สัมภาษณ์นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีลาว ณ สำนักงานนายกรัฐมนตรี ณ นครเวียงจันทร

 

ปลายมกราคม (29 ม.ค.) ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะผู้บริหารสมาคมฯ เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีลาว ณ สำนักงานนายกรัฐมนตรี ณ นครเวียงจันทร์ ในโอกาสที่เดินทางมายังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-ลาว ระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าวแห่งสปป.ลาว

พร้อมกันนี้ ยังมีบทสัมภาษณ์แบบเข้มข้น ตรงไปตรงมา จากรองนายกฯ วัย 66 ปี ผู้นี้ มาฝากคุณผู้อ่าน

@ กรณีม้งลาว รัฐบาลมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร

ตั้งแต่ไหนแต่ไร ประเทศลาวเป็นประเทศที่มีสังคมปรองดองซึ่งกันและกัน และในประวัติศาสตร์ประเทศลาว ไม่เคยมีกรณีว่า ชนชาตินี้ ชนเผ่านี้ ไปปรามปราบชนเผ่า

ไม่เคยมี เขาอยู่กันด้วยความปรองดอง สามัคคีกัน ตั้งแต่สงครามอินโดจีน อเมริกาก็ใช้เผ่าม้งเป็นกำลังพิเศษ ก็เกิดปัญหาม้งตามมา ซึ่งอเมริกามาสร้างขึ้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนลาวจะมาทะเลาะกัน ไม่มี

ที่สำคัญ ปัจจุบัน รัฐบาลลาวได้ขยายการศึกษาไปทั่วทุกบ้าน เพื่อให้เด็กเล็กเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เริ่มตั้งแต่เลี้ยงเด็กอนุบาล  ฉะนั้น รัฐบาลคิดว่า การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญ   ที่ยกระดับความเข้าใจ เป็นเอกภาพของทุกชนเผ่าในชาตินี้  เคียงคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ กระจายการพัฒนาไปทั่วทุกบริเวณ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองใหญ่   แต่ต้องกระจายไปยังภูดอย ชนเผ่า

ฉะนั้น รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาเส้นทาง ดึงไฟฟ้าเข้าไป มีครงการน้ำสะอาด  เข้าไปในนโยบาย ซึ่งเรากำลังทำอยู่  แต่ก็ยังมีความลำบากอยู่ เช่น   จะดึงไฟฟ้าให้ไปถึงทุกหมู่บ้านก็ยาก  เคยไปเจรจากับธนาคารโลกเพื่อขอเงินกู้มาทำไฟฟ้า น้ำ ลงไปในชนบท  แต่ก็ติดตรงที่ดึงไฟฟ้าไป 60 กิโลแล้ว ก็ยังไม่เห็นหมู่บ้าน แต่รัฐบาลก็พยายามทำทุกวิธีให้ทุกพื้นที่มีไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

เมื่อก่อนเราขอเงินกู้ เขาก็ปฏิเสธ ไม่ให้  บอกว่าเราไม่มีประสิทธิภาพ ผมก็ไปบอกจุดประสงค์ว่าเราจะกู้มาเพื่ออะไร  ถ้าไม่ช่วยลูกหลานที่ทุกข์ยาก   ในที่สุดก็บอกไปว่า ประเทศลาวก็เป็นแบบนี้

อย่างอียู มาประท้วงต่อว่าเราเรื่องสิทธิมนุษยชน  ตอนที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ   ก็ไปพูดกับเขาว่า สิทธิมนุษย์ที่พวกท่านพูดนั้นเป็นสิทธิมนุษย์ที่สร้างความทุกข์ยากตลอดกาล  ผมพูดอย่างนี้เลย

ฉะนั้น รัฐบาลลาวจะมีนโยบายว่า บ้านเล็กๆ ร้อยๆ มารวมกัน ซึ่งเรียกว่าจัดสรรภูมิลำเนาคงที่ และประกอบอาชีพถาวรให้เขา  เพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น  ฉะนั้น ถ้าอยากเคารพสิทธิมนุษย์  ก่อนอื่นทั้งหมด ต้องเคารพสิทธิ์ในการดำรงชีวิตด้วยความมีสุขให้เขาก่อน   ผมเห็นว่าระดับชนเผ่าต่างๆ เดี๋ยวนี้ ดีมาก  โดยเฉพาะพี่น้องม้งเป็นเผ่าที่มีความฉลาด ขยันหมั่นเพียรในการทำงาน

แม้ประชากรม้งจะมีไม่มาก แต่เชื่อมั๊ยครับนักศึกษาในมหาวิทยาลาว เป็นม้งจำนวนมาก แม้แต่ในสมาชิกสภาแห่งชาติอัตราส่วนของม้งก็มีจำนวนมาก ถ้าเทียบจำนวนประชากร   นอกจากนี้ มีม้งเป็นรัฐมนตรีหลายคน ไม่ธรรมดานะ(ครับ) นั่นเป็นเพราะเราขยายและพัฒนาการศึกษา

จริงๆ แล้วกรณีม้งลาวหลายคนสับสนจนเกิดความไม่เข้าใจ   รัฐบาลไม่เอาประชาชนมาฆ่าทิ้งหรอก(ครับ) เราไม่เคยทำ

@ ม้งที่ไม่มีญาติพี่น้องทำอย่างไร

เราก็ไปจัดสรรที่อยู่ให้เขาในหลายแขวง ตามแต่สมควร แต่ถ้าใครมีพี่น้อง เขาก็กลับไปอยู่กับครอบครัวเขา

@ รัฐบาลจัดสรรที่ให้เขาอย่างไร

เราก็เคลียร์พื้นที่ให้เขา ให้อุปกรณ์การเกษตรไปทำกิน  1 ครอบครัวก็ประมาณ  9 ไร่ เพื่อให้เขามีอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้

@ กรณีที่ฝั่งตะวันตกเป็นกังวลล่ะครับ

เขาก็สร้างเรื่อง เป็นการโฆษณา  ผมพูดตรงๆอย่างนี้แหละ  เขาไปเอาเรื่องสงครามเย็นมาเล่น ซึ่งไม่เหมาะสม

@ ความสัมพันธ์รัฐบาลลาวกับรัฐบาลไทย เป็นอย่างไรบ้าง ในสายตาของท่าน

ทางลาวถือว่า รัฐบาลไทยเกิดขึ้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนไทย ฉะนั้น รัฐบาลลาวก็เคารพ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของพรรคใดก็ตาม  เพราะเราถือว่าประชาชนเป็นใหญ่ ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลใดขึ้นมาก็ตาม เรายึดมั่นในนโยบายที่ว่า ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ในฐานะที่เป็นประเทศใกล้เคียงกัน

ผู้นำของประเทศลาวเคยพูดว่า   ลาวกับไทย ประวัติศาสตร์ได้แบ่งไว้ให้อยู่แนวนี้แล้ว  ฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็จะต้องสร้างความเข้าใจกัน อันไหนที่ดีก็ทำให้ดียิ่งขึ้นไป  ปีนี้สปป.ลาว สถานปนาครบรอบปีที่ 35   ผ่านรัฐบาลไทยมาจากหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ กิจสังคม ไทยรักไทย  หรือพรรคอื่นๆ เช่นพรรคของท่านบรรหาร (ศิลปอาชา) ซึ่งก็มีการร่วมมือกัน และไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี

และก็ดีใจ ที่ปัจจุบันมีกลไกการร่วมมือลาวกับไทยที่ดี แต่ละปีจะมีการประชุมกัน   สมัยผมเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ  13 ปีกว่า ก็ได้ร่วมมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย มา 8-9 ท่านแล้ว  ก็มีการสร้างความเข้าใจกัน ตั้งแต่ท่านประสงค์ สุ่นศิริ    ท่านทักษิณ ชินวัตร ท่านกระแส ชนะวงศ์ ท่านเกษมสโมสร เกษมศรี   ท่านสุรินทร์ พิศสุวรรณ ท่านอำนวย วีรวรรณ   ท่านกันตธีร์  ศุภมงคล และท่านสุรเกียรติ์ เสถียรไทย

ฉะนั้น เมื่อมาถึงเรื่องม้งลาว รัฐบาลไทยจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลาวหรือไม่ เราก็คิดอยู่  ซึ่งก็ดีใจมาก ที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นความสัมพันธ์ลาว-ไทย   จะไปฟังความสหรัฐได้อย่างไร  รัฐบาลไทยก็ส่งมาให้เรา  ซึ่งสหรัฐก็ขู่  เพื่อให้ลาวกับไทยเข้าใจผิดกัน  เพื่อตัวเองจะได้ประโยชน์  ซึ่งไม่ดีเลย จริงๆ แล้วในฐานะประเทศมหาอำนาจ  ยิ่งจะต้องทำให้ประเทศต่างๆ เข้าใจกัน  และเป็นมิตรที่ดีกับหรัฐ  อย่างนั้นสิเป็นเรื่องดี

ฉะนั้น ลาวกับไทย ผมคิดว่า เรามีความเข้าใจกันดีมาก ล่าสุด ท่านายกฯ อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็มาร่วมซีเกมส์กับเรา ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ใหม่ในอาเซียนที่มีทั้ง 4 นายกฯ จากไทย เวียดนาม กัมพูชา และพม่ามาร่วมเปิดซีเกมส์ พร้อมทั้งท่านเลขาธิการอาเซียน นี่เป็นเรื่องใหม่ที่เป็นนิมิตหมายอันดี

เพราะซีเกมส์ 24 ครั้งที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลไม่ได้สนใจเรื่องการกีฬา แต่ซีเกมส์ครั้งล่าสุด ผู้นำอาเซียน  ให้ความสำคัญกับกีฬา นี่เป็นการสร้างประชาคมในภาคปฏิบัติ     ครั้งต่อไปที่อินโดนีเซีย ถ้ามีนายกฯจากอาเซียนไปร่วมงาน 5-6   คน ก็จะยิ่งแสดงถึงความเป็นปึกแผ่นอันเดียวกัน   ผู้นำกับนักกีฬาก็เป็นอันเดียวกัน   เป็นการสร้างประชาคมที่ดี

@ เป็นเพราะท่านเป็นประธานจัดงานหรือเปล่า

(หัวเราะ)  ก็ขอขอบคุณผู้นำรัฐบาลหลายประเทศที่ท่านให้ความสำคัญ ก็อยากให้เอาเวียงจันทน์เกมส์เป็นหลักว่า ซีเกมส์ครั้งต่อๆ ไปก็ขอให้เป็นแบบนี้ ผู้นำไปนักกีฬาก็ดีใจ   กีฬาก็คือกีฬา ไม่มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง

@  จากประสบการณ์ด้านต่างประเทศอันยาวนาน  ปัญหาระหว่างอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะปัจจุบันปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับเขมร ท่านจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้างหรือไม่ เพื่อให้อาเซียนเป็นปึกแผ่น

ผมคิดว่า อาเซียนมีอายุมายาวนาน ไม่เคยแตกแยกกัน  แต่จะมีทะเลาะกันเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่พี่น้องทะเลาะกัน ก็ปรับความเข้าใจกัน ฉะนั้น เวลาจะ พิสูจน์ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน ยังคงหนักแน่นดี

และโดยทางตรงและทางอ้อม ผู้นำจะเข้าใจดีว่าควรประพฤติตัวเช่นไร   (หัวเราะ) เมื่อมาเวียงจันทน์ ท่านฮุนเซ็นก็มา ท่านอภิสิทธิ์ก็มา    เห็นหน้ากัน สัมผัสมือกัน ยิ้มให้กันก็ดี  ฉะนั้น ผมคิดว่า นักข่าวอย่าไปสร้างเรื่องให้เข้าใจกันผิดๆ   อย่างนี้อันตราย

