ข่าวผ่าทางตัน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ?

ผ่าทางตัน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ?

วันนี้ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  และ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2 จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง "ผ่าทางตัน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย"  ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ทีมข่าว สถาบันอิศรา สรุปประเด็นและสาระสำคัญที่น่าสนใจ มานำเสนอดังนี้

ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  กล่าวว่า เอาเข้าจริงแล้ว สังคมไทยไม่ได้ตีบตันทางออก แต่ไม่มีคนที่ตัดสินใจที่หาทางออก ไม่ว่าทางออกนั้นจะเป็นการยุบสภา การสลายการชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมสลายเองหรือรัฐบาลและทหารใช้กำลังเข้าสลาย   หรืออยู่อดทนกันไปเรื่อยๆ  หรือการแยกตัวออกของพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งการคิดเรื่องรัฐประหาร  ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ทั้งหมดล้วนเป็นทางออกได้ เพียงแต่ฝ่ายที่ประจันหน้ากันอยู่อาจไม่คิดว่าทางตันของเขา แต่เป๋นทางตันของประชาชน เขาจึงยังไม่ตัดสินใจ

“ผมคิดว่าทางออกมี ขึ้นกับว่าฝ่ายทั้งหลายที่ประจันหน้ากันอยู่นี้ คิดถึงประโยชน์ของประเทศหรือเปล่า  ถ้าทุกคนเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ตัวเองเป็นตัวตั้ง โอกาสถอยคนละก้าวก็มี “

ดร.สมคิดยังกล่าวว่า    ทางออกเรื่องการถอยคนละก้าวแล้วเจรจาน่าจะมีความไปได้ แต่คนที่จะไปบอกให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันได้ต้องมีบารมี  ฉะนั้น ถ้ากลุ่มเสื้อแดงถอนตัวจากแยกราชประสงค์  ไปอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วรัฐบาลยกเลิกพรก.ฉุกเฉินที่ราชประสงค์ และไม่ประกาศพรก. ฉุกเฉินที่ทำเนียบฯ ผมคิดว่าบรรยากาศจจะดีขึ้น  จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการต่อรองเจรจากันว่าโอกาสยุบสภาเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน  

“ผมเคยเสนอไอเดียว่า  การถอยคนละก้าวน่าจะทำได้  แต่คนที่จะไปบอกให้เขาเจรจาถอยคนละก้าวได้  ต้องมีบารมี พอสมควร ถ้าไม่มีอะไรเลย อย่าหวังว่าเขาจะเจรจา”

ล่าสุด ทางออกที่คนกรุงเทพฯเริ่มพูดดังขึ้นคือ รัฐบาลน่าจะจัดการเคลียร์ม็อบให้เสร็จสิ้น ทางออกนี้เป็นทางหนึ่งในหลายทางออก  แต่อาจจะมีการเสียชีวิตและบาดเจ็บ   แต่คนจำนวนหนึ่งก็รู้สึกว่าเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความสงบสุขในบ้านเมือง    หรือการรัฐประหาร แต่ก็เป็นทางออกหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายราคาแพงมาก

“มีคนเล่าให้ผมฟังถึงทางออกหนึ่งว่า  มีการเตรียมการทำรัฐประหาร เกณฑ์คนร่างรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว  นี่ก็เป็นทางออกหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายราคาแพงมาก  ดังตัวอย่างล่าสุด คือ การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ดร.สมคิด ยังกล่าวว่า  วันนี้ รัฐบาลและกลุ่มเสื้อแดงเอง  ต่างพยายามหาทางออกให้กับทั้ง 2 ฝ่าย เสื้อแดงก็เคลื่อนไหวยากขึ้น เพราะถูกทหารและตำรวจล้อมอยู่ในที่แคบ เคลื่อนไปไหนไม่ได้เหมือนก่อน ถ้าจะเคลื่อนออกจากราชประสงค์ก็เจอะปัญหาเยอะพอสมควร เพราะคนกรุงเทพฯเริ่มรับไม่ได้ หรือรัฐบาลแต่เดิมคาดว่าจะใช้กำลัง  แต่วันนี้ก็เปลี่ยนท่าทีด้วยหลายปัจจัย

“ถามว่าเสื้อแดงพยายามลงมั๊ย ผมคิดว่าก็พยายามลง  การนัดพบฑูตต่างชาติ  การพยายามเสนอทางออก 30 วัน   ส่วนรัฐบาลเอง ความกดดันรัฐบาลน้อยลง จากเดิมทีที่ดูเหมือนกดดันว่าจะต้องใช้กำลัง  ทหารก็ต้องการ  เพราะเขาเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ศรีไปพอสมควร   นายทหารระดับสูงตาย แต่ปัจจัยหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าศาลมาช่วยรัฐบาลหรือเปล่า   ห้ามรัฐบาลใช้กำลัง แต่จริงๆ เนื้อหาที่ศาลบอกไม่ใช่อย่างนั้น   ศาลบอกว่าใช้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ข่าวที่ออกมา สื่อเองทำให้คนเข้าใจผิด  เพราะข่าวบอกว่า ห้ามใช้กำลัง ห้ามปราบ   ซึ่งไม่ใช่เนื้อหาของศาล

แต่รัฐบาลก็ได้โอกาสจากการที่สื่อประโคมแบบนี้   ผลก็คือ เดิมทีรัฐบาลถูกกดดันโดยคนกรุงเทพฯ ว่าต้องรีบจัดการม็อบเสื้อแดง    แต่วันนี้รัฐบาล ก็บอกว่าศาลไม่ให้ทำ อยู่เฉยๆ ดูเชิงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นถึงบอกว่า การอยู่เฉยๆ ไปเรื่อยๆ เป็นทางออกหนึ่งของสังคม “

ดร.สมคิด กล่าวต่อไปว่า ฉะนั้น คนไทยอย่าพึ่งไปสิ้นหวัง สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ทำได้ คือเรียกร้องให้เขาเหล่านี้ตัดสินใจหาทางออก และต้องมีคนแรกที่ต้องตัดสินใจหาทางออก และคนแรกที่เสนอหาทางออก ก็ต้องมีข้อเสนอที่น่าสนใจ

“ผมคิดว่า ข้อเสนอของเสื้อแดงยุบสภาภายใน 30 วันเป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึง เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อให้ได้เปรียบทางการเมือง แต่ไม่ได้เสนอเพื่อให้ได้ข้อยุติในทางการเมือง แต่ถ้าเสื้อแดงเสนอยุบภายใน 3 เดือน อาจเป็นไปได้”

รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กรุงเทพฯ กล่าวว่า  ทางตันของสังคมไทยวันนี้คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่คนเสื้อแดงเสนอ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ทำให้คนจนที่ไม่มีโอกาสทางการเมือง เขาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนา  เมื่อเกิดความไม่เท่าเทียม จึงทำให้เกิดกระบวนการต่อสู้ภาคประชาชนเพื่อเข้าสู่โอกาสให้ตนเองและสังคมได้รับความเป็นธรรม โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์  แต่การชุมนุมของแกนนำเสื้อแดงเรียกร้องวันนี้เรื่องยุบสภา เป็นเพียงจุดเปิดเท่านั้นเอง ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผล

“การชุมนุมของคนเสื้อแดง เหมือนคนอยู่ในรถเมล์คันเดียวกัน แต่ต้องการลงป้ายต่างกัน ชาวบ้านที่มาชุมนุมต้องการลงป้ายที่ขอให้เขามีสิทธิ์มีเสียงให้เกิดความเป็นธรรม แต่ป้ายลงยุบสภาของแกนนำ ไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความการแก้ไขความยากจน ฉะนั้นในรถคันนี้มีความต้องการที่หลากหลาย  ฉะนั้น การเรียกร้องของเสื้อแดง ที่ไม่สมเหตุสมผล เพียงพอต่อการที่สังคมทั้งหมดจะเห็นพ้องด้วย

รสนา ยังกล่าวว่า  อยากเสนอให้สังคมไทยทำประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่าต้องการอะไร และควรยุบสภาหรือไม่ เพราะขณะนี้มีคนที่คิดแตกต่างกันมากมาย และหากการยุบสภาเกิดขึ้นในขณะที่ยังมีความขัดแย้ง ก็คงไม่สามารถเลือกตั้งและความขัดแย้งก็จะเพิ่มมากขึ้น

“การกลับมาสู่ระบบที่อยู่ในรัฐธรรมนูญว่ามาทำประชามติกันดีหรือไม่ ว่าประชาชนต้องการอะไร  ถ้า ไม่ทำอย่างนี้ เราก็เจอการล้มกระดานอยู่ร่ำไป เหมือนคนเล่นฟุตบอลแพ้ เกมจบ แต่คนไม่จบ ฉะนั้น ประชาธิปไตย คือระบบที่กลับมาหาจุดที่ว่าเราจะอยู่ร่วมกันยังไงในความแตกต่าง  ฉะนั้น ขอเสนอว่าทำประชามติดีหรือไม่ว่าจะยุบสภาหรือไม่ยุบสภา  ถ้าม็อบยังไม่ยอมเลิกชุมนุม”

รศ.สุริชัย  หวันแก้ว นักวิชาการอาวุโส คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย อดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  กล่าวว่า      ทางตันวันนี้ไม่ใช่แค่เกมการเมือง แต่เป็นชีวิตประชาชนทุกคนที่เสี่ยงอยู่ในความอันตรายกลางกรุงเทพฯ  อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย    ปัญหาเช่นนี้แก้ไม่ได้ด้วยการร้องเพลงรักกันไว้เถิด หรือไม่อาจแก้ได้ด้วยการปิดโฆษณา  ฉะนั้น วันนี้ เราต้องแยกสถานการณ์ออกจากวิกฤตการณ์ให้ได้  เพราะวันนี้สังคมไทยเป็นวิกฤตการณ์สังคมที่เต็มไปด้วยความโกรธ ความเกลียด ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม   ใครจะประกันอะไรได้บ้างว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายอีก

“ผมคิดว่า สถานการณ์วันนี้มีแนวโน้มเกิดเหตุร้ายซ้ำซาก และมีคนตายโดยไม่รู้เรื่อง มันมากกว่าตัวเลขที่คิดเป็นเงิน ฉะนั้น สถานการณ์ซ้ำซากท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่เราหาทางไปไม่ได้  ด้วยเหตุนี้เอง ใครก็ตามที่เสนอให้ปิดเกมด้วยการจัดการสถานการณ์เพียงพื้นที่เดียว ผมว่าไม่เกิดประโยชน์  เพราะเป็นการปิดเกมในเชิงปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถปิดเกมในทางประชาธิปไตยได้     ฉะนั้นเราต้องแยกสถานการณ์ออกจากวิกฤตการณ์ ได้อย่างไร ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิด”    

นักวิชาการอาวุโส ยังกล่าวว่า  สังคมไทยต้องไม่อนุญาตให้ใครก็ตามเล่นเกมในอำนาจเพียงเพื่อแพ้ชนะกัน หรือใคร ได้หน้า เสียหน้า ไม่ได้ แต่สังคมไทยต้องกดดันให้เล่นเกมที่มีจริยธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วย

นอกจากนี้ ในสถานการ์เช่นนี้   ภาวะผู้นำที่จะออกทางตันการเมือง เป็นเรื่องสำคัญมาก  การตื่นตัวของภาคสังคม การตื่นตัวของคนที่ห่วงใยชีวิตที่สูญเสียไป การตื่นตัวของนักศึกษา จิตใจของคนที่ไม่ได้เพราะเสื้อแดงหรือสีอะไรก็ตาม แต่ทำเพราะไม่อยากให้สังคมไทยซ้ำซากกับการนองเลือดที่ไร้ความชอบธรรม ฉะนั้น   เราคงจะต้องพิจารณาว่า ผู้นำในการแก้ไขเรื่องเหล่านี้ คงไม่อาจรอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำ แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน “ รศ.สุริชัย กล่าว

--
ขอแสดงความนับถือ
นางสาวเดือนเพ็ญ อภิวัฒน์วรกุล (เดือน) ผู้จัดการโครงการ โทร. 02-241-3905 , 089-965-5781 โทรสาร. 02-241-3906 E-mail :duanpen_186@yahoo.co.th
นางสาววาสนา ทองนิรันดร์ (ส้ม) ผู้ประสานงานโครงการ โทร. 02-241-3905 , 089-153-5290  โทรสาร. 02-241-3906 E-mail : som_ifun@hotmail.com


///////////////////////////////////////

สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2  จัดสัมมนาวิชาการ                   “ผ่าทางตัน  เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” โดย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ต่อ “วิธีการ” ที่ประชาชนเห็นว่าจะสามารถฝ่าวิกฤต หรือ ผ่าทางตัน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ณ วันนี้ได้ จำนวนทั้งสิ้น 1,269 คน ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2553 สรุปผลได้ดังนี้

* “วิธีการ” ที่ประชาชนเห็นว่าจะสามารถฝ่าวิกฤต หรือ ผ่าทางตัน

เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ณ วันนี้ได้  คือ
อันดับ 1     เจรจาเพื่อหาข้อยุติทั้ง 2 ฝ่าย หรือร่วมกันสร้างกฎเกณฑ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้     27.48%
อันดับ 2     ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ /คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน     19.95%
อันดับ 3     ดำเนินการสลายการชุมนุมขั้นเด็ดขาด     12.94%
อันดับ 4     จับกุมแกนนำหรือผู้กระทำผิดมาดำเนินการ / จัดการกับบุคคลที่เป็นปัญหา     8.69%
อันดับ 5     ดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมตามกฎหมาย แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง     8.05%
อันดับ 6     ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน  เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดและสังคมยอมรับได้     7.77%
อันดับ  7     แก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราที่มีปัญหา     5.13%
อันดับ  8     เดินหน้าบริหารประเทศต่อไป/มีความจริงใจในการแก้ปัญหา เป็นธรรมและโปร่งใส     3.85%
อันดับ  9     จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือ รัฐบาลกลางมาบริหารประเทศ     3.21%
อันดับ  10     จัดทีมจิตวิทยาหรือกลุ่มผู้ที่เป็นกลางลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับผู้ชุมนุม     2.93%

สวนดุสิตโพล

///////////////////////////////////

โครงการสัมมนาวิชาการ
“ผ่าทางตัน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”
วันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2553 ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต


1.ปรากฏการณ์ปัญหา
สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในช่วงเดือนมีนาคม ได้ส่งผลให้ทุกภาคส่วนของสังคม  ตื่นตัว และแสดงออกกันมาก และเริ่มอึดอัด กับการเฝ้าระวังสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้น เมื่อไร ที่ไหน เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาล ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ แม้ว่าจะมีการเจรจาเกิดขึ้น เพื่อเพื่อหาทางออกให้กับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาล ประกาศยุบสภาภายใน 15 วันนี้ทันที นับ เป็นข้อเรียกร้อง ที่กระทบต่อการคงสิทธิ ขั้นพื้นฐาน สำคัญ ของประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ การชุมนุมยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น จนรัฐบาลประกาศใช้อำนาจตามพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 ห้ามการชุมนุม จนกระทั้งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น มีการสูญเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553  

ดังนั้น ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารสื่อมวลชนระดับสูง(บสส.) รุ่นที่ 2 โดยการสนับของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งประกอบด้วย สื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์ส่วนกลางและท้องถิ่น ด้านวิทยุและโทรทัศน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรธุรกิจและองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิโดยชอบธรรม   จึงมิอาจนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ จึงเห็นว่าการจัดเวทีสาธารณะทางการเมือง เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกที่จะแสดงตนและช่วยกันผลักดันให้มีการหาทางออกจากวิกฤติการเมืองไทย ก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองใหม่

2.วัตถุประสงค์
เพื่อร่วมกันหาทางออกจากวิกฤติการเมืองไทย สู่การปฏิรูปประเทศไทย

3.กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 200 คน
สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป และองค์กรพันธมิตรภาคประชาชน

4.วันเวลา สถานที่
วันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2553 เวลา 09.30 – 12.00 น   ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต


5.ผู้รับผิดชอบโครงการ
ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2   และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต

//////////////////////////////////////