3พ.ค.53-“ฮิวแมนไรท์วอช” เชื่อความขัดแย้งในไทยลงรากหยั่งลึก ลักษณะคล้ายสงครามกลางเมือง

สมาคมนักข่าว/วันเสรีภาพสื่อ/3 พ.ค.
 
วันเสรีภาพสื่อ 3 พ.ค. องค์กรสื่อออก “แถลงการณ์ร่วม” เรียกร้องให้รายงานข่าวเพื่อสันติภาพ ความยุติธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม – อย่าดึงสื่อคลุกเกมการเมือง เปิดผลโพลล์ “สวนดุสิต” ต้องการให้สื่อเป็นตัวแทนในการตรวจสอบ เกาะติดสถานการณ์ และเป็นกระบอกเสียงแก่ประชาชน กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 30 เห็นว่าสื่อยังมีเสรีภาพน้อยเกินไป         
 
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 เวลา 10.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) และองค์การยูเนสโก้ จัดขึ้น
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อ่านแถลงการณ์เรื่อง วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ร่วมสร้างสันติภาพ ยุติธรรม รับผิดชอบต่อสังคม แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่จะต้องมีเสรีภาพ
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
 
1.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนประเภทต่างๆ พึงตระหนักว่าท่ามกลางวิกฤติของประเทศในขณะนี้ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะต้องวางเป้าหมายการรายงานข่าว “เพื่อสันติภาพ ความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม” กล่าว คือ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆอย่างเท่าเทียม  และต้องรายงานถึงสาเหตุของปัญหารวมถึงนำเสนอทางออก แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย
 
2.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งยุติการใช้สื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โดยการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน สร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
 
3.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองคลื่นความถี่ต้องแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปตัวเองให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยฝ่ายรัฐบาลต้องยุติการแทรกแซงและใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง
 
4.ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง
 
5.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่อาจยอมรับได้และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด
 
แถลงการณ์ลงนาม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 3 พฤษภาคม 2553
 
ต่อจากนั้น นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้แถลงผลการสำรวจบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน จากสวนดุสิตโพลล์ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 1,251 คน ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.- 2 พ.ค. 2553 ซึ่งมีประเด็นที่สำรวจ ได้แก่ คิดว่า สื่อมวลชน ณ วันนี้ มีเสรีภาพมากน้อยเพียงใด ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.7 เห็นว่ายังมีเสรีภาพน้อยเกินไป เพราะไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้เต็มที่ นำเสนอได้เพียงบางส่วน และมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน อันดับรองลงมา ร้อยละ 28.10 เห็นว่าสื่อยังมีเสรีภาพมากพอสมควร เพราะสื่อปัจจุบันสามารถเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารได้หลายช่องทาง และสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น ทั้งนี้ยังมีประชาชนอีกร้อยละ 21.57 ที่เห็นว่าสื่อมวลชนมีเสรีภาพเหมาะสมแล้ว
 
ส่วนประเด็นความต้องการให้สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.19 เห็นว่าควรเป็นตัวแทนประชาชนในการตรวจสอบเรื่องต่างๆ ในสังคมอย่างใกล้ชิดและเกาะติดสถานการณ์ อันดับต่อมาคือ ร้อยละ 24.98 เห็นว่าควรนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง พร้อมวิเคราะห์หาเหตุผล หาคำตอบหรือหาทางออกให้กับสังคม อันดับที่สาม ร้อยละ 20.63 เห็นว่าควรซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่ยึดติดกับผลตอบแทนใด ๆ
 
สำหรับประเด็นสื่อมวลชนสามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไรนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.73 เห็นว่าต้องเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนในการเรียกร้อง หรือนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม รองลงมา ร้อยละ 23.56 เห็นว่าต้องช่วยกันนำเสนอข้อมูล ข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการนำเสนอเพียงเพื่อหวังผลทางธุรกิจ ส่วนอับดับสาม ร้อยละ 20.64 เห็นว่าสื่อทุกแขนงต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง


////////////////////////////////////

“ฮิวแมนไรท์วอช” เชื่อความขัดแย้งในไทยลงรากหยั่งลึก ลักษณะคล้ายสงครามกลางเมือง ปชช.พร้อมใช้กำลังห่ำหั่นกัน ด้าน“นักวิชาการสันติวิธี” ระบุ สื่อเลือกข้างได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ รายงานตามความจริง ส่วน“สมเกียรติ อ่อนวิมล” แย้ง ยังไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง แต่เสื้อแดงรุนแรงเพราะขาดหลักการประชาธิปไตย เสนอหน้าที่ 4 ประการ สำหรับสื่อมืออาชีพ

จากนั้นมีการมีการเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “สื่อเสรีร่วมสร้างสันติภาพอย่างไร” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอิสระ นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กร Human Rights Watch ดร.พนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวนิช นักวิชาการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล โดยมีนายวีรศักดิ์ พงษ์อักษร เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา
 
นายสุนัย กล่าวถึงภาพรวมและบทบาทของสื่อท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งว่า หากมองในกรอบของนักสิทธิมนุษยชน ส่วนตัวมองว่าขณะนี้เป็นความแตกแยกไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะได้ลงรากถึงระดับครัวเรือน แพร่กระจายไปทุกภาคส่วนของสังคม โดยต่างฝ่ายต่างพร้อมจะใช้กำลังเข้าหากัน ทั้งนี้แม้การชุมนุมบริเวณราชประสงค์จะยุติลง ก็ยังมองว่าปัญหายังไม่สิ้นสุด
 
“เรียกได้ว่าขณะนี้กึ่งหนึ่งของสงครามการเมืองไปแล้ว ขาข้างหนึ่งเหยียบไปแล้ว พร้อมจะใช้ความรุนแรงทันที โดยครั้งล่าสุดที่เกิดความขัดแย้งในประเทศไทย คือกรณีที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นการสู้ระหว่างรัฐในเมืองกับคนในเขตป่าเขา แต่ขณะนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเขตเมือง โดยรัฐไม่สามารถใช้อำนาจได้”นายสุนัยกล่าว และว่าสถานการณ์เช่นนี้สื่อมวลชนได้รับผลกระทบและเป็นเหยื่อ เนื่องจากสังคมมีการแบ่งข้างแยกขั่วอย่างชัดเจน แนวทางการนำเสนอและการตีความของสื่อมวลชนย่อมจะถูกใจคนด้านหนึ่ง และไม่ถูกใจคนอีกข้างหนึ่ง
 
นายสุนัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สื่อตกเป็นเป้าโจมตีและกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ส่วนจะทำให้สื่อต้องเลือกข้างหรือไม่นั้น แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ 1.นโยบายเจ้าขององค์กร 2.อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้สื่อข่าวแต่ละคน ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสามารถมีความนิยมอุดมการณ์ทางการเมืองได้ แต่ต้องมีความเป็นมืออาชีพและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
 
“หากเกิดการเลือกข้างโดยไม่รับผิดชอบขึ้นมา ต้องถามต่อถึงจุดยืนในการดำเนินการกับสิ่งเหล่านี้ว่าจะทำอย่างไร แต่ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นสื่อ เพราะจะนำไปสู่การลุแก่อำนาจของรัฐ ดังนั้นผู้ที่ควรจะมีความรับผิดชอบคือสมาคมวิชาชีพสื่อ ที่ควรมีบทบาทในการตรวจสอบจรรยาบรรณสื่ออย่างเคร่งครัดมากกว่านี้ รวมถึงตัวสื่อเองต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยเราเลือกข้างได้แต่ต้องเสนอข้อมูลบนพื้นฐานของความเป็นจริง”นายสุนัย
 
นายสุนัย กล่าวถึงสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาลแนลว่า ในสถานะแล้วย่อมเป็นสื่อมวลชน แต่การนำเสนอมีการบิดข้อมูล เสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกับสื่อของสีก่อนหน้านี้ ส่วนสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ก็ถือว่าเป็นสื่อเลือกข้าง เพราะมีธงของรัฐ
 
ด้านดร.เอกพันธ์ กล่าวว่า ที่เรียกร้องให้สื่อมวลชนเป็นกลางนั้น ถามว่าในโลกใบนี้มีใครเป็นกลางบ้าง ส่วนตัวคิดว่าความเป็นกลางไม่จำเป็น สื่อสามารถเลือกข้างได้ ยิ่งประกาศไปเลยยิ่งดี การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของข้างใดข้างหนึ่งไม่ใช่ปัญหา แต่เหนือสิ่งอื่นใดข้อมูลที่สื่อออกไปแล้วนั้นต้องมีความรับผิดชอบ
 
