สมาคมนักข่าวฯจี้นายกฯสางคดียิงสื่อตปท.ช่วงชุมนุม องอาจรับปากดูแลและให้ความเป็นธรรมผู้เสียชีวิตและญาติ

สมาคมนักข่าวฯจี้นายกฯสางคดียิงสื่อตปท.ช่วงชุมนุม องอาจรับปากดูแลและให้ความเป็นธรรมผู้เสียชีวิตและญาติ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2553 เวลา 11.15 น. นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ รองเลขาธิการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือผ่านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ด้านหน้าตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล ไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการขอให้รัฐบาลเร่งรัดติดตามตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตด้วยความยุติธรรม โปร่งใสต่อกรณีของนายฮิโรยูริ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์และนายฟาบิโอ โพเลนกี ช่างภาพชาวอิตาเลียน ที่ถูกยิงเสียชีวิตในระหว่างการเข้าไปทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มนปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 และ 19 พ.ค. 2553 (ตามลำดับ) ที่ถึงขณะนี้คดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

นายองอาจ ให้สัมภาษณ์ว่าตนจะนำหนังสือของสมาคมนักข่าวฯไปยื่นให้นายกรัฐมนตรีทันทีเพื่อให้ทางรัฐบาลอำนวยความสะดวกและพิจารณาข้อเรียกร้องของญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งตนช่วยประสานดีเอสไอและกระทรวงยุติธรรมในการอำนวยความสะดวกและพยายามดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของพี่สาวของผู้เสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อวานนี้(29ก.ค.)พี่สาวและเพื่อนนักข่าวชาวฝรั่งเศสของช่างภาพอิตาลี(นายฟาบิโอ) ได้มาพบตนก็พอใจที่รัฐบาลช่วยอำนวยความสะดวกให้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่มีเจตนาปิดบังข้อเท็จจริง เพราะสามารถพิสูจน์ได้ที่มีรายงานต่างๆออกมา ซึ่งเรายินดีให้ข้อมูลต่างๆกับญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องการทราบสาเหตุของการเสียชีวิต

“และเขาอยากได้อุปกรณ์กล้องของเขา ที่มีคนเอากล้องของเขาไปก็อยากได้คืน ซึ่งเขาบอกว่าสามารถเห็นภาพได้ เขาบอกว่ามันมีเมมโมรี่ที่อยู่ในกล้องซึ่งเขาก็อยากได้ภาพที่เป็นบันทึกความทรงจำครั้งสุดท้ายของน้องชายเขาที่ทำงานในเมืองไทย เขาก็อยากได้สิ่งเหล่านี้ไปเก็บไว้ เขาจึงอยากให้ตำรวจช่วยเร่งรัดติดตามคนที่เอากล้องไปด้วย”นายองอาจ กล่าว

เมื่อถามว่าเบื้องต้นทราบหรือยังว่ากล้องอยู่ที่ไหนเพราะผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุใกล้ที่สุดน่าจะเป็นทหาร นายองอาจ กล่าวว่า ญาติเขาก็มีความเชื่อเช่นนั้น แต่ตนก็บอกว่าเป็นเพียงความเชื่อของเขาแต่ก็ต้องดูว่าตำรวจจะติดตามว่าใครจะเอาไป เมื่อถามว่าต้องประสานไปที่ศอฉ.หรือไม่ในการตามหากล้องคืน นายองอาจ กล่าวว่า ตอนนี้คดีนี้อยู่ที่ดีเอสไอ ดังนั้นดีเอสไอต้องประสานกับสน.ท้องที่ที่เกิดเหตุว่าข้อมูลเท่าที่รวบรวมได้น่าจะไปอยู่ที่ใครอย่างไรเหมือนกับกรณีของหายอื่นๆ

เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการให้ข้อมูลของรัฐบาลที่ไม่ตรงกัน นายองอาจ กล่าวว่า เรื่องของข้อมูลอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่ข้อเท็จจริงตนคิดว่าเจ้าหน้าที่ยืนดีให้กับคนที่เกี่ยวข้อง แต่มุมมองเรื่องวิถีกระสุนอะไรต่างๆถ้าผลพิสูจน์ยังไม่ชัดเจนก็อาจจะมองต่างกันได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่จุดไหนอย่างไร ซึ่งตนก็เห็นว่ายังมีข้อมูลที่แตกต่างในเรื่องนี้อยู่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีความพยายามดำเนินการเต็มที่

เมื่อถามว่าเรื่องเหล่านี้จะเงียบเหมือนกรณีศพของคนไทยจำนวนมากที่เสียชีวิตและเรื่องเงียบมาก นายองอาจ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทำงานกันอยู่แต่เรื่องคดีเจ้าหน้าที่ยืนยันกับญาติของผู้เสียชีวิตว่าเรื่องคดีไม่สามารถบอกเรื่องของระยะเวลาได้

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ที่ สขนท. ๑๕๐/๑๑/๒๕๕๓
๒๙  กรกฎาคม  ๒๕๕๓

เรื่อง    ขอให้สั่งการเร่งรัดคดีการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
กราบเรียน        ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

จากเหตุการณ์ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้ากดดันผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จนแกนนำประกาศยุติการชุมนุม และผู้ชุมนุมบางส่วนได้ก่อการจลาจลด้วยการวางเพลิงเผาสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งของทางราชการและภาคเอกชน นอกจากนี้ ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ปรากฎว่านายฟาบิโอ โพเลนกี ช่างภาพชาวอิตาเลียน ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต

นอกจากนี้ จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ที่ทหารปะทะกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณแยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ยังปรากฏว่า นายฮิโรยูริ มูราโมโตะ ช่างภาพจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ได้ถูกกระสุนปืนเสียชีวิตด้วย        จนถึงขณะนี้เวลาได้เนิ่นนานมาระยะหนึ่งแล้ว และยังไม่มีความคืบหน้าของคดี

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านเร่งรัดติดตามตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวทั้งสอง ให้เป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส รวมทั้งให้มีการรายงานผลการตรวจสอบให้สาธารณะชนและแจ้งผลมายังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ
(นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์)
นายก  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ทางรัฐบาลติดตามความคืบหน้าคดีผู้สื่อข่าวตปท.เสียชีวิต ดังรายละเอียด

การเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มุราโมโต ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์

ภูมิหลัง

  • นายฮิโรยูกิ มุราโมโต ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นประจำสำนักข่าวรอยเตอร์เสียชีวิต เมื่อคืนวันที่
    10 เมษายน 2553 จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ ในระหว่างติดตามสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว
  • เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีสารแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนายมุราโมโต ถึงนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ตามลำดับ โดยได้ระบุว่าจะดำเนินการสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของนายมุราโมโตอย่างละเอียดรอบคอบ และจะให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของชาวต่างชาติในไทย และในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้มีสารตอบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามลำดับ โดยขอให้รัฐบาลไทยเร่งสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของนายมุราโมโตและขอให้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแลความปลอดภัยชาวญี่ปุ่นที่พำนักอาศัยในไทยด้วย
  • เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553  เวลา 23.00 น. ครอบครัวของนายมุราโมโต ประกอบด้วย บิดา มารดา ภรรยา และ บุตรี 2 คน พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักข่าวรอยเตอร์ 3 คน ได้เดินทางมายังไทย เพื่อรับศพของนายมุราโมโต โดยมีอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์)  ไปต้อนรับและอำนวยความสะดวกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยอัครราชทูตฯ แสดงความเสียใจกับครอบครัวของนายมุราโมโต พร้อมทั้งแจ้งว่า รัฐบาลไทยจะสืบสวนหาข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตของนายมุราโมโตต่อไป ครอบครัวของนายมุราโมโตได้แสดงความขอบคุณ และขอให้รัฐบาลไทยเร่งสืบสวนหาข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน และศพของนายมุราโมโตถูกนำกลับญี่ปุ่นโดยออกจากไทยในช่วงเช้าวันที่ 13 เมษายน 2553 หลังการชันสูตรศพแล้ว
  • เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2553 เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล) ได้เข้าร่วมพิธีไว้อาลัยนายมุราโมโตที่กรุงโตเกียว และได้สนทนากับหัวหน้าบรรณาธิการและบรรณาธิการของรอยเตอร์ญี่ปุ่น โดยเอกอัครราชทูตฯ ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังเร่งสอบสวนข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตของนายมุราโมโต
  • ฝ่ายญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับคดีนี้อย่างมาก โดยเมื่อ 19 เมษายน 2553 เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้รัฐบาลไทยคุ้มครองความปลอดภัยของชาวญี่ปุ่นในบริเวณสีลมและถนนพระราม 4 และขอให้รัฐบาลไทยเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายมุราโมโต
  • สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยแจ้งว่า มีชาวญี่ปุ่น 1 คนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากเหตุวินาศกรรมบริเวณย่านสีลมเมื่อคืนวันที่ 22 เมษายน 2553 ทั้งนี้ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 23 เมษายน 2553 กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้ยกระดับการแจ้งเตือนชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังไทย จากระดับที่ 1 (ควรใช้ความระมัดระวังอย่างสูง) เป็นระดับที่ 2 (ควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องเดินทางไปหรือไม่)
  • เมื่อ 28 เมษายน 2553 เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้ไปพบนางเอมิโกะ มุราโมโต ภรรยานายมุราโมโตที่บ้านพัก เพื่อเชิญพระราชกระแสแสดงความเสียพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และมอบดอกไม้พระราชทานให้แก่นางเอมิโกะฯ ซึ่งนางเอมิโกะฯ ได้ยืนฟังทั้งน้ำตาและแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
  • เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้แจ้งว่า ได้มี
    การตั้งกระทู้ถามกรณีการเสียชีวิตของนายมุราโมโตในระหว่างการประชุมรัฐสภาญี่ปุ่น โดย

