สื่อกับการรายงานข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง (1)

เหตุรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรวมไปถึงการกราดยิงในมัสยิดขณะที่มีผู้กำลังทำพิธีละหมาดตามด้วยการยิงพระภิกษุขณะกำลังบิณฑบาตร ทำให้ดิฉันหวนรำลึกถึงการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับ "สื่อกับการรายงานข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง" รวมทั้ง "บทบาทของสื่อที่จะมีส่วนรังสรรค์สันติสุขและสันติภาพท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง" ที่แดนภารตอินเดียเมื่อปลายเดือนที่แล้วขึ้นมาติดหมัด หลังจากเห็นสื่อบางฉบับพาดหัวใหญ่ว่า"ศึกศาสนา"ปะทุ

แม่งานใหญ่การประชุมที่อินเดียในครั้งนั้นได้แก่มูลนิธิฟรีดริค อีแบร์ท (เอฟอีเอส) ของเยอรมนี ทั้งที่ประจำการในไทยและอินเดีย รวมทั้งมูลนิธินักข่าวมืออาชีพ(เอฟเอ็มพี)ของอินเดีย

ก่อนที่เอฟอีเอสจะร่วมมือกับสถาบันอิสราเปิดตัวคู่มือรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งเมื่อเร็วๆนี้ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการรายงานข่าวอย่างมืออาชีพ ในสถานการณ์ขัดแย้ง โดยรวบรวมข้อมูลทั้งภาคทฤษฎีจากนักวิชาการและภาคปฏิบัติจากนักข่าวในภาคสนามที่ต้องทำข่าวภายใต้ความขัดแย้งและความรุนแรงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ปัญหาความขัดแย้งด้านขนบประเพณีและวัฒนธรรม ฯลฯ ใครอยากได้คู่มือรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง”ฟรี ก็ไปขอได้ที่สถาบันอิศรา รับรองจะเข้าใจถึงการทำงานด้วยความยากลำบากของสื่อมวลชนอีกเพียบเลย

ย้อนกลับไปที่การประชุมหารือที่อินเดีย มีข้อเตือนใจสำคัญ 3 ประการที่ดิฉันได้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบรรดานักข่าวมากประสบการณ์ ในพื้นที่ที่เปี่ยมไปด้วยความขัดแย้งตั้งแต่รัฐอัสสัมไปจนถึงศรีลังกา อิรักและปาเลสไตน์ นอกเหนือจากการตอกย้ำว่าสื่อจะต้องมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรง มา ปราศจากอคติหรือความลำเอียง นำเสนอข่าวที่ถูกต้องและรอบด้าน และอย่างมีความรับชอบ รวมไปถึงการให้ข้อมูลต่างๆเช่นปฐมเหตุของความขัดแย้ง วัฒนธรรม ขนบประเพณี หรืออคติทางเพศ ฯลฯ แล้ว สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดก็คือสื่อควรจะมีความอ่อนไหวหรือความละเอียดอ่อนในการนำเสนอข่าวที่อ่อนไหว (sensitivity on sensible journalism ) โดยไม่เป็นผู้จุดไฟหรือขยายปมความขัดแย้งให้บานปลายออกไป รู้ว่าสิ่งใดควรนำเสนอหรือควรระงับไว้ก่อนจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตินั้นก่อน ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็ต้องแข่งกันนำเสนอเป็นคนแรก โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้นตามมา

 นี่คือข้อเตือนใจสำคัญข้อแรกที่ดิฉันได้รับจากการประชุมครั้งนี้ และยิ่งเห็นสัจธรรมมากขึ้นหลังไฟใต้ปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงนี้