องค์กรวิชาชีพสื่อเข้าร่วมประชุมกับ กมธ. เพื่อชี้แจงแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายตั้งองค์กรคุมสื่อ
นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน โดยมี พล.อ.อ. คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน ว่า “ในวันนี้ (9 มกราคม 2560) ตัวแทนคณะทำงานปฏิรูปสื่อ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็น และเจตนารมณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อ เกี่ยวกับการจัดทำร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.............
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ติดตามและได้รับเชิญไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวหลายครั้ง เพื่อให้การยกร่างกฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งยังคงหลักการสำคัญในการรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากการเมือง อันจะทำให้สิทธิการรับรู้ข่าวสารอย่างรอบด้านของประชาชนสูญเสียไป
อย่างไรก็ตาม จากร่างกฎหมายดังกล่าวของคณะกรรมาธิการฉบับล่าสุดนั้น ทางคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปและองค์กรวิชาชีพสื่อ พบว่ามีเนื้อหาบางประการที่สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนดำเนินการอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีเนื้อหาอีกบางส่วนที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งยังคงหลักการสำคัญในการรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากการเมือง อันจะทำให้สิทธิการรับรู้ข่าวสารอย่างรอบด้านของประชาชนสูญเสียไป
จากเหตุผลข้างต้น คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง ๖ องค์กร จึงขอเข้าประชุมกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในวันนี้เพื่อเสนอความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ดังต่อไปนี้
๑) การกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้เป็นองค์กรตามกฎหมายที่มีอำนาจในการลงโทษตามกฎหมายแก่ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรสื่อมวลชน ย่อมเป็นการเปิดช่องให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระของสื่อมวลชนของฝ่ายการเมืองโดยผ่านสภาวิชาชีพดังกล่าว เช่น การแทรกแซงกระบวนการสรรหา โดยการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างแท้จริง เข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
๒) การร่างกฎหมายดังกล่าว ควรยึดโยงกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการคุ้มครองเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขณะที่การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ในการกำกับดูกันเองในสื่อหนังสือพิมพ์ หรือการกำกับดูแลร่วมกับองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระในกรณีของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ไม่ใช่การร่างกฎหมายให้มีองค์กรตามกฎหมายที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงมาควบคุมองค์กรวิชาชีพอีกชั้นหนึ่ง ขณะเดียวกัน ควรมีการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนให้มากขึ้น
จากเหตุผลและข้อมูลข้างต้น คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง ๖ องค์กร ขอเสนอให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาการขับเคลื่อนประเทศ พิจารณาทบทวนการเสนอกฎหมายที่มีเนื้อหาขัดกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ และการธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป
ประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปกล่าวต่อไปอีกว่า “อยากให้สื่อมวลชนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้โดยตรง ร่วมกันติดตามกฎหมายฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อความเป็นอิสระของสื่อมวลชน โดยปราศจากการใช้อำนาจแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยผ่านองค์กรใดองค์กรหนึ่งซึ่งจะมีการจัดตั้งขึ้นมาตาม กฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะในประเด็นให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้นมาเพื่อใช้อำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้การเมืองและธุรกิจเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยส่วนรวม”