“คลิปวีดีโอที่กลุ่มคนเสื้อแดงนำมาออกเป็นอันเดียวกันกับช่อง 11 แต่กลับพูดกันคนละด้านทั้งหมด ดังนั้นในฐานะสื่อมวลชนควรรายงานความเป็นจริงเท่าที่เห็น ภายใต้ความรับผิดชอบ”ดร.เอกพันธ์กล่าว และว่าสื่อมวลชนที่เลือกข้างในทุกวันนี้ยังไม่มีความรับผิดชอบ ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือสื่อมวลชนควรหาคุณค่าร่วม เช่นสิ่งที่เดือดร้อนร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ไม่ว่าสื่อจะเลือกข้างใด
 
ดร.เอกพันธ์ กล่าวอีกว่า อยากให้เปิดสถานีโทรทัศน์คนเสื้อแดงต่อไป มองว่ายิ่งปิดก็จะยิ่งเปิดมากขึ้น เพราะเมื่อถูกปิดกั้น คนที่ต้องการรับสารก็สามารถหาวิธีในการติดตามสารได้อยู่ดี
 
ส่วนดร.สมเกียรติ กล่าวว่า รู้สึกรับได้กับกระบวนการแสดงความคิดเห็นและเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น แต่รู้สึกว่าช้าเกินไป ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์นี้ยังไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง เนื่องจากเขายังไม่มีอุดมการณ์ กลุ่มคนเสื้อแดงมีเพียงแนวความคิดเท่านั้น ดังนั้นการปะทะที่เกิดขึ้นมองว่าเกิดจากความเร่าร้อนทางอารมณ์ โดยที่ไม่รู้หลักการประชาธิปไตย
 
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สื่อกระแสหลักยังต้องยึดหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพ คือ 1.ต้องให้ข่าวสารความจริงอย่างสม่ำเสมอและตรวจสอบความจริงเหล่านั้น 2.ให้ความรู้ให้การศึกษาไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องพาดพิงฝ่ายใด 3.สื่อที่เลือกข้างนั้นสามารถความเห็นตามอิสระได้ แต่ต้องประกาศตัวให้ทราบว่าหนุนฝั่งใด 4.ต้องเป็นเวทีให้กับสถานชนให้กับทุกฝ่าย
“สื่อสารมวลชนกระแสหลักในโลกตะวันตกเกิดมาในสังคมประชาธิปไตย หน้าที่สื่อคือประชาธิปไตยต้องการข่าวสารเสรีเพียงพอ สื่อสารมวลชนต้องเป็นเวทีให้สังคมประชาธิปไตย ต้องสร้างสังคมประชาธิปไตย นี่คือหัวใจหลักสื่อสารมวลชน”ดร.สมเกียรติกล่าว
 
ด้านดร.พนา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนลว่า เรียนว่าที่ปิดไปนั้นไม่ใช่อำนาจของกทช. โดยหากพูดในแง่ของเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ที่พัฒนาสูงนั้น เป็นเหตุให้การปิดกั้นสื่อเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลาง และมองว่าใครไม่เป็นกลางก็ไม่เป็นไร แต่ความสำคัญอยู่ที่ความสมดุลของข้อมูลข่าวสาร แต่อย่างไรก็ตามมองว่าขณะนี้ยังไม่มีความสมดุลของข้อมูล น้ำหนักเป็นไปทางสื่อกระแสหลักมากกว่า ข้อมูลที่สะท้อนออกมาส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิดของคนกรุงมากกว่าชนบท ทั้งนี้ในฐานะสื่อแทนที่จะไปส่งเสริมการใช้ความรุนแรงควรกลับมาส่งเสริมแนวทางสันติ โดยตัวสื่อเองเป็นผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์ที่สุด รับรู้ได้มาก ดังนั้นต้องแปลออกมาเป็นการรับรู้ของสังคมด้วย แต่สื่อต้องใช้สิทธิ์โดยไม่สุดโต่งและไม่ไปละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น
 
ดร.พนา กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า กฎหมายสามารถเปลี่ยนได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายจนเลือดตกยางออกคงไม่ใช่เรื่องดี กลุ่มผู้ชุมนุมอาจมีดีบ้างไม่ดีบ้างแต่นั่นก็คือประชาชน ซึ่งไม่เหมือนรัฐ การที่เขาไม่ดีแล้วตอบโต้ด้วยสิ่งไม่ดีถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะรัฐเป็นรัฐ ผ่านสัญญาประชาคมแล้ว
 
