รายงานสถานการณ์สื่อมวลชน ประจำปี 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

รายงานสถานการณ์สื่อมวลชน ประจำปี 2559

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สรุปภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 พบว่า ยังคงตกอยู่ในภาวะ “อึมครึม หวาดระแวง” อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของประกาศ คำสั่งอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตลอดจนท่าทีและทัศนคติของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อการทำงานของสื่อมวลชน

ขณะเดียวกันรัฐก็มีความมุ่งหมายที่จะออกกฎหมายควบคุมและแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง ถึงขั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เข้าไปแทรกแซงอำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ออกคำสั่งให้ขยายเวลาชำระค่าประมูลสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลออกไปและขยายอายุการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่วงการสื่อมวลชนกำลังเผชิญหน้ากับการปรับตัว รีดไขมันองค์กรของตัวเอง อันมีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ และในปี 2559 นี้เอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ถือเป็นความสูญเสียและความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงที่สุดของปวงชนชาวไทยรวมถึงวงการสื่อสารมวลชน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอยกสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 ให้เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า” โดยขอประมวลภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปีในด้านต่างๆ ดังนี้

 

ความวิปโยคและความสูญเสีย

นับได้ว่าปี 2559 เป็นปีแห่งความ “ซึมเศร้า”ของคนในวงการสื่อสารมวลชน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ในวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้รวมพลคนในวงการจัดงานอาลัยและระลึกถึงในชื่องาน “รวมใจคนสื่อน้อมเกล้าฯ แสดงความอาลัยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อวงการสื่อมวลชนไทยมาอย่างยาวนาน

 

ในวาระดังกล่าว กสทช.โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ให้ถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติของสำนักพระราชวังโดยเคร่งครัด โดยการถ่ายทอดเสียงหรือภาพเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ให้เชื่อมโยงสัญญาณโดยตรงจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและสถานี วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มิให้นำเอาภาพและเสียงไปออกอากาศซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและการเผยแพร่รายการต่างๆของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ให้งดรายการที่แสดงถึงความรื่นเริงเป็นเวลา 30 วัน โดยขอให้คำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

 

ข้อกังขาการปฏิรูปสื่อภายใต้ สนช.และ สปท.

ด้วยรัฐพยายามเข้ามาแทรกแซง ควบคุมสื่อในทุกรูปแบบ โดยการอ้างถึงการปฏิรูปสื่อ ล่าสุด คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยพบว่าได้มีแนวทางที่จะเปิดประตูให้นักการเมือง ข้าราชการ สามารถใช้อำนาจแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของนักข่าวมืออาชีพ ผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยให้มีปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติโดยตำแหน่งและยังเปิดช่องให้กรรมการอื่นอีก 4 คนที่จะเป็นใครก็ได้ถูกอำนาจรัฐเลือกเข้ามา

เท่ากับคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทั้งหมด 13 คน จะเป็นผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพแค่ 5 คน กรรมการที่เหลืออีก 8 คน เท่ากับยืนอยู่ฝ่ายรัฐ มีอำนาจชี้ขาดให้ออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงในประเทศไทย เป็นการคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศจุดยืนขอคัดค้านทุกรูปแบบให้ถึงที่สุดต่อแนวคิดดังกล่าวของสปท.โดยไม่เอาตัวแทนของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการในองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่และไม่ยอมรับให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่สมควรมีกติกาที่บังคับกลไกให้องค์กรสื่อกำกับดูแลกันเอง ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ “6 องค์กรสื่อวิชาชีพสื่อมวลชน” เสนอร่างประกบ กับร่างของ กมธ.เพื่อให้สมกับที่เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน เป็นนักข่าวมืออาชีพนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคม ตามกรอบจริยธรรมสื่อมวลชน คอยเป็นหูเป็นตาตรวจสอบประเด็นสาธารณะ  ให้ผลประโยชน์สูงสุดตกแก่ประชาชน

 

ร่างกฎหมายอันมีลักษณะควบคุม บังคับสื่อ ยังมีการดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติ (สนช.) คู่ขนานกันไปอีกฉบับหนึ่งด้วย ทั้งนี้ยังไม่นับรวมร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ที่ออกแบบตีกรอบสภาพบังคับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องจดทะเบียนเป็นสมาชิกองค์กรสภาวิชาชีพก่อนขอใบอนุญาตเปิดหัวหนังสือ และหัวหน้า คสช.ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปแทรกแซงอำนาจ กสทช.ออกคำสั่งให้ขยายเวลาการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูปสื่อล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะดึงคลื่นกลับไปเป็นของรัฐเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นคลื่นของสาธารณะอีก  จึงขอยกให้ปี 2559 เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก” เพื่อควบคุมสื่อ

 

จากสถานการณ์การปฏิรูปสื่อ ที่รัฐพยายามออกแบบกฎหมายหลายฉบับ เพื่อใช้กลไกอำนาจควบคุม แทรกแซง คุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนและยังมีการใช้อำนาจกำกับสื่อมวลชน ขณะที่สื่อมวลชนเองก็ยังนำเสนอข่าวที่ละเมิดจริยธรรมสื่อในหลายกรณี เปิดช่องให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างในความพยายามเข้าควบคุม

 

ถึงเวลาแล้วที่องค์กรสื่อมวลชนและคนในวงการสื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องรีบเร่งปรับตัว เพื่อฟื้นฟูศรัทธาให้เกิดต่อสาธารณะและให้สังคมเกิดความหวัง  แม้ว่าในยุคอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบันนี้ จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จนสถานประกอบการสื่อหลายแห่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอด ทำให้คนในวงการเกิดสภาพ “สื่อซึมเศร้า”

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอส่งกำลังใจในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้คนในวงการข่าวรวบรวมพลังฝ่าวิกฤติในช่วงนี้ไปให้ได้พร้อมๆ กัน

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

30 ธันวาคม 2559

 

ดาวโหลด (doc) (pdf)