จดหมายเปิดผนึก ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เรื่อง การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

 

จดหมายเปิดผนึก

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

 

เรื่อง      การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

เรียน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผ่านประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

 

ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามความทราบแล้วนั้น

 

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ๓๐ องค์กรตามรายชื่อท้ายจดหมายนี้ เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ..... ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วนั้น มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพยายามท้วงติงและนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ที่เน้นหลักการส่งเสริมเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพรวมถึงการกำกับดูแลกันเองของคนในวิชาชีพ ให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณา แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ และยิ่งกว่านั้น ยังได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น โดยจะมีผลให้อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาครอบงำสื่อมากกว่าที่ผ่านมา

 

ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงจัดทำข้อเรียกร้องมายังสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศดังต่อไปนี้

๑)    ขอให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศชะลอการให้การรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ และให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ กลับไปทบทวนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

 

๒)    ขอให้สมาชิกสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณาเปลี่ยนแปลงประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ เพื่อให้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องปฏิรูปสื่อมวลชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจากที่ผ่านมา ประธานคนปัจจุบันได้ยอมรับว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องนี้ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยอ้างว่าได้รับประทานอาหารหารือผู้แทนองค์กรวิชาชีพให้ยอมรับร่างกฎหมายแล้ว รวมทั้งการอ้างงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

๓)    องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพร้อมให้ความร่วมมือกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย

สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย

สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย

สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)

สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด

เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน

เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก

เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้

ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน

 

(ดาวโหลด  DOC / PDF)