ภูมิทัศน์สื่อ ภาพฝันหนึ่งภูมิภาคอาเซียน
ปิยะภรณ์ วงศ์เรือง
บรรณาธิการข่าวการเมือง
The Nation
การรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมอาเซียนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาภายใต้คำขวัญที่ว่า หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตตลักษณ์ หนึ่งประชาคม
อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำขวัญที่สวยหรู ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนได้จับตามมองการรวมตัวดังกล่าวของประเทศสมาชิก ว่าจะสามารถเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนเพราะเป็นที่รับรู่กันในวงกว้างว่าเอาเข้าจริงๆแล้ว อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความแตกต่างหลากหลายและมีพลวัตรสูง
การผลักดันให้อาเซียนเกิดการรวมตัวกันอย่างแท้จริงได้ นอกจากการขับเคลื่อนเชิงนโยบายแล้ว สื่อมวลชน นับเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีบทบาทสูงและเป็นที่จับตามองในขณะนี้ว่าจะสามารถช่วยให้สมาชิกอาเซียนรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้คำขวัญดังกล่าวได้มากน้อยอย่างไร
แม้จะยังไม่มีการศึกษาวิจัยบทบาทของสื่อในภูมิภาคนี้อย่างจริงจังหลังการรวมตัวของประชาคม แต่งานศึกษาในอดีตที่ผ่านมาๆ รวมทั้งงานศึกษาโดย รศ. ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและการทำงานของสื่อในภูมิภาคย่างมีนัยสำคัญ
งานวิจัยที่ชื่อว่า REPORTING DEVELOPMENT IN ASEAN ซึ่งได้ทำการสำรวจการทำงานของหนังสือพิมพ์ชั้นนำในภูมิภาคเกือบ 20ฉบับทั้งภาคภาษท้องถิ่นและภาษาอังกฤษ อาทิ The Jakarta Post, The Bangkok Post, Vietnam News, New Light of Myanmar, Thairath ได้ทำการวิเคราะห์ประเด็นเนื้อหาหลักที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอาเซียนที่ปรากฏในรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ รวมทั้งยังแยกแยะแนวคิดและการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการพัฒนาในรายงาน ในช่วงหลังการประกาศการเชื่อมโยงอาเซียนในช่วงปี 2552 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่ปูทางให้กับการรวมตัวของอาเซียนในปัจจุบัน
จากการศึกษาของ รศ. ดร. อุบลรัตน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย IPS Asia-Pacific และ IDRC พบว่าประเด็นข่าวอาเซียนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว มากถึง 73 % เป็นการรายงานข่าวกระแสรายวัน มีเพียง 10.6% ที่เป็นบทวิเคราะห์ และเพียง 9.3% เป็นบทความหรือคอลัมน์แสดงความคิดเห็น
ในหนังสือพิมพ์เหล่านั้น รศ. ดร. อุบลรัตน์ พบว่ารายงานข่าวเชิงสารคดีมีน้อยมาก โดยพบเพียงราว 4% ของเนื้อหาที่ปรากฏ และเพียง0.3% ที่เป็นรายงานข่าวเชิงลึกสืบสวนสอบสวน โดยอีกประมาณ 3% เป็นบทสัมภาษณ์หรือการ์ตูน
รายงานศึกษาชิ้นดังกล่าว ยังพบว่าบรรดาหนังสือพิมพ์รายงานประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศหรือการทูตและความขัดแย้งของพรมแดนมากที่สุด โดยมีสัดส่วนของเนื้อหาข่าวอยู่ที่ประมาณ 21.8% โดยน้ำหนักจะอยู่ที่การต่างประเทศมากที่สุดที่ 15.8% ประเด็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ต่างๆคือประเด็นด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การเชื่อมพรมแดน การขนส่ง และการโทรคมนาคม โดบพบว่ามีสัดส่วนในการรายงานข่าวราว 21.2% ถัดจากเรื่องเศรษฐกิจการค้าคือเรื่องการรวมตัวของประชาคมอาเซียนการค้าเสรี และประชาคมต่างๆ ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนราว 18.6%
นอกเหนือจากนั้น จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการก่อการร้าย พลังงาน สิ่งแวดล้อม คิดเป็น 10.2%, ประเด็นสิทธิมนุษยชน คิดเป็น 0.8% โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นที่ได้รับความสนใจน้อยกว่ายังเป็นประเด็นด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม บันเทิง กีฬา สุขภาพ ภัยพิบัติและอื่นๆ
