7มค53-กมธ.พิจารณากฎหมายจัดสรรและควบคุมคลื่นความถี่ฯเสร็จแล้ว

กมธ.พิจารณากฎหมายจัดสรรและควบคุมคลื่นความถี่ฯเสร็จแล้ว รมต.ประจำสำนายกฯเตรียมประสานวิปรัฐบาลผลักดันเข้าสู่สภาวาระ 2-3 คาดมีผลบังคับใช้กลางปี

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 เวลา 13.15 น. ที่รัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... แถลงภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะการให้มีองค์กรเพื่อกำกับดูแลคลื่นความถี่ เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุชุมชน และสื่อที่จะเกิดขึ้นในชุมชน ขณะนี้คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาร่างพระราชบัญัติดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว  มี 88 มาตรา เนื้อหามีความสลับซับซ้อน โดยระหว่างการพิจารณาคณะกรรมาธิการฯได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานความมั่นคง ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่

นายสาทิตย์กล่าวอีกว่า จากนี้จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันพิจารณาสมัยประชุมนี้ที่จะเปิดปลายเดือนมกราคม 2553 โดยจะขอให้ประธานวิปรัฐบาลหยิบยกร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็แล้วขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องด่วน และหากผ่านที่ประชุมสภาฯในวาระ 2-3 และจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งน่าจะรวดเร็วขึ้น เพราะได้พูดคุยกันไประดับหนึ่งแล้ว กลางปี 2553 กฎหมายน่าจะมีผลบังคังใช้  

นายสาทิตย์กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 11 คน เพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่  และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และได้กำหนดวิธีการสรรหากสทช. 2 วิธี คือ 1.แบบคัดเลือกกันเอง โดยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเสนอชื่อแล้วคัดเลือกกันเองให้เหลือ 22 คน และ 2.ให้มีคณะกรรมการสรรหา จำนวน 15 คน โดยมาจาก 5 ส่วน คือ ภาครัฐ องค์กรอิสระ ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ภาคประชาชน และเปิดรับสมัครบุคคลที่มี! คุณสมบัติตามกฎหมาย คัดเลือกให้เหลือ 22 คน ซี่งรวมวิธีการสรรหาทั้ง 2 วิธี รวมแล้ว 44 คนเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาเลือกเหลือ 11 คน เป็นกสทช.

นายสาทิตย์กล่าวว่า สำหรับกระบวนการสรรหากสทช.นั้น กฎหมายได้กำหนดจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน ในกรณีหากมีการฟ้องร้อง กระบวนการสรรหาก็ไม่ยุติลง และจะเป็นการป้องกันกลุ่มผลประโยชน์ที่จะเข้ามาบล็อกโหวตที่จะเข้ามาเป็นกสทช.ได้ ในส่วนของการตรวจสอบ และความโปร่งใสของกสทช. กฎหมายได้มีการกำหนดให้มีการถอดถอนกสทช. ทั้งคณะ หรือเป็นรายบุคคลก็ได้ นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดให้มีแผนแม่บทการปรับเปลี่ยนคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ไปสู่คลื่นดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนที่ทุกประเทศจะต้องดำเนินการภายในปี ค.ศ.2015

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กฏหมายฉบับนี้มีมติก้าวหน้าหลายเรื่อง ทั้งมีหลักประกันให้ความมั่นใจกสทช.ต้องเกิดขึ้นแน่ ทำให้องค์กรกสทช.มีธรรมาภิบาล โดยมีกระบวนการที่เปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดที่สุด การลงมติของกสทช.ในแต่ละเรื่องต้องเปิดเผย มีการะบวนการถอดทอนเป็นคณะ หรือเป็นรายบุคคลหากมีความประพฤติเสียหาย และยังมีมิตรับมือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทีวี วิทยุคลื่นดิจิทัล