4 สมาคมวิชาชีพสื่อประสานเสียงจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน(คพส.) เร่ง 5 ภารกิจ “ปฏิรูปสื่อ-ขจัดปัญหา-ควบคุมกันเอง-ทำหลักสูตรพัฒนาสื่อ-พัฒนาองค์กรการศึกษาและเฝ้าระวัง” ชี้ รบ.ไม่ควรเสียเวลารับฟังความคิดเห็นอีกรอบ เพราะเคยสรุปประเด็นปัญหาไว้ตั้งแต่ปี 2543
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 มิถุนายน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสื่อภาครัฐ เข้าพบปะคณะกรรมการ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน โดย มีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์เข้าร่วมพบปะเพื่อหารือการปฏิรูปสื่อมวลชนของรัฐ การเร่งรัดออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อจัดสรรและกำกับดูแลสื่อสารมวลชน ด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
นายองอาจกล่าวว่า ไม่ ได้เดินทางมามอบนโยบายหรือมาชี้แจงนโยบายให้กับสื่อมวลชน แต่เป็นการมารับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน เพราะเป็นหนึ่งในแผนปรองดองในการปฏิรูปสื่อ ซึ่งหลายคนก็เกิดความสับสนเพราะเห็นว่าสื่อไม่ดีตรงไหนถึงต้องมีการปฏิรูป จึงไม่เห็นด้วยกับคำว่าปฏิรูป แต่อยากจะใช้คำว่าพัฒนา แต่การพัฒนาหรือปฏิรูปก็คือการทำให้ดีขึ้น ในส่วนของภาครัฐก็ต้องมีการปฏิรูปหรือพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น คงไม่มีใครสามารถชี้นำหรือให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด ภาครัฐไม่สามารถไปบอกได้เช่นกัน และคนในรัฐบาลก็ไม่มีความประสงค์จะไปบอกให้ทำ การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นจากการเห็นพ้องต้องกันของผู้คนในแวดวงสื่อสารมวลชน ภาควิชาการ องค์กรประชาชน และภาคประชาชนทั่วไปที่เสพสื่อสารมวลชนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะทำงานด้านการปฏิรูปสื่อ และก่อนเขารับตำแหน่งตนได้ไปสอบถามนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็พบความจริงสิ่งที่เคยเข้าใจว่า รศ.ดร.ยุบลจะมาเป็นประธานคณะกรรมการเหมือนกับคณะกรรมการชุดอื่นๆ แต่ไม่ใช่ เพราะ รศ.ดร.ยุบลจะเป็นผู้ประสานงาน รวบรวมความคิดเห็น จุดยืน ความการต้องในการปฏิรูปสื่อเท่านั้น และการพูดคุยกับ รศ.ดร.ยุบลเบื้องต้น ก็มีแนวคิดคล้ายกับตนที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ที่จะมารับผิดชอบงานด้านนี้ต้องมีภาระหน้าที่ในการับฟังความคิดเห็น และรวบรวมความคิดเห็นได้มากที่สุด หลังจากนี้ไปจะมีการเชิญอาจารย์มาร่วมเป็นคณะทำงานและทาบทามบุคคล
“การเคลื่อนไหวของภาครัฐจะเป็นการรับฟังความคิดมากกว่าการจะไปบอกว่าสื่อควรทำอะไร หลังรับฟังแล้วอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ แต่งคงไม่เกินสามสี่เดือน อะไรที่เกี่ยวกับรัฐบาลที่สามารถทำได้ รัฐบาลจะรับไปทำ เช่น ถ้าเห็นว่าต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือต้องการผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภา รัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากก็พร้อมจะผลักดัน” นายองอาจกล่าว
นายเกียรติชัย พงศ์พาณิชย์ ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทำให้เกิดทีวีเสรีขึ้นมา แต่ครั้งนี้การปฏิรูปสื่อเกิดจากดำริของรัฐบาลซึ่งจะกลายเป็นส่วนของการปฏิรูปประเทศ ความเห็นต่างๆ ไม่ได้พูดถึงสื่อของเอกชน แต่พูดถึงสื่อของภาครัฐ ซึ่งหากจะต้องปฏิรูปสื่อควรจะปฏิรูปอย่างไร เช่น กรมประชาสัมพันธ์มีปัญหาเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่สามารถจะไปแข่งขัน กับเอกชนได้ ตลอดจนการบริหารจัดการที่ไม่ได้เรื่อง คณะกรรมการต้องไปคิดว่าต้องทำอย่างไร ทั้งนี้เห็นว่าการปฏิรูปก็ไม่ได้มีการเอาภาคสื่อจริงๆ เข้าไปร่วม แต่การตั้งแต่ฝ่ายวิชาการแม้จะไม่ได้เสียหายอะไร แต่ก็เหมือนกับว่าคิดเองทำเอง ฝ่ายอำนาจรัฐต้องการทำ แต่สื่อไม่มีบทบาท
