"4 องค์กรสื่อ พร้อมด้วย ทีดีอาร์ไอ-ไทยพีบีเอส" จี้ กสทช. ถอนฟ้อง "เดือนเด่น-ณัฎฐา" กรณี กทค. ฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการและสื่อมวลชน ระบุพ้นยุคการปิดปากสื่อ ปิดกั้นความคิดนักวิชาการ ที่สำคัญปิดหูปิดตาประชาชน ยืนยันเสรีภาพในการทำงานของสื่อ เรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิและประโยชน์ของประชาชน
5 ก.ย.2556 ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการแถลงข่าวเรื่อง “กรณี กทค. ฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการและสื่อมวลชน” เพื่อแสดงจุดยืนขององค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากกรณีที่กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จำนวน 4 คน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายฐากร ตัณฑ-สิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยื่นฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ และ น.ส.ณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในข้อหาหมิ่นประมาท
ทั้งนี้ การฟ้องร้องดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีที่ ดร.เดือนเด่น ได้นำผลการวิจัยของสถาบันอนาคตประเทศไทย ซึ่งมีการประเมิณความเสียหายค่าเสียโอกาส จากกรณีที่ กสทช. ออกมาตรการขยายเวลาคืนคลื่น 1800 MHz ที่จะสิ้นอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันยังเป็น 2G ออกไปอีก 1 ปี แทนที่จะนำไปประมูลเป็น 4G ว่าอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท ในรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” ที่ น.ส.ณัฎฐา เป็นผู้ดำเนินรายการ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงเหตุผลที่มีการจัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ว่า 1.เพราะเราเห็นว่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ ไม่ใช่ประเด็นส่วนตัว เพราะการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ หาก กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ ที่พึงทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ เห็นว่าความเห็นของนักวิชาการไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นหรือให้ข้อมูลโต้แย้งหักล้างกันได้ แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกเชื่อฝ่ายใด
“การโต้แย้งทางวิชาการที่ผ่านมามีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างสร้างสรรค์ นั่นคือต้องมีบรรยากาศที่เสมอภาคกัน ไม่ว่าจะรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่ สามารถโต้แย้งกันได้บนพื้นฐานเดียวกัน ที่สำคัญจะไม่มีการข่มขู่กันไม่ว่าด้วยประการใดๆ รวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งแน่นอนว่านักวิชาการเมื่อแสดงความเห็นต่อสาธารณะก็ย่อมถูกตรวจสอบด้วย เช่นเดียวกับที่ผมและ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเห็นต่างกันในหลายประเทศ ผมกับ ดร.วรเจตน์ ก็ไปโต้แย้งกันในหลายเวที เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่มีการอาฆาตมาดร้ายหรือจงเกลียดจงชังกันแต่อย่างใด เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะมีทางออกที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ เช่น หาก กสทช.เห็นว่าข้อมูลที่นักวิชาการท่านนั้นให้ไม่ตรงกับความจริง ก็สามารถให้ข้อมูลโต้แย้งได้ หรือจัดเวทีสาธารณะร่วมกัน แล้วซักกันในเวทีนั้นๆ” ดร.สมเกียรติ กล่าว
2.การพูดถึงความเสียหายกรณีที่ กสทช.ไม่ได้นำคลื่น 1800 MHz ที่สิ้นอายุสัมปทานไปประมูล ดร.เดือนเด่น ก็พูดถึงที่มาที่ไปในการคิดไว้ชัดเจน เพื่อสื่อสารให้ กสทช.เห็นว่านโยบายใดๆ มีทั้งประโยชน์และต้นทุนซึ่งต้องนำมาชั่งน้ำหนักกัน ที่ผ่านมา กสทช.อาจจะยังไม่ได้พิจารณาถึงมูลค่าคลื่นที่จะนำไปใช้เป็น 4G แต่ทุกวันนี้ถูกนำไปใช้เป็น 2G ตนจึงเห็นว่าประเด็นนี้ กสทช.ควรที่จะรับฟัง
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า มีคำถาม 10 ข้อ ขอฝากไปยัง กทค. อยากให้ช่วยตอบคือ 1.กทค.ทราบหรือไม่ว่าสัมปทานคลื่น 1800 MHz ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (ทรูมูฟ) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.2556 นี้ 2.หากทราบแล้ว กทค.ทราบหรือไม่ว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องระบุว่าจะต้องนำคลื่นมาประมูล ไม่สามารถนำไปใช้ด้วยวิธีอื่นได้
3.จริงหรือไม่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ.2555 กำหนดให้เอาคลื่นนั้นกลับสู่ กสทช.เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน 4.จริงหรือไม่ที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงาน กสทช. เคยมีความเห็นในกรณีคล้ายๆ กันว่า คลื่นที่หมดสัมปทานจะต่อเวลาไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักกฎหมายอื่นๆ 5.การที่ กทค.ไม่ทำตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ.2555 โดยออกมาตรการขยายเวลาคืนคลื่น ที่นักกฎหมายจำนวนมากเห็นว่าน่าจะขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ ได้ปรึกษากับหน่วยงานภาคนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ หรือเชื่อเอาเองว่าการดำเนินการดังกล่าวถูกกฎหมาย
6.กทค.ได้แจ้งกับผู้บริโภคล่วงหน้าหรือไม่ว่าสัมปทานของทรูมูฟและดีพีซีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย.2556 นี้ 7.กทค.ให้ทั้งทรูมูฟและดีพีซีจำหน่ายแพ็คเกจต่างๆ เกินอายุสัมปทานหรือไม่ 8.กทค.ปรับปรุงให้การโอนย้ายเลขหมายของผู้บริโภคทำได้สะดวกมากขึ้นหรือไม่ เช่นอาจจะสามารถโอนย้ายได้ 1 แสนถึง 1 ล้านหมายเลขต่อวัน 9.ได้จ้างที่ปรึกษามาตีราคาประมูลคลื่น 1800 MHz และออกแบบประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี 2555 หรือไม่ และ 10.ในเวลาที่มีอยู่ 420 วัน นับแต่ประกาศแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ.2555 กระทั่งออกประกาศเยียวยา 1800 MHz หากทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เวลาดังกล่าวเพียงพอหรือไม่
ร.ศ.ดร.มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานกรรมการนโยบายสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มาตรา 43 ระบุไว้ชัดเจนว่า ประเด็นใดก็ตามที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ เป็นหน้าที่ของสื่อที่จะปกป้องและยึดถือกับประชาชนอย่างทั่วถึง และไม่ใช่แค่สื่อสาธารณะ เพราะหน้าที่ของไทยพีบีเอส คือ ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนได้รับข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อประโยชน์และสิทธิที่ประชาชนพึงได้ของทุกกลุ่ม ส่วนกสทช.ฟ้องร้องในคดีนี้เป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้ เพราะไทยพีบีเอส เกิดขึ้นมาจากประชาชน มีหน้าที่นำเสนอเรื่องที่คลุมเครือ และถ้าฝ่ายตรงข้ามต้องการชี้แจง ไทยพีบีเอสก็เปิดพื้นที่ให้อยู่แล้วอย่างเคร่งครัดของกรรมการนโยบาย คือ ต้องนุ่มลึก รอบด้าน เสมอภาค และสมดุล หากมีอะไร ฝ่ายข่าวหรือฝ่ายเกี่ยวข้อง ก็พร้อมสนองตอบทันที ดังนั้นถ้ามีใครติดใจสิ่งที่ไทยพีบีเอสนำเสนอ สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อขอชี้แจงได้ทันที
“ไทยพีบีเอสเกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่ควรจะใช้วิธีข่มขู่ให้พวกเราเกิดความเกรงกลัว หรือหวั่นเกรงในการแสดงออก เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ กรณีคลื่น 1800 MHz สิ่งที่เรารายงานออกไปก็ไม่มีฟีดแบ๊คว่ารายงานผิดพลาดหรือหมิ่นประมาทใคร ทางที่ดี กสทช.ควรหาโอกาสมาชี้แจงสิ่งที่ประชาชนสงสัยว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรมากกว่า” ผศ.ดร.มาลีกล่าว
“บนความเป็นองค์กรอิสระ และอยากให้ทุกองค์กรตระหนักและเข้าใจในหน้าที่ เพราะองค์กรปกติอาจอ่อนแอ ทำมานาน แต่องค์กรอิสระเกิดมาเพื่อประโยชน์ประชาชนแท้จริง แต่ต้องไม่ใช่การใช้วิธีการข่มขู่เพื่อให้ประชาชนเกรง หรือ กลัวต่อการนำเสนอขอ้มูลข่าวสาร” ประธานกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส ระบุ
ด้านนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า พอได้ข่าวก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับยุคนี้ โดยเนื้อหาสาระในการฟ้องก็ยังงงๆ ว่า ฟ้องข้อหาอะไร จะบอกว่ากล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่นก็ไม่ใช่ ประเด็นก็น่าจะเป็นเรื่องการคาดคะเนว่าจะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ 1.6 ล้านบาท จริงๆ ก็ฟ้องได้ แต่น่าจะเป็นมาตรการสุดท้าย เพราะสื่อคือเวทีในการนำเสนอความเห็น สิ่งที่ประชาชนพึงรู้พึงทราบ โดยไม่ตัดสินใจว่านี่ถูกหรือผิด ถ้าเห็นว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอไม่ถูกต้อง สามารถชี้แจง แถลง ตอบโต้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและพึงกระทำ
“การฟ้องน่าจะเป็นมาตรการสุดท้าย ที่สำคัญการเป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์มหาศาลของประชาชน แน่นอนว่าต้องถูกสปอตไลท์ส่อง ถูกจับตามอง เป็นที่สนใจ ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งผิดปกติประการใด คนที่มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ประเทศชาติต้องเปิดกว้างและมีความอดทนอดกลั้นมากกว่านี้” นายวิสุทธิ์ กล่าวและว่า ถามว่าการฟ้องครั้งนี้เป็นการขู่ไหม ในคำฟ้องเขียนว่า รายการดังกล่าวออกอากาศไปทั่วราชอาณาจักร โจทก์อาจฟ้องได้ทั่วราชอาณาจักร ในทุกตำบลทุกอำเภอได้ ผมจึงอยากให้โจทก์ตัดสินใจใหม่ น่าจะถอนฟ้อง และถ้าติดใจอยากนำเสนอข้อมูล พร้อมว่าสื่อเปิดกว้าง เราพร้อมเปิดเวทีให้ มันพ้นยุคการปิดปากสื่อ ปิดกั้นความคิดนักวิชาการ และที่สำคัญปิดหูปิดตาประชาชน
“ต้องเปิดกว้าง เปิดหูเปิดตามากกว่านี้ ในฐานะที่คุณได้รับการเลือกเข้ามาดูแลผลประโยชน์ประเทศชาติ” นายวิสุทธิ์กล่าว
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า พอเห็นข่าวก็ประหลาดใจ เพราะ กสทช.ถือเป็นบุคคลสาธารณะ การฟ้องร้องเหมือนย้อนยุคไปยังยุคหิน ฟลินต์สโตน ที่ใช้อำนาจข่มขู่การทำหน้าที่ของสื่อ และที่คำฟ้องบรรยายไว้ว่าจะฟ้องทั่วราชอาณาจักรได้ ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะคดีที่มีมูลเดียวกันสามารถฟ้องได้เพียงคดีเดียวเท่านั้น ดีที่สุด กสทช.ควรจะถอนฟ้องแล้วมานั่งพูดคุยกัน
ขณะที่ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า กรรมเป็นเครื่องบอกเจตนา การฟ้องสามารถทำได้ แต่ถ้าดูบริบทไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่าไม่ใช่การข่มขู่ กสทช.เป็นหน่วยงานสำคัญมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นแสนล้าน ก็เป็นเรื่องปกติที่จะถูกตรวจสอบ ตนจึงค่อนข้างแปลกใจว่าเหตุใดถึงมาฟ้องในคดีนี้ จึงอยากให้จับตาสถานการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง นี่คือสัญญาเตือนและไม่ใช่แค่เรื่องของคน 2 คนถูกฟ้อง ถ้าคนที่อาสามารักษาประโยชน์ประเทศชาติมีทัศนคติแบบนี้ ก็เป็นหน้าที่ของสื่อจะต้องมองสถานการณ์นี้ให้ละเอียดและก้าวย่างอย่างรู้ทัน
“ดูจากข่าวที่ออกมา ไปดูย้อนหลัง ยังมองไม่ออกว่ามันสร้างความเสียหาย หรือเป็นข้อมูลเลื่อนลอยตรงไหน ซึ่งหากเห็นไม่ตรง ก็สามารถมาชี้แจงได้ และที่ผ่านมาเห็นคนใน กสทช.ก็ออกมาชี้แจงเสนอๆ แต่กรณีนี้ทำไมใช้วิธีการฟ้องร้อง” นายก่อเขตกล่าว
นายก่อเขต กล่าวว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับกลยุทธ์ที่ทำให้สื่อซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบต้องเผชิญหน้ากับความชะงักงัน สิ่งที่เรามาเรียกร้องเรื่องเสรีภาพในการทำงานของสื่อ ไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเอง แต่เราเรียกร้อง แหกปาก ตะโกน และพูดอยู่เรื่อยๆ เพื่อปกป้องสิทธิและประโยชน์ของประชาชน
นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญของสังคมเกี่ยวกับบรรยากาศการใช้เสรีภาพ ซึ่งวันนี้ทุกฝ่ายได้แสดงจุดยืน เริ่มจาก ผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 คน ทั้งนี้ สังคมมอบหมายให้ กสทช.จัดสรรคลื่นฯ เพื่อประโชน์และเป็นธรรม แต่เท่าที่ติดตามทั้งหมด มีสัญญาณหลายอย่างน่ากลัว คือ กำลังต่อสู้กับระเบียบประกาศรายการเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ ไม่น่าเชื่อว่า กสทช.เป็นองค์กรที่ปฏิรูปสื่อ มีความคิดย้อนยุค ทำร้ายเสรีภาพสื่อ และกรณีนี้ใช้กฎหมายข่มขู่ และทำลายเสรีภาพทางวิชาการ สุดท้ายองค์กรที่น่ากลัว และท้าทายสื่อมากสุด คือ กสทช. ที่สื่อต้องจับตามอง