แถลงข่าว สององค์กรสื่อย้ำ ก.วัฒนธรรม ยุติเสนอแก้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ

แถลงข่าว

สององค์กรสื่อย้ำ ก.วัฒนธรรม

ยุติเสนอแก้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ


สององค์กรสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ - สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ยื่นหนังสือรัฐมนตรีวัฒนธรรมยุติเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ระบุเนื้อหาเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ ในขณะที่ตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรมยืนยันจะไม่เสนอกฎหมายฉบับนี้และขอความเห็นสื่อมวลชนอีก

นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม วันนี้ (7 ธ.ค. 54) คัดค้านและเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมยุตติการเสนอร่างร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่มีเนื้อหาเป็นเผด็จการ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....เมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีเนื้อหาหลายประการที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน อีกทั้งขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดแจ้ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยในการเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ได้ร่วมประชุมกับตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดกรมศิลปากร พนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการพิมพ์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัด ต้องไปจดแจ้ง ณ สำนักงานศิลปากรเขต ให้เป็นการจดทะเบียนต่อสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัด จึงมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ หาได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนไม่

แต่เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแก้ไขร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ไม่เพียงหลักการที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลัก “ส่งเสริมคุ้มครอง” มาเป็นหลัก “ควบคุม” และถ่ายโอนหน้าที่ของกรมศิลปากร มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น หากยังเป็นความพยายามที่จะตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ถึงแม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีความเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และให้กระทรวงวัฒนธรรมทบทวนอีกครั้งก็ตาม

สิทธิเสรีภาพของสื่อ ก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลไม่มีเหตุผล ความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ เลย ที่จะแก้ไข พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ โดยหนังสือฉบับนี้องค์กรสื่อทั้งสองจึงขอคัดค้านและขอให้กระทรวงวัฒนธรรมยุติการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ที่มีเนื้อหาเป็นการคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในทุกรูปแบบและทุกกรณี

ขณะเดียวกันตัวแทนองค์กรสื่อทั้งสองและตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้หารือร่วมกันในประเด็นปัญหา การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน โดยตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรมรับว่าจะไม่มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ และจัดให้มีการสอบถามความเห็นสื่อมวลชนอีก

 

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

7 ธันวาคม 2554