สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 ต.ค.2562

สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-31 ต.ค.2562


1.เว็ปไซค์ "เดอะ แมทเทอร์" (https://thematter.co/brief/brief-1571396400/87756) ได้รายงานถึงสถานการณ์ปัญหาข่าวปลอมในแพล็ตฟอร์มต่างๆ จนมีผลต่อความน่าเชื่อถือ ทำให้ล่าสุเฟซบุ๊กไทยร่วมกับสำนักข่าว AFP จับมือตรวจสอบและประเมินความถูกต้องของคอนเทนต์ที่อยู่บนหน้าฟีด ทั้งตัวอักษร รูปภาพ และวิดีโอ ในรูปแบบค่างๆ แต่หากพบว่ามีคอนเทนท์ใดเป็นเท็จจะทำให้แสดงผลน้อยลง ภายหลังเฟซบุ๊กได้จับมือกับ AFP เพื่อทำหน้าที่นี้ใน 20 ประเทศแล้ว โดยเฟซบุ๊กไทยได้แนะนำวิธีการสังเกตข่าวปลอม 10 ข้อ ประกอบด้วย

  1. สงสัยข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดและเครื่องหมายอัศเจรีย์ หากข้อความพาดหัวที่น่าตื่นตระหนกฟังดูไม่น่าเชื่อถือ ข่าวนั้นน่าจะเป็นข่าวปลอม
  2. สังเกตที่ URL URL หลอกลวง หรือดูคล้ายอาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง คุณอาจไปที่เว็บไซต์เพื่อเปรียบเทียบ URL กับแหล่งข่าวที่มี
  3. สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน “เกี่ยวกับ” เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
  4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาท์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้
  5. พิจารณารูปภาพ เรื่องราวข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรื่องราว คุณสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากที่ไหน
  6. ตรวจสอบวันที่ เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์
  7. ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
  8. ดูรายงานอื่นๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หากมีการรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้ มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง
  9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่
  10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่คุณอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น

นอกจากนี้ "เดอะ แมทเทอร์" ยังได้รายงานถึงกรณีเฟซบุ๊กเปิดตัว News Tab หวังสู้กับปัญหาข่าวปลอมบนแพล็ตฟอร์ม ภายหลังใต้โลโก้เฟซบุ๊กในส่วนของ tab ต่างๆมีหน้า Home, Watch, Market Place, Wall และ Notification แต่ล่าสุดผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในสหรัฐอเมริกาบางส่วน ได้เริ่มลองใช้แท็บใหม่ที่ชื่อว่า News หรือ ‘ข่าว’ กันแล้ว โดยในแท็บนี้จะมีแต่ข่าวที่มาจากสำนักข่าวใหญ่ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือออนไลน์ ที่เฟซบุ๊กเป็นพาร์ตเนอร์อยู่กว่า 200 องค์กร อาทิ เอบีซีนิวส์ ซีบีเอสนิวส์ บลูมเบิร์ก โพลิติโก นิวยอร์กเกอร์ แอลเอไทมส์ บัซฟีด สำหรับเหตุผลในการสร้างแท็บนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการต่อสู้กับข่าวปลอม (fake news) ข่าวผิด (misinformation) เบื้องต้นจะมีข่าวให้เลือกอ่าน 5 ประเภท ประกอบด้วย ธุรกิจ บันเทิง สุขภาพ วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี และกีฬา

ถึงแม้ News Tab ได้ในเวลานี้ยังเป็นผู้ใช้งานในสหรัฐฯ บางส่วน กว่า 2 แสนคนเท่านั้น แต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กก็ประกาศว่า จะขยายการใข้งานแท็บนี้ไปทั่วโลกให้ได้ในอนาคต


2. "เครือเนชั่น" ประกาศยุทธศาสตร์เจาะออนไลน์เพิ่มเป้าปีหน้า เชื่ออนาคตมี 20-25 ล้านเพจวิวต่อวัน โดยภายในงาน Nation Transforms ของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศปรับกลยุทธ์มุ่งสู่การทำคอนเทนท์ดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการใช้ศักยภาพของแบรนด์เนชั่นที่มีอยู่มาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบกับการพัฒนาเนื้อหา หรือ คอนเทนท์ที่น่าสนใจ เพื่อดึงยอดผู้ติดตามให้เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลพบว่าคนไทย 69 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือ 92 ล้านเลขหมาย ซึ่งคนไทยใช้โทรศัพท์เข้าสู่ระบบโซเชียลสูงถึง 51 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 11 นาที จากปริมาณการใช้โทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวัน 9 ชั่วโมง 11 นาที ดังนั้นจากปัจจุบันเครือเนชั่นมีฐานเข้าชม หรือ ยอดวิว เว็บไซต์และสื่อออนไลน์ทั้งหมดประมาณ 10 ล้านรายต่อวัน โดยจะพัฒนายอดวิวให้ได้เป็น 20 และ 25 ล้านคนได้ในอนาคต
นอกจากนี้ เครือเนชั่นยังจะพัฒนาธุรกิจใหม่ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ ทั้งการจัดทำอีเวนท์ รวมถึงการทำเทรนนิ่งและจัดการสอนการแอพพลิเคชั่น รวมทั้งการทัวร์ผู้บริหารในการดูงานสำคัญของโลก และทำผลิตภัณฑ์แบรนด์เนชั่น เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มเติมรายได้จากโฆษณาที่ผ่านจากโทรทัศน์และออนไลน์เท่านั้น


3.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้เปิดเผยวิจัย หัวข้อ "สื่อไทยกับข่าวกลุ่มเปราะบาง" ใน https://www.chula.ac.th/cuinside/23638/ โดยมีการสำรวจในสื่อของสังคมไทยถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งถึงความเหมาะสมและการให้เกียรติผู้ที่อยู่ในข่าว โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวที่เชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชน ที่มีการเขียนข่าวและสร้างภาพตัวแทนทั้งในเชิงบวกและลบคำถามนี้ได้กลายมาเป็นหัวข้อโครงการศึกษาวิจัย “สื่อไทยกับการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง” ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ได้เน้นข่าวที่รายงานเกี่ยวกับกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้พิการ บุคคลที่มีหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้สูงอายุ ซึ่งถูกเลือกปฏิบัติเพราะอคติต่อสภาพร่างกาย เพศสภาพ เชื้อชาติ และแม้แต่ความชรา
สำหรับผลการสำรวจข่าวหนังสือพิมพ์กระแสหลักและสำนักข่าวออนไลน์ในช่วงเดือน ก.ค. ถึง ธ.ค.2561 จำนวน 753 ข่าว พบว่าสื่อมีแนวโน้มการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางอย่างรอบคอบ แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดในการวางกรอบข่าวและการสร้างภาพตัวแทนที่คำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางตามหลักคิดในปฏิญญาสากล และจริยธรรมวิชาชีพที่มีกำหนดไว้ เพราะหลักสิทธิมนุษยชนคือการยึดหลักความเท่าเทียม การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานสื่อและจริยธรรมสื่อที่เน้นการปฏิบัติต่อทุกคนในสังคมด้วยความเท่าเทียมกัน
แต่สาเหตุประการหนึ่งที่หนังสือพิมพ์บางฉบับไม่เลือกนำเสนอข่าวผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางในเชิงรุกอาจ เพราะเกรงว่าอาจจะเป็นตั้งคำถามต่อรัฐบาล หรือถูกมองว่าเลือกข้างแทนกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางจึงนำไปสู่การนำเสนอเรื่องมิติสิทธิมนุษยชนที่เน้นไปที่มิติด้านสังคม คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและอาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและจับต้องได้ แต่ข่าวที่เน้นมิติด้านการเมืองกับความเป็นพลเมืองมีค่อนข้างน้อย เพราะเป็นเรื่องสลับซับซ้อน สื่อต้องใช้เวลาทำความเข้าใจและติดตามอย่างจริงจัง จึงน่าสนใจที่จะคอยดูว่าในขณะนี้ที่เรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับความสำคัญจากประชาคมโลกเพิ่มมากขึ้น สื่อไทยจะพัฒนาแนวทางการสื่อข่าวด้านสิทธิต่างๆ ที่มีความผูกโยงเกี่ยวข้องกันทุกมิติในทิศทางใด
ในช่วงหนึ่งดร.อลงกรณ์ ได้เสอนไปถึงสื่อมวลชนควรจะตรวจสอบตัวเอง หรือรอให้ประชาชนคอยจับผิด โดยเฉพาะสื่อควรปรับฐานคิดตัวเองใหม่ ใส่คุณค่าคนลงไป ในข่าว ใช้ภาษาที่เคารพศักดิ์ศรี เน้นเนื้อหาด้านสิทธิมนุษยชน ได้หลากหลายมิติ ใช้แหล่งข่าวหลากหลายมากกว่าพึ่งข้อมูล จากทางรัฐเพื่อให้ได้เสียงสะท้อนของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางเพิ่มมากขึ้นด้วย


4.สำหรับความคืบหน้าศูนย์ต้านข่าวปลอม หรือ fake news center ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลฯ ได้ออกมาเปิดเผยถึงขั้นตอนการจัดตั้งศูนย์ ภายหลังทาบทามผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ขณะนี่อยู่ระหว่างติดตั้งระบบ social listening ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอม พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือต่างๆ ภายในศูนย์และทดลองให้เกิดความแม่นยำ เพื่อติดตามการแชร์ข่าวปลอมที่กระทบต่อประชาชน สