จริยธรรมสื่อในการผลิตรายการโทรทัศน์

จริยธรรมสื่อในการผลิตรายการโทรทัศน์ :เกมส์โชว์และเรียลลีตี้โชว์?


รายการไทยแลนด์ก๊อทสทาเล้น กำลังสร้างประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังจากปล่อยการแสดงของผู้ประกวดเพื่อสร้างความสนใจจากสังคม ในแง่ที่ดูไม่ค่อยมีความรับผิดชอบเท่าใดนัก

ผู้เขียนมีประเด็นเรื่องจรรยาบรรณและจริยธรรมในการผลิตรายการโทรทัศน์ที่เกิดอยากแบ่งปันกับผู้อ่าน จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมา

ผู้เขียนนึกย้อนตัวอย่างรายการเกมส์โชว์ในบ้านเรา ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่ดังๆ ก็เช่น เกมทศกัณฑ์ เกมเศรษฐี, บิ๊กบราเธอร์, รักแท้บทที่ 1 เรื่อยมาจนการประกวดเดอะสตาร์ ทรูอะคาเดมี่แฟนตาเซีย ล่าสุดคือ รายการไทยแลนด์ก๊อททาเล้นท์ ที่เพิ่งมีประเด็นทางสังคมวิพากษ์ไปเรื่องความไม่เหมาะสม

หากลองมองย้อนในรอบหลายปีที่ผ่านมา รายการเกมโชว์นั้นมีมานานแล้วหลายรายการ เช่นเดียวกับรายการเรียลลิตี้ และส่วนมากมักประสบปัญหาทางจริยธรรม ดังนี้

1) รายการนำเสนอเนื้อหา ให้เห็นเรื่องเพศ อนาจาร ลามก เป็นที่ถกเถียงของสังคม

2) การนำเสนอมีลักษณะ โกหก หลอกลวง บิดเบือนความเข้าใจ หรือสาระสำคัญของผู้ชม

3) นำเสนอประเด็นที่อ่อนไหวทางสังคม เช่น การเหยียดเพศ สีผิว เชื้อชาติ ชนชั้น

4) นำเสนอประเด็นที่แอบแฝงผลประโยชน์ธุรกิจการค้า ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ร่วมรายการและผู้บริโภค

5) นำเสนอรายการที่อาจละเมิดสิทธิ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งต่อผู้ร่วมรายการและผู้ชมรายการ

บทความนี้ ตั้งใจไปค้นหาตัวอย่าง หรือกรอบแนวคิดปฏิบัติของผู้ผลิตรายการที่ใช้กำกับดูแลผู้ผลิตรายการในต่างประเทศ ง่ายที่สุดและบ้านเราชอบซื้อมาเป็นแบบอย่างรายการ คือ ประเทศอเมริกา ซึ่งประกันทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการคุ้มครองสิทธิผู้ชม ผู้ร่วมรายการและผู้บริโภค

ในอเมริกา มีแนวทางข้อหลักเกณ์จริยธรรม (code of ethics) จาก “คณะกรรมการสื่อสารของรัฐ” (FCC-Federal Communication Commission) ซึ่งก็คือผู้กำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์ ในประเทศอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นช่องเชิงพาณิชย์ หรือช่องสื่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นช่องข่าว หรือช่องรายการเด็ก บันทิง เกมส์โชว์ ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “FCC” ทั้งสิ้น

ดังนั้นรายการเกมส์โชว์ที่โด่งดังจากประเทศอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จทั้งทางการตลาด เรตติ้ง และเชิงคุณภาพ ก็ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและกรอบแนวทางจริยธรรมของ “FCC” ทั้งนั้น การกำกับดูแลนี้ มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1927 (ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอเมริกา แรกกำเนิด คือ FRC-Federal Radio Commision หรือ ในบ้านเรา เรียก กสทช.

เนื้อหาดังต่อไปนี้ คือ กรอบจริยธรรมสำหรับรายการโชว์/เรียลลิตี้ ที่สกัดมาจากแนวทางการพิจารณาเชิงจริยธรรมของประเทศอเมริกา (FCC)

หลักการทั่วไป ที่ทางผู้ผลิตรายการ/ทีมงาน ควรยึดถือในการผลิตรายการบันเทิงประเภทเกมส์โชว์ และ เรียลลิตี้โชว์คือ :

(1) ต้องแน่ใจว่าจะมีการดูแลรักษาสภาพจิตใจต่อผู้ร่วมรายการ/ร่างกาย ในก่อน-ระหว่าง-หลังรายการ

(2) สำหรับรายการเรียลลิตี้ หรือโชว์ที่มีการถ่ายทอดสดยาวนานต่อเนื่อง ต้องแน่ใจว่าผู้ร่วมรายการ มีช่วงเวลาการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ (อย่างน้อยต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง โดยไม่มีการรบกวนจากรายการ)

(3) สำหรับการแสดงที่เสี่ยงอุบัติเหตุ ต้องมีประกันอุบัติเหตุ ชีวิตให้สำหรับผู้ร่วมรายการ

(4) ทีมงาน/ผู้ผลิตรายการต้องตรวจสอบประวัติของผู้ร่วมรายการ/ผู้แสดงย้อนหลัง (อย่างน้อย 10 ปี) ทั้งประวัติการใช้ความรุนแรง ยาเสพติดอาชญากรรมอื่นๆ หรือสภาวะทางจิตใจ หรือทัศนคติต่อประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางสังคม โดยมีนักจิตวิยาร่วมด้วย

(5) ต้องแน่ใจว่าผู้ร่วมรายการจะไม่มีพฤติกรรมการใช้ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงออกผ่านรายการ

(6) ต้องแน่ใจว่าไม่มีพฤติกรรม/ฉากการแสดงออกที่ลามก อนาจาร หรือแสดงออกในแง่มุมเรื่องเพศสัมพันธ์

(7) รายการต้องไม่บันทึกภาพ ขณะที่ผู้ร่วมรายการทำกิจธุระส่วนตัวใดในห้องน้ำ หรือพื้นที่ส่วนตัว

(8) ต้องแน่ใจว่า การใช้ภาษาในรายการมีความสุภาพ ไม่มีคำหยาบคาย สัปดน หรือการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ ชนชั้น หรือสร้างความอึดอัดใจต่อผู้ร่วมรายการ และต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนและยอมรับร่วมปฏิบัติกับผู้ร่วมรายการและตัวผู้ผลิตรายการเองทั้งสองฝ่าย

(9) รายการต้องไม่เปิดเผยพฤติกรรมที่น่าอายของผู้ร่วมรายการ ความลับ หรือข้อมูลอื่นใดที่ผู้ร่วมรายการไม่ยินยอมเต็มใจ ต้องแน่ใจว่าเมื่อเป็นรายการสด จะไม่มีการขู่ คุกคามด้วยคำถาม หรือแรงกดดันจากเสียงโห่ เสียงเชียร์ หรือการแสดงออกอื่นในอันเป็นการกดดันผู้ร่วมรายการ/ผู้แสดงยินยอมหรือฝืนเปิดเผยข้อมูลนั้น

(10) รายการต้องหยุด และไม่บันทึกเทปออกอากาศ หรือแม้แต่จะบันทึกเอาไว้ในภายหลัง เมื่อผู้ร่วมรายการใช้สิทธิ์ความเป็นส่วนตัวตามที่ร้องขอ รายการต้องหยุดและไม่มีการแอบบันทึกเทป เพื่อนำภาพมาใช้ในภายหลัง

(11) ผู้ผลิตและทีมงานรายการ ต้องประกาศสิทธิ์ หรือรายละเอียดของสัญญาในการถ่ายทำรายการ ระหว่างผู้ผลิตและผู้ร่วมรายการให้ทราบโดยทั่วกันในที่สาธารณะ เช่น ประกาศในเว็บไซต์ หรือแบบฟอร์มเอกสารที่ชัดเจน ให้ทราบทั้งผู้ชม และผู้ร่วมรายการท่านอื่นๆ ที่อาจสนใจเข้าร่วมในรายการ

(12) เมื่อจบรายการหลัก หรือรายการโชว์เรียลลิตี้นั้นๆ สิ้นสุดลง ต้องแน่ใจว่าจะไม่มีรายการต่อเนื่อง จัดรายการเก็บตก รวมรุ่นผู้ร่วมรายการ (reunion) หรือนำผู้ร่วมรายการที่โชว์จบไปแล้ว หรือออกจากรายการไปตามกติกาหลักแล้วกลับเข้ามาใหม่ (เช่น ถูกโหวตออกไปแล้ว แต่มีการโหวตกลับเข้ามาใหม่) ไม่มีรายการสนทนาย้อนหลัง หรือการโฆษณาอื่นใด หรือภาพโฆษณาเพื่อโปรโมทรายการหรือนำภาพผู้ร่วมรายการเก่านั้นมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นใดอีกเป็นอันขาด

(13) ต้องแน่ใจว่าผู้ร่วมรายการจะไม่ถูกใช้ประโยชน์ทางการค้าอื่นใด โดยไม่ยินยอมหรือรับทราบล่วงหน้า ทั้งโดยการเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าที่สนับสนุนรายการ กิจกรรม การประกวด หรือโฆษณาสินค้าและบริการอื่นใดในทางแอบแฝงเข้ากับกิจกรรมการแข่งขัน และการใช้ประโยชน์ทางการค้าอื่นใดจะไม่มีนอกเหนือไปจากในเนื้อหารายการ

(14) การโฆษณาแอบแฝงสินค้าและบริการ ต้องแน่ใจว่าไม่ได้นำไปเชื่อมโยงผูกเข้ากับเรื่องราวชีวิต ประวัติส่วนตัว หรือความสามารถส่วนตัวโดยผู้ร่วมรายการโดยไม่ได้รับความยินยอม

(15) ผู้ร่วมรายการที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ; (ต่ำกว่า 20 ปี)

• ต้องแน่ใจว่าไม่มีการคุกคาม กดดันโดยใช้กลวิธีการการล่อหลอก หรือใช้เด็กและเยาวชนเป็นเครื่องมือ การแสดงบางอย่าง, การตกอยู่ในสภาพแวดล้อมของการแข่งขันที่มีความกดดัน เสี่ยงภัย อันตราย ต้องแน่ใจว่าการกระทำใดๆ ก็ตาม ได้ขออนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครอง

• ในการแสดงหรือดำเนินรายการ ต้องมีผู้ปกครองหรือคนที่เด็กไว้ใจ, ผู้ให้คำปรึกษา การกระทำใดๆ จะต้องถามต่อผู้ปกครองเป็นหลักไม่ใช่เด็กโดยตรง หรือ ผู้ปกครองต้องทราบคำถามหรือแนวทางการแสดง/โชว์ล่วงหน้า

• ต้องแน่ใจว่าการร่วมรายการของเด็ก หรือผู้แสดง รายการจะไม่ใช้ประโยชน์จากความน่าสงสาร ความน่าสมเพช เวทนา โชคชะตาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในการเรียกร้องความเห็นใจ หรือเป็นเครื่องมือในการเรียกความสนใจจากผู้ชม

• ต้องแน่ใจว่าการร่วมรายการของเด็ก ด้วยการแสดงออก หรือการโชว์ใดๆ ก็ตาม เป็นไปตามช่วงอายุและความเหมาะสมกับพัฒนาการการเจริญเติบโตของเด็ก และผ่านการปรึกษาจากจิตแพทย์ที่เป็นอิสระจากการควบคุมหรือชี้นำของผู้ผลิตรายการ

• สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบ, ผู้ผลิตรายการต้องใส่ใจเป็นพิเศษ อีกทั้งงดเว้นการใช้ภาพ คลิป ของเด็กโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

(16) ผู้ผลิตรายการ ต้องแน่ใจว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้ในเนื้อหารายการ (ทั้งเนื้อหาโดยตรงที่แสดง หรือ บริบทแวดล้อมเนื้อหาที่สามารถตีความได้ตามสิ่งที่แสดงออก – substance and context)

• ภาพ เสียง เนื้อหา ภาษาในรายการต้องไม่แสดงถึงความลามก อนาจาร หยาบโลน หยาบคาบ ความน่าละอิดสะเอียน น่ารังเกียจ หรือความไม่เชื่อลบหลู่ต่อศาสนาใด (nudity, obscene, indecency, or profane)

• การแสดงฉากการบาดเจ็บ การตาย เสียชีวิต

• เนื้อหาอคติ เหยียด ตลกล้อเลียน ที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศ ชนชั้น กลุ่มคนชาติพันธ์ต่างๆ หรือประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงทางสังคม

(17) เมื่อมีประเด็นขัดแย้ง หรือมีการร้องเรียน กรณีพิพาท ระหว่างผู้ผลิตรายการ ผู้ร่วมรายการ หรือ ผู้ชมรายการ หรือบุคคลอื่น ให้มีคณะกรรมการอิสระ ที่เป็นกลางทำการพิจารณาข้อพิพาทนั้น

• อาจเรียกคณะกรรมการนี้ว่า “คณะกรรมการอิสระพิจารณาประเด็นด้านจริยธรรมสำหรับผู้ผลิตรายการ”

• ความรับผิดชอบของรายการที่มีต่อผู้ร่วมรายการ จะต้องคุ้มครองทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการเยียวยาอื่นๆ

• การแสดงออกความรับผิดชอบ นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว ยังต้องแสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรมด้วย

(18) ผู้ผลิตรายการโชว์และเรียลลิตี้ มักเน้นนำเสนอประเด็นด้านอารมณ์เพื่อดึงดูดความน่าสนใจจากผู้ชม – อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตต้องแน่ใจว่าจะไม่ทำเกินไปกว่าสิ่งนี้

• ความโหดร้ายทารุณจิตใจ ผู้ร่วมรายการและผู้ชม

• ความเครียด กดดัน ผู้ร่วมรายการจนมากเกินไป

• สิทธิ์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ร่วมรายการ

(19) สำหรับรายการโชว์ประเภทเน้นการตอบคำถาม (quiz) ผู้ผลิตต้องแน่ใจว่า

• มีความยุติธรรมต่อผู้แข่งขันด้วยกัน ที่จะได้รับข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการถ่ายทำอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน

• การแข่งขัน หากสื่อว่าเป็นการแข่งแบบอิสระ โดยผู้ชมที่เป็นทางบ้าน (ไม่ใช่ดารา คนมีชื่อเสียง) ย่อมมีความคาดหวังในกฎกติกาที่เท่าเทียม ยุติธรรม เช่นเดียวกับผู้ชมที่ชมอยู่ทางบ้าน ย่อมคาดหวังผลการแข่งขันที่ไม่ถูกกำหนดหรือแทรกแซงจากผู้ผลิตรายการ

(20) หากเกิดกรณีผิดพลาดใด จะไม่มีข้อแก้ตัวแม้จะอ้างว่าเป็นรายการสด ไม่สามารถควบคุม หรือรู้ล่วงหน้า ผู้ผลิตจะต้องควบคุมและรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นในรายการให้ได้ เพราะถือว่าเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้ผลิตแล้วโดยตรง

“FCC” เขียนแนวปฏิบัติจริยธรรมนี้และใช้มานานในประเทศอเมริกา ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ส่วนมากยินยอม และน้อมรับหลักจริยธรรมนี้ไปใช้เป็นแนวทางการผลิตรายการ ดังนั้นรายการโชว์ เกมโชว์ที่มีมากในประเทศอเมริกา ที่ดังๆ ที่เราคุ้นเคย เช่น America ‘s Got Talent, หรือ “The America Idol” ทำนั้น ล้วนใช้แนวปฏิบัติจริยธรรมนี้ทั้งสิ้น ไม้ได้กลายเป็นว่าแนวคิดจริยธรรมจะกลายเป็นกรอบ หรือ กรงขังความคิดสร้างสรรค์แต่อย่างใด หรือประเทศอังกฤษ สื่อสาธารณะอย่างบีบีซีก็ผลิตรายการคุณภาพดีที่ขายได้ทั่วโลก ภายใต้กรอบคิดเรื่องจริยธรรมความรับผิดชอบทั้งสิ้น

จากนี้กสทช. คงต้องมีแนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ ข้อบังคับทางจริยธรรมที่กำกับ ควบคุมดูแลผู้ประกอบกิจการ ซึ่งต้องถูกเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และยอมรับร่วมกัน จะได้ใช้เป็นกรอบอ้างอิงให้ผู้ผลิตรายการได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติตาม เพื่อที่ว่าต่อไปในอนาคตเมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก เราจะได้ไม่หวังพึ่งพิงผู้ผลิตรายการ ว่าจะ “ใช้วิจารณญาณส่วนตัว” หรือบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้ตั้งใจ

จริยธรรม คือ สิ่งที่ผู้ผลิตรายการใช้ยึดถือเป็นแนวทางการทำงาน คือสิ่งที่เป็นหลักยืนยันการเป็นสื่อมวลชน จริยธรรมเป็นเครื่องการันตีถึงผลงานที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ ไม่ใช่กรอบ ข้อจำกัด หรือกรงขังทางความคิด

“ไม่มีงานผลิตใดที่เรียกว่าสร้างสรรค์ได้ หากมันไร้ซึ่งความรับผิดชอบทางจริยธรรมต่อสังคม”

 

******************

 

หมายเหตุบทความ : บทความนี้ อ้างอิงบรรยากาศหลักจากงานเสวนาเพื่อเพื่อการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 1 เรื่อง “จรรยาบรรณในการผลิตและเผยแพร่รายการเกมโชว์ และเรียลลิตี้โชว์”  ที่จัดโดยคณะกรรมการ กสทช. วันที่ 11 กรกฎาคม 2555

กสทช.นี้เป็นองค์กรกลางอิสระที่ทำหน้าที่ออกกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่ใช้กำกับดูแลผู้ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทย เรียกองค์กรแบบนี้ว่า “regulator”

ความตั้งใจของเวทีนี้ คือการหาจุดตกลงกลางที่เป็น “กรอบจริยธรรม หรือ จรรยาบรรณ หรือ แนวปฏิบัติ” ที่จะใช้กำกับดูแลการหรือเป็นกรอบอ้างอิง มาตรฐานการผลิตรายการโทรทัศน์ในบ้านเราให้มีคุณภาพและมาตรฐาน

 

/////////////////////////////////////////////

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 03 มิถุนายน 2556

โดย...ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)/ไทยพีบีเอส/https://www.facebook.com/time.chuastapanasiri