การประกวดรางวัลพิราบน้อย และรางวัลริต้า ปาติยะเสวี ประจำปี ๒๕๕๕

ที่ สขนท.นว. ๓๓๐/๑๒/๒๕๕๕

๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

เรื่อง    ขอเชิญส่งผลงานหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ-ข่าวฝึกปฏิบัติ-ข่าวสิ่งแวดล้อม และรางวัลข่าวสารคดีเชิงข่าวดีเด่น ในสถาบันอุดมศึกษา รางวัล “พิราบน้อย” ประจำปี ๒๕๕๕

เรียน    อาจารย์ที่ปรึกษาการจัดทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา

สิ่งที่ส่งมาด้วย   ประกาศเรื่องการประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ-ข่าวฝึกปฏิบัติ-ข่าวสิ่งแวดล้อม

และรางวัลข่าวสารคดีเชิงข่าวดีเด่น ในสถาบันอุดมศึกษา รางวัล “พิราบน้อย” ประจำปี ๒๕๕๕

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ ข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ  และข่าวสิ่งแวดล้อมดีเด่น ในสถาบันอุดมศึกษารางวัล “พิราบน้อย” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำหนังสือพิมพ์และการทำข่าวของนิสิตนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ในสถาบันอุดม ศึกษาต่าง ๆ โดยจะมีการประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัล “พิราบน้อย” เป็นประจำทุกปี

บัดนี้  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เริ่มดำเนินการจัดประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ  ข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ  และข่าวสิ่งแวดล้อมดีเด่น ในสถาบันอุดมศึกษา รางวัล “พิราบน้อย” และสารคดีเชิงข่าวรางวัล “ริต้า ปาติยะเสวี” ประจำปี ๒๕๕๕ แล้ว จึงเรียนเชิญท่านส่งผลงานของนักศึกษาเข้าประกวดชิงรางวัลดังกล่าว ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันอังคารที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ รายละเอียดตามประกาศและหลักเกณฑ์การส่งผลงานข่าวเข้าประกวดที่แนบมา

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านในการส่งผลงานเข้าประกวด และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์)

เลขาธิการ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

หมายเหตุ ประสางาน รายละเอียด โทร. ๐๒-๖๖๘-๙๔๒๒

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

 

ประกาศสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เรื่อง การประกวดรางวัลพิราบน้อย และรางวัลริต้า ปาติยะเสวี

หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ  ข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติดีเด่น

ข่าวสิ่งแวดล้อมดีเด่น และรางวัลสารคดีเชิงข่าวดีเด่น

ในสถาบันอุดมศึกษาของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๕

หลักการและเหตุผล

ในสถาบันอุดมศึกษาได้เปิดสอนวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์อย่างกว้างขวาง โดยมีสถาบันการศึกษาทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดได้พยายามจัดหลักสูตรการเรียนการสอนภาคปฏิบัติการทำหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ในสถาบันการศึกษาของตัวเอง  และเพื่อฝึกฝนให้นิสิตนักศึกษามีความรู้ความชำนาญในงานวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เห็นว่าการส่งเสริมให้มีการจัดทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติและสิ่งพิมพ์ฝึกปฎิบัติในสถาบันอุดมศึกษา จะเป็นเครื่องมือและกระบวนการในการช่วยให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทและภาระกิจที่แท้จริงของนักหนังสือพิมพ์มากขึ้น จึงเห็นสมควรให้มีการประกวดรางวัล “พิราบน้อย” (เริ่มปีที่ พ.ศ. ๒๕๓๖)  ควบคู่ไปกับการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ   ”นักข่าวพิราบน้อย”

 

วัตถุประสงค์

๑.  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำหนังสือพิมพ์และผลงานที่ผลิตในสื่อสิ่งพิมพ์ฝึกปฏิบัติของนิสิตนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์  ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ

๒.  เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษา  กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๓.  เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนโครงการฯ

 

ประเภทรางวัล

๑. รางวัลหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติในสถาบันอุดมศึกษา   “รางวัลพิราบน้อย”

๑.๑ รางวัลดีเด่น-โล่เกียรติยศ   พร้อมเงินรางวัล      ๒๐,๐๐๐  บาท    ๑ รางวัล

๑.๒ รางวัลชมเชย-โล่เกียรติยศ   พร้อมเงินรางวัล     ๑๐,๐๐๐  บาท    ๒ รางวัล

๒. รางวัลข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติในสถาบันอุดมศึกษา   “รางวัลพิราบน้อย”

๒.๑ รางวัลดีเด่น-โล่เกียรติยศ   พร้อมเงินรางวัล      ๑๕,๐๐๐  บาท    ๑ รางวัล

๒.๒ รางวัลชมเชย-โล่เกียรติยศ   พร้อมเงินรางวัล       ๗,๕๐๐  บาท    ๒ รางวัล

๓. รางวัลข่าวสิ่งแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษา   “รางวัลพิราบน้อย”

๓.๑ รางวัลดีเด่น-โล่เกียรติยศ   พร้อมเงินรางวัล      ๑๐,๐๐๐  บาท    ๑ รางวัล

๔. รางวัลสารคดีเชิงข่าวดีเด่น    “รางวัลริต้า ปาติยะเสวี”

๔.๑ รางวัลดีเด่น-โล่เกียรติยศ   พร้อมเงินรางวัล        ๕,๐๐๐  บาท    ๑ รางวัล

 

หลักเกณฑ์การพิจารณา

.หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ

.๑ เป้าหมายและวัตถุประสงค์ (Aims & Objectives)

(๑) บรรลุวัตถุประสงค์ทางการศึกษา

(๒) ตอบสนองความต้องการของนักศึกษา

.๒ เนื้อหาสาระ (Theme & Contents)

(๑) การนำเสนอเนื้อหาของข่าว , บทความ , รายงาน

(๒) ความหลากหลายของสาระ และภาพรวม

(๓) การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ความถูกต้อง เหมาะสม หรือการใช้ภาพหรือภาพประกอบทางวารสารศาสตร์

(๔) การจัดวางเนื้อหา และหลักการบรรณาธิกรณ์

(๕) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

(๖) การนำหลักวิชาการมาประยุกต์ใช้

.๓ แนวคิดรูปเล่ม (Lay-out & Illustration Concept)

(๑) แนวคิดหลัก (Concept)

(๒) เอกลักษณ์ (Identity)

(๓) รูปเล่มเพื่อการสื่อสาร (Lay-out for Communication)

(๔) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

.๔ จริยธรรมและจรรยาบรรณ (Moral & Code of Ethics)

(๑) ความรับผิดชอบต่อหน้าที่และสังคม

(๒) ความพร้อมในการเข้าสู่วิช่าชีพ

. ข่าวฝึกปฏิบัติ

.๑ คุณภาพ (Quality)

(๑) ความถูกต้องและความเป็นจริง

(๒) ความสมดุล

(๓) ความเป็นปัจจุบัน

(๔) ความสมบูรณ์ (๕Ws ๑H)

(๕) ความถูกต้องและเหมาะสมในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

.๒ คุณค่า (Value)

(๑) เรื่องใกล้ตัว

(๒) ผลกระทบเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคม

(๓) เรื่องที่สะท้อนปรากฏการณ์สังคม

.๓ ผลกระทบ (Impact)

(๑) ศักยภาพที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์

(๒) หรือได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระดับหนึ่ง

.๔ จรรยาบรรณ (Code of Ethics)

(๑) สำนึกในจริยธรรม

(๒) สะท้อนความรับผิดชอบในการนำเสนอ

. ข่าวสิ่งแวดล้อม

๓.๑ แนวทางการพิจารณาเช่นเดียวกับข่าวฝึกปฏิบัติ

๓.๒ พิจารณาผลกระทบในการนำเสนอด้านสิ่งแวดล้อม

. สารคดีเชิงข่าวดีเด่น

๔.๑ พิจารณาจากรูปแบบการนำเสนอในลักษณะสารคดีเชิงข่าว

๔.๒ พิจารณาเนื้อหาและประเด็นในการนำเสนอเช่นเดียวกับข่าวฝึกปฏิบัติ

 

การส่งผลงาน เข้าประกวด

๑. ต้องเป็นหนังสือพิมพ์ ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวในสิ่งพิมพ์ฝึกปฏิบัติของสถาบันอุดมศึกษาที่จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาในหลักสูตรวิชาการหนังสือพิมพ์หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง  ที่มีการพิมพ์เผยแพร่ระหว่างวันที่ ๖ ก.พ.๒๕๕๕ - ๕ ก.พ.๒๕๕๖ กรณีผลงานที่ส่งประกวดจากสิ่งพิมพ์ฝึกปฏิบัติอื่น เช่นวารสารหรือนิตยสาร ต้องระบุวันที่พิมพ์เผยแพร่ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเวลาที่กำหนด

๒. หนังสือพิมพ์  ส่งได้ไม่เกินสถาบันละ ๑ ฉบับ โดยส่งฉบับละ ๙ สำเนา และต้องส่งคำอธิบายเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหนังสือพิมพ์ฉบับที่ส่งเข้าประกวดมาด้วย

๓. ข่าวแต่ละประเภท ส่งได้ไม่เกินสถาบันละ ๓ ข่าว  ส่งข่าวละ ๙ สำเนา

๔. กรณีส่งข่าวเดียวกันที่ส่งเข้าประกวดทั้ง ๒ ประเภทข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาหรือข่าวสิ่งแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษา  ผู้ส่งจะต้องทำแฟ้มสำเนาแยกต่างหาก

๕. สารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติ  ส่งได้ไม่เกินสถาบันละ ๓ เรื่อง เป็นเรื่องที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติหรือสิ่งพิมพ์ฝึกปฏิบัติอื่นที่จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น

๖. ส่งผลงานมายัง  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ๕๓๘/๑ ถนนสามเสน เขตดุสิต  กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐   โทรศัพท์ ๐๒-๖๖๘-๙๔๒๒  ภายในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๖ เวลา ๑๘.๐๐ น. หากเกินกว่าเวลากำหนดขอสงวนสิทธิ์ไม่รับพิจารณาในทุกกรณี  กรณีส่งไปรษณีย์ดูตราประทับภายในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ต้นทาง

 

การตัดสิน

คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการหนังสือพิมพ์และนักวิชาการในวงวิชาการหนังสือพิมพ์  ๗ คน

การประกาศผล

การประกาศผลการตัดสิน  และการมอบรางวัล  จะมีขึ้นในวันที่  ๔ มีนาคม ๒๕๕๕  อันเป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

ประกาศมา ณ  วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน  ๒๕๕๕

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย