บทนำมติชน-สื่อกับการชิงพื้นที่

http://www.matichon.co.th/matichon/

(หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 5มกราคม2553  หน้า 3)

สื่อกับการชิงพื้นที่
บทนำมติชน


การชิงพื้นที่สื่อมวลชนของนักการเมืองกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของนักการเมืองไทยไปแล้ว เพราะนักการเมืองคิดว่าถ้าสื่อนำเสนอข่าวที่ตนเองเป็นคนกำหนดไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริง การแสดงความคิดเห็นเพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ด้านหนึ่ง ภาพลักษณ์ของตนเองจะดี เนื่องจากเป็นผู้กำหนดประเด็นและเนื้อหาข่าว ในฐานะเป็นผู้กระทำ อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายตรงข้ามที่ถูกพาดพิงถึงจะได้รับความเสียหาย ขาดความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน เพราะโดนกล่าวหาหรือถูกประชดประชัน เสียดสี เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดกันเช่นนี้ ข่าวในสื่อไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ในแต่ละวันจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวการกล่าวหา การปฏิเสธ การข่มขู่ ฯลฯ โดยใช้โวหาร การเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยและคำบริภาษทีเจ็บแสบโดยหวังจะให้อีกฝ่ายเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนและได้รับความอับอายขายหน้า

การเมืองไทยในปัจจุบันยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิดธรรมเนียมใหม่ ประการที่หนึ่ง ได้ตั้งโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่คอยแถลงข่าวต่อสื่อทุกวัน ณ ที่ทำการพรรคหลายครั้ง เนื้อหาที่แถลงไม่เป็นไปในทางเดียวกันกับหัวหน้าพรรคที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญ เนื้อหาที่แถลงมีลักษณะก้าวร้าว จาบจ้วง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึงสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งผิดแผกไปจากลักษณะส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เมื่อเป็นดังนี้ จึงทำให้ภาพลักษณ์ของนายอภิสิทธิ์เปลี่ยนไปจากการสร้างของโฆษกประจำตัว ประการที่สอง โฆษกและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ก็เปิดแถลงข่าวทุกวันเช่นกัน

ในส่วนของฝ่ายค้าน นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะสื่อสารผ่านเครื่องมือสมัยใหม่ ไปยังประชาชนคนไทย เช่น ทวิตเตอร์ เอสเอ็มเอส การโทรศัพท์ วิดีโอลิงก์ จัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ฯลฯ พรรคเพื่อไทย ยังมีโฆษกและรองโฆษกพรรคเปิดแถลงข่าวทุกวัน ส.ส.ที่เกาะติดการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลก็เปิดแถลงข่าว ทั้งสองนี้ มีการเคลื่อนไหวเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ตรวจสอบ เช่น การเดินทางไปแจ้งความ การยื่นหนังสือคำร้อง ฯลฯ สำหรับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็มีการประชุมเป็นระยะ จากกนั้นก็เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

วันๆ หนึ่ง ข่าวสารจากนักการเมืองจึงทะลักเข้าสู่สื่อมวลชน สื่อมวลชนแต่ละสำนักต่างมีวิจารณญาณของตนเองว่าจะนำเสนอข่าวอะไร จากฝ่ายไหน มากน้อยเพียงไร หรือจะตัดทิ้งข่าวสารใด สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คือ สื่อโทรทัศน์พยายามจะตัดทอนข่าวของ ฝ่ายค้านและ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือแม้จะเสนอก็รวบรัดให้สั้น ให้ดูแต่ภาพ ไม่ปล่อยเสียง ต่างจากฝ่ายรัฐบาล จะมีทั้งเสียง ทั้งภาพ โทรทัศน์ที่เป็นของรัฐ ได้แก่ สทท.11 จะถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่ออย่างเต็มที่ สำหรับหนังสือพิมพ์โดยภาพรวม นำเสนอข่าวทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ข่าวสารที่นำเสนอจะว่าไปตามเนื้อหา ซึ่งจะไม่เหมือนกับหนังสือพิมพ์ที่เลือกข้างจะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ชี้ผิดชี้ถูกตั้งแต่ต้นเริ่มตั้งแต่พาดหัวข่าว โปรยข่าว และเนื้อข่าว จากเหตุที่สื่อหลายๆ แขนงเหล่านี้มีแนวทางการนำเสนอข่าวสารของตนเอง และมีการเลือกข้าง ทำให้ประชาชนที่เลือกข้างเหมือนกันหันไปเสพสื่อที่ตรงกับใจของตนเอง ขณะเดียวกันก็โจมตีสื่อที่นำเสนอข่าวอย่างเป็นกลางตามหน้าที่และจริยธรรมของสื่อ

ไม่ว่าสื่อจะระมัดระวังแค่ไหน สื่อก็มิอาจหลีกเลี่ยงการเป็นเครื่องมือของผู้ที่ให้ข่าวไปได้ เพราะต้องนำเสนอไปตามข้อเท็จจริงนั้นๆ โดยคิดว่าประชาชนผู้บริโภคข่าวสารจะเป็นคนตัดสินเองว่าอะไรดี อะไรเลว นักการเมืองคนไหน พรรคใดใช้ได้ ใช้ไม่ได้ การกล่าวเช่นนี้ถือว่าถูกเพียงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไม่ถูก กล่าวคือ ตัวนักการเมืองซึ่งอาสาเข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ กินเงินเดือนจากภาษีของชาวบ้าน ได้รับสิทธิพิเศษมากมายจะต้องจำแนกแยกผิดชอบชั่วดีให้ได้ แล้วประพฤติตนให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดี ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่จะโยนภาระให้กับประชาชนหรือไม่ก็โทษสื่อ โดยนักการเมืองไม่ยอมมองตัวเองว่า ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้ชื่อว่าเป็น "ผู้แทนปวงชนชาวไทย" แถมยังขาดระบบการตรวจสอบในพรรค ในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ในองค์กร ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ถูกกำหนดให้กำกับจริยธรรมของนักการเมือง ทำให้วันวันหนึ่ง นักการเมืองเหล่านี้ใช้พื้นที่สื่อไปเอื้อประโยชน์กับตัวเองและพรรค-พวก โดยไม่คำนึงว่าชาวบ้านจะรู้สึกอย่างไร