สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าสวดพระอภิธรรมศพ นายประเวทย์ บูรณะกิจ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าสวดพระอภิธรรมศพ นายประเวทย์  บูรณะกิจ (อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ)  วันพุธที่  24  มิถุนายน  2558    เวลา 18.00 น. วัดพระศรีมหาธาตุ  บางเขน   ศาลา  16

 

 

ประเวทย์ บูรณะกิจ

คนหนังสือพิมพ์ ใต้เงาเผด็จการ

 

คนหนังสือพิมพ์ยุคก่อน พ.ศ. 2500  หลายคน  เริ่มต้นจากความรักในงานเขียน  เป็นนักเขียน   นักประพันธ์ แล้วมาทำหนังสือพิมพ์  ความเป็นนักเขียนกับนักข่าวดำรงอยู่เป็นหนึ่งเดียวกัน

ประเวทย์  บูรณกิจ ก็เช่นเดียวกัน  ก่อนจะก้าวเข้ามาในเส้นทางของคนหนังสือพิมพ์ เขาสนใจการเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่เพาะช่าง  โดยมีเพื่อนนักเขียนร่วมก๊วนที่สนิทสนมกันคือ  นเรศ  นโรปกรณ์  และทวี  เกตะวันดี    ซึ่งทั้งสองคนนี้ ก็เดินเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมาเช่นกัน

ลุงประเวทย์ ซึ่งวันนี้อายุ 84 ปีแล้ว  เล่าว่า เส้นทางคนหนังสือพิมพ์ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2497  หลังจากที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปกร  โดยเริ่มทำงานที่หนังสือพิมพ์ พระนครรายวัน   ซึ่ง เจ้าของคือ  พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร   ได้รับมอบหมายให้เป็นนักข่าวประจำอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์และทำเนียบรัฐบาล    ต่อมาย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์เดลิเมล์  ซี่งมีอิสรา อมันตกุล เป็นบรรณาธิการ

ประเทศไทยในตอนนั้น  อยู่ในยุคเผด็จการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2490   ภายหลังการรัฐประหาร ล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์  โดยคณะทหารที่นำโดย พลโทผิน  ชุณหะวัณ   ซึ่ง เมื่อยึดอำนาจได้แล้วได้จัดการเลือกตั้งขึ้น  โดยพรรคประชาธิปัตย์ ชนะ ได้เป็นรัฐบาล   นายควง อภัยวงศ์ เป็นายกรัฐมนตรี   แต่เป็นได้เพียง 4  เดือนก็ถูกคณะทหารบีบให้ลาออก  และเชิญจอมพล ป.  กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง  ในวันที่ 8  เมษายน พ.ศ.2491   ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ระบอบเผด็จการทหาร ที่ปกครองประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 ทศวรรษ  จากยุค จอมพล ป   เข้าสู่ยุค  จอมพลสฤษดิ์   จนมาถึงยุค ถนอม – ประภาส

ประเวทย์เล่าว่า  คนหนังสือพิมพ์ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการตอนนั้น   จะถูกข่มขู่  คุกคาม  จากกลไกรัฐ  โดยเฉพาะ “ รัฐตำรวจ” ที่มีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์  อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น ซึ่งเป็นมือขวาของจอมพล ป  ควบคุมสั่งการ   นอกจากนั้น  ยังมีกองกำลัง อันธพาลที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายตรงข้าม

“ สมัยนั้น  หากเอ่ยถึง “ เก๋งดำ” ขึ้นมาเมื่อไร   พวกนักหนังสือพิมพ์เป็นอันต้องเสียวสันหลังวาบ”

เก๋งดำ ที่ประเวทย์พูดถึง  คือ รถเก๋งสีดำ ซึ่งตำรวจลูกน้องของ พลตำรวจเอกเผ่า  ที่เรียกกันว่า อัศวินแหวนเพชร ในยุคนั้น  ใช้เป็นพาหนะ  ในการพาตัวผู้ที่แข็งข้อ ไปจัดการ  หากเก๋งดำไปจอดที่หน้าบ้านใคร ก็หมายถึง  ชะตากรรมของคนผู้นั้นกำลังตกอยู่ในอันตราย    อาจจะถึงแก่ชีวิต หรือหายสาบสูญไปโดยไร้ร่องรอย

“มันเลยตกอยู่ในสภาวะที่ว่า  นักหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งก็กลัวหัวหด    รายงานข่าวกันลำบากมาก มีแต่ว่าจะหนีเอาตัวรอดได้อย่างไร   สมัยนั้น  มีนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งชื่อ สุรีย์ ทองวานิช  ถูกพวกเก๋งดำนี่   บุกยิง  จนปากเบี้ยว เพราะไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล”

อารีย์  ลีวีระ  นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ สยามนิกร  และพิมพ์ไทย ถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านพัก หัวหิน  ในยุคนี้  โดยผู้ยิง เป็นตำรวจจากจังหวัดกาญจนบุรีที่ รับคำสั่งมาจาก นายตำรวจ ลูกน้องของพลตำรวจเอกเผ่า อีกทีหนึ่ง

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา  นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ผู้ใช้ปากกาเป็นอาวุธ ถูก จับกุมด้วยข้อหากบฎ  ก็ในยุคนี้  และต้องติดคุกนานถึง 5 ปี

สำหรับประเวทย์เอง ในฐานะคนหนังสือพิมพ์ผู้ยึดมั่นในการทำหน้าที่ โดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ    ก็ต้องเผชิญกับการคุกคามของระบอบเผด็จการเช่นเดียวกัน จนถึงขั้นติดคุก ติดตะราง   แต่เป็นเผด็จการในยุคต่อมา  คือ  สมัยที่จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

เหยื่อเผด็จการ

สองปีในคุกลาดยาว

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 56 ปีก่อน คือ ปีพุทธศักราช 2501    ในเดือนสิงหาคม  กุหลาบ สายประดิษฐ์   เป็นหัวหน้าคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย  นำนักเขียน  นักหนังสือพิมพ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย จำนวน 12  คน เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน   ตามคำเชิญของทางการจีน เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

ยุคนั้น  ประเทศไทยกับจีน ไม่มีความสัมพัน์ทางการฑูตต่อกัน  ท่าทีของรัฐบาลไทยกลับจะเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนด้วยซ้ำ  เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ อยู่คนละขั้ว  กับ สหรัฐฯ ที่ชนชั้นปกครองไทยเข้าพวกด้วย ในยุคสงครามเย็น  การเดินทางไปจีน จึงเป็นเรื่องต้องห้าม  แต่ในช่วงปลายๆ ของรัฐบาลจอมพล ป   ได้ลดท่าทีเป็นศัตรู หวาดกลัวจีนลงบ้าง หลังจากที่ตัวแทนของทั้งสองประเทศได้พบปะกันในการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่อินโดนีเซีย  และจอมพล ป เอง ก็คิดถึงการหันมาคบกับจีน เพื่อถ่วงดุลกับ สหรัฐ ฯ

 

กระนั้นก็ตาม  การเดินทางไปประเทศจีนนับว่า  เสี่ยงต่อการถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลว่า เป็นผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์     ผู้ที่ร่วมคณะเดินทางต้องกล้าหาญ พร้อมจะเชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ประเวทย์   เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะ  ตอนนั้น เขาอยู่ในวัยหนุ่ม อายุยี่สิบต้นๆ   เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ ซึ่งมีอิศรา อมันตกุล เป็นบรรณาธิการ

ประเทศไทยในขณะนั้น    จอมพลสฤษดิ์   ได้ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากจอมพล ป  พิบูลสงคราม  ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500    หลังจากนั้น ได้แต่งตั้งนายพจน์  สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี  และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนธันวาคม   ปีเดียวกัน  ผลการเลือกตั้ง  พรรคสหภูมิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจอมพลสฤษดิ์ ได้ที่นั่งมากที่สุด   และได้จับมือกับพรรคชาติสังคม ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ เป็นหัวหน้าพรรคเอง    ลงมติเลือก พลโทถนอม  กิตติขจร   รองหัวหน้าพรรคชาติสังคม   เป็นนายกรัฐมนตรี

ระหว่างที่คณะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์อยู่ที่ประเทศจีนนั้น  จอมพลสฤษดิ์ ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 20  ตุลาคม พ.ศ. 2501   และตั้งตัวเอง เป็นนายกรัฐมนตรี    จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งสนองนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ อย่างเต็มที่   ใช้ข้อหา  คอมมิวนิสต์  จับกุม  เข่นฆ่า นักการเมือง  นักเคลื่อนไหว และปัญญาชน ฝ่ายตรงข้าม

เมื่อคณะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์เดินทางกลับมาประเทศไทย   ก็ถูกตำรวจสันติบาลจับในข้อหา มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทันที   เช่นเดียวกับคณะศิลปินไทยกว่า 40  ชีวิต ซึ่งนำโดยสุวัฒน์  วรดิลก  ซึ่งไปเยือนจีนในช่วงเดียวกัน   แต่กุหลาบ สายประดิษฐ์  ขอลี้ภัยในจีนไม่ได้กลับมาด้วย

“ผมไปอยู่เมืองจีน 4 เดือน พอผมมาถึงกรุงเทพฯ พวกการบินไทยบอกกับผมว่า ตำรวจรอพวกคุณอยู่ที่สนามบินทุกวัน  ผมถูกจับตัวไปคุมขังอยู่ที่คุกลาดยาว อยู่ที่นั่น 2 ปี โดยถูกจับพร้อมกันกับคุณอิศรา อมันตกุล คุณทองใบ ทองเปาด์  ทนายแม็กไซไซ  คุณจิตร ภูมิศักดิ์ คุณสุวัฒน์วรดิลก และนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคนรวมถึงพวกที่รัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นอันธพาล รวมแล้วก็ประมาณ 300-400 คน”

ตอนแรกๆที่อยู่ในคุกลาดยาว  ประเวศน์บอกว่า  กลัวว่า จะถูกประหารชีวิต เพราะมีข่าวลือเป็นระยะๆว่า  มีการจับคนที่ถูกข้อหาไปคอมมิวนิสต์ไปยิงทิ้งที่กำแพงคุก

ชีวิตตอนนั้นค่อนข้างลำบาก คนธรรมดา ข้างนอกก็อยู่ลำบากอยู่แล้ว พร้อมที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จะถูกยิงทิ้งเมื่อไรก็ได้   ถามว่ากลัวไหมก็กลัวเหมือนกัน เพราะมีข่าวให้ได้ยินตลอดว่า เขาจะจับตัวไปยิงที่กำแพงนะ ตื่นขึ้นมาก็คิดว่ามันเอาจริงหรือเปล่า ก็ชักไม่แน่ใจ อยู่อย่างหวาดผวา    ส่วนใหญ่แต่ละคนที่ถูกจับ เขาก็มีญาติพี่น้องส่งเสียเลี้ยงดู แต่สำหรับผมต้องดิ้นรนเขียนหนังสือ ว่างงานไม่ได้เลย แล้วก็มีปลูกผักบ้าง เลี้ยงปลาบ้าง”

ประเวทย์ติดคุกอยู่ 2  ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา  โดยที่ไม่มีการดำเนินคดีในชั้นศาลแต่อย่างใด

ขณะนั้น  หนังสือพิมพ์จำนวนมาก ถูกสั่งปิด   บางฉบับถูกชายฉกรรจ์ บุกทุบแท่นพิมพ์ เพราะเขียนข่าว เสียดสี ล้อเลียน จอมพลสฤษดิ์   หนังสือพิมพ์อิสระ นอกจากแท่นพิมพ์ จะโดนทุบแล้ว ยังถูกล่ามโซ่ไม่ให้พิมพ์หนังสือได้  หนังสือพิมพ์อื่นๆที่ไม่ได้ถูก “ล่ามโซ่”  แท่นพิมพ์จริงๆ  ก็ถูกล่ามโซ่ในความหมายที่ว่า  ถูกสั่งห้ามพิมพ์จำหน่าย  เท่ากับเป็นการปิดหนังสือพิมพ์ไปโดยปริยาย

นักข่าวในยุคนั้นจึงตกงานกันมาก   ประเวทย์ต้องแสวงหาอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ  โดยเป็นผู้แปลบทภายนตร์ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย   ให้กับโรงภาพยนตร์ 3- 4 แห่ง คือ สกาลา  ลิโด  สยาม และศาลาเฉลิมไทย

ประเวทย์เคยได้รับข้อเสนอจากคนของรัฐบาลในขณะนั้น ให้ไปทำงานด้านการเขียนข่าว ประชาสัมพันธ์ เชียร์รัฐบาล  พร้อมกับติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชน  แต่เขาปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการเอาศักดิ์ศรีและเกียรติยศเข้าแลกกับเงิน

ทางรัฐบาลทหารมีทางเลือกให้ ตอนนั้นเขาบอกกับผมว่า 'เอ็งมาอยู่กับพวกข้าแล้วข้าจะเลี้ยงดูอย่างดี ' เขาให้ผมไปหาข่าวที่ประชาชนเคลื่อนไหว ผมก็คิดแย้งอยู่ในใจว่า ประชาชนเขามีสิทธิของเขา ไปสกัดเขาได้อย่างไร  ผมก็เลยคิดว่าทำมาหากินอย่างอื่นก็ได้ ได้เงินน้อยหน่อยก็ช่างมัน”

ประเวทย์แปลหนังอยู่ได้ประมาณ 7-8 ปี  ก็หวนกลับไปทำงานหนังสือพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง กับมานะ แพร่พันธุ์ ที่หนังสือพิมพ์ บ้านเมือง   ในตำแหน่งหัวหน้าข่าว   ทำอยู่ได้สักระยะหนึ่ง สมิต มนัสฤดี ที่ปรึกษากองบรรณาธิการไทยรัฐก็ได้ชักชวนไปทำงานอยู่ด้วยกัน

 

รัฐบาลหอย  สั่งปลด

ห้ามทำข่าวหน้า 1  ไทยรัฐ

การทำงานที่ไทยรัฐ เป็นเรื่องสนุก และน่าท้าทาย   แต่ทว่า การรายงานข่าวอย่างแหลมคม ตรงไปตรงมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516  ซึ่งประชาธิปไตยเบ่งบาน เต็มที่  ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6  ตุลาคม  พ.ศ. 2519   ทหารในนาม คณะปฏิรูการปกครองแผ่นดิน ได้ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช    ระบอบเผด็จการได้กลับมาเล่นงานเขาอีกครั้งหนึ่ง

หลัง 6  ตุลา   จัดว่าเป็นยุคมืดที่สุดของหนังสือพิมพ์  คณะปฎิรูปได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ  ฉบับใดต้องการเปิดใหม่  จะต้องขออนุญาต  ซึ่งรัฐบาลที่คณะปฏิรูป แต่งตั้งขึ้น  มีนายธานินทร์ กรัยสิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี   นายสมัคร สุนทรเวช เป้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  จะเป็นผู้พิจารณาว่า จะอนุญาตหรือไม่  โดยได้ตั้งเงื่อนไขให้หนังสือพิมพ์ปฏิบัติตาม

ประเวทย์   เป็นคนหนึ่งที่ถูกหมายหัวจากรัฐบาลธานินทร์

สมัคร สุนทรเวช  สั่งให้ผมกับหัวหน้าข่าวอีก 2 คนหลุดจากตำแหน่ง  คนหนึ่งคือคุณพินิจ  ย้ายไปอยู่หน้าข่าวเด็ก กับวิรัติ สิริชุมแสง  คนนี้ยื่นใบลาออกเอง   ผมถูกสั่งห้ามทำข่าวหน้า1  ให้ตั้งคนอื่นมาแทน   เพื่อจะได้นำเสนอข่าวตามที่เขาต้องการ”

ประเวทย์บอกว่า  โชคดี ไม่ต้องตกงาน   เพราะกำพล วัชรพล  เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ย้ายเขาไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ อยู่กับสมิต มนัสฤดี   ซึ่งหลังจากนั้น  เขาก็ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาโดยตลอด    จนเกษียณอายุ

ล้อมกรอบ

 

สิ่งที่คนข่าวรุน่ใหม่พึงตระหนัก

ความเป็นธรรมและผลประโยชน์ของประชาชน

ตลอดระยะเวลาของการเป็นคนหนังสือพิมพ์   สิ่งหนึ่งที่ประเวทย์ ยึดถือไว้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง  และอยากจะถ่ายทอดฝากเป็นข้อคิดให้แก่นักข่าวรุ่นใหม่ทั้งที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่  และที่กำลังเดินเข้าสู่วงการสื่อมวลชนก็คือ    “การเชิดชูความเป็นธรรม “ และ ” การรักษาผลประโยชน์” ของประชาชน

“เวลาเราพูดถึง ความถูกต้อง   มันอาจจะก็มีปัญหาตรงที่ว่า ความถูกต้องของใคร เรื่องความเป็นกลางหรือไม่เป็น กลาง  หรือตรงไปตรงมา  ก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องที่ตัดสินยากมาก ซึ่งถ้าถามว่าความถูกต้องอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าต้องพยายามทำให้ดีที่สุด สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นธรรมที่สุดและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน

ประเวทย์เปรียบเทียบ เรื่องความถูกต้อง เที่ยงตรง กับนาฬิกาว่า ตอนที่เข็มนาฬิกาทั้งเข็มสั้น และเข็มยาว ชี้ไปเลข12 นั่นคือเวลาเที่ยงตรง    แต่ ตอนที่เราบอกว่า  เที่ยงแล้ว  เข็มนาฬิกาได้เดินพ้นเวลาเที่ยงไปแล้ว เพราะฉะนั้น  บางครั้ง เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า  อะไรคือความถูกต้อง

ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด    ความสามารถของนักหนังสือพิมพ์จึงอยู่ที่ว่า  อย่างไรถึงจะรักษาความเป็นธรรมให้กับสิ่งที่ประชาชนต้องเสียไป”