รายงานการศึกษายังพบว่าประเด็นที่ยังมีการรายงานน้อยมากจะเกี่ยวข้องกับสังคมภาพกว้างเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ความยากจนหรือชนกลุ่มน้อย ที่พบการรายงานข่าวเพียง 1.6%, การศึกษา 1%, ความเท่าเทียม 0.7% , เพศสภาพ สิทธิสตรี 0.54% และเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิภาคแม่โขงราว 0.29%
รายงานการศึกษายังได้ลงลึกถึงแหล่งข่าวที่หนังสือพิมพ์ใช้ในการรายงบานข่าว และพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ยังเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักการทูต หรือนักการเมือง ซึ่งมีสัดส่วนในเนื้อหาข่าวถึง 54.7% นอกเหนือจากนั้น จะเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ของ ASEANหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องซึ่งมีสัดส่วนเป็น 12.8% โดยข่าวแจกและรายงานมีสัดส่วนประมาณ 0.9%
จากข้อมูลดังกล่าว รศ. ดร. อุบลรัตน์ ได้ทำการวิเคราะห์ไว้ว่า เนื้อหาข่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการรวมตัวของ ASEAN อยู่พอสมควร ผ่านประเด็นเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม มันยังเป็นเรื่องของแนวคิดและความพยายามที่จะผลักดันซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในแผนหรือเอกสารของเจ้าหน้าที่เป็นส่วนใหญ่นอกจากนั้นแล้ว เนื้อหาข่าวยังเน้นกระบวนการรัฐ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการประชุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทอดทิ้งประเด็นที่เป็นปัญหาในพื้นที่ไว้เบื้องหลังไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาวะของประชากร ภัยพิบัติ และอื่นๆ ทำให้ประเด็นที่เป็นนัยสำคัญจริงๆของการรวมตัวของประชาคมอาเซียนได้รับการรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์น้อย
แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะมีการรายงานข่าวการต่างประเทศ หรือแม้กระมั่งความขัดแย้งด้านพรมแดนเป็นจำนวนมาก แต่นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของภูมิภาคและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันเอง
ด้วยการให้น้ำหนักข่าวดังกล่าว ประเด็นสังคมภาพกว้างที่เป็นฐานของการพัฒนาประชาคมจึงถูกละเลยเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ความเท่าเทียม ไปจนกระทั่งเรื่องเยาวชนที่เป็นความหวังของประชาคม
รศ. ดร. อุบลรัตน์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏ ทำให้เห็นว่า ผู้สื่อข่าวยังตามประเด็นจากรัฐเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความพยายามที่จะหาประเด็นข่าวที่มีนัยสำคัญต่อภูมิภาคเองหรือข่าวเชิงลึกน้อยกว่าข่าวที่มาจากรัฐอยู่มาก
รศ ดร. อุบลรัตน์ ได้เสนอข้อเสนอต่อการทำงานของสื่อในภูมิภาคในรายงานการศึกษาว่า สื่อในภูมิภาคควรให้พื้นที่ข่าวสำหรับประเด็นเชิงลึก บทความหรือบทวิเคราะห์ข่าวให้มากขึ้น โดยสื่อควรมีการใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่หลากหลายกว่านี้เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วนของข่าวโดยเฉพาะจากภาคประชาสังคมหรือคนธรรมดาสามัญ
การสร้างความสมดุลของเนื้อหาในรายงานข่าวเป็นความท้าทายของสื่อในภูมิภาค และการทำงานร่วมกันของสื่อข้ามพรมแดน อาจเป็นแนวทางหนึ่งในการเอาชนะความท้าทายดังกล่าว เธอได้เสนอ
และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการให้มุมมองเชิงลึกกับการรายงานข่าว เพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน รวมทั้งเสียงของคนชายขอบ
แม้ภาพฝันของประชาคมอาเซียนยังดูลงเลือนในเวลานี้ แต่ภาพสะท้อนที่ปรากฏในเนื้อหาสื่อในภูมิภาคกำลังบอกผู้คนในภูมิภาคว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมาก หากจะทำให้ภาพฝันนั้นกลายเป็นความจริง ดังคำขวัญที่ว่า “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตตลักษณ์ หนึ่งประชาคม”