นายมุเนโอะ ซูซูกิประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีรายงานข่าวในสื่อมวลชนว่าการเสียชีวิตของนายมุราโมโตอาจเนื่องมาจากกองกำลังของรัฐบาลไทย รวมทั้งขอทราบว่า เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance: ODA) ที่ญี่ปุ่นให้แก่ไทย มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ และควรที่จะระงับการให้ ODA แก่ไทยหรือไม่จนกว่าข้อเท็จจริงของกรณีการเสียชีวิตของนายมุราโมโตจะได้รับการอธิบายอย่างกระจ่าง   ซึ่งผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตอบกระทู้ข้างต้นว่า รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการสอบสวนการเสียชีวิตของนายมุราโมโตอย่างเต็มที่

  • เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่ากรณีการเสียชีวิตของนายมุราโมโตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้รัฐบาลไทยเร่งสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของนายมุราโมโต และขอทราบผลการสอบสวนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังขอความกระจ่างจากการที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 ว่า เจ้าหน้าที่ทหารใช้กระสุนจริงยิงในแนวราบในที่เกิดเหตุ (10 เมษายน 2553) ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ ได้รับทราบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า ฝ่ายไทยได้ดำเนินการชันสูตรศพของนายมุราโมโตแล้ว และมีผลสรุปในทางการแพทย์เกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต แต่ฝ่ายญี่ปุ่นใคร่ขอทราบรายละเอียดว่า การเสียชีวิตเกิดจากการยิงของผู้ใดหรือฝ่ายใด
  • เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 นายโนบุอากิ อิโต อัครราชทูตฝ่ายการเมือง และนายมาซาโตะ โอทากะ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศได้เข้าพบ
    นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอให้ฝ่ายไทยเร่งรัดการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของนายมุราโมโตโดยเร็วที่สุด  โดยขอให้คำนึงถึงความรู้สึกของครอบครัวของนาย    มุโรโมโตซึ่งลูกสาว 2 คนของนายมุราโมโตมีอายุเพียง 8 ปีและ 5 ปี ทั้งนี้ ถึงแม้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในชั้นนี้ ก็ประสงค์จะให้ฝ่ายไทยมีรายงานความคืบหน้า (progress report) อย่างเป็นทางการให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรับปากที่จะเร่งรัดเรื่องนี้และจะแจ้งให้ฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความก้าวหน้าและกรอบเวลาของการสรุปผลโดยเร็วที่สุด
  • เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้าพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของนายมุราโมโตโดยเร็ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้เข้าพบกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และได้รับเอกสารชี้แจงความคืบหน้าของการสอบสวนคดีในเบื้องต้น
    อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยยังประสงค์ทราบรายละเอียดมากขึ้น เนื่องจากเป็นประเด็นที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนายมุราโมโต และอธิบายว่า DSI ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอบสวนกรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมทั้งหมด โดยที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ราว 80 คน ทำให้การดำเนินการสืบสวนกรณีนายมุราโมโตคงจะต้องใช้เวลา แต่จะพยายามติดตามการสอบสวนคดีนายมุราโมโตอย่างใกล้ชิด

ความคืบหน้าของการดำเนินคดี

  • DSI มีหนังสือด่วนถึงกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และส่งโทรสารแจ้งเพิ่มเติมเมื่อ 6 ก.ค. 53 รายงานความคืบหน้าของการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายมุราโมโต ในชั้นนี้ ประกอบด้วยผลการชันสูตรศพและสถานที่และเวลาที่นายมุราโมโตเสียชีวิต พร้อมทั้งแจ้งว่าอยู่ระหว่างการสอบสวนพยานและรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวง
    การต่างประเทศได้จัดทำคำแปลอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ ทีมสืบสวนอยู่ระหว่างการเชิญผู้เห็นเหตุการณ์มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่ง DSI ได้ขอความร่วมมือจากพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งผ่านหน้าแรกของเว็บไซต์ DSI ด้วยอีกทางหนึ่ง
  • จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก DSI เมื่อ 19 ก.ค. 2553 รายงานการสืบสวนจะประกอบด้วย วัน เวลา สถานที่ และสาเหตุของการเสียชีวิต (เช่น โดยอาวุธชนิดใด และถูกยิงโดยผู้ใด) โดยหากภายใน 1 ปี (จากวันที่ 10 เม.ย. 2553) ทีมสืบสวนยังไม่สามารถรายงานรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด (ซึ่งการสืบหาว่า ถูกยิงโดยผู้ใด จะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด) DSI จะสรุปผลการสืบสวนฉบับสมบูรณ์และส่งให้กับพนักงานอัยการ ซึ่งหากพนักงานอัยการไม่มีความเห็นที่แตกต่างจากผลการสืบสวนฉบับสมบูรณ์ (เช่น ขอให้มีการสืบสวนเพิ่มเติม) ก็จะสามารถปิดคดีนี้ได้
  • สำหรับสิ่งของส่วนตัวของนายมุราโมโต นอกจากกล้องวีดีโอที่รอยเตอร์ได้จาก นปช. แล้ว
    ฝ่ายไทยสามารถพบโทรศัพท์มือถือของนายมุราโมโตและได้จัดส่งให้กับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยแล้ว

 

การให้ความช่วยเหลือ

  • เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือกรณีการเสียชีวิตของนายมุราโมโต ครอบครัวได้เงินจากรัฐบาลไทยจำนวนรวม 880,000 บาท ซึ่งประกอบไปด้วยเงินช่วยเหลือจากสำนักพระราชวัง 50,000 บาท กระทรวงการท่องเที่ยวฯ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 400,000 บาท และกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) 100,000 บาท ซึ่งมีเพียงเงินชดเชยจาก ยธ. เท่านั้น ที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปี

 

-----------------------------------------

กรณีนาย Fabio Polenghi ผู้สื่อข่าวอิตาลีเสียชีวิต

ข้อมูลทั่วไป

1. นาย Fabio Polenghi สัญชาติอิตาลี อายุ 48 ปี มีถิ่นพำนักที่เมืองมิลาน เป็นช่างภาพอิสระประจำประเทศไทย โดยอยู่ในสังกัดสำนักงานช่างภาพ Grazia Neri ซึ่งเป็นสำนักงานที่บริการภาพถ่ายให้แก่นิตยสารสำคัญในอิตาลี รวมถึงทำงานให้กับนิตยสาร Diario

2. นาย Polenghi เน้นการถ่ายภาพและเขียนบทความด้านสังคม การท่องเที่ยวและการดำเนินชีวิตของผู้คนในประเทศนั้น และมีผลงานในนิตยสารสำคัญ อาทิ Vogue, Vanity Fair, Marie Claire และ Elle

3. นาย Polenghi เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 จากเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพฯ

4. นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม มีสารแสดงความเสียใจต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีแล้ว

5. น.ส. Elisabetta Polenghi และนางสาว Francesca Garilli ญาติของนาย Polenghi เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2553 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งผู้แทนไปรับที่ท่าอากาศยาน และอำนวยความสะดวกในการดูศพนาย Polenghi และสถานที่เกิดเหตุ ต่อมา ญาตินาย Polenghi ได้จัดพิธีฌาปนกิจศพนาย Polenghi เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2553 ณ วัดคลองเตยใน โดยสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งพวงหรีดในนามนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งพวงหรีดในนามกระทรวงฯ และมอบหมายผู้แทนกระทรวงฯ ไปเข้าร่วมพิธีดังกล่าว

6. ญาติของนาย Polenghi ได้นำอัฐิของนาย Polenghi เดินทางออกนอกประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2553

7. เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2553 สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสืออัญเชิญพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และต่อมา เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2553 น.ส. Elisabetta Polenghi ได้มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงราชเลขาธิการแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

ความคืบหน้าของการดำเนินคดี

1. การติดตามสำนวนคดีที่สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2553 น.ส. Elisabetta Polenghi พร้อมด้วยผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี/ปทท. และผู้แทนกรมยุโรป ได้เข้าพบ พ.ต.อ.ชุมพร กาญจนรัตน์ รักษาราชการแทน ผกกสน.ปทุมวัน ซึ่งได้มีการนำผลการชันสูตรศพขั้นสุดท้ายจากโรงพยาบาลตำรวจพร้อมรายละเอียดมาให้น.ส. Elisabetta รับทราบในเบื้องต้นว่า การเสียชีวิตเกิดจากรอยกระสุน 1 นัดหรือสะเก็ดระเบิดทะลุจากบริเวณด้านหลังมาทางหน้าอก ทั้งนี้ ทาง สน.ไม่สามารถให้เอกสารได้ โดยต้องรอให้อัยการของกรมสืบสวนคดีพิเศษอนุญาตก่อน ทั้งนี้ ทาง สน.กำลังจะส่งสำนวนคดีไปให้กรมสืบสวนคดีพิเศษภายในวันเดียวกันนั้น และทาง สน.ลุมพินีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำสำนวนคดีเนื่องจากจุดที่เกิดเหตุอยู่ในเขตลุมพินีก็จะส่งสำนวนคดีไปที่กรมสืบสวนคดีพิเศษเช่นกัน ในการนี้ น.ส. Elisabetta Polenghi ชี้แจงว่า ตนไม่ติดใจที่จะตามหาตัวคนร้ายที่ยิงน้องชายแต่ต้องการทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในนาทีที่น้องชายเสียชีวิต และต้องการทราบผลการชันสูตรศพอย่างละเอียด เพื่อนำไปอธิบายกับครอบครัว ญาติพี่น้อง และขอให้ตำรวจช่วยติดตามหาตัวชายไทยคนที่ขโมยกล้องถ่ายรูปของน้องชาย ซึ่งตนอยากทราบว่าได้มีการถ่ายภาพอะไรไว้บ้างก่อนเสียชีวิตไป โดยได้มอบหลักฐานภาพถ่ายทั้งภาพนิ่งและวิดิโอคลิปของบุคคลดังกล่าวในขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ จนท.ตำรวจเพื่อประกอบการจัดทำสำนวนคดีต่อไป หลังจากนั้น นาง Elisabeth ได้เข้าพบนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนัก นรม. ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้ช่วยติดตามหาข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตของน้องชายต่อไปด้วย

2. การเข้าพบกรมสืบสวนคดีพิเศษ ต่อมาในวันที่ 29 ก.ค. 2553 น.ส. Elisabetta Polenghi พร้อมด้วย

ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี/ปทท. และผู้แทนกรมยุโรป ได้เข้าพบ พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสืบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอทราบผลการติดตามคดีดังกล่าวโดยเฉพาะขอรับเอกสารผลการชันสูตรศพในขั้นสุดท้าย ซึ่งทาง DSI แจ้งว่า ได้รับสำนวนคดีจาก สน.ลุมพินีและผลการชันสูตรจาก สน.ปทุมวันแล้ว ขณะนี้ได้เรียกพยานในที่เกิดเหตุมาสอบปากคำแล้ว โดยได้เล่าให้ น.ส. Elisabetta Polenghi ทราบถึงเวลาที่นาย Polenghi เสียชีวิตและจุดที่เกิดเหตุ ตลอดจนขั้นตอนต่อไปที่ทาง DSI จะสอบปากคำนายแพทย์ที่ชันสูตรศพและผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธเพื่อระบุว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นเกิดจากกระสุนหรือเป็นสะเก็ดระเบิดประเภทใด ก่อนที่จะสรุปผลและชี้แจงให้ญาติผู้เสียชีวิตทราบอย่างเป็นทางการในเวลาภายใน 3 สัปดาห์ สำหรับการดำเนินการสืบสวนพยานต่างๆ และสรุปคดีนั้น ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด ในการนี้ น.ส. Elisabetta Polenghi ชี้แจงว่า ตามรายงานที่สรุปถึงเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่ระบุนั้นคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง พร้อมทั้งได้มอบหลักฐานจากภาพคลิปวิดิโอที่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ถ่ายไว้ขณะที่นาย Polenghi เสียชีวิตและนำไปลงใน Youtube เพื่อประกอบการสืบสวน พร้อมทั้งย้ำว่า ตนต้องการให้ติดตามตัวชายไทยในภาพที่เห็นหน้าอย่างชัดเจนซึ่งเป็นผู้ที่เอากล้องถ่ายภาพของนาย Polenghi ไปทันทีที่เห็นว่าถูกยิงล้มลงก่อนที่จะช่วยลากร่างของนายไปกับช่างภาพอื่นๆ เพื่อส่งโรงพยาบาล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รับว่าอาจจะใช้วิธีการประกาศตามหาหรือมอบรางวัลแก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งรับปากว่าจะติดต่อกับนาง Elisabetta เป็นระยะเพื่อรายงานผลการสืบสวน ซึ่งนาง Elisabetta ได้แสดงความพอใจและขอบคุณคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทุกคน

การให้ความช่วยเหลือ

1. การขอรับพระราชทานความช่วยเหลือจากสำนักพระราชวัง (กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท) โดยในกรณีดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศสามารถมีหนังสือประสานกับสำนักพระราชวังได้

2. การขอรับความช่วยเหลือจากสนง. ช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม (กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินจำนวน 100,000 บาท) โดย

ครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี/ปทท. สามารถประสานกับกระทรวงยุติธรรมโดยตรง เนื่องจากต้องมีการใช้เอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำเนาใบมรณบัตร  สำเนาใบชันสูตรแพทย์  สำเนาใบแจ้งความ และหนังสือมอบอำนาจจาก Immediate Family Members (บิดา/มารดา/สามี/ภริยา/บุตร)         เป็นต้น

3. การขอรับความช่วยเหลือจากศูนย์เยียวยาฯ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินจำนวน 400,000 บาท) โดยครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือสถานเอกอัครราชทูตสามารถประสานกับกระทรวงยุติธรรมโดยตรง เนื่องจากต้องมีการใช้เอกสารที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับข้อ 2

4. การขอรับความช่วยเหลือจากกรมธรรมประกันภัยคุ้มครองชาวต่างชาติจากการจลาจล (Indara Insurance) ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ (กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินจำนวนไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการพิจารณา

สถานะล่าสุด

1. กระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งประสานให้สถานเอกอัครราชทูตอิตาลี/ปทท. และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ให้แจ้งครอบครัวนาย Polenghi ทราบถึงความช่วยเหลือแล้ว และขอให้ครอบครัวแจ้งว่าจะขอรับความช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่ได้รับแจ้งยืนยัน

2. การขอรับพระราชทานความช่วยเหลือจากสำนักพระราชวัง และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้ปิดการขอรับความช่วยเหลือแล้ว แต่กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานเป็นการภายในล่วงหน้ากับทั้งสองหน่วยงานแล้วเพื่อขอรับความช่วยเหลือ หากครอบครัวของนาย Polenghi ยืนยันความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ

3. กระทรวงการต่างประเทศทราบเป็นการภายในว่า จากการที่น.ส. Elisabetta Polenghi เดินทางมา ปทท.ครั้งนี้ มีความประสงค์ที่จะติดตามเรื่องคดีมากกว่าการขอรับความช่วยเหลือ

..............................................

30 กรกฎาคม 2553