@ 4-5 ปีที่ผ่านมา ลาวเปลี่ยนไปมาก  ในอนาคตแนวโน้มเศรษฐกิจลาวจะเป็นอย่างไร

ปัจจุบัน เรามีการลงทุนจากต่างประเทศ  เพื่อมาสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ คิดว่าจากนี้ไปถึงปี 2012   ซึ่งเป็นระยะเตรียมการเราจะวางรากฐานให้ครอบคลุม  หลังจากนั้นไป การพัฒนาจะไวขึ้นกว่านี้

4 ปีที่ผ่าน โดยเฉลี่ย จีดีพีเติบโตประมาณ 7.8-7.9  % ซึ่งเราถือว่าไปได้ดี   แม้ล่าสุด จะมีวิกฤตการเศรษฐกิจ  แต่เราก็ได้รับผลกระทบเล็กน้อย ในส่วนการส่งออก หรือราคาทอง

ฉะนั้น จากนี้ไป จังหวะการเติบโตของเศรษฐกิจลาวจะรวดเร็วขึ้น เพราะเรามีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกขึ้น ไฟฟ้าก็มีแล้ว   บุคลากรก็พัฒนาไปมาก   แล้วตลาดก็ไม่เป็นปัญหา เราอยู่ใกล้จีน ส่งออกไปขายเขาก็สนใจ    เราก็ปรึกษากับจีน

ไม่นานมานี้ มีการจัดสัมมนา  เรื่องเขตการค้าเสรอาเซียนจีน  ผมก็ไปร่วม ซึ่งลาวมีศักยภาพหลายอย่าง ไม่มีปัญหา  ที่เราจะนำประเทศลาวหลุดพ้นออกจากประเทศด้อยพัฒนา   ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลเกินไป ที่เราจะพัฒนาก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุสาหกรรม

@ แต่การก้าวไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม  สิ่งที่ต้องเจอแน่นอนคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม จะมีมาตรการป้องกันเรื่องนี้อย่างไร

ในรัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนแล้ว ในนโยบายพรรคก็ชัดเจนว่า ต้องคำถึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม  4-5 ปีก่อนยอมรับว่าเราไม่ได้เอาใจใส่เท่าที่ควร  แต่เราก็ยังโชคดี ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

แต่ปัจจุบัน ทุกโครงการ ถ้าไม่มีบทวิพากษ์เกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมเราก็ไม่อนุมัติการลงทุน ตรงนี้ชัดเจน ต้องทำอีไอเอให้ชัดเจน เรามีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งขึ้นกับสำนักงานนายกฯ

นักลงทุนจะมาร้องว่า ทำไมพิจารณานาน  จริงๆ ไม่เกี่ยวกับนานไม่นาน  แต่ถ้าไม่ดูให้ดี ไม่ใช่กระทบแค่ลาว แต่กระทบโลกด้วย  ฉะนั้น ประเทศลาวจะรักษาความยั่งยืนตรงนี้  ถ้าคิดว่าเราพิจารณานานเกินไป จะถอนการลงทุน ก็ถอนเลย   เป็นลิขสิทธิ์ของท่าน  แต่เราจะพัฒนาแบบยั่งยืน ถ้าเข้ามาลงทุนแล้วเกิดการทำลาย ไม่ได้ เราไม่เอา

@ เวลาตัดสินโครงการการลงทุนแต่ละโครงการ ชาวบ้านแต่ละแขวงจะต้องรับรู้ด้วยหรือไม่

ถูกต้อง  มีครั้งหนึ่ง เป็นบริษัทจากออสเตรเลีย เข้ามาขุดเรื่องอัญมณี  ปรากฏว่ามาทำลายพื้นที่ทำกิน ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างนัก  แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ เพราะบทเรียนเรามี ก็เจ็บแสบ    เวลาไปประเทศไทย มาบตาพุดผมก็ไปดู   แม่เมาะก็ไปดู ซึ่งลาวได้คำนึงสิ่งเหล่านี้ คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ซึ่งเรากำลังให้ความรู้กับชาวบ้าน