สมาคมนักข่าวฯ ห่วง คสช.97ปิดกั้นสิทธิปชช.รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร
นายกสมาคมนักข่าวฯ แสดงความเป็นห่วง ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 อาจส่งผลกระทบสิทธิการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน โดยเฉพาะการให้อำนาจบุคคลระงับการจำหน่าย จ่ายแจก เผยแพร่สิ่งพิมพ์ หยุดการออกอากาศรายการ ย้ำกฎหมายที่มีอยู่เพียงพอในการกำกับ ดูแล เตรียมระดมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ภาคส่วนต่างๆ หาทางออก
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จากการหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อในเบื้องต้นได้แสดงความกังวล ห่วงใย ต่อเนื้อหาในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97 (คสช. 97) เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฎิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน และเกิดความสับสนและอาจ ไม่เข้าใจในวิธีการทำงาน และนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน
นายประดิษฐ์กล่าวว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ถือเป็นภารกิจเช่นกันในการคืนความสุขให้กับประชาชน ที่ไม่ตอกย้ำ หรือสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นในสังคม ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนโดยส่วนใหญ่ก็ได้ใช้ความระมัดระวังในการทำงาน ภายใต้กรอบ กติกาและจริยธรรมของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารที่จะสร้างความเข้าใจและยอมรับจากสังคมอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นจะต้องยืนอยู่บนหลักการสำคัญของสื่อมวลชน นั่นคือ การเสนอข่าวที่ต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วน ซึ่งหากสื่อมวลชนใด กระทำผิดหน้าที่นี้ คสช.ก็ชอบที่จะสั่งการให้มีการดำเนินการ หรือใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่จัดการได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้สมาคมนักข่าวฯมีความเป็นห่วงว่า การกำหนดให้บุคคลมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น อาจส่งผลบุคคลใช้อำนาจจนเกินสมควรแก่เหตุ เช่น การห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฎิบัติงานของ คสช.เจ้าหน้าที่ของ คสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แค่ไหน เพียงใด จึงจะถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อ คสช.
รวมทั้งข้อความในข้อ 5ที่ระบุว่า"ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือ ข้อ 3 ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย"
นั้นไม่มีความชัดเจนว่าจะมีคำเตือนก่อน หรือมีขั้นตอนอย่างไร หรือมีแนวทางวินิจฉัยความผิดอย่างไร เพราะหากมีการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุ และไม่มีกระบวนการที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจ ผลเสียในการใช้อำนาจน่าจะมีมากกว่า
“สมาคมนักข่าวฯจะได้เชิญผู้บริหารสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้งหลาย มาประชุมปรึกษาหารือกันต่อไปว่า จะหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้อย่างไร ในราวสัปดาห์หน้า”