นาย เกียรติชัยกล่าวว่า หลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพต้องคงไว้ การปฏิรูปสื่อมีเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับสังคม เมื่อจะกำลังพัฒนาก็ต้องพัฒนาเพื่อความเป็นสังคมประชาธรรมและสังคม ประชาธิปไตย มีหลักการหลั่งไหลอย่างเสรีของข่าวสาร สร้างสันติภาพ ไม่ใช่สื่อที่ชวนทะเลาะเบาะแว้ง ต้องปฏิรูปเพื่อสร้างความเสมอภาคและความยุติธรรมให้เกิดขึ้น โดยมีจริยธรรมเข้ามากำกับ รัฐต้องไปคิดว่ากลไกที่จะนำไปสู่การปฏิรูปมีอะไรบ้าง ซึ่งรัฐสามารถจะทำได้ และจะทำอย่างไรให้มีองค์กรที่สามารถควบคุมกันเองได้เช่นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและจะทำให้เข้มแข็งได้อย่างไร นอกจากนี้ ต้องมีองค์กรของผู้บริโภคที่คอยติดตามการทำงานของสื่อว่าอยู่ในกรอบวิชาชีพและ จริยธรรมหรือไม่ ต้องตั้งหลักให้ดีไม่เช่นนั้นก็จะปล่อยให้ภาครัฐดำริขึ้นมาเอง และต้องกลับไปดูสื่อของภาครัฐด้วย
ด้าน นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อต้องทำตลอดเวลา เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่เช่นนั้นสื่อก็จะล้าหลัง ไม่ทันวิวัฒนการของสังคม สื่อกระแสหลักมีองค์กรดูแล มีกรอบจริยธรรมที่เข้มแข็ง อยู่ในฐานะที่รับใช้ประชาชนได้ แต่ยุคนี้เกิดสื่อหลายวิธีการ พัฒนาไปตามเทคโนโลยี สื่อต่างๆ ไม่สามารถควบคุมได้ หลายครั้งทำให้สังคมยุ่งเหยิง เกิดการยั่วยุ รัฐบาลและกลไกของรัฐไม่สามารถติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทั้งนี้เห็นว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ มีการแข่งขันด้านข่าวและมีข่าวทุกต้นชั่วโมง จากที่เคยเปิดเพลงอย่างเดียว
ด้าน น.ส.ผุสดี คีฏะวรนาฏ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สื่อมวลชนสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รายงานข่าวที่เรารู้สึกผิดหวังมาก เพราะไม่ตรงกับสื่อบ้านประเทศไทย สื่อจีนบรรยายว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเหมือนการปฏิวัติชาวนาของเหมา เซ ตุง เป็นการพูดในระดับเดียวกัน ซีซีทีวีซึ่งเป็นสำนักข่าวของทางการจีนและสถานีโทรทัศน์ฮ่องกงที่อยู่ภายใต้ รัฐบาลจีนวิเคราะห์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกกลั่นแกล้ง รายงานข่าวเหมือนเข้าข้างคนเสื้อแดง และมีคนจีนในระดับรัฐบาลบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นซุน ยัด เซ็น ของไทย ฟังดูแล้วก็ตกใจ ทำไมคนจีนเข้าใจเราผิดเช่นนั้น เพราะสถานทูตจีนในไทยก็มี เราต้องให้ของเราทำความเข้าใจกับคนของต่างประเทศเพื่อไม่ให้เข้าใจผิด เพราะสื่อนอกเข้าใจผิดเสียหายมากกว่าสื่อไทย ไทยจำเป็นต้องมีองค์กรที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูลหรือไม่เพื่อให้สำนักข่าว ต่างประเทศได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
