ผิดไปจากนี้ ไม่ใช่ ‘หนังสือพิมพ์’

ผิดไปจากนี้ ไม่ใช่ ‘หนังสือพิมพ์’
.
19/4/58-1414> มีสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นรายหนึ่ง ชักชวนให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกชมรมที่สิ่งพิมพ์นี้จัดตั้ง โดยเสียค่าสมัครสวัสดิการตลอดชีพ ๙๕๐ บาท ค่าบำรุงรายปีแก่สมาคมหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับฌาปนกิจสงเคราะห์ปีละ ๕๐ บาท และเงินสวัสดิการรับฝากล่วงหน้า ๕๐ คน (ศพ) คนละ ๑๐ บาท รวม ๕๐๐ บาท (จะมีการเรียกเก็บเพิ่มเมื่อยอดเงินคงเหลือต่ำกว่า ๒๕๐ บาท) รวมเป็นเงินแรกเข้าทั้งสิ้น ๑,๕๐๐ บาท เมื่อสมาชิกเสียชีวิต ผู้รับประโยชน์ที่สมาชิกระบุไว้ในใบสมัครจะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่มีมูลค่าสูงถึง ๑ ล้านบาท
.
สิ่งพิมพ์ดังกล่าว เริ่มดำเนินกิจการเมื่อต้นปี ๒๕๕๕ มีวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารตำรวจ การเมือง ข่าวท้องถิ่น การศึกษา วัฒนธรรม สารคดี โฆษณา การเงินและธนาคาร การท่องเที่ยว การกีฬา บันเทิง ข่าวราชการภาครัฐภาคเอกชน อุตสาหกรรม และแจ้งความ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ จังหวัดขอนแก่น ผลิตหนังสือขนาด A4 ออกมาแล้วประมาณ ๑๐ ฉบับ เฉลี่ย ๔ เดือนต่อฉบับ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การจัดงานมอบรางวัลแก่บุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทอดกฐินและผ้าป่า ด้วยการเชิญชวนประชาชนให้ร่วมทำบุญ ส่วนสมาคมซึ่งเกี่ยวกับฌาปนกิจสงเคราะห์ มีสตรีที่อ้างว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง เกี่ยวข้องด้วย
.
กรณีข้างต้น กรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีความห่วงใย พร้อมกับแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการตรวจสอบ ขณะที่สมาชิกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่าเป็นขบวนการที่ใช้วิชาชีพสื่อมวลชนไปกระทำการอันหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย ประเด็นจึงอยู่ที่สิ่งพิมพ์รายนี้เป็นสื่อมวลชนหรือไม่ หรือเป็น ‘หนังสือพิมพ์’ ตาม ‘อาชีวะปฏิญาณ’ หรือไม่ มีข้อพิจารณา ดังนี้
.
๑. น่าจะเป็น ‘หนังสือพิมพ์’ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพราะผู้เป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา (ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกัน) ได้ไปจดแจ้งไว้จริง แต่การนำมาใช้ประโยชน์โดยระบุว่าเป็น ‘เอกสารอนุญาตจัดตั้งฯ’ นั้น มาตรา ๖ ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยอธิบดีกรมศิลปากร หรือรองอธิบดีกรมศิลปากร หรือผู้อำนวยสำนักหอสมุดแห่งชาติ หรือผู้อำนวยการสำนักศิลปากรในภูมิภาคต่าง ๆ มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตแต่ประการใด กฎหมายระบุให้มีหน้าที่เพียงการรับจดแจ้ง ถ้าคุณสมบัติของผู้ขอจดแจ้งไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ ของกฎหมายฉบับนี้
.
๒. ความเป็น ‘หนังสือพิมพ์’ จะหดหายไป ถ้าเนื้อหาสาระในสิ่งพิมพ์ (๑) ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในการจดแจ้ง และ (๒) มีแต่เรื่องราวขององค์กร การโฆษณาหรือเผยแพร่กิจกรรมที่องค์กรดำเนินการ - จะเป็นเพียง ‘สิ่งพิมพ์’ เพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งขององค์กรเจ้าของสิ่งพิมพ์เท่านั้น
.
๓. นิติบุคคลที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ อาจจดทะเบียนทำธุรกิจอื่นใดนอกเหนือจากธุรกิจสื่อมวลชน ดังเช่นสื่อมวลชนกระแสหลัก (ระดับชาติ) บางรายกระทำอยู่ แต่กรณีนี้ เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา และยังเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แม้จะอ้างว่าเป็นสวัสดิการแก่สมาชิก แต่ก็นับเป็นเรื่องที่ยังขัดแย้งระหว่างหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาได้ ๑๐ ฉบับ (issues) แต่ท่าเว็บของสิ่งพิมพ์ฉบับนี้ระบุว่ามีสมาชิกกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ราย อันทำให้เข้าใจได้ว่า ธุรกิจหลักไม่น่าจะใช่การทำหนังสือพิมพ์ นอกเหนือจากลักษณะที่ขัดแย้งกันระหว่างเนื้อหาของการเป็น/และหรือทำหน้าที่สื่อ กับธุรกิจที่อ้างเป็นสวัสดิการ (conflict of interest)
.
๔. ถ้าเนื้อหาสาระในสิ่งพิมพ์เป็นดัง ข้อ ๒ (๑) และ (๒) ประกอบกับข้อ ๓ ก็ยิ่งไม่น่าจะใช่ ‘หนังสือพิมพ์’ ตามนิยามที่ระบุไว้ในธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๖ ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๕๔๘ ว่า ‘หนังสือพิมพ์’ หมายถึง สิ่งพิมพ์เสนอข่าวโดยทั่วไปและความคิดเห็นเป็นสาระสำคัญเป็นส่วนใหญ่ ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ มีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม – คำว่า ‘ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ’ คือหัวใจสำคัญของการเป็น ‘หนังสือพิมพ์’ เพราะเป็น ‘อาชีวะปฏิญาณ’ – เคยมีคำถามบ่อยครั้งในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองว่า หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์มานานหลายปีบางชื่อฉบับนั้น เป็น ‘สื่อมวลชน’ หรือไม่ คำตอบก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน คือ เขาปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือไม่ ถ้าใช่ เขาก็เป็น ‘สื่อมวลชน’ และเป็น ‘หนังสือพิมพ์’ นั่นเอง
.
๕. จากการตรวจสอบ ไม่ปรากฏบุคคลในองค์กรสิ่งพิมพ์รายนี้ เป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่ประการใด
(ภาพ: โฆษณาเชิญชวนทำฌาปนกิจในเว็บ truck2hand ตัดชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ออกไป)
.

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง
กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
๑๙ เมษายน ๒๕๕๘