ประเด็นที่ ๑ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
รัฐธรรมนูญประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ รวมถึงสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างทั่วถึง และเสมอภาค |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
ประชาชนและสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การกระทำของรัฐเพื่อยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของสื่อมวลชนจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เมื่อมีเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว ประชาชนและสื่อมวลชนย่อมมีสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างทั่วถึง และเสมอภาค เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในสังคมประชาธิปไตย ตามหลักการ "เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น" ยกเว้นเสียแต่ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่ต้องเผยแพร่เท่านั้น
|
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
จากปัญหาการลิดรอนเสรีภาพด้านการแสดงออกของบุคคลและสื่อมวลชน ตลอดจนถึงการจำกัดช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐที่ผ่านมา จึงเห็นควรให้มีการกำหนดให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลและสื่อมวลชนในการแสดงความคิดเห็น และให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญในสังคมประชาธิปไตย ให้ได้รับความคุ้มครองตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หรือขัดต่อประโยชน์สาธารณะ |
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ ๒ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง |
หมวดที่ ๒ ประชาชน |
ภาคที่ ๑ พระมหากษัตริย์และประชาชน |
ประเด็นที่ ๒ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
เงื่อนไขในการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นของประชาชน และสื่อมวลชน |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
การจำกัดสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นของประชาชน และสื่อมวลชน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักสากล |
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
แม้ประชาชนและสื่อมวลชนจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ และไม่สร้างความเสียหาย อันหมายถึง ไม่คุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน และไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน |
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ ๒ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง |
หมวดที่ ๒ ประชาชน |
ภาคที่ ๑ พระมหากษัตริย์และประชาชน |
ประเด็นที่ ๓ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
สื่อมวลชนย่อมได้รับหลักประกันความเป็นอิสระที่จะไม่ถูกครอบงำและแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุน |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
สื่อมวลชนย่อมได้รับหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมี ความรับผิดชอบต่อสังคม การแทรกแซงสื่อมวลชนของอำนาจรัฐและทุน รวมถึง เจ้าของกิจการ อันได้แก่ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น การสั่งยุติการเผยแพร่หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน การถือครองกิจการหรือหุ้นส่วนในสื่อสารมวลชนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน การแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนจากเจ้าของกิจการสื่อมวลชน จะกระทำไม่ได้ |
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชน และเพื่อให้มาตรการคุ้มครองดังกล่าวมี ผลบังคับใช้อย่างแท้จริง เพื่อป้องกันการครอบงำหรือแทรกแซงผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชน โดยผู้ปฏิบัติงานต้องมีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ และมีองค์กรวิชาชีพควบคุมตรวจสอบกันเอง เพื่อห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการกระทำการใดๆ ไม่ว่า ในทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าว หรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนทุกแขนง หากกระทำให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่การกระทำดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ เป็นไปโดยหลักการเพื่อให้สื่อมวลชนสามารถเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ เช่น การเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมได้โดยปราศจากการแทรกแซงหรือการใช้อิทธิพลครอบงำจากผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองหรือหน่วยงานของรัฐ |
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ ๒ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง |
หมวดที่ ๒ ประชาชน |
ภาคที่ ๑ พระมหากษัตริย์และประชาชน |
ประเด็นที่ ๔ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
การคุ้มครองเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพและสวัสดิการของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
ผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และนำเสนอข่าว และข้อมูลข่าวสาร ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เจ้าของกิจการที่พนักงานหรือลูกจ้างสังกัด หรืออำนาจจากแหล่งใดๆ อย่างไรก็ดี เสรีภาพของพนักงานหรือลูกจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนนั้น จะต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพที่สังกัด และควรมีกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยมีการกำหนดรายละเอียด เพื่อให้เกิดการรองรับเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ยังควรกำหนดสภาพบังคับในการลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจในการแทรกแซง ลิดรอน หรือครอบงำ การนำเสนอข่าวและข้อมูลข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็น อำนาจรัฐ อำนาจการเมือง อำนาจธุรกิจ หรืออำนาจอื่นใด รวมทั้ง ให้มีการสนับสนุนการจัดตั้ง องค์กรคุ้มครองสวัสดิภาพและสวัสดิการให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน |
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
หลักการคงเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ โดยเพิ่มเติมในส่วนของการตรากฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และองค์กรกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ภายใต้มาตรฐานวิชาชีพ รวมทั้งการคุ้มครองสวัสดิการของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน |
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ ๒ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง |
หมวดที่ ๒ ประชาชน |
ภาคที่ ๑ พระมหากษัตริย์และประชาชน |
ประเด็นที่ ๕ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านจริยธรรม และกลไกกำกับกันเองของสื่อมวลชน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรม |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
สื่อมวลชนมีสิทธิจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน มีการกำหนดโครงสร้างการบริหารงาน มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ และกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน โดยเป็นการจัดตั้งในหลายระดับ เช่น ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค หรือระดับชาติ เป็นต้น หรือเป็นการจัดตั้งในแต่ละวิชาชีพ เช่น ผู้ประกาศ นักข่าว ผู้ประกอบกิจการสื่อ ผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตละคร เป็นต้น หรือ มีองค์กรวิชาชีพสื่อในระดับประเทศ ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพในหลากหลายระดับ และหลากหลายวิชาชีพ เพื่อให้การกำกับดูแลกันเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถกำกับดูแลกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการกำหนดเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าควรสังกัดองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน หากกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมไม่ได้หรือไม่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกันเอง เห็นควรให้มีการออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน หรือเป็นการกำกับดูแลร่วม |
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีการควบคุมกันเอง ภายใต้จริยธรรมแห่งประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกันว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนนั้น จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะถูกบรรจุอยู่ในมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ของความเป็นวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งจะส่งผลให้ข่าว และข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีความถูกต้อง เป็นธรรม และตอบสนองต่อความต้องการของสาธารณะ นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพ ยังสามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้งทางด้านองค์ความรู้ การปฏิบัติ และจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสื่อมวลชน และสังคมต่อไป |
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ ๒ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง |
หมวดที่ ๒ ประชาชน |
ภาคที่ ๑ พระมหากษัตริย์และประชาชน |
ประเด็นที่ ๖ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
กำหนดให้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการได้อย่างมีอิสระ ปราศจากการครอบงำจากการเมืองและธุรกิจ และมีประสิทธิภาพในภาพรวม การจัดสรรคลื่นความถี่ และ การกำกับดูแลการประกอบกิจการ จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และบุคคลผู้ด้อยโอกาส ในทุกด้าน และจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม นอกจากนั้น จะต้องจัดให้ชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาด และครอบงำข่าวสาร และการดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน |
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
หลักการคงเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ โดยปรับปรุงแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแลการประกอบกิจการ ให้ครอบคลุมประโยชน์สาธารณะในทุกด้าน ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริหารจัดการคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของประชาชนคนไทยทั้งชาติ นอกจากนี้ ยังควรให้ครอบคลุมบุคคลด้อยโอกาส และเน้นให้ ‘ชุมชนท้องถิ่น’ มีความสามารถในการเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทั้งในระดับการผลิตรายการ การบริหาร และการเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ การกำกับดูแลการประกอบกิจการ ยังต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาด และครอบงำข่าวสาร และการดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน |
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ ๒ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง |
หมวดที่ ๒ ประชาชน |
ภาคที่ ๑ พระมหากษัตริย์และประชาชน |
ประเด็นที่ ๗ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
แนวทางการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับการประกอบกิจการภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแลการประกอบกิจการขององค์กรอิสระนี้ จะต้องคำนึงถึงภูมิทัศน์ของสื่อ (media landscape)[1] ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้กิจการเทคโนโลยีสารสนเทศควรรวมอยู่ในกำกับดูแลขององค์กรอิสระนี้ด้วย เพื่อให้สามารถกำกับดูแลในลักษณะสื่อหลอมรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น องค์กรอิสระนี้ยังต้องดำเนินการตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ โทรคมนาคมและสารสนเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลกันเองภายใต้จริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ |
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
หลักการคงเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ โดยปรับปรุงแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแลการประกอบกิจการ โดยองค์กรอิสระฯ จะต้องคำนึงถึงภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ และส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาชีพ เพื่อกำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม |
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ ๒ สิทธิเสรีภาพของพลเมือง |
หมวดที่ ๒ ประชาชน |
ภาคที่ ๑ พระมหากษัตริย์และประชาชน |
ประเด็นที่ ๘ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
เรื่องการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชนนั้นควรถูกกำหนดให้เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพื่อกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคและผู้ใช้สื่อมีความรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (media and information literacy)[2] เพื่อเป็นการสร้างทักษะชีวิตที่สำคัญในการใช้ชีวิตในยุคของสังคมข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายช่องทางภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้การดำเนินการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อควรเป็นการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และการกำหนดแนวทางการส่งเสริมโดยให้องค์กรวิชาชีพสื่อ และประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
|
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ยุคสังคมสารสนเทศที่เกิดการผสมกลมกลืนหรือการหลอมรวมกันของสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อสารมวลชน โทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์ โดยแรงกระตุ้นหลักจาก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม เทคโนโลยีการทำให้สื่อและข้อมูลข่าวสารอยู่ในรูปแบบดิจิทัล รวมถึง ความนิยมของคนทั่วโลกในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น และยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ผลิตสื่อได้สะดวกและรวดเร็ว รวมถึงทำให้เกิดสื่อและเนื้อหาที่ประชาชนเป็นผู้ผลิตและสร้างขึ้นเองเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในรูปแบบ ภาพ เสียงและข้อความ ได้อีกด้วย ดังนั้น การเสริมสร้างภาวะรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศจึงเป็นการสร้างทักษะชีวิตที่สำคัญแก่บุคคลในการใช้ชีวิตในยุคของสังคมข้อมูลข่าวสารและยุคของการหลอมรวมสื่อ อันจะเป็นการสร้างสุขภาวะทางการสื่อสารที่เข้มแข็ง จากการรู้จักปกป้องตนเองจากผลกระทบด้านลบจากสื่อ ตระหนักรู้และมีสติในการรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน และส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักใช้ประโยชน์จากสื่อทั้งในทางความรู้ การทำงาน การรับข่าวสาร และการบันเทิง โดยรัฐควรมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคและผู้ใช้สื่อมีความรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มใช้เทคโนโลยีสื่อใหม่มากการรับชมสื่อดั้งเดิมที่ ขาดความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ และแสวงหาสื่อตามความต้องการของตนผ่านช่องต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อสำหรับประชาชนควรครอบคลุมทั้งในมิติความสามารถเชิงวิเคราะห์ มิติความรู้เกี่ยวกับบริบทแวดล้อมของสื่อ มิติความรู้ความเข้าใจว่าสื่อใดมีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ และมิติความสามารถในการผลิตเนื้อหาในสื่อ |
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ - |
หมวดที่ ๒ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ |
ภาคที่ ๒ ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง |
ประเด็นที่ ๙ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของสื่อ และผู้ใช้สื่อ |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
ปฏิรูปการใช้และบริโภคสื่อของประชาชน โดยการเสริมพลังให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของสื่อและผู้ใช้สื่อ เพื่อเป็นมาตรการการควบคุมโดยสาธารณะ (public control) ในการกำกับดูแลสื่อมวลชนภายใต้ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีดิจิทัลและการหลอมรวมของสื่อ โดยดำเนินการได้ทั้งในรูปแบบปัจเจกชน กลุ่มประชาชนในฐานะผู้บริโภค หรือการจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการตรวจสอบการทำงานของสื่อและผู้ใช้สื่อ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสื่อ เพื่อศึกษาหาหลักฐานที่ปรากฏผ่านสื่ออย่างเป็นระบบ แล้วป้อนข้อมูลกลับให้กับสาธารณะ
|
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
มาตรการการควบคุมโดยสาธารณะ เป็นการควบคุมที่เกิดจากสาธารณชนที่อยู่ภายนอกวงการสื่อมวลชน แต่มีปฏิกิริยาตอบสนองการทำงานของสื่อมวลชน และเป็นมาตรการทางสังคมที่ดีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการการกำกับดูแลกันเองภายใต้จริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อ อีกทั้งยังช่วยลดภาระในการควบคุมดูแลของหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายอีกด้วย มาตรการการควบคุมโดยสาธารณะดำเนินการได้ทั้งในรูปแบบปัจเจกชน กลุ่มประชาชนในฐานะผู้บริโภค หรือการจัดตั้งสภาประชาชน เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบ การทำงานของสื่อและผู้ใช้สื่อ รวมถึงสามารถที่จะติติง ฟ้อง หรือประณามสื่อที่กระทำผิดต่อสังคมหรือผิดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพได้ รวมถึงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสื่อ เพื่อศึกษาหาหลักฐานที่ปรากฏผ่านสื่ออย่างเป็นระบบ แล้วป้อนข้อมูลกลับให้กับสาธารณะ ดังนั้น รัฐควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดมาตรการการควบคุมโดยสาธารณะดังกล่าว โดยเสริมพลังให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของสื่อและผู้ใช้สื่อ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญในการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างมีคุณภาพและมีจริยธรรม รวมการใช้สื่ออย่างเหมาะสมด้วย
|
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ - |
หมวดที่ ๒ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ |
ภาคที่ ๒ ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง |
ประเด็นที่ ๑๐ |
||
๑. ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ |
||
การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) |
||
๒. คำอธิบายประกอบประเด็นที่นำเสนอ |
||
การกำกับดูแลการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) ที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนมีความจำเป็น อย่างยิ่ง อันเป็นการสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการโน้มน้าวหรือ ยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพเพื่อทำร้าย หรือทำลายล้างกลุ่มหรือคนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายความเกลียดชังนั้น โดยการยั่วยุปลุกปั่นให้กระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นการปลุกปั่น ปลุกเร้าในบริบทที่มีการแบ่งแยกและความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มทางสังคม ปฏิเสธการอยู่ร่วมหรือการขับไล่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายความเกลียดชังออกไปจากสังคม ไม่ให้มีพื้นที่ทางสังคมซึ่งถือเป็นความรุนแรงในระดับโครงสร้างหรือในทางสัญลักษณ์ โดยมีฐานจากอคติเกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา เพศภาพ ความฝักใฝ่ทางเพศ อุดมการณ์ทางการเมืองหรือลักษณะอื่นใดอันเป็นการแบ่งแยกได้ ทั้งนี้ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้พัฒนาไปสู่การก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ได้ และเพื่อการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ในสังคม
|
||
๓. หลักการและเหตุผลที่เสนอ |
||
เหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งพัฒนาไปสู่วิกฤตการณ์ของประเทศในหลายๆ ระลอกนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา ทำให้สังคมไทยปัจจุบันมีความไม่ลงรอยทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกันของคนในสังคม จนนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และปรากฏให้เห็นชัดเจนในการสื่อสารทางการเมือง ทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านสื่อ ซึ่งโดดเด่นเป็นพิเศษในสื่อการเมืองและในสื่อสังคมออนไลน์ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวอุบัติขึ้นท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉมในช่วงประมาณทศวรรษเศษที่ผ่านมา ทั้งสื่อออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต และสื่อประเภทใหม่ๆ ที่มีบทบาทเทียบเคียงสื่อกระแสหลัก และสื่อของรัฐ ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ และมีบทบาทอย่างสูงในการเคลื่อนไหวและขยายความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุและโทรทัศน์ขนาดเล็กในระดับท้องถิ่น และชุมชน หรือ สื่อสาธารณะ นอกเหนือจากอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว ประเด็นที่มีความอ่อนไหวและอาจนำไปสู่การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังในบริบทสังคมไทยยังครอบคลุมในหลายประเด็น อาทิ ศาสนาและการเข้าร่วมกลุ่มทางศาสนา สถาบันกษัตริย์ ชนชาติ/เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ และความทุพพลภาพ/โรคภัย เป็นต้น การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังส่งผลกระทบทางลบทั้งในระดับปัจเจก เช่น ผลกระทบด้านจิตใจ และอาจกระตุ้นเร้าให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพต่อผู้ที่ตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของการสื่อสารความเกลียดชังได้ รวมถึง ในระดับสังคม หากปล่อยให้มีการสร้างและเผยแพร่การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังโดยไม่มีการกำกับดูแล ย่อมทำให้สังคมขาดสมดุลทางความคิด การคุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การทำลายความสงบสุขเรียบร้อยในสังคมจากความสัมพันธ์ที่ขาดความไว้วางใจและบาดหมาง การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังยังส่งผลต่อเสรีภาพทางการแสดงออกคือ การเข้าไปสกัดกั้นหรือทำลายบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเกิดการทำลายวัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน ลดทอนศักยภาพการโต้แย้งกันในระดับสาธารณะ ดังนั้น ผู้กลายเป็นเป้าหมายของการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังจะถูกผู้คนในสังคมพิจารณาว่าไม่ควรได้รับการยอมรับเท่าเทียมผู้อื่นในสังคม ถูกปฏิเสธให้อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน จึงขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิต และยังส่งผลในภาพรวมให้คุณธรรมในสังคมหยาบกระด้างอีกด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการกำกับดูแลการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน โดยใช้มาตรการกำกับดูแลหลายประการประกอบกันทั้งการเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อ การกำกับดูแลตามกฎหมายซึ่งมีทางเลือก ๒ ประการ ระหว่าง การบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ หรือการเพิ่มเติมสาระและเกณฑ์เกี่ยวกับการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังซึ่งมีความผิดทางอาญาให้ชัดเจน รวมถึงการกำกับดูแลตนเองผ่านตัวกลางในสื่อออนไลน์
|
||
๔. เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ |
||
ส่วนที่ - |
หมวดที่ ๒ การสร้างความปรองดอง |
ภาคที่ ๔ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง |
[1] ภูมิทัศน์สื่อ (media landscape) หมายถึง เครื่องมือต่าง ๆ ที่สังคมนำมาใช้ในการสื่อสาร (McChesney and Nichols, 2002; Chomsky, 2002; Bardoel and Van Cuilenburg, 2003)
[2] องค์การ UNESCO ได้ให้ความหมาย “การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ” ไว้ว่า ความรู้ความเข้าใจวิธีการทำงานกับสื่อ การสร้างความหมาย และวิธีการใช้และการประเมินสารสนเทศที่นำเสนอ รวมถึงความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของบุคคลในสังคม ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีจริยธรรม การมีส่วนร่วมทางการสนทนาประชาธิปไตยและการอภิปรายทางวัฒนธรรม