http://www.thairath.co.th/column/pol/chuckthong/48815
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552
ธรรมะของสื่อ
ผมกำลังทบทวนการไปในงานปั้นนักข่าวเป็นนักเขียน ที่สถาบันอิศรา อมันตกุล จัด ซีพีออล เป็นสปอนเซอร์ ที่รีสอร์ต ริมแม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันเสาร์ เป็นงานหรือการไปเที่ยวบ่ายอาทิตย์ต่อไปงานเผาศพญาติที่หาดเจ้าสำราญ เพชรบุรี งานนี้แน่ใจว่า เป็นหน้าที่มนุษย์ทุกคน หมุนเวียนอยู่กับพันธกิจชีวิตแบบเดียวกันนี้ กลับมาทำงานวันจันทร์ หมอบัญชา พงษ์พานิช โทรศัพท์มาตาม เพิ่งรู้ตัวว่า ตกข่าวงานสำคัญ งานชื่อ สื่อมวลชน เพื่อนร่วมสร้างโลก งานเกริ่นเพื่อเตรียมการเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาส งานระดับนายกฯอภิสิทธิ์ เป็นประธานพิธีเปิดเนื้อหาตอนหนึ่ง จากหนังสือ สื่อมวลชน บนวิถีศีลธรรม ตามทัศนะของพุทธทาส ที่หมอบัญชาให้มา...อธิบายความสับสนของจิตใจ ได้พอดีท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่า ธรรมะที่แท้จริง นั่นคือ หน้าที่ที่สิ่งมีชีวิตจะต้องทำเพื่อความรอด แต่เนื่องจากไอ้ความ รอดทางวัตถุ ทางกายนั้น เขาก็มีสอนกันอยู่ทั่วไป
ดังนั้น ท่านจึงสอนส่วนที่ยังขาดอยู่ คือหน้าที่ในทางฝ่ายจิตใจที่จะต้องรู้ ที่จะต้องประพฤติ กระทำให้ถูกต้อง แล้วก็จะไม่มีความทุกข์แต่ถ้าจะเอากันตามตัวหนังสือ ว่าธรรมะๆ แล้ว ทางโลกก็ได้ ทางธรรมก็ได้ ทางศาสนาก็ได้ มิใช่ศาสนาก็ได้ ถ้ามันเป็นเรื่องช่วยให้เรารอดจากปัญหาและความทุกข์ท่านอาจารย์พุทธทาสย้ำให้สื่อมวลชน ช่วยกันสื่อสารให้เพื่อนมนุษย์ได้รู้จักสิ่งที่ว่าธรรมะ ในฐานะที่เป็นหน้าที่ประเทศอินเดีย เจ้าของคำคำนี้ ปทานุกรมของเขา ก็แปลคำ "ธรรมะ" ว่า "หน้าที่"เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ได้เกิดขึ้นมา มนุษย์รู้จักใช้พูดคำว่า ธรรมะๆแล้วนั่นเขาหมายถึงหน้าที่
ถ้าถือศาสนาที่ถูกต้อง ใช้ธรรมะที่ถูกต้อง เป็นความถูกต้องของธรรมะประจำอยู่ในจิตใจทุกคน ความเห็นแก่ตัวมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ถ้าประชาชนทุกคนเห็นแก่ตัว ก็ต้องมีผู้แทนที่จ้างคนให้เลือก ก็ได้ผู้แทนที่เห็นแก่ตัว เป็นรัฐสภาที่เห็นแก่ตัว รัฐสภาตั้งรัฐบาลได้ ได้รัฐบาลเห็นแก่ตัว ข้าราชการทั้งหลายก็เห็นแก่ตัว ลูกเด็กเล็กแดงทั้งหลายก็จะเห็นแก่ตัว พระเจ้าพระสงฆ์ก็จะเห็นแก่ตัว ลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน สุนัขและแมวก็จะพลอยเห็นแก่ตัว สุนัขก็นอนเสียไม่เห่าตามหน้าที่ แมวก็นอนเสียไม่จับหนู ไก่ก็นอนเสียไม่รู้จักขันตามเวลาโทษเลวร้ายของความเห็นแก่ตัวมันมีอยู่อย่างนี้ น่าหัวที่ว่า "เห็นแก่ตัวกลับทำลายตัวเอง"
ในครั้งพุทธกาลไม่มีสื่อมวลชนเผยแผ่ธรรมะ พระพุทธเจ้าส่งสาวกออกไปเผยแผ่ศาสนา ทางบ้านเมืองจะมีโฆษณาก็ให้คนตีฆ้องหรือตีกลอง ป่าวประกาศให้คนรู้จุดตั้งต้นของงานหนังสือพิมพ์ เหมือนหิ่งห้อยตัวเล็กๆตัวหนึ่ง แล้ววิวัฒนาการเป็นสิ่งมีอำนาจ มีอิทธิพล เหมือนกับดวงอาทิตย์ดวงหนึ่ง
เมื่อกล่าวถึงธรรมะหรือหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ท่านอาจารย์พุทธทาสย้ำว่า คือการช่วยกันทำลายข้าศึกอันเลวร้ายของโลกทั้งโลก ซึ่งมีอยู่เพียงตัวเดียว ชื่อว่าความเห็นแก่ตัวสรุปคำสอนของอาจารย์ ความเห็นแก่ตัวเริ่มจากทำลายตัวเอง ทำลายสังคม และสุดท้ายก็ทำลายบ้านเมือง หยุดความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ได้เมื่อไร ความสงบสุขก็จะกลับคืนมา.
กิเลน ประลองเชิง