ด้าน นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลอาจจะสับสนในตัวเอง เพราะครั้งตั้งรัฐบาลใหม่ๆ มีความจริงจังนายกฯแต่งตั้งนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานคณะทำงานด้านการปฏิรูปสื่อ ดึงคนจากวงการต่างๆ มีความเห็นในการปฏิรูปช่อง 11 ให้เป็นองค์การมหาชนตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน 2542 ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารในการตราพระราชกำหนด และต่อไปต้องมีการปฏิรูปสื่อวิทยุของทหารและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่มีอยู่ประมาณ 500 คลื่น ไม่ต้องพูดถึงวิทยุชุมชนอีกประมาณ 8,000 คลื่น โดยหลักการที่ชัดเจนคือการเช่าเวลาไปเช่าช่วงต่อ ถ้าไม่มีความชัดเจนคณะกรรมการชุด รศ.ดร.ยุบลก็ไปซ้ำรอยกับชุดของนายวรากรณ์
นาย ประสงค์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีสำนักพิมพ์ต่างๆ เปิดเว็บไซต์ข่าว ซึ่งรัฐธรรมนูญได้พูดถึงการห้ามปิดข่าวสาร แต่กระบวนการบล็อกเว็บไซต์ยังไม่มีกระบวนการ เป็นอำนาจของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะไปขออำนาจศาลในการปิด ปัญหาอยู่ที่ว่าใครเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจ ยิ่งในสถานการณ์ขณะนี้ยิ่งไม่มีการตรวจสอบ ล่าสุดมีคนโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โทร.เข้าไปขอไอพีผู้โพสต์ข้อความที่อ้างว่าหมิ่นสถาบัน เหมือนเป็นมือลึกลับไม่มีกระบวนการตรวจสอบว่ามีกระบวนการอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลประชาธิปัตย์เท่านั้น รัฐบาลพรรคอื่นอาจจะใช้อำนาจมากกว่านี้ก็ได้ ต้องการจัดการว่าการใช้อำนาจศาลปิดเว็บไซต์ทำได้หรือไม่
นายก่อเขตต์ จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า เราเห็นด้วยกับการปฏิรูปสื่อหรือการพัฒนาหรือทำให้ดีขึ้น สภาพวิกฤตที่เกิดขึ้นมันเกี่ยวเนื่องกันไปทุกส่วน การพัฒนาหรือปฏิรูปสื่อไม่ได้จำกัดอยู่ที่ภาครัฐ เราต้องเรียกร้องไปที่ผู้รับสารด้วย และที่สำคัญคือการเรียกร้องต่อสื่อว่าจะดูแลกันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และเดินตามกรอบวิชาชีพที่รับผิดชอบต่อสังคม ให้ผู้ชมและผู้ฟังตรวจสอบการทำงาน อาจจะมีการจัดองค์กรกำกับดูแลในอนาคตเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสื่อเอกชน ส่วนภาครัฐก็ให้มีการปฏิรูปเช่นกัน ซึ่งสามารถทำได้ทันที เพราะอยู่ในการกำกับของรัฐอยู่แล้ว ที่สุดแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์
นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 พวกเราซึ่งประกอบอาชีพจัดรายการวิทยุซึ่งต้องเช่าช่วงเวลาต่ออีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ก็คาดหวังว่าภายใน 5 ปี จะมีการดำเนินการปฏิรูปสื่อ การจัดสรรแบ่งคลื่นวิทยุ แต่พวกเราก็ยังต้องเช่าช่วงเวลาเหมือนเดิม เมื่อกระโดดลงมาจัดตั้งสถานีวิทยุเองก็ต้องต่อสู้ เพราะพวกเราต้องการทำธุรกิจวิทยุในชุมชน ไม่ใช่วิทยุชุมชนเพราะเข้าใจดีถึงคำว่าวิทยุชุมชน พวกต้องการประกอบแบบเอสเอ็มอีในชุมชน ไม่ได้ทำธุรกิจระดับชาติ แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แต่รัฐบาลกลับมารับฟังความคิดเห็นอีกรอบ พวกเราก็ไปแสดงความคิดเห็นอีกรอบ ไม่รู้ว่าจะรอกันอีกกี่ เหมือนกับการย้อนยุคกลับไปเมื่อปี 2543-2545 ทำไมรัฐบาลไม่เอาข้อมูลเก่ามาปัดฝุ่น ขณะนี้มีการหวาดระแวงกันมากขึ้น มีกลุ่มคนบางกลุ่มเข้าไปหากินกับวิทยุเล็กๆ ว่าต้องมาเป็นสมาชิกไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการจัดสรรคลื่น บางรายต้องจ่ายเงินเป็นหมื่นๆ บาท
นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันถือเป็นสงครามข่าวสารระดับโลก จะอยู่เฉยๆ ก็คงไม่ได้ และยังคิดว่ารัฐบาลตั้งใจที่จะปฏิรูปสื่อ แต่อยู่ในอาการกล้าๆ กลัว ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร หากรัฐบาลพยามจะทำหรือริเริ่ม ก็ควรจะมีโครงสร้างหรือกระบวนการอย่างไรบ้าง ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อรับมือสงครามข่าวสาร เรื่องจีนเป็นตัวอย่างที่ดี เราพยายามทำทีวีอาเซียนเพื่อเป็นกระบอกเสียง แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ควรมีกระบอกเสียงของไทยเองหรือไม่ ทั้งนี้การปฏิรูปควรเริ่มจากสื่อ ต้องพูดถึงเสรีภาพและความรับผิดชอบ ซึ่งเอกชนได้ทำมาต่อเนื่อง และจะทำต่อไป
“เรา พบว่ามีสื่อของรัฐและสื่อในอาณัติของรัฐ รัฐจะทำอย่างไรเพื่อให้มีเสรีภาพหรือไม่ ถ้าควบคุมเอาไว้คนทำงานก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพ เพราะตรวจสอบไม่ได้ อาจจะเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง ถูกใบสั่งตลอดเวลา ถ้าปล่อยให้เสรีภาพ สื่อรัฐจะพลิกฝ่ามือไปเลยได้หรือไม่”นายภัทระกล่าว
นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม(ประเทศไทย) กล่าวว่า เราจะปฏิรูปสื่อเพื่อใคร เพราะ คนชั้นกลางและชั้นสูงดูโทรทัศน์สองสามช่องอ่านหนังสือพิมพ์สองสามฉบับ อ่านข่าวจากเว็บไซต์ คนเหล่านี้รู้เรื่องหมด แต่คนพื้นฐานในต่างจังหวัดไม่มีโอกาสเหล่านี้ ส่วนใหญ่ฟังข่าวจากเพื่อน ถูกพูดกรอกหู เชื่อคนง่าย ใครบอกก็เชื่อ ไม่มีหน่วยงานใดแปลงสารให้เข้าถึงคนเหล่านี้ ไม่ใช่พูด 1 ชั่วโมง ให้เขาฟัง คนเหล่านี้ไม่โอกาสอ่านหนังสือ มีแต่สภากาแฟที่เพื่อนๆ อ่านแล้วมาเล่าให้ฟัง ทีวีก็ดูเฉพาะละครชั่วโมงหรือสองชั่วโมง
ด้าน นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความต้องการการปฏิรูปสื่อ เกิดจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เกิดความเกลียดชังยุยงและ ทำอย่างไรให้เกิดความรับผิดชอบของผู้ผลิตสื่อ
ภาย หลังการรับฟังความคิดเห็น นายประสงค์ได้เป็นตัวแทนสมาคมวิชาชีพสื่อแถลงการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาส่ง เสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน(คพส.) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย ผู้แทนองค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อมวลชนและการปฏิรูปสื่อ 1.เพื่อ เร่งรัดผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสื่อมวลชนของรัฐ ออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่จัดสรรแลกำกับดูแลสื่อมวลขนด้าน วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ใช้ความถี่และไม่ใช่ความถี่ 2.เพื่อ ขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสวงหาและนำเสนอข้อมูล ข่าวสารของประชาชนและสื่อมวลชน โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายประสงค์กล่าวว่า 3.เพื่อ ศึกษาถึงแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลกัน เองด้านจริยธรรมให้สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังของสังคม ที่มีต่อสื่อมวลชน 4.เพื่อ ศึกษาหาแนวทางในการแสวงหาความร่วมมือต่อการจัดการทำหลักสูตรการพัฒนาบุคลากร ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เป็นหลักประกัน ต่อการทำหน้าที่ของบุคลากรในวิชาชีพ และ 5.เพื่อ ศึกษาและนำไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาองค์กรด้านการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อให้ เข้มแข็งและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ องค์กรสื่อสารมวลชน องค์กรด้านวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบสื่อมวลชนโดยภาคสังคมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น.