อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา แจงเหตุนสพ.ลานมะพร้าวถูกผู้บริหารฯขู่ปิดหนังสือพิมพ์ ระบุภาควิชานิเทศศาสตร์มีอำนาจเปิด-ปิด-ปรับปรุง อ้างเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติทางวิชาการของนักศึกษา ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่จดหัวตามกฎหมาย
จากกรณีที่บก.หนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว มหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร้องเรียนต่อนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อขอความเป็นธรรมที่ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคนขู่ปิดหนังสือพิมพ์ หลังเสนอข่าวผลหยั่งเสียงเลือกตั้งอธิบการบดีคนใหม่นั้น เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ศาสตราจารย์สุชาติ อุปถัมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีwww.tja.or.th ลงข่าวบก.นสพ.ลานมะพร้าวร้องขอความเป็นธรรมถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยขู่ปิดหนังสือพิมพ์ว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยบุรพา ครั้งพิเศษ เพื่อหารือกรณีที่มีการนำเสนอข่าวตามสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “ลานมะพร้าว” ที่เสนอข่าวการสรรหาอธิการบดี และถูกคุกคามว่าจะเสนอสภามหาวิทยาลัย เพื่อสั่งปิดหนังสือพิมพ์ และจะสอบวินัยอาจารย์ที่ปรึกษา ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ภายหลังการประชุมมีข้อสรุปว่า 1.การสรรหาอธิการบดี คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีได้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วย คุณสมบัติและการสรรหาอธิการบดี พ.ศ.2552 2.เนื่องจากหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “ลานมะพร้าว” เป็นการฝึกปฏิบัติทางวิชาการของนิสิต มิใช่หนังสือพิมพ์ที่ขอหัว และจดแจ้งการทำสื่อสิ่งพิมพ์ ตามพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ทั้งนี้ บทความต่าง ๆ ต้องไม่กระทบกับบุคคลที่สาม ดังนั้น ผู้รับผิดชอบหลัก คือ ภาควิชานิเทศศาสตร์ ภายใต้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งสามารถดำเนินการเปิด – ปิดหรือปรับปรุงต่าง ๆ ได้ตามเอกภาพ
ศาสตราจารย์สุชาติระบุด้วยว่า 3.ปัจจุบันคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มิได้ดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบวินัยอาจารย์ที่ปรึกษา 4.การแสดงความคิดเห็นใด ๆ ของนิสิต ทางมหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยมิได้ปิดกั้น เช่น ตัวแทนนิสิต นายกองค์การนิสิต สภานิสิต สโมสรนิสิต ยื่นคำร้องต่าง ๆ และเมื่อนิสิตไม่เข้าใจ มหาวิทยาลัยได้พยายามชี้แจงให้นิสิตเข้าใจเสมอมา อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัย และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย มีเจตนารมย์มุ่งส่งเสริม สนับสนุนภาควิชานิเทศสาสตร์ เพื่อเสริมสร้างศาสตร์ทางด้านสื่อสารมวลชน โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2553 มีมติเห็นชอบให้ภาควิชานิเทศศาสตร์ดำเนินการโครงการจัดตั้งคณะนิเทศศาสตร์ไปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับกรณีบก.หนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว ที่ได้มาร้องเรียน เพื่อขอความเป็นธรรมจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่5 มกราคม 2553 เวลา 10.30 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตัวแทนนสพ.ลานมะพร้าว ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกหักของนิสิต ชั้นปีที่ 3 วิชาเอกนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นำโดยน.ส.สาวิตรี แก้วมณี บก.นสพ.ลานมะพร้าว เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อขอความชอบธรรมกรณีนสพ.ลานมะพร้าวถูก ข่มขู่คุกคามเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยบูรพา และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนิสิต เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45
โดยน.ส.สาวิตรี แก้วมณี กล่าวว่า หลังจากนสพ.ลานมะพร้าวฉบับกำแพงนิวส์ ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เสนอข่าวผลหยั่งเสียงในมหาวิทยาลัยถึงคะแนนนิยมต่อผู้ที่จะเป็นอธิบการบดีคนใหม่ ปรากฎว่ามีผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาอธิการบดี ได้สั่งเรียกเก็บหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว และเรียกรศ.สุกัญญา บูรเดชาชัย อาจารย์ที่ปรึกษานสพ.ลานมะพร้าวไปพบ เพื่อสอบถาม โดยผู้ที่เรียกไปสอบถามได้ให้เหตุผลว่า นสพ.ลานมะพร้าวจะไปรบกวนกระบวนการสรรหาตำแหน่งอธิบการบดีไม่ได้ กลัวสื่อจะไปชี้นำ แต่ทางกองบรรณาธิการนสพ.ฯได้พิจารณาแล้วว่า ไม่ได้นำเสนอผลคะแนนแต่ละคณะในมหาวิทยาลัย นสพ.เพียงทำภาพรวมคะแนนทั้งหมด ทำเสนอเป็นกราฟวงกลม ดังนั้นนสพ.ลานมะพร้าวไม่ได้ทำผิดกฎของมหาวิทยาลัย ที่ระบุว่าห้ามสื่อมวลชสำเสนอผลคะแนนหยั่งเสียง อย่างไรก็ตามหลังจากโดนสังเก็บนสพ.ลานมะพร้าวที่เสนอผลหยั่งเสียงไปแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ที่เป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาฯ ยังบอกด้วยว่า ถ้ารศ.สุกัญญา ยังควบคุมนิสิตในการนำเสนอข่าวนี้ไม่ได้ จะยื่นเรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัย เพื่อสั่งปิดนสพ.ลานมะพร้าวต่อไป
ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับเรื่องไว้แล้ว จะส่งให้ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไป
ต่อมาตัวแทนนิสิตวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เดินทางไปที่รัฐสภา ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อข้อความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว จากนั้นได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มีนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้รับเรื่อง