ผู้นำไทยสอนสื่อโลก ต้องเป็นกลาง

ผู้นำไทยสอนสื่อโลก ต้องเป็นกลาง"ลองยืนในรองเท้าคนอื่นบ้าง"


“อย่างไรก็ตาม เสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบ สามารถสร้างความสับสน การเข้าใจผิด และหรือความวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ เสรีภาพของสื่อมวลชนจึงไม่ใช่จะไม่มีข้อจำกัด แม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว”

เมื่อวันที่  4 มิ.ย. 56 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาในการประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลก เป็นคำกล่าวท่ามกลางบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกที่มาประชุมร่วมกัน

เป็นคำกล่าวของผู้นำไทยที่กำลังเผชิญปัญหากับสื่อมวลชนในประเทศไทย  โดยเฉพาะกรณี ชัย ราชวัตร การ์ตูนนิส์ที่นายกฯฟ้องหมิ่นประมาท แม้แต่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ ออกมาติงนายกฯกำลังก้าวพลาดครั้งสำคัญ

บทปาฐกถานายกฯครั้งนี้ จึงสะท้อนมุมมองความคิดที่มีต่อการการทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ได้อย่างดี โพสต์ทูเดย์จึงสรุปเสนอ ดังนี้

ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรากำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างความเชื่อมโยงเป็นจริง ซึ่งมีหลากหลายมิติที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันได้   การเชื่องโยงระหว่างประชาชนต่อประชาชน เอเชียนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเมือง แนวคิดทางเศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิต ในความหลากหลายอาจมีความแข็งแกร่ง แต่ขณะเดียวกันก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าได้

เราจำเป็นต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชน องค์กร ชุมชน และสังคม การศึกษาเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานร่วมกัน และความร่วมมือทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“ดิฉันจึงเชื่อว่าทุกท่านในที่ประชุมแห่งนี้มีบทบาทที่สำคัญที่ทำให้สิ่งที่กล่าวถึงเป็นจริง บทบาทของสื่อ และสื่อสารมวลชนไม่เคยมีความสำคัญไปกว่าในปัจจุบัน สำนักพิมพ์ ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ และนักโฆษณา คือคนกลางหลักในการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และข่าวสารในรูปแบบต่างๆ”

ความรับผิดชอบและเสรีภาพของสื่อสารมวลชนช่วยทำให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูล และสาธารณชนที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อความเข้าใจในมุมมองซึ่งกันและกัน

มีคำกล่าวทั่วไปที่ว่า “ลองยืนในรองเท้าของคนอื่น” ซึ่งในสำนวนไทยคือ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา”  ดิฉันเชื่อว่า ในก้นบึ้งของหัวใจ มนุษย์นั้นมีจิตใจที่งดงาม ดังนั้นการเข้าอกเข้าใจกันนั้นไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ยังจะทำให้มนุษย์ทุกคนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบ สามารถสร้างความสับสน การเข้าใจผิด และหรือความวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ เสรีภาพของสื่อมวลชนจึงไม่ใช่จะไม่มีข้อจำกัด แม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณชน  ความสงบเรียบร้อย  สิทธิส่วนบุคคล และแม้แต่ความมั่นคงของชาติด้วย นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องตระหนักเสมอด้วยว่า ยังมีบุคคลที่สามที่ต้องการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

ดังนั้น ความรับผิดชอบของสื่อและสื่อสารมวลชนบนพื้นฐานของมาตรฐานของความเป็นมืออาชีพและสามัญสำนึกที่สูงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ดั่งคำสอนของศาสนาพุทธที่ให้ดำรงอยู่บนทางสายกลาง จึงต้องมีความสมดุลระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน สำหรับดิฉันเชื่อเสมอว่าสื่อและสื่อสารมวลชนจะต้องเป็นผู้หาจุดสมดุลนี้ด้วยตนเอง

ประเด็นดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปิดพรมแดนใหม่ของสื่อมวลชนในโลกไซเบอร์ สื่อสิ่งพิมพ์ปัจจุบันใช้ประโยชน์จากโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้นมาก แม้ช่องทางนี้มีทั้งศักยภาพที่นำไปใช้อย่างถูกต้องและไม่ถูกต้องเช่นกัน โดยที่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง สามารถแพร่ขยายสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็เป็นการยากที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในระหว่างผู้ที่เป็นบรรณาธิการ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลและข่าวสารในอินเทอร์เน็ตนั้น สะท้อนความสมดุลระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนอย่างแท้จริง

กล่าวโดยสรุป ดิฉันเชื่อว่า อุตสาหกรรมข่าวสารและการผลิตอยู่ในช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น โดยบทบาทของท่านมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนชาติต่างๆ ด้วยพวกท่านมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้อย่างกว้างขวางรวดเร็วแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

 

*********************

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 04 มิถุนายน 2556

โดย ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ภาพจากเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra