บทเรียนจาก TGT#3 เมื่อเรตติ้งอยู่เหนือมาตรฐานจริยธรรม

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายเพียงชั่วข้ามคืนใน Social Media กับการที่รายการ Thailand Got Talent ซีซั่น3 ออกอากาศการแสดงของบุคคลที่เชื่อกันว่า มีสภาวะผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ ในลักษณะว่า ผู้ร่วมรายการคนดังกล่าวเป็นบุคคลน่ารังเกียจที่สังคมไทยไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง


ประเด็นมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก คือ ทางรายการน่าจะรู้อยู่แล้วว่า ผู้เข้าแข่งขันท่านนี้ มีภาวะผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจที่ไม่สามารถความคุมตนเองได้ แต่ได้ปล่อยให้ผู้ดำเนินรายการ 2 คนและผู้ให้ความเห็นหรือ Commentators อีก 3 คนแสดงกริยาประหนึ่งว่า ผู้เข้าแข่งขันท่านนี้ เป็นบุคคลน่ารังเกียจ

การนำรายการในลักษณะนี้ มาออกอากาศจึงน่าจะเข้าข่ายการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งถือเป็นการละเมิดจริยธรรมในการผลิตรายการทางโทรทัศน์ที่ไม่ควรคำนึงถึงความนิยมหรือ Rating แต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องเคารพในศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกันด้วย

ส่วนประเด็นปัญหาทางกฎหมาย คงต้องไปพิจารณาจากมาตรา 37 แห่งพระบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง…”

โดยหากรายการที่ถูกร้องเรียน ถูกสั่งให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามมาตรานี้  หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการ กสทช.มอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดนพลัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผ่าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ให้ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ซีซั่น 3 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีการนำเสนอเนื้อหาลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1) ขอให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้แสดงที่ใช้ชื่อว่า ‘สิทธัตถะ เอมเมอรัล’เพื่อสร้างความกระจ่างกับสังคมอันจะนำไปสู่การพิจารณาเรื่องความ เหมาะสมในการนำเสนอตามจริยธรรมและจรรยาบรรณ รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ 2) หากพบว่าผู้แสดงคนดังกล่าวมีสุขภาพจิตที่เปราะบางหรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ดำเนินการต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และบริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอนเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตามโทษที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายอย่างสูงสุดและเคร่งครัด พร้อมกับให้ผู้ผลิตรายการตลอดจนสถานีแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยถอดรายการนี้ออกจากผังรายการ เพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตรายการและการออกอากาศรายการที่รัดกุม โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายทางสังคม ตลอดจนการไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า 3) ขอให้เชิญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงมาพิจารณาและดำเนินการ ใช้กลไกการกำกับดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ให้กรณีที่พิสูจน์แล้วว่าผิดจริงตาม กฎข้อบังคับต่าง ๆ และ 4) ขอให้ กสทช. ลงโทษขั้นสูงสุดกับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตาม ม. 37 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของ ประชาชน หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชน

จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มองค์กรด้านเด็กและครอบครัวข้างต้น เน้นให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการเรียกร้องให้สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกลไกการกำกับดูแลกันเองตามที่ระบุไว้ในมาตรา 39 และ 40 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและธรรมชาติของการผลิตและออกอากาศของรายการในลักษณะนี้ ผู้ผลิตรายการย่อมรู้ถึงสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้เข้าแข่งขันได้อย่างดีอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการเขียนบทหรือสคริปต์ให้พิธีกร (หญิงชาย) และ Commentators อีก 3 คนแสดงไปตามบทเช่นเดียวกันร

นั่นก็หมายความว่า Commentators ทั้ง 3 คนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า ผู้เข้าแข่งขันรายนี้ มีสภาพทางจิตใจและอารมณ์อย่างไร แล้วเหตุใดจึงยอมที่จะเลือกแสดงตามบทที่ผู้ผลิตรายการกำหนดมาให้โดยไม่คำนึงถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งเท่ากันเป็นการยอมให้ปัจจัยอื่นๆมาอยู่เหนือมาตรฐานทางจริยธรรมของตนเอง

เมื่อถามว่า กรณีนี้ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ คำตอบคือ “บริษัทผู้ผลิตรายการ” เพราะเป็นผู้ที่รับรู้ขั้นตอนทั้งหมด รวมทั้งน่าจะคาดหมายได้ด้วยว่า เมื่อออกอากาศไปแล้ว จะมีผลกระทบตามอย่างไร แต่ก็เลือกที่จะออกอากาศเพราะเห็นว่าน่าจะเรียก Rating ให้กับรายการไม่น้อย เช่นที่เคยทำในรายการเดียวกันเมื่อปีที่แล้วกับกรณีให้หญิงเปลือยอกวาดภาพ

สุดท้าย ก็ต้องย้อมกลับมาถามเราๆ ท่านๆ ในฐานะผู้บริโภคสื่อ ว่าจะยังเสพหรือให้การสนับสนุนรายการเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะตราบใดที่คนในสังคมยังดูรายการลักษณะนี้อยู่โดยไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนไปกับสิ่งที่ทางรายการได้กระทำต่อผู้ร่วมรายการโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังกล่าว

จริงๆแล้ว เรายังมีรายการประเภทวาไรตี้ หรือรายการบันเทิงเช่นนี้มากมาย หรือแม้กระทั่งรายการข่าวบางรายการที่นำเอาผู้มีภาวะผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจมาออกอากาศในลักษณะที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงเพราะมีความเชื่อว่า จะทำให้ความนิยนมหรือ Rating ของรายการดีขึ้น

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้บริโภคสื่อในประเทศไทยจะลุกขึ้นมาบอกกับบรรดาผู้ผลิตรายการที่เห็นแก่เงินทั้งหลายว่าเราไม่ต้องการรายการลักษณะนี้ โดยการไม่ดูรายการ และไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการที่ซื้อโฆษณาในรายการ

เมื่อถึงวันนั้น เราก็คงจะมีรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ที่ “ผู้ผลิตรายการ” ไม่ “สิ้นคิด” ถึงขั้นที่ต้องเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนด้วยกันมาหากิน...

********************

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ 5 มิถุนายน 2556

โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี www.twitter.com/chavarong chavarong@thairath.co.th

ภาพ : www.facebook.com/thailandsgottalent