สื่อกับการรายงานข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง (3)

บรรณาธิการหลายคนแห่งแดนภารตได้หยิบยกเหตุการณ์คราวที่อินเดียกำลังจะได้เอกราชจากอังกฤษมาเป็นกรณีศึกษา โดยเล่าว่าในช่วงแรกชาวอินเดียทุกคนต่างผนึกกำลังกันต่อสู้เพื่อกู้เอกราชโดยไม่มีใครคิดถึงความแตกต่างของศาสนาแม้แต่น้อย เพราะต่างถือว่าเป็นชาวอินเดียเหมือนกัน แต่เจ้าอาณานิคมเจ้าเล่ห์อย่างอังกฤษต่างหากที่จุดชนวนความแตกแยกทางด้านศาสนาขึ้น และก็ได้ผลทำให้ชาวอินเดียเริ่มขัดแย้งกันเองระหว่างฮินดูกับมุสลิม ท้ายสุดชาวมุสลิมก้ได้แยกตัวไปตั้งเป็นประเทศปากีสถานขึ้น

นี่คือกับดักการเมืองอันสุดแสนแยบยลที่สื่อพึงรู้ทันและไม่ตกสู่กับดักนั้น โดยสิ่งหนึ่งที่พึงระวังก็คือการพยายามเลี่ยงให้มากที่สุดที่จะชูประเด็นความแตกต่างทางศาสนามาเป็นประเด็นพาดหัว อาทิ"ศึกศาสนา","ศึกฮินดู-มุสลิม"และ"ไฟศาสนาไทยพุทธ-มุสลิม" ฯลฯ เพราะเท่ากับกระพือความขัดแย้งให้บานปลายออกไปและทำให้คนหลงเชื่อคิดว่าเป็นชนวนของปัญหาจริงๆ

ข้อเตือนใจสุดท้ายก็คือสื่อควรจะเลือกข้างหรือไม่ ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎีแล้วสื่อจะต้องไม่เลือกข้างและต้องนำเสนอข่าวโดยปราศจากอคติและความลำเอียงใดๆ แต่นักข่าวที่ประจำการในศรีลังกาคนหนึ่งฟันธงทันทีว่าในทางปฏิบัติแล้วสื่อมักจะเลือกข้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พร้อมกับยกกรณีของหนังสือพิมพ์อินเดียที่ไม่เคยนำเสนอข่าวแม้แต่น้อยกรณีทหารอินเดียช่วยฝึกอาวุธให้กับกลุ่มติดอาวุธในศรีลังกา เป็นต้น

แต่นักข่าวหลายคนรวมทั้งสตีเฟน ฟาร์เรลล์ แห่งหนังสือพิมพ์เดอะนิว ยอร์ก ไทมส์ ที่เคยถูกจับเป็นตัวประกันระหว่างทำข่าวที่อิรักยืนยันว่าการรายงานข่าวที่ตรงไปตรงมา โดยปราศจากอคติหรือความละเอียงใดๆ และยึดมั่นในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จะเป็นเกราะกำลังชั้นดีให้นักข่าวสามารถทำข่าวได้โดยปลอดภัยรวมทั้งช่วยให้รอดตายได้ระหว่างถูกจับเป็นตัวประกัน ดีกว่าการที่นักข่าวจะพกพาอาวุธหรือหาองครักษ์มาช่วยคุ้มครองความปลอดภัยให้เสียอีก

ในตอนท้ายของการประชุมได้มีการพูดถึงการบทบาทของสื่อที่จะมีส่วนรังสรรค์สันติสุขและสันติภาพท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง อันเป็นบทบาทสำคัญยิ่งที่จะช่วยลดความขัดแย้งลงและช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ดังเช่นสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งได้จัดรายการโต้วาทีขึ้นระหว่างเด็กชาวสิงหลและชาวทมิฬ อันเป็นคู่กรณีขัดแย้งในศรีลังกา แต่จะให้เด็กชาวสิงหลพูดแทนเด็กชาวทมิฬ ส่วนเด็กชาวทมิฬจะต้องพูดแทนเด็กชาวสิงหล ปรากฎว่าได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ สื่อไทยเองก็น่าจะคิดรายการสร้างสรรค์ทำนองนี้บ้าง