สมาคมนักข่าวฯ แจง “ประยุทธ์” ความเชื่อมั่นไทย ขึ้นกับผู้นำ

 

สมาคมนักข่าวฯ แจง “ประยุทธ์” ความเชื่อมั่นไทย ขึ้นกับผู้นำ

กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ มีความเห็นแย้งนายกฯ  ซัดสมาคมสื่อไม่มีประโยชน์ ควบคุมกันเองไม่ได้ ย้ำปัญหาความขัดแย้ง ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาโลก เป็นภาพสะท้อนผู้นำประเทศ เรียกร้องเปิดใจ ปรับทัศนคติ

 

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แสดงความขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในบทบาทของสมาคมสื่อ โดยเฉพาะบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย แต่การกล่าวโทษว่า สื่อไม่มีจรรยาบรรณ อีกทั้งสมาคมสื่อก็ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมดูแลกันได้นั้น เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกัน  เพราะข้อกล่าวหาว่าสื่อเขียนข่าวให้ดูรุนแรงขึ้น หรือคำชื่นชมสื่อที่เขียนข่าวดีแล้วในความเห็นของนายกรัฐมนตรีไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นประเทศไทย มากกว่าข้อเท็จจริงในผลงานของรัฐบาล หรือประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของผู้นำเอง

“ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ บิดเบือนไม่ได้ พูดให้คนเชื่อไม่ได้ เขียนให้คนเชื่อไม่ได้ ถ้าไม่ได้มาจากความเป็นจริง หลักจริยธรรมเราชัดเจนว่า การเขียนข่าวต้องยึดถือข้อเท็จจริง ถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วน ประการสำคัญต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สมาคมสื่อไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปในการทำงานของสื่อใดๆ หากพวกเขาละเมิดหลักการนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคข่าวสาร สังคมทั่วไปจะตรวจสอบเอง ซึ่งผมเชื่อว่าในยุคสมัยที่มีสื่อหลากหลายเช่นนี้ คงไม่มีสื่อใดจะบิดเบือนข้อมูล ข่าวสารได้”

นายจักร์กฤษ กล่าวว่า หลักการทำงานของสื่อมวลชนทั่วไป ย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญอยู่แล้ว คงไม่มีสื่อใดที่มีเจตนามุ่งร้ายให้ประเทศชาติเสียหาย เพราะสื่อมวลชนก็มีฐานะเป็นสมาชิกหน่วยหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกับคนอื่นๆในสังคมด้วย สมาคมสื่อที่ก่อตั้งและมีอายุยืนนานมาหลายสิบปี ก็ย้ำเตือนถึงการทำงานของสื่อที่ต้องใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบมาตลอดเวลา และยังคงยืนยันว่าหากมีสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือกระทำผิดจริยธรรม สมาคมสื่อก็จะไม่ปกป้อง และจะมีการตรวจสอบกันเองอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา

กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ให้ความเคารพในบทบาทและหน้าที่ซึ่งกันและกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีหน้าที่ต่อประเทศชาติเช่นเดียวกัน หากแต่ต่างบทบาทกัน ความคิดในเรื่องอาวุโส เด็กหรือผู้ใหญ่นั้น ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่โดยวิชาชีพของสื่อมวลชน หรือการทำหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศ ซึ่งถือว่าเป็น “บุคคลสาธารณะ” สื่อมวลชนมีหน้าที่ตั้งคำถาม นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตอบ หากคำถามไม่เป็นที่พึงพอใจ นายกรัฐมนตรีก็อาจละเว้นไม่ตอบได้ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา และให้เกียรติแหล่งข่าวด้วยเช่นกัน

“บรรยากาศ ความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเช่นนี้ มีมาอย่างต่อเนื่อง จนดูเหมือนมีความขัดแย้งระหว่างท่านนายกรัฐมนตรีและสื่อตลอดเวลา ภาพเหล่านี้ปรากฏต่อสาธารณะมานานนับปี ผมคิดว่าประเด็นคงอยู่ที่ความไม่เข้าใจในวิชาชีพสื่อมวลชน ที่อาจมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ในเวลาเดียวกันท่านนายกรัฐมนตรีก็อาจมีความคาดหวังว่า สื่อจะมีบทบาทสำคัญเกื้อหนุนให้ท่านได้ทำงานสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งสื่อไม่ได้มีหน้าที่เช่นนั้น เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆที่แวดล้อมท่านอยู่ ทางเดียวที่อาจทำให้ปัญหานี้คลี่คลายได้ คือหันหน้ามาพูดคุยกัน ปรับทัศนคติกันอย่างเป็นเรื่อง เป็นราวสักครั้ง” นายจักร์กฤษ กล่าว

 

www.tja.or.th

16 กันยายน 2558