“รัฐบาลถ้าถูกต่อต้านมากก็ยุบสภาไป ถ้าแดงเป็นรัฐบาลแล้วเหลืองต้านก็ยุบใหม่ ยุบไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดแล้วสังคมจะพบคำตอบเองว่าคืออะไร”ดร.พนากล่าว

/////////////////////////////////////////////////////

3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นวันเสรีภาพสื่อโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) และองค์การยูเนสโกจัดเวทีเสวนาเรื่อง “สื่อเสรีร่วมสร้างสันติภาพอย่างไร”

สมาคมนักข่าว  ฯ สรุปประเด็นเสวนาที่น่าสนใจดังนี้

นายสุนัย ผาสุก  ที่ปรึกษาองค์กร Human Right Watch กล่าวว่า  ในสภาวะที่สังคมไทยมีความแตกแยกลงรากลึกถึงครอบครัว พร้อมที่จะใช้กำลังทะเลาะเบาะแว้งกันเช่นนี้  สื่อมวลชนได้รับผลกระทบโดยตรงจากสังคมที่แบ่งข้าง เพราะการรายงานข่าวหรือตีความของสื่อย่อมมีทั้งถูกใจและไม่ถูกใจด้านใดด้านหนึ่ง ฉะนั้น หน้าที่ของสื่อคือ ไม่นำเสนอข่าวยั่วยุ ไม่นำความเท็จมารายงาน หรือรายงานความจริงที่เกินเลยจนเกินไป

นายสุนัย ยังกล่าวว่า  ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงหรือการปิดกั้นสื่อมวลชนด้วยการเซ็นเซอร์  โดยเฉพาะการเซ็นเซอร์แบบเหวี่ยงแห  เพราะขัดหลักรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน อาจนำไปสู่การลุแก่อำนาจ  ฉะนั้น อยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อมีบทบาทมากกว่านี้ในการตรวจสอบกันเอง โดยเฉพาะตรวจสอบจรรยาบรรณของสมาชิกสื่อที่ทันต่อเหตุการณ์  พยายามนำเสนอความจริงที่ไม่เคยปรากฏให้สังคมได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยตนเอง

 “รัฐบาลอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบ  ไม่ให้เกิดการยุยงหรือยับยั้งการก่อเหตุการณ์ขยายตัวของความรุนแรง จึงเลือกที่จะปิดกั้นสื่อ  แต่คำถามคือ การปิดกั้นสื่อที่เห็นต่างจากรัฐ แต่ขณะเดียวกันสื่อของรัฐบางส่วนที่มีความสุดโต่งของการนำเสนอข้อมูลกลับได้รับการละเว้น ไม่ถูกแตะต้อง อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง “

 นายสุนัย กล่าวด้วยว่า การถอดฉนวนด้วยการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ จะไม่นำไปสู่สถานการณ์ในประเทศที่ดีขึ้นเลย  หากประเทศยังอยู่ในภาวะแตกแยกอย่างหนักหน่วงเช่นนี้ สังคมไทยจะเกิดบรรยากาศการเลือกตั้ง แต่ออกไปหาเสียงไม่ได้เหมือนศรีลังกา หรือติมอร์ตะวันออก หรือกัมพูชา สมัยสมเด็จ ฮุนเซ็น ลงเลือกตั้งครั้งแรก   แต่ละคนจะมีโซนหาเสียงแค่พื้นที่แคบๆ เท่านั้นเอง สื่อเอง ก็จะกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งไปโดยปริยาย   ผู้สื่อข่าวอาจตายกันเป็นเบือเหมือนประเทศฟิลิปปินส์ เพราะบรรยากาศเช่นนี้ สื่อหลุดพ้นจากการเป็นสื่อแล้ว  กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง  

นายสุนัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้แม้จะเกิดบทบาทของนักข่าวพลเมืองขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยนำเสนอข้อมูลของตนเองผ่านเว็บไซด์ต่างๆ แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ การรายงานข่าวหรือนำเสนอข้อมูลอย่างขาดความรู้ความเข้าใจในการตีความข้อมูล อาจกลายเป็นเป็นการขยายขอบเขตความขัดแย้งในสังคมได้ ฉะนั้นอยากเสนอให้องค์กรวิชาชีพสื่อ ให้ความรู้กับสื่อมวลชนเพื่อให้สามารถนำเสนอเรื่องของตัวเองโดยไม่สร้างความตระหนกให้สังคม แต่อย่าไปปิดกั้น เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า เอาชนะเทคโนโลยีไม่ได้ ยิ่งห้ามยิ่งปิด ยิ่งปิดก็ยิ่งเปิด ความคิดคนยิ่งสุดโต่ง และรุนแรง  
 

ดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล สื่อมวลชนอิสระ  กล่าวว่า สื่อมวลชนกระแสหลัก  สื่อมืออาชีพต้องเป็นหลักให้สังคม  ต้องทำหน้าที่สื่อสารมวลชนมืออาชีพ  ที่จะต้องอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน ฉะนั้น 1.สื่อมวลชนจะต้องให้ข่าวสารความจริง   อย่างสม่ำเสมอ และตรวจสอบความจริงเหล่านั้นได้   2. สื่อต้องให้ความรู้ ให้การศึกษา โดยไม่พาดพิง หรือเย้ยหยัน กับสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย    เช่น ทำสารคดี ให้ความรู้ที่เป็นวิชาการ  เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสันติภาพ เป็นต้น

3. ให้ความเห็น  ตามเสรีภาพของนักเขียนนักคิด  คอลัมน์นิส  หรือ คนวิพากษ์วิจารณในสื่อทีวี เพราะความเห็นเป็นเสรีภาพ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ องค์กรวิชาชีพแต่ละแห่งว่ากลั่นกรองข้อมูลข่าวสารแล้วว่าสิ่งที่นำเสนอสร้างประโยชน์หรือไม่  แต่อยากเลือกข้างก็เลือก เพราะเป็นเสรีภาพ  แต่ก็ต้องประกาศให้ทราบว่าสนับสนุนฝ่ายใด และ4. สื่อจะต้องเป็นเวทีสาธารณชนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาแสดงความคิดเห็น 

นายพนา ทองมีอาคม  กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) กล่าวว่า สิ่งที่พูดกันมากเรื่องการทำงานของสื่อมวลชน คือความเป็นกลาง แต่กลับถูกนำมาทำร้ายกัน แต่สิ่งที่น่าจะทำมากกว่าคือ เรื่องความสมดุลของข่าวสาร สื่อมวลชนต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพราะในสังคมประชาธิปไตย การตัดสินใจต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสาร

“ บทบาทสื่อในการสร้างสันติภาพ  คือ การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมก่อน เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  มาจากเหตุผลที่ถูกกล่าวถึง  คือเรื่องสองมาตรฐาน ความขัดแย้งส่วนบุคคล นำเสนอเรื่องความเป็นธรรมอย่างรอบด้าน”

ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวนิช นักวิชาการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล กล่าวว่า สื่อมวลชนกระแสหลักสามารถสร้างคุณค่าร่วมในสังคมให้เกิดสันติภาพได้ ด้วยการสอบถามและนำเสนอคุณค่าร่วมของแต่ละฝ่ายว่าคิดเห็นอย่างไร แล้วนำประเด็นเหล่านั้นมาถกเถียงกันในสังคมเพื่อร่วมกันหาทางออก ถ้าสื่อทำได้จะเป็นประโยชน์ และเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยิ่ง

“ไม่ว่าสื่อมวลชนหรือใครก็ตามอยากเห็นสันติภาพทั้งสิ้น   ที่ผ่านมามีการพูดถึงคุณค่าร่วมของสังคมในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งสื่อมวลชนกระแสหลักทำได้  โดยหาคุณค่าร่วมจากประชาชนทั่วไปว่าเขาอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร เขามีความทุกข์มากน้อยแค่ไหน”

“เสื้อแดงมาถึงราชประสงค์เขาก็มีความทุกข์เยอะแยะมากมาย  แต่ความทุกข์เหล่านี้ไม่เคยขึ้นไปอยู่บนเวทีนปช.  สื่อมวลชนลองไปหาดูสิครับว่าเขาทุกข์อะไร แล้วนำมาเสนอ  หรือประชาชนชาวสีลม ลองไปถามดูว่า เขามีความทุกข์อะไร อาจจะทุกข์คนละแบบกับคนที่อยู่ราชประสงค์  ทำไมสื่อไม่ลองหาคุณค่าร่วม เริ่มจากความทุกข์ของแต่ละฝ่าย  ทำหน้าที่สื่อสารตรงนี้ออกไป  สิ่งเหล่านี้สื่อมวลชนสามารถทำได้ โดยที่คุณไม่ต้องเป็นกลาง  และมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง”