30องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์จี้ สปท.ยกเลิกพิจารณาออกกฎหมายควบคุมสื่อ ระบุเป็นการถอยหลังเข้าคลอง โกหกประชาชนว่าจะปฏิรูปประเทศ พร้อมขู่สื่อมวลชนทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวต่อต้านถึงที่สุดหากสปท.ไม่ยอมหยุด
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. เวลา 11.00น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 30ผู้บริหารองค์วิชาชีพสื่อมวลชน นักสื่อมวลชนอาวุโส ผู้สื่อข่าว-ช่างภาพหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กว่า200คน ร่วมประชุมหารือคัดค้านร่าง “พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.....” ที่คณะกรรมาธิการด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยกร่างเตรียมเสนอให้ สปท.รับรองและส่งให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาออกเป็นฏฎหมายบังคับใช้ โดย นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า สิ่งที่ทำและการพบปะในวันนี้ ไม่ได้ทำเพื่อเสรีภาพของคนทำสื่อเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ทำนั้น เพื่ออนาคตการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคม ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าระบบประชาธิปไตยเสาหลักสำคัญ คือ สื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่ในการกล้าตรวจสอบ แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว กำลังทำให้สื่อกำลังจะถูกปิดกั้น
ด้าน นางบัญญัติ ทัศนียะเวช สื่อมวลชนอาวุโส และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการออกกฎหมายถอยหลังคลอง ตรงข้ามกับการประกาศนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ถือว่าเป็นการกระทำไม่จริงใจ ชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปสื่อมวลชนที่รัฐบาลพยายามจะทำเป็นเรื่องโกหกทั้งนั้น เช่นเดียวกับ นายสุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษากองบรรณาธฺการเครือเนชั่น กล่าวว่า มีการพยายามเข้ามาควบคุมสื่อมวลชนในหลายรัฐบาลตลอดช่วงที่ผ่านมา และหากกฎหมายฉบับนี้ออกมา จะต้องมีการขออนุญาตในการทำงานของวิชาชีพนี้หมดทุกภาคส่วนหรือไม่ ขณะเดียวกัน จะมีข้อกำหนดในรายละเอียดของการจะเข้ามาสู่วิชาชีพสื่อ ที่มีกติกาควบคุมสื่อเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งวิธีการควบคุมสื่อ ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลไหน ก็คือการมีความต้องการนำอำนาจเข้าไปอยู่ในมือทั้งสิ้น ซึ่งการให้อำนาจกับคณะกรรมการชุดนี้ที่จะเข้ามาควบคุมสื่อ เป็นการนำเสรีภาพสิทธิขั้นพื้นฐานของการสื่อสารของประชาชนมาควบคุมทั้งหมด เช่น หากใครก็ตามที่เฟซบุ๊กไลฟ์ในลักษณะที่เป็นข่าว ก็ต้องถือว่าเป็นการถูกควบคุมต้องขออนุญาตด้วยหรือไม่
ต่อมาเวลา 13.00 น. คณะ 30ผู้บริหารองค์วิชาชีพสื่อมวลชน นำโดย นายเทพชัย หย่อง ประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนสปท.ยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้กลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าวใหม่ เนื่องจากการร่างกฎหมายฉบับนี้มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ และมีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐและเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนหากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศฯ เดินหน้ารับรองร่างพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศจะยกระดับมาตรการในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ต่อไปจนถึงที่สุด และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้พัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับความรับผิดชอบของสื่อมวลชนและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป