บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 26 พ.ค. 2557

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 26 พ.ค. 2557

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือเชิญบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมด 18 ฉบับไปร่วมประชุมเพื่อรับทราบแนวดำเนินงานของคสช. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นรวมถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ด้วยนั้น เพื่อให้ผู้อ่านและผู้มีอุปการคุณได้ทราบและสบายใจว่า ทางกองบรรณาธิการได้ไปมีข้อตกลงหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเสนอข่าวสารอย่างไรหรือไม่ หลังจากการหารือครั้งนี้แล้ว ทางกองบรรณาธิการจึงขอเรียนให้ทราบดังนี้

ผู้แทน คสช. ซึ่งประกอบด้วย พล.ท.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกิจการพลเรือน พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ คสช. และ พล.ต.พลาวุฒิ กลับเจริญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ได้แจ้งให้ทราบว่า คสช.ขอความร่วมมือจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในฐานะคนไทยให้เห็นแก่ประเทศชาติ และหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยให้ความร่วมมือในการรับผิดชอบบ้านเมืองด้วยกัน

คสช.ตระหนักว่าเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นเรื่องสำคัญ ประกาศต่างๆ ที่ออกไปแล้วและมีผลกระทบต่อเสรีภาพและการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน เช่น ประกาศฉบับที่ 18 ซึ่งกำหนดแนวทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 ลักษณะนั้น ขอให้เข้าใจว่าเป็นประกาศตามความจำเป็น ณ สถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งสามารถปรับและคลี่คลายไปตามสถานการณ์ได้

คสช.จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน การดำเนินงานของสื่อหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องของกองบรรณาธิการ เพียงแต่ขอความกรุณาให้ใช้ดุลพินิจว่าจะส่งผลกระทบทำให้เกิดบรรยากาศไม่เรียบร้อยหรือไม่ ถ้ามีความไม่เหมาะสม คสช.จะแจ้งเตือนมาเพื่อทราบ ฯลฯ

สำหรับข้อเสนอของสภาวิชาชีพและองค์กรสื่อ 4 องค์กร 3 ข้อนั้น แม้จะไม่ได้ยื่นต่อ คสช.โดยตรง แต่ คสช.รับทราบแล้ว ข้อหนึ่งซึ่งเรียกร้องให้ทบทวนประกาศที่กระทบต่อเสรีภาพสื่อนั้น อยู่ในขั้นนำเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้บังคับบัญชา ส่วนที่เรียกร้องการมอบให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนั้น คสช.ได้ทำแล้ว

ข้อสอง เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยเร็วนั้น และต้องมีบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนนั้น อยู่ในขั้นตอนและโรดแมปที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว

ข้อสาม ที่ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ และจะร่วมนำประเทศออกจากวิกฤตให้ได้ และจะเปิดพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศในทุกด้านเกิดขึ้นจริงตามเจตจำนงของสังคมนั้น และระบุว่าในสถานการณ์อ่อนไหวเช่นนี้ สื่อมวลชนทุกแขนงต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดนั้น คสช.ขอชื่นชมว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

เมื่อผู้แทน คสช.ได้ขอรับฟังข้อเสนอแนะ เราจึงเสนอว่าแนวทางข้อที่สามในประกาศฉบับที่ 18 ซึ่งกำหนดว่า ขอให้งดเว้นการนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. เจ้าหน้าที่ของ คสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อ คสช. เพราะไม่ว่าจะถูกผิด การได้รับฟังการวิจารณ์โดยสุจริตจะเป็นประโยชน์มากกว่าการปิดกั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้แทน คสช.รับทราบ

เราได้แจ้งต่อผู้แทน คสช. ว่า การห้ามสัมภาษณ์บุคคลหลายประเภทนั้น เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสื่อมวลชน และมีความจำเป็นต้องสัมภาษณ์ เช่น สัมภาษณ์ผู้รู้ในทางเศรษฐกิจหรือสาขาอาชีพต่างๆ ว่า จะปรับตัวอย่างไร เตรียมการอย่างไร ฯลฯ ฉะนั้นเรายืนยันว่า เราจะทำหน้าที่เช่นนี้ต่อไป แต่ถ้าหาก คสช.เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ให้แจ้งมา

เราได้แจ้งต่อผู้แทน คสช. ว่า เราจะทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมและแนวปฏิบัติของวิชาชีพ หากมีปัญหาอุปสรรคก็จะทำความเข้าใจกันต่อไป

กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ขอเรียนต่อท่านผู้อ่านและผู้มีอุปการคุณว่า เราจะทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมและแนวปฏิบัติแห่งวิชาชีพเยี่ยงที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าด้วยแนวทางนี้จะไม่ทำให้สิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเรา และเราจะซื่อตรงต่อความไว้วางใจที่ท่านทั้งหลายได้มอบให้เราเป็นปากเป็นเสียงแทนตลอดมา

จึงขอเรียนข้อมูลทั้งหมดนี้มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน