เรียกร้องสื่อคำนึงสิทธิเด็ก-ละเมิดกม.ความรุนแรงในครอบครัว ผิดจริยธรรมวิชาชีพ ผู้ประกอบกิจการ-ผู้บริหารสื่อต้องเอาใจใส่ก่อนการเผยแพร่ ระบุผิดกม.อาญา จี้จนท.รัฐดำเนินคดี
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเผยแพร่คลิปพ่อทำร้ายลูกชายระหว่างการสอนทำการบ้านในสื่อกระแสหลักและสังคมออนไลน์ว่า เป็นการละเมิดต่อจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ระบุว่าในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส การเสนอข่าวต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังระบุว่าหนังสือพิมพ์จะต้องไม่เสนอภาพข่าวที่อุดจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชน ขณะเดียวกันข้อกำหนดทางจริยธรรมของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ก็ได้ระบุไว้ในทำนองเดียว และมีความมุ่งหมายครอบคลุมไปถึงสื่อทุกประเภทในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
นายมานพกล่าวว่า ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ขอเรียกร้องผู้ประกอบกิจการสื่อ ผู้บริหารสื่อ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ทุกประเภท ได้เอาใจใส่ต่อการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ ในแต่ละกิจการ และขอให้ยุติการเผยแพร่เคลื่อนไหว ภาพนิ่ง ที่ก่อให้เกิดความโศกเศร้าสะเทือนใจต่อสังคมโดยรวม กิจการสื่อทุกประเภทควรเอาใจใส่ในข้อกฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้ และให้คำนึงถึงข้อกำหนดทางจริยธรรมของสภาวิชาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่จะไม่นำไปสู่การละเมิดกฎหมาย
"สังคมได้เดินทางมาไกล แต่สื่อกระแสหลักยังกลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมายและจริยธรรมที่ได้ประกาศร่วมกันไว้มาต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง" โฆษกสมาคมนักข่าวฯกล่าว และว่า พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติต่างๆ ได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ละเมิดต่อไป เพราะที่ผ่านมาสังคมนิ่งเฉยต่อการละเมิดกฎหมายของสื่อมาโดยตลอด
นายมานพกล่าวด้วยว่า ส่วนการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์อื่นๆ นั้นแม้มีเจตนาที่ดี แต่ก็เป็นการละเมิดกฎหมาย การปกป้องและช่วยเหลือเด็กมีช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ละเมิดจริยธรรมและกฎหมาย เช่น การเข้าพบพนักงานสอบสวนโดยตรง เพื่อดำเนินการ หากเข้าร้องเรียนสื่อๆ ก็ควรนำเสนอเฉพาะข้อมูลบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ควรนำภาพมาเผยแพร่ ซึ่งผิดกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน 2546 มาตรา 27 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้โฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทําให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
นายมานพกล่าวว่า มาตรา 50 ห้ามเปิดชื่อตัว ชื่อสกุล ภาพหรือข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับตัวเด็กในลักษณะที่น่าจะเกิดความ เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์ของเด็กหรือผู้ปกครอง โดยผู้ละเมิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนอกจากนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่ไทยได้ลงนามไว้เมื่อปี 2532 เพื่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้พ้นจากความโหดร้ายทารุณและการถูกข่มเหงรังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้าไม่ว่าในรูปแบบใดๆ