“คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป” ผนึก “นักข่าวภาคสนาม” ร่วมแสดงความเห็น-สะท้อนทิศทางปฏิรูปสื่อ

“คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป” ผนึก “นักข่าวภาคสนาม” ร่วมแสดงความเห็น-สะท้อนทิศทางปฏิรูปสื่อมวลชน

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ที่มี นายเทพชัย หย่อง เป็นประธานคณะทำงานฯ จัดเวทีรับฟังความเห็นสื่อมวลชนและช่างภาพภาคสนาม เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปสื่อมวลชนภายใต้กระบวนการปฏิรูปของ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ”

โดยเวทีดังกล่าว มีช่างภาพและสื่อมวลชน จำนวน 20 คนเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางต่อทิศทางการประกอบวิชาชีพ ภายใต้กรอบการรับฟังความเห็น 10 ประเด็น ได้แก่ 1.สิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อ 2.จัดตั้งองค์กรสมาพันธ์วิชาชีพสื่อฯ โดยรวมสภาการหนังสือแห่งชาติ และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ  3. Media Literacy หรือ การรู้เท่าทันสื่อฯ  4.Media / Public Watch, 5.กรอบจริยธรรมขององค์กร, 6.พัฒนาศักยภาพคนทำสื่อและเนื้อหาสื่อ, 7.หลักสูตรการบริหารสื่อ, 8.News Ombudsman หรือ ผู้ตรวจการข่าว, 9. Co-Regulation หรือ การกำกับดูแลร่วม และ 10.พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์

“ยุวดี ธัญญศิริ” หรือ “เจ๊ยุ” ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล สะท้อนความเป็นห่วงและกังวลต่อการทำงานวิชาชีพข่าวของสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการแข่งขัน ที่ทำให้ความเป็น “สื่อมวลชน” กลายเป็นเพียง “คนวิ่งข่าว” โดยเฉพาะในส่วนของนักข่าวรุ่นเด็กๆ สังกัดเคเบิ้ลที่ต้องทำงานแข่งขันเวลา ต้องส่งงานให้ทันตามกำหนด จนทำให้ขาดความระวัง ทั้งการตั้งคำถาม หรือการคัดประเด็นข่าว  ทำให้ไม่รู้ว่าสิ่งที่นำเสนอไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เคยเจอเหตุการณ์ที่มีน้องบางคนฝากให้ถามคำถามแหล่งข่าวเพราะไม่มีนักข่าวมาด้วย มีแต่ช่างภาพเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าตลก แต่ก็ชักเป็นห่วงว่าความเป็นข่าวจะเหลืออยู่อีกหรือไม่ การตรวจสอบข้อเท็จจริงจะหายไปในที่สุด

“สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้เป็นแบบหน้ามือ กับ หลังมือ อดีตผู้นำประเทศจะใจกว้าง แต่ยุคนี้เขามองสื่อด้วยสายตาตรงข้าม เหมือนสื่อเป็นคนที่ไร้วุฒิภาวะ ดังนั้นบนฐานวิชาชีพ แม้นักข่าวจะมีการแข่งขัน เพราะเป็นเรื่องธุรกิจ ทุกค่ายมีการแบ่ง หรือวิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจ แต่ต้องสร้างความสามัคคี และอย่าลืมหลักใหญ่คือวิชาชีพของสื่อมวลชน  มองว่าฝ่ายราชการ หรือสื่อฯ ต้องปฏิรูปหมดเพราะยุคนี้เป็นยุคเปลี่ยนผ่านแบบกู่ไม่กลับแล้ว” นักข่าวอาวุโส กล่าว

ด้าน “ศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย” เห็นด้วยกับการปฏิรูปสื่อมวลชน  เนื่องจากมีแรงกดดันทั้งด้านเทคโนโลยีและบริบทของสังคมรอบๆ ตัว  อีกทั้งการปฏิรูปไม่ถือเป็นเรื่องแปลก  แต่การปฏิรูปสื่อ จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ ความถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม นอกจากนั้นในประเด็นสวัสดิการ หากสื่อเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นต้องพิจารณาสวัสดิการนักข่าว แต่ต้องอยู่ภายใต้ความอยู่รอดของบริษัทด้วย

ขณะที่ “วัชรินทร์ กลิ่นมะลิ นักข่าวสายอาชญากรรม หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฐานะรองนายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย” ย้ำถึงประเด็นสวัสดิการของสื่อมวลชนและช่างภาพ พร้อมยกตัวอย่างการได้รับบาดเจ็บระหว่างหน้าที่จนต้องเข้าโรงพยาบาลของรัฐ  ว่า การเข้ารับการรักษาเห็นได้ชัดว่ามีการแบ่ง หากได้รับสิทธิ์ และสวัสดิการที่เท่ากัน และเต็มที่น่าจะเกิดประโยชน์ ส่วนการทำหน้าที่เชื่อว่านักข่าวภาคสนาม หัวใจคือภาคสนาม ต้องทุ่มทำงานเต็มที่

ด้าน “คนข่าวรุ่นใหม่ - วรรณโชค ไชยสะอาด  นักข่าวสายเฉพาะกิจ หนังสือพิมพ์มติชน” เสนอว่า นักข่าวรุ่นใหม่ที่เข้าสู่วงการ ได้ยึดมั่นการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่มาวิ่งข่าวส่งต้นสังกัดเท่านั้น  อีกทั้งเชื่อว่านักข่าวทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ ด้วยการเสนอความจริง ไม่ได้การคาดหวังว่าความจริงนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้ง สิ่งที่คิดว่าสื่อฯ เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนั้นคงไม่ใช่ คิดมากเกินไป

สำหรับเวทีรับฟังเสียง “คนข่าวและช่างภาพ” วัตถุประสงค์ที่สำคัญ “ประธานคณะทำงานเพื่อการปฏิรูป” บอกเล่าว่า เวทีที่เรามาพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของสื่อ ขณะนี้ได้เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูป ซึ่งประเด็นสื่อฯ ถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่คนในวงการสื่อต้องทำในกระบวนการบางอย่างเข้าไปมีส่วนร่วม หากไม่ทำอะไร อาจจะมีบุคคลเข้าไปให้ ซึ่งไม่สามารถให้ความมั่นใจได้ว่าผลสรุปต่อการปฏิรูปสื่อจะออกมาในทิศทางใด การปฏิรูปสื่อฯ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้กลไกที่ของคนที่มีหน้าที่ ถูกมองว่าจะเป็นไปในบทบาทและกำกับสื่อ หมายถึง การควบคุมมากกว่าการปฏิรูป

“การปฏิรูปรอบนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะสื่อสารมวลชนที่มีความหมายมากเป็นพิเศษ หากสื่อยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้คนที่ไม่ใช่คนทำสื่อทำ คงไม่ได้ สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่สื่อเท่านั้น ยังมีคนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจำเป็นที่ต้องระดมความเห็น ว่าทำอย่างไร เพื่อให้คนในสังคม เชื่อมั่นในสื่อมวลชนเหมือนในอดีต ให้สื่อเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ รู้เท่าทัน และสื่อเป็นส่วนหนึ่งของทางออกภายใต้ความขัดแย้งหรือภาวะที่มีปัญหา ตอนนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสื่อ  ที่ผ่านมามีกระแสสังคม ที่ตั้งคำถามกับสื่อฯ ว่ามีความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่หรือไม่ และมองว่าสื่อฯ ส่วนหนึ่งเข้าไปร่วมกับความขัดแย้ง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการควบคุมสื่อ ทำให้สังคมมีความสะใจ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปรอบนี้ไม่ใช่ภาพที่สื่อทำกันเอง แต่ต้องดึงความไว้วางใจของสังคมกลับคืน” ประธานคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปชี้แจง

ส่วน นายจักรกฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เราเปิดรับฟังเสียงของนักข่าวภาคสนาม  เท่าที่ประเมินในแง่เนื้อหาและตัวบุคคล กรอบที่คสช. แจกมานั้น เป็นสิ่งที่ไร้ทิศทาง และสร้างความกังวลอย่างยิ่ง เพราะเนื้อหานั้นยังขาดความเข้าใจด้านสื่ออย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามกรอบการรับฟังความเห็นทั้ง10 ประเด็นนั้น ทางคณะอนุทำงานได้ประมวลและศึกษามาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ใช่เป็นข้อสรุป ดังนั้นในระยะเวลาปฏิรูป 1 ปีหลังจากนี้ การทำงานของสปช. คงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ด้วยเพราะมีเงื่อนไขด้านเวลา การให้ที่หลากหลาย ดังนั้นสิ่งที่เราต้องผลักดันอย่างเร่งด่วน คือ สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ภายใต้มีประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ ฉบับที่ 103 มีปัญหากับการทำงานสื่อฯ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องผลักดันให้ สปช. ทำงาน นอกจากนั้นองค์กรสื่อที่มีหน้าที่กำกับดูแลกัน จะรวมตัวกันเพื่อให้เป็นภาพของการควบคุมกันเองได้อย่างเข้มแข็ง และแข็งแกร่งแท้จริง ไม่ใช่ให้รัฐเข้ามาจัดการหรือควบคุม

“หลังจากการรับฟังความเห็นของสื่อภาคสนาม ในวันนี้ และวันต่อๆ ไป ภายใต้กรอบระยะเวลา 60 วัน เราจะนำเสนอแนวทางปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมประมวลก่อนส่งให้กับสภาปฏิรูปพิจารณาต่อไป”

//////////////