“มติชนทีวี” สัมภาษณ์ “ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” ที่ปรึกษาสถาบันอิศรา ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวฯ

(ที่มา www.matichon.co.th)

สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว มติชนทีวี

จากกรณีเว็บไซต์พระนครสาส์นเปิดเผยข้อมูล "มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนฯ" ต้นสังกัด "สำนักข่าวอิศรา" ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มียอดรวมเกือบร้อยล้านใน 8 ปี

"มติชนทีวี" สัมภาษณ์ "ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี" ที่ปรึกษาสถาบันอิศรา ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวฯ หนึ่งในผู้ที่รับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก สสส. โดยรับผิดชอบ 9 โครงการ จาก 14 โครงการ ขณะที่อีก 5 โครงการตามที่ปรากฏในเว็บไซต์พระนครสาส์น เป็นความรับผิดชอบของ "ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" ผอ.สถาบันอิศรา

 

{youtube}lqPCVyIAgqQ{/youtube}

 

-สำนักข่าวอิศรา สถาบันอิศรา สมาคมนักข่าว มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชน และ สสส. มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

เดิมสมาคมนักข่าวตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2498 มีภารกิจหลักๆ 2 เรื่อง คือ 1) ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ในยุคทหารเผด็จการ 2) สมัยก่อนหนังสือพิมพ์ มีค่าตอบแทนต่ำ บางทีมีปัญหานายทุนก็ยก staff ออก สมาคมก็ช่วยเหลือจุนเจือ โดยการดูแลและสวัสดิการ เริ่มเป็นเรื่องเป็นราวในสมัย ป้าวิภา สุขกิจ ประมาณปี 2520 กว่าๆ

ต่อมาภารกิจที่ 3) เพิ่มขึ้นมาเกี่ยวกับสถาบันอิศรา คือฝึกอบรม ให้ความรู้วิชาการนักข่าว โดยเริ่มจากปี 2536 มีเรื่อง การจำกัดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ จึงเริ่มมีการปฏิรูป เพราะหลังเหตุการณ์ “พฤษภา35” สังคมมีความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารเยอะ มีคนเข้าสู่วิชาชีพมากขึ้น มีการตั้งคำถามคุณภาพนักข่าว

กรรมการสมาคมนักข่าวสมัยนั้น รวมผมก็เป็นกรรมการตั้งแต่อายุ 28-29 ก็คุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เป็นกรรมการ มีแนวคิดริเริ่มงานอบรมให้ความรู้นักข่าว

เมื่อมีงานอบรมมีมากขึ้น ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภารกิจเยอะขึ้น มาถึงปี 2547 ก็คุยกันว่าน่าจะมีหน่วยงานมาทำหน้าที่ฝึกอบรมโดยเฉพาะ ประกอบกับตอนนั้น ก็มีการเกิดขึ้นของสภาการหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวกับสภาการหนังสือพิมพ์ จึงร่วมกันตั้ง “สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย” ขึ้นมาทำหน้าที่เรื่องการอบรม (ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันอิศรา)

ปีถัดๆ มา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ รวมกันแล้ว คิดว่า สมาคมน่าจะมีบทบาทเรื่องปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ จึงตั้งเป็น “ศูนย์ข่าวอิศรา” เน้นให้เกิดสันติภาพ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้เน้นความรุนแรงรายวัน เช่น ยิง ฆ่า เผา แต่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร ควรแก้ไขอย่างไร และพยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้มีแต่มิติความรุนแรง แต่มีมิติอื่นที่อยู่ร่วมกันได้ ทางสมาคมก็ทำโครงการนี้ขึ้นมา แต่ปัญหาคือ กรรมการสมาคมเปลี่ยนแปลงทุกปี มีการเลือกตั้งทุกปี พอกรรมการชุดใหม่มาก็เป็นข้อจำกัดเรื่องความต่อเนื่องในการทำงาน และศูนย์ข่าวอิศรา อาจจะเป็นภาระสำหรับกรรมการบางชุด เพราะต้องใช้งบประมาณ ซึ่งในยุคนั้น ก็ยังไม่ได้มีงบประมาณจาก สสส.

กรรมการสมาคมยุคต่อมา หลังเริ่มศูนย์ข่าวอิศราไป 2-3 ปี จึงคุยกันว่า น่าจะเอาภารกิจศูนย์ข่าวอิศรา มาไว้กับ “สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย” ซึ่งสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันอิศรา เพื่อเป็นเกียรติกับนายกสมาคมคนแรก คือ คุณอิศรา อมันตกุล โดย "ศูนย์ข่าวอิศรา" รายงานข่าวภาคใต้ อยู่ภายใต้ "สถาบันอิศรา" โดยให้สื่ออื่นๆ นำข่าวจากศูนย์ข่าวอิศราไปใช้ได้

 

สำหรับช่วงปี 2551 ที่ผมได้รับผิดชอบงบประมาณ จาก สสส. เป็นโครงการแรก ขณะนั้นมีตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา

 

-เกี่ยวข้องกับ สสส. ได้อย่างไร

สถาบันอิศรา ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก สสส. โดยผ่านมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยเพราะมูลนิธิเป็นนิติบุคคล แต่ผู้บริหารงบ คือ สถาบันอิศรา

ภารกิจของ "สถาบันอิศรา" หรือชื่อเดิม "สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย" คือ ฝึกอบรมให้ความรู้สร้างองค์ความรู้ให้วงการวิชาชีพสื่อและให้ความร่วมมือสถาบันวิชาการ ซึ่งจะไม่ทำซ้ำกับองค์กรแม่ คือ สมาคมนักข่าว กับสภาการหนังสือพิมพ์ ถ้า 2 องค์กรนี้ทำอะไรอยู่แล้ว สถาบันอิศราก็จะไม่ไปทำซ้ำ เช่น สถาบันอิศรามีการอบรมข่าวเชิงสืบสวน ส่วนการอบรมนักข่าวใหม่ ทางสมาคมก็ทำต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ก็มีความยากลำบากเรื่องการหาทุน ต้องไปขอทุนภาคเอกชน ซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะเรามีข้อจำกัดว่า หากเอกชนสนับสนุนต้องไม่มีเงื่อนไข เช่น จะมากำหนดให้ขึ้นโลโก้แบบไหน หรือทำข่าวตรวจสอบได้หรือไม่ ซึ่งบางที่ก็ไม่อยากให้ทุน

ขณะที่สมาคมนักข่าว ก็มีโครงการ เช่น ให้อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ที่ร่วมโครงการไปอยู่ตามสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้งานข่าวเพื่ออาจารย์ได้ทักษะกลับไปสอน หรือสภาการหนังสือพิมพ์ก็อยากจะทำงานวิจัยทำหนังสือเกี่ยวกับจริยธรรม แต่ก็มีความยากลำบากในเรื่องงบประมาณ ทีนี้ ทุกคนก็ได้คุยกับ สสส. ทาง สสส. เขาก็มีแผน มีนโยบาย ต้องการช่วยพัฒนาสื่อ ปฏิรูปสื่อ ก็เลยคุยกัน เขาก็ขอให้เราพัฒนาโครงการเข้าไปเสนอ ว่ามันจะตรงกับแนวนโยบายของ สสส.ไหม ซึ่งตอนนั้น ก็มองประเด็นว่า ถ้าสื่อมีความเข้มแข็ง สื่อมีความแข็งแรง หรือ ภาษา สสส. คือสุขภาวะที่ดี มีองค์ความรู้ที่ดี มีติดอาวุธทางปัญญา มีความรู้ได้ฝึกอบรมมีองค์ความรู้ใหม่ๆ มันก็น่าจะทำข่าวได้ดีขึ้น

คือ สสส. เขาก็ตีความ แต่ก็ต้องไปถามเขาอีกที คือ เขาบอกว่า การตีความเรื่องสุขภาวะ เขาไม่ได้มองเรื่องเฉพาะสุขภาวะทางร่างกาย ไม่ได้มองเรื่องโรคอย่างเดียว เขามองเรื่องสุขภาวะของสังคมด้วย เราก็เขียนโครงการไปเสนอ เป็นที่มาของโครงการแรก

ซึ่งจริงๆ ยกตัวอย่างงบ 14 ล้าน ไม่ได้เป็นงบประมาณของ สถาบันอิศราอย่างเดียว แล้วก็ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักข่าวอิศราเลย ผมเซ็นในฐานะผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา แต่ไม่ได้เกี่ยวกับสำนักข่าวอิศรา ก็คือ สถาบันอิศรา ทำหน้าที่รวบรวมความต้องการขององค์กรวิชาชีพสื่อเข้ามาไม่ว่าจะเป็นโครงการของสมาคมนักข่าว สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือ ชมรม องค์กร จะทำโครงการอะไร ก็รวบรวมมาเขียนไว้อยู่ในโครงการเดียวกัน แล้วก็เสนอไปที่ สสส.

สสส. ก็เห็นว่า เออ เงินนี้ไม่ได้มาที่สถาบันอิศราที่เดียว แต่ว่ากระจายไปในกลุ่มภาคส่วนต่างๆ เพราะ สสส. ก็บอกว่า การปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่แค่ เรื่องสื่อ แต่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นด้วย ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ นักวิชาการ สื่อท้องถิ่น สื่อชุมชน จึงเป็นที่มา

 

-รับงบจาก สสส. แล้วกระจายไปให้ใครบ้าง

คือ ปัจจุบันมีภาคีที่ได้รับงบประมาณจาก สสส. คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่รับเงินไปบริหารเอง ส่วนสถาบันอิศรา มอนิเตอร์การใช้เงิน นอกจากนั้น ก็มีอาจารย์นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อมวลชนท้องถิ่น ทั้งงานวิจัยและฝึกอบรม

 

-สถาบันอิศรา ได้รับเงินจากแหล่งอื่นหรือไม่

มีเงินจากแหล่งอื่นเยอะมาก เช่น องค์การยูนิเซฟประเทศไทยให้ปีละ 3 ล้าน รับมา 8 ปีแล้ว สนับสนุนอบรมความรู้รายงานข่าวสิทธิเด็ก นอกจากนั้น ก็จะมีองค์กรต่างประเทศ เช่น มูลนิธิเอเชีย มาสนับสนุนเรื่องการรายงานข่าวอาชญากรรมให้ถูกวิธี เพราะ บางทีใช้คำไม่ค่อยถูก เช่น เวลาผู้บาดเจ็บเสียชีวิตระหว่างไปโรงพยาบาล เขาจะใช้คำว่า "ทนพิษบาดแผลไม่ไหว" ซึ่งความจริง ต้องบอกว่า เสียชีวิตเพราะเสียเลือดมาก หรือสาเหตุที่ไม่ใช่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการอบรม

นอกจากนั้น ยังมี ปปช. สนับสนุนเรื่องงบประมาณในการอบรม แต่ผมไม่ทราบรายละเอียด เพราะผมพ้นจากการ เป็นผู้อำนวยการบริหารมาตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2554 ตั้งแต่ตอนมาเป็นนายกสมาคมนักข่าว ผมลาออก เพราะไม่อยากให้มี conflict of interest หลังจากนั้น บอร์ด ก็แต่งตั้ง คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ เป็นผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศราแทน ส่วนเอกชนที่สนับสนุนสถาบันอิศรา เช่น มูลนิธิเอสซีจี, open society foundation.

 

-สำนักข่าวอิศรา จะตรวจสอบ สสส. ได้หรือไม่

ผมว่า ไม่น่าจะยากนะ ก็ทำได้ เพราะ สสส. ก็ไม่เคยบอกว่า ให้งบอิศราไปแล้ว อิศราจะตรวจสอบ สสส. ไม่ได้ ไม่มีในเงื่อนไขว่าให้ทุนแล้วตรวจสอบไม่ได้

 

-สถาบันอิศรา มีจุดยืนเป็นสีใดสีหนึ่งหรือไม่ ต้องเป็นกลางหรือเปล่า

นโยบายชัดเจน ไม่มีสีอยู่แล้ว ตรวจสอบทุกฝ่าย

 

-ถูกมองว่า ตรวจสอบฝ่ายเสื้อแดง หรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนใหญ่

เพื่อความเป็นธรรม ก็ต้องไปดูทั้งหมด ผมเห็นเขาตรวจสอบคุณสุเทพ เทือกสุบรรณอยู่นะ

 

-ตัวเลข 14 โครงการที่ปรากฏในเวบไซต์พระนครสาส์น มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

ต้องมองอย่างนี้ว่า 14 โครงการ มันเป็นงบที่ให้ในช่วง 8 ปี คือ 2551 -2558 รวม 96.47 ล้าน เฉลี่ยเราได้รับทุน ปีละ 12 ล้านเศษๆ เฉพาะจาก สสส. ซึ่งเราก็จะมีทุนอย่างอื่นอีก เช่น ยูนิเซฟ อย่างน้อยปีละ 3 ล้านกว่าบาท ฉะนั้น ปีละ 12 ล้าน ขณะที่งบประมาณของ สสส.ต่อปี 4 พันล้าน จะเห็นได้ว่า งบของเราคิดเป็น 0.3% ของงบ สสส. ทั้งหมด ดังนั้น จะบอกว่า ผูกขาดคงไม่ได้ เพราะว่ามันก็แค่ 0.3% แล้วถ้าไปเทียบกับองค์กรอื่นก็น้อยมาก และ สสส. ก็ให้งบองค์กรสื่ออื่นด้วย เช่น TCIJ เขาก็สนับสนุน

 

-มีทุนสนับสนุนจากพรรคการเมืองหรือไม่

ไม่เกี่ยวเลยไม่เคยยุ่งกับพรรคการเมืองอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเป็นประเพณีปฏิบัติมาเกือบจะ60ปีแม้แต่วันนักข่าวเราก็ไม่เคยเชิญนายกรัฐมนตรีไม่เคยเชิญรัฐมนตรีมาเปิดเพราะเราถือว่าอันนี้เป็นศักดิ์ศรีวิชาชีพของเราไม่ต้องไปพึ่งนักการเมือง

 

-มีพรรคการเมืองเสนอให้หรือไม่

ไม่เอา ไม่เคยมี ส่วนใหญ่พรรคการเมืองก็รู้ ว่าสมาคมนี้ไม่ยุ่งกับการเมือง

 

-มีการประเมินว่าการใช้งบบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ อย่างไร

ต้องถาม สสส. เพราะถ้าถามผมในฐานะคนทำโครงการก็ต้องบอกว่ามีประโยชน์ ถ้าคิดว่าไม่มีประโยชน์ก็คงจะไม่ทำ

 

-ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหลายแหล่ง โดยมีรายจ่ายไปกับหลายโครงการ จะมีการยืนยันความโปร่งใสอย่างไร

แน่นอน งบ สสส. เขาตรวจละเอียดมาก มีผู้สอบบัญชีจากบริษัทที่เขาจ้างมาตรวจโดยเฉพาะ เราเองก็มีฝ่ายบัญชีให้เขาตรวจได้ ใบเสร็จทุกใบต้องอธิบายได้

 

-โครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ที่มีผู้เข้าร่วมหลายภาคส่วนนอกจากสื่อมวลชนมีความคาดหวังให้คนกลุ่มเหล่านี้นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร

มีคนเป็นสื่อ60%ซึ่งเป็นส่วนใหญ่การที่มีภาคส่วนอื่นมาร่วมเพื่อจะได้การเรียนรู้วิธีคิดส่วนการได้คอนเนคชั่นนั้นได้อยู่แล้วเพราะเป็นเพื่อนก็รู้จักกันแต่คุณก็ได้แหล่งข่าวที่หลากหลายขึ้นคุณได้มุมมองที่หลากหลายว่าทำไมตำรวจคิดแบบนี้ผู้พิพากษาคิดแบบนี้ทำไมภาคเอกชนคิดแบบนี้ ทำไมเอ็นจีโอคิดแบบนี้ บางทีเราทำข่าวเราก็คิดว่าทำไมเอ็นจีโอ ต้องป่วน ต้องมีปัญหาอยู่เรื่อย พอเวลามาเรียน ก็คุยกันว่าทำไมต้องคิดแบบนี้ ทำไมต้องไปอยู่หน้ากระทรวงพลังงาน ทำไมต้องต่อต้าน ปตท. ส่วน ปตท. ก็มาเรียน ก็ได้คุยกัน นักข่าวก็ได้เข้าใจความคิดทั้ง 2 ฝ่าย

แล้วเราก็ย้ำว่า มาเรียนรู้จักกัน ใช้ความรู้จักกันเฉพาะในทางสร้างสรรค์ อย่างมีผู้บังคับการตำรวจจราจร เราก็พูดตั้งแต่วันแรก ว่า ไม่ใช่ว่าเป็นเพื่อนกับผู้การจราจรแล้วเวลาโดนใบสั่ง จะเอาไปให้ท่านนะ เพราะการรู้จักกัน ก็ต้องใช้ในทางที่ถูก

หลักสูตรนี้ 18 เดือน ใช้งบประมาณ 5 ล้าน โครงการอบรมนี้ถือว่าประหยัดมาก เพราะเราจะไม่มีไปดูงานต่างประเทศ อย่างมากก็ข้ามไปเวียงจันท์ แต่ดูงานในประเทศเป็นหลัก หน่วยงานราชการที่มาเรียน เช่น ป.ป.ช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลปกครอง กรรมการสิทธิ ก็จะเวียนกันมา

 

-แตกต่างจากการอบรมของสถาบันอื่นอย่างไร

ของเราเน้นเรื่องสื่อเป็นหลักคนที่เข้าอบรมก็เป็นสื่อเป็นหลักแล้วก็ภาคส่วนอื่นๆอย่างละ5คนมีหลักการคือสสส.บอกว่าให้เกิดความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆโดยเฉพาะภาควิชาการกับประชาสังคมตอนที่เราพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา เห็นว่ามีภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

-ทั้งหมด เกือบ 100 ล้าน ใน 8 ปี

ดูแล้วเหมือนเยอะ แต่งบ ก็ไปยังส่วนต่างๆ นอกจากการอบรมก็มีอย่างอื่น เช่น ผู้ที่ขอทุนไปทำข่าว

 

-สำนักข่าวอิศรา จากที่ทำเรื่องภาคใต้ มีจุดเปลี่ยนอย่างไรมาทำข่าวนักการเมือง

ข่าวสืบสวนก็เป็นข่าวหนึ่ง ส่วนโต๊ะข่าวภาคใต้ก็ยังมีอยู่ หรือ ทำข่าวเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ เรื่องทั่วๆไปก็ยังมีอยู่ แล้วสื่ออื่นๆ จะเอาไปใช้ก็ได้ สถาบันอิศรา ไม่ได้มีลิขสิทธิ์

โครงการที่ได้รับอนุมัติ 10 ล้านขึ้นไป จะมีโครงการที่เกี่ยวกับภาคี ทั้งหลาย ไม่ใช่ของสถาบันอิศราเท่านั้น แต่ละโครงการจะมีผู้จัดการโครงการ โดยมีโครงการที่1 (14,452,000 บาท) โครงการที่ 5(19,670,000บาท) โครงการที่ 10 (18,000,000บาท) และ โครงการที่ 13(12,973,000บาท) โดยระยะเวลาของโครงการก็จะใช้เวลาหลายเดือนสำหรับโครงการที่งบเยอะ ถ้าโครงการที่งบน้อยระยะเวลาก็ลดลงมา นอกจากนั้นเป็นโครงการอบรมพัฒนาความรู้ ระดับสูง กลาง ต้น แทรกในโครงการ 1 และแยกมาในโครงการที่2 และอยู่ในโครงการที่ 9 รวมถึง 12 และ 14

 

-มองบทบาท สำนักข่าวอิศรา ในแง่ความเป็นกลางอย่าไร

ต้องพูดให้เคลียร์ก่อนนะ เดี๋ยวจะไม่เป็นธรรมกับ สสส. คือ งบ สสส. ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักข่าวอิศรา ในส่วนที่เป็นข่าวเชิงสืบสวน ส่วนที่ สสส. สนับสนุน ก็คือ ข่าวชุมชน นโยบายสาธารณะ ล่าสุดคือมาช่วยเรื่องโต๊ะข่าวภาคใต้ เพราะเราหาเงินที่อื่นไม่ไหวแล้ว สสส. ก็เห็นว่าเรื่องนี้ก็สอดคล้อง แต่ สสส. ไม่ได้ให้งบ เรื่องข่าวสืบสวนเลย

 

-ใช้งบกับข่าวสืบสวน จากไหน

ในส่วนสืบสวน ได้รับงบจากองค์กรเอกชนอื่น เช่น องค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิต่างประเทศ มูลนิธิในประเทศไทยที่เขาเห็นความสำคัญ ของการสนับสนุน เช่น SCG, Open Society Foundation

 

-เว็บไซต์พระนครสาส์น นำไปตัวเลขงบประมาณ 8 ปี เกือบร้อยล้านไปเผยแพร่ รู้สึกอย่างไร

ผมว่าก็เป็นสิทธิ์ของเขานะ ที่จะสงสัยได้ แต่ว่า เราก็ชี้แจงได้ว่าเงินต่างๆ ไม่ได้เยอะมากมาย ถ้าเทียบกับงานที่เราทำ

ผมไม่รู้สึกอะไร ผมว่าเราทำงาน เราไม่ได้ทำตรงนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โอเคอาจจะมีค่าตอบแทนบ้าง อย่างเช่น คนที่ทำงานประจำ เช่น ผอ. หรือ น้องๆ ที่ทำงานประจำ ก็ต้องได้เงินเดือน มีค่าใช้จ่าย ส่วนเราเป็นที่ปรึกษา มาเป็นครั้งคราวก็ได้แค่ค่ารถบ้าง ค่าประชุมบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้เยอะอะไร 1,000-2,000 ก็ไม่ได้ช่วยให้รวยขึ้นมา ถ้าเราไม่ได้ทำตรงนี้ เราก็มีงานทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า เราคิดว่า สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ กับวงการสื่อ กับการพัฒนา หรือปฏิรูปสื่อ ซึ่ง เราก็รู้ว่ามันมี ปัญหาในหลายๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องคุณภาพการทำงานของคนทำงาน มุมมองของคน คุณภาพของการทำข่าว ปัญหาเรื่องจริยธรรม ปัญหาเรื่ององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับในวิชาชีพวิชาการด้านสื่อ ซึ่งมีน้อยมากในประเทศนี้

ฉะนั้น เราก็คิดว่า สิ่งที่เราทำ จะเป็นส่วนที่ช่วยให้วงการสื่อบ้านเราดีขึ้น นี่คือเจตจำนงการตั้งขึ้นของการตั้งขึ้นของสถาบันอิศรา เราทำเรื่องพวกนี้ขึ้นมาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับวงการสื่อ

เพราะฉะนั้น คนที่ตั้งคำถามก็มีสิทธิตั้งคำถาม แต่ก็อยากให้เข้ามาร่วมอบรมโครงการต่างๆ อยากให้มาเห็น ไม่ใช่เรื่องปกปิดลึกลับ และหลักสูตรอบรมก็ประหยัดมาก แล้วไม่ใช่ใครมีตังค์แล้วจ่ายเงินมาเรียนได้ อย่างภาคเอกชนก็ต้องทำงานสนับสนุนองค์กรวิชาชีพมาระยะเวลาหนึ่ง พอที่เรารู้ว่าเขาไม่มีเจตนาอื่นที่จะมาอาศัยสมาคมไปทำอะไรเขาสนับสนุนเพราะเห็นความสำคัญพัฒนาสื่อฉะนั้น อยากให้การตรวจสอบเน้นประเด็นการพัฒนาสื่อ ถ้ามองว่าตรงไหนไปไม่ถูกทิศถูกทาง ผมก็อยากให้มีฟีดแบคมาในลักษณะนั้นมากกว่า แล้วถ้าสงสัยเรื่องทุจริต ใช้เงินไม่เหมาะ ก็ตรวจสอบได้อยู่แล้ว อธิบายได้ว่าโครงการไม่ได้มาที่สถาบันอิศราอย่างเดียว มีส่วนอื่นๆ ด้วย