กสม.จัดเสวนา ทำข่าวอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม.จัดเวทีสาธารณะ “ทำแผนฯ-แถลงข่าว อย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน”

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. จัดเวทีสาธารณะนำเสนอความคิดเห็นในหัวข้อ "ทำแผนฯ-แถลงข่าว อย่างไรใไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน" โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาเครื่องมือในการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนทางสื่อ แอมแนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย (เอไอ) สื่อมวลชน และนักวิชาการต่างๆ

โดยนพ.แท้จริง ศิริพานิช  กสม.กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า เนื่องจากการเสนอข่าวอาชญากรรมในปัจจุบัน มีการเผยแพร่ภาพผู้ต้องหาในคดีอย่างชัดเจน ทั้งในการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวหรือนำผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และมีการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา เช่นในกรณีฆาตกรรมนายเอกยุทธ อัญชัญบุตรซึ่งการปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องหา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 และหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 ที่ระบุว่าก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ถือว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ทางคณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นว่าควรที่มีการระดมความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้อง

ขณะที่ พ.ต.อ.ชโลธร สิทธิปัญญา พนง.สืบสวนสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ในฐานะผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามกฎหมายให้เป็นดุลพินิจของตำรวจที่จะพิจารณาว่าจะมีการแถลงข่าวหรือควรนำผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพหรือไม่ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงตำรวจก็มีความอึดอัด เพราะเมื่อมีการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวหรือไปทำแผนฯ แต่ในความคิดของผู้บังคับบัญชาก็จะมองว่าการแถลงข่าวส่วนหนึ่งเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของหน่วยงาน กรณีที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการปรามคนที่คิดกระทำผิด ที่เกิดการประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาตำรวจก็จะห้ามปราม และคิดเสมอว่าการแถลงข่าวต้องไม่ใช่เป็นการประจานหรือให้ผู้ต้องหาเผชิญหน้ากับผู้เสียหาย และการนำผู้ต้องหาไปทำแผนฯ หากการทำแผนฯนั้นเป็นไปเพื่อให้ได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมที่สามารถเอาผิดผู้กระทำผิดได้ แต่ถ้าไม่ใช่เป็นการทำเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นต้องทำแผนฯ ก็ได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วว่าแม้จะมีพยานหลักฐานอื่นประกอบว่าจำเลยกระทำผิดและมีการไปชี้ที่เกิดเหตุ แต่จากพยานหลักฐานดังกล่าวก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ดังนั้นจึงไม่ถือว่าการทำแผนฯสามารถเพิ่มน้ำหนักของพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลเอาผิดจำเลยได้เสมอไป ทั้งนี้ก็เห็นว่าไม่อยากให้สังคมมองเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ที่พนักงานสอบสวนต้องเป็นผู้แก้ไข แต่สื่อฯเองก็ควรที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าการนำเสนอภาพการแถลงข่าวหรือการทำแผนฯอย่างไรไม่ให้เป็นการละเมิด เช่นการเบลอหรือไม่ถ่ายภาพผู้ต้องหาเลย

“ส่วนตัวถ้าถามว่าอยากให้ตำรวจทำแผนฯ หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่อยากทำ เพราะเหนื่อย เสียเวลา และยุ่งยาก ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่สั่งการลงมา แต่ผู้บังคับบัญชาก็มองเรื่องการปกป้องสังคม อยากให้สังคมได้ประโยชน์จากกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีการละเมิดบ้าง แต่ถ้าสังคมได้ประโยชน์ก็ไม่น่าจะเสียหายเยอะ เช่นเรื่องสาดน้ำกรด ที่มีเรื่องร้องมาหลาย สน. แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ จนผู้บังคับบัญชาสั่งให้ดำเนินการ ภายใน 2-3 วันก็สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ และมีการแถลงข่าวเพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงภัยสังคมที่เกิดขึ้น จึงคิดว่าทุกอย่างต้องอยู่ในทางสายกลาง อย่าไปสุดโต่ง หากมองแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว คดีสวัสดิภาพเด็กและสตรี แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าถามว่าตำรวจอยากทำตามที่นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ก็อยากทำให้ได้ เพราะไม่มีตำรวจคนใดอยากเสี่ยงคุก เสี่ยงตะราง” พ.ต.อ.ชโลธร กล่าว

ด้าน นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการ เอไอ กล่าวว่า ถ้ามีการรับสารภาพของจำเลยต่อหน้าพนักงานสอบสวนและทนายความของจำเลยก็น่าจะเป็นหลักฐานเพียงพอที่น่ารับฟังได้ไม่น้อยไปกว่าการนำผู้ต้องไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งการจัดทำแผนฯ ควรทำในเฉพาะกรณีที่เชื่อว่าจะสามารถทำให้ได้พยานหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนการนำผู้กระทำผิดมาแถลงข่าวก็ไม่ควรที่จะนำเสนอถึงวิธีการของการกระทำความผิด แต่ควรมุ่งถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้กระทำผิดก่ออาชญากรรมเพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่สังคม เพราะถ้านำเสนอเรื่องวิธีการมาก อาจทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ โดยการนำเสนอข่าวอาชญากรรมในปัจจุบันของสื่อ ต้องยอมรับว่าเหมือนเป็นการสะท้อนว่าสังคมไทยยอมรับต่อการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา และการเผยแพร่ภาพการประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาก็เหมือนสังคมยอมรับว่าการแก้แค้นของผู้เสียหายสามารถทำได้ ทั้งๆ ที่เราปกครองโดยหลักนิติรัฐ การที่รัฐสร้างกลไกของระบบยุติธรรมขึ้นมาเพื่อจัดการกับผู้กระทำความผิด ก็เท่ากับว่ารัฐและสังคมต้องไม่สังคมให้เกิดการแก้แค้นหรือตอบโต้เหยื่อ หลักสิทธิมนุษยชนเป็นกฎหมายที่ลึกซึ้ง และทำได้ยากในทางปฏิบัติ จะเห็นได้ว่าการนำเสนอข่าวในปัจจุบันโดยเฉพาะข่าวอาชญากรรม ผู้ต้องหาในคดีมักจะถูกสังคมตัดสินว่ามีความผิด สื่อฯมักจะนำเสนอว่าผู้ต้องหามีความผิดแล้ว ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงอยากให้สื่อฯและสังคมไทยให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปกครองแบบนิติรัฐได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ขณะที่นายสุมิตรชัย หัตถสาร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กระบวนการดำเนินคดีอาชญากรรมในปัจจุบัน พบว่าสื่อฯและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ละเลยต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมาก มีการมองผู้ที่กระทำผิดเป็นเสมือนวัตถุอย่างหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการจัดแถลงข่าวหรือทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และถ้าตามกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้กระทำความผิดได้เพียง 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นต้องนำไปฝากขังต่อศาล ดังนั้น ถ้าพ้นระยะเวลาดังกล่าว การจะนำผู้ต้องมาแถลงข่าวหรือทำแผนฯ ย่อมไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่ต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ ถ้าเรายึดว่าบ้านเมืองปกครองโดยหลักนิติธรรม ดังนั้น เมื่อกฎหมายไม่ให้อำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่อาจกระทำได้ การจะมาอ้างประโยชน์สาธารณะป้องปราม เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ควรที่จะเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน นอกจากนี้ ยังเห็นว่าสื่อฯ ควรจะเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา โดยในการแถลงข่าวจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือการทำแผนฯ  สื่อฯควรจะถามผู้ต้องหาว่าเต็มใจหรือยินยอมที่จะแถลงข่าวและถูกเผยแพร่ข้อมูลออกไปหรือไม่ หากไม่ยินยอมก็ต้องยุติการแถลงข่าวและการเผยแพร่ แต่ในความเป็นจริงทั้งสื่อฯและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่างทำเกินอำนาจและกฎหมายที่กำหนดไว้ หากต่อไปผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเกิดชนะคดี แต่สังคมก็จะมองว่าเป็นคนผิด เพราะจากการเผยแพร่ข่าวสารที่ออกมานั้น