วันเสรีภาพสื่อโลก คึก รวมพลคนข่าว ต้านกม.คุมสื่อ
"ทูตสวีเดน" ถอดบทเรียนสื่อ ต้องมีเสรีภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันของสังคม
3 พฤษภาคม ของทุกปี คือ "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" ซึ่งในปีนี้ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรสื่อมวลชนเครือข่าย กว่า 30 องค์กร อาทิ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงานดังกล่าวขึ้นร่วมกับหลายประเทศทั่วโลก
ในปีนี้ที่ "คนวิชาชีพสื่อมวลชน" ในประเทศไทย มีการจัดงานภายใต้คอนเซ็ปต์สำคัญ คือ "หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน" ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ต้องการรวมพลังต่อสู้กับความพยายามของบางฝ่าย ที่มีจุดประสงค์ออกกฎหมายเพื่อคุกคามสิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชน กรณีที่ "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)" ผลักดันร่างกฎหมายที่หวังใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขีดกรอบการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน คือ "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน" ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อผ่านที่ประชุมสปท. แล้วจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบัญญัติเป็นกฎหมายใช้ต่อไป
ทั้งนี้ บรรยากาศของการจัดงาน ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นไปด้วยความคึกคัก ห้องประชุมแน่นขนัดด้วยตัวแทนสื่อมวลชนซึ่งที่ตระหนักของสิทธิเสรีภาพที่อาจจะถูกลิดรอนในอนาคต ทั้งนักข่าวรุ่นใหม่ และนักข่าวอาสุโสเข้าร่วมงาน รวมถึงมีนักการทูตจาก ประเทศฟินแลนด์, ประเทศออสเตรีย, ประเทศสวีเดน , ทูตจากสหภาพยุโรป, ตัวแทนสถานทูตสหรัฐอเมริกา และ สถานทูตอังกฤษ ซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทยเข้าร่วมงาน
"ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ได้กล่าวไว้อาลัยสื่อมวลชนทั่วโลกที่เสียชีวิตในรอบปี ว่า ในปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีสื่อมวลชนที่เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลก รวม 64 ราย โดยประเทศที่มีสถานการณ์ภัยคุกคามสื่อมวลชนรุนแรงที่สุด คือ ประเทศโคลัมเบีย, ประเทศอัฟกานิสถาน, ประเทศเม็กซิโก, ประเทศซีเรีย และ ประเทศอิรัก สำหรับสาเหตุของการเสียชีวิต คือ "ถูกยิงจนเสียชีวิต"
"สื่อมวลชนเหล่านี้ นำเสนอข่าวตรวจสอบกลุ่มมีอิทธิพล ผู้ใช้อำนาจรัฐ เช่น กรณีของ นักข่าวสาวชาวเม็กซิโก มิโรสลาวา เบรซ เธอถูกยิง 8 นัด ขณะที่เธออยู่ในรถซึ่งจอดอยู่หน้าบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้เธอติดตามทำข่าวเครือข่ายค้ายาเสพติด และอาชญากรรมในพื้นที่ รวมทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกกรณีหนึ่ง คือ ริคาร์โด มอนลูอิ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในรัฐเวราครูซ เม็กซิโก ถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าภรรยา และลูกชาย หรือ กรณีที่เกิดกับ อิกอร์ พาดิลลา ผู้สื่อข่าวช่องเฮชซีเฮช ประเทศฮอนดูรัส ที่ถูกยิง 20 นัดเพราะขุดคุ้ยการใช้อำนาจของตำรวจ" นายชัยฤทธิ์ กล่าว
นายชัยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับในภูมิภาคอาเซียน มีนักข่าวที่ถูกสังหารในช่วงปีที่ผ่านมา ถึง 5 ราย คือ ในประเทศเมียนมาร์ จำนวน 1 กรณี คือ โซ โม โทน วัย 35 ปี ผู้สื่อข่าวของอิเลฟเวน มีเดีย กรุ๊ป ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต หลังทำข่าวลักลอบค้าไม้เถื่อนและเกาะติดขบวนการค้ายาเสพติด ในประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 4 กรณี คือ กรณีของ เอลวิส ออร์ดานิซา นักจัดรายการวิทยุของฟิลิปปินส์ ซึ่งเขาเกาะติดยาเสพติดและการพนันผิดกฎหมาย, กรณีของอเล็กซ์ บัลโคบา นักข่าวสายอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์บริกาดา กรุงมะนิลา ที่เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนปลิดชีวิตที่หน้าบ้านของตนเอง หลังเปิดโปงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม, กรณีแลร์รี เค ที่ถูกลอบยิง หลังแสดงความเห็นและวิจารณ์ความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการจัดการกลุ่มค้ายาเสพติด, กรณี ฮัวคิน บริ โย เนส คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์รีมาเต ถูกยิงเสียชีวิตหลังเขียนบทความวิจารณ์ ทำประมงผิดกฎหมาย, บ่อนใต้ดิน, การค้ายาเสพติด
ซึ่งหลังจากที่ "ชัยฤทธิ์" กล่าวไว้อาลัยแล้ว "เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน" ร่วมยืนไว้อาลัยเพื่อแสดงถึงความรำลึกพี่น้องสื่อมวลชนที่เสียชีวิตเป็นเวลา 1 นาทีด้วย
จากนั้นเข้าสู่ไฮไลต์ คือ การอ่านแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดย "ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวฯ" ซึ่งมีข้อเรียกร้องสำคัญต่อ รัฐบาล ผู้มีอำนาจ สังคม และ สื่อมวลชน ดังนี้
"สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อมวลชนไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ ภายใต้ประกาศและคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลายฉบับ และกรณีที่ สปท. เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเปิดทางให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่สื่อมวลชน และปิดกั้น รวมถึงลิดรอนการรับรู้ข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน"
ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ให้รัฐบาล ยับยั้ง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ เพราะเป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และยิ่งไปกว่านั้นยังมีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
2. ให้ยกเลิกประกาศ และคำสั่งคสช. ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รับรองเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนไว้ชัดเจน
3. ให้สื่อมวลชนทุกประเภท ตระหนักถึงการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ต่อสังคม กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด รวมถึงพร้อมที่จะรับการตรวจสอบจากสังคม
4.ขอให้ประชาชนฐานะผู้บริโภคข่าวสารมีส่วนร่วมในการตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเข้มข้น
และ 5. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ขอยอมรับต่อการกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน และพร้อมจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำให้กลไกกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมที่มีอยู่แล้ว มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
การประกาศจุดยืนของ "องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน" นั้นเรียกความฮึกเฮิมและพลังของจิตวิญญาณของคนข่าวที่ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมได้เป็นอย่างดี
ต่อจากนั้น คือการจัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง "เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย" เพื่อให้นักวิชาการ ผู้ที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนและฝ่ายรัฐ เข้าแสดงความเห็นต่อทิศทางเสรีภาพคนข่าว ต่อกรณีที่ ร่างกฎหมายคุมสื่อมวลชน ถูกผลักดันไปโดยมีเจตนาที่จะกำกับและควบคุมการสื่อข่าวสู่สาธารณะ ซึ่งในเวทีเสวนานั้น ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า สื่อมวลชนต้องถอดบทเรียนเพื่อทบทวนตัวเอง และต่อยอดไปสู่การพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการกำกับ ตรวจสอบกันเองให้มีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์และก้าวต่อไปของสื่อมวลชนในสายตาต่างประเทศ ผ่านมุมมองของ "สตาฟาน แฮร์สตรัม" ทูตประเทศสวีเดน ประจำประเทศไทย ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์งานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกที่จัดในประเทศไทย ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อสถานการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทยในยุคนี้ แต่ได้ให้ความเห็นต่อการพัฒนาสื่อมวลชน ภายใต้กระบวนทัศน์ของประเทศสวีเดน อย่างน่าสนใจว่า ว่า ที่ประเทศสวีเดนมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีมากว่า 250 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยที่สวีเดนยังรวมอยู่กับประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเร็วๆ นี้ทั้ง2 ประเทศจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองดังกล่าวร่วมดัน อีกทั้งประสบการณ์ของทั้ง 2 ประเทศที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า บทบาทของสื่อมวลชนมีส่วนอย่างมากต่อการช่วยพัฒนาประชาธิปไตย รวมถึงสร้างความเท่าเทียมกัน ขจัดความเหลื่อมล้ำ
"สื่อในประเทศสวีเดนนั้น มีเสรีภาพและพร้อมที่จะให้ประชาชนนได้ตรวจสอบ อย่างกรณีที่มีประเด็นที่สื่อมวลชนลงข้อมูลที่กระทบกับประชาชน ประชาชนนั้นสามารถร้องเรียนไปยังสื่อได้ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นและการพัฒนาร่วมกัน ทั้งทางด้านนวัตกรรม เศรษฐกิจ ซึ่งเสรีภาพของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้น หากเปิดกว้างแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง แต่หากมีการปิดกั้นแล้ว รวมถึงสื่อมวลชนถูกปิดกั้นการพัฒนาส่วนนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้น"
สำหรับไฮไลต์ปิดท้ายของงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ในประเทศไทย คือ การประกาศและมอบรางวัลให้กับผู้ที่ชนะเลิศและผ่านการประกวดสโลแกน วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ที่ว่า "หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน" โดยผู้ที่ชนะเลิศในปีนี้ มี 2 คน คือ สุธิดา ปล้องพุดซา นักข่าวจากช่อง 9 อสมท. และ อรรถชยา โทนุศิษย์ ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง นสพ.เดลินิวส์
สุธิดา ปล้องพุดซา นักข่าวจากช่อง 9 อสมท.
อรรถชยา โทนุศิษย์ ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง นสพ.เดลินิวส์