ได้ปิดทางให้หนังสือพิมพ์ฝ่ายที่ค้านรัฐบาลนำเสนอข่าว ซึ่งรัฐบาลมีการตรวจสอบโดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

เรื่อง ความมั่นคงนี้ รัฐบาลห้ามเขียนและไม่ให้เขียนเลย โดยออกจรรยาบรรณมาควบคุม และบรรณาธิการเป็นผู้ตรวจสอบ แต่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการตรวจสอบก่อนนำเสนอข่าว แต่ตรวจหลังจากตีพิมพ์แล้ว

อาจารย์สรุปว่า "นักข่าวที่ถูกฟ้องเยอะที่สุดและมีมาตลอดก็คือ นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่เขียนคัดค้านรัฐบาล"

สถานการณ์ สื่อของกัมพูชาในปัจจุบัน เพียงแค่ผู้ทำหน้าที่สื่อรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ผู้เสพข่าวสารจะเป็นอย่างไร คำถามนี้ทุกคนย่อมมีคำตอบแล้ว.

ทีมข่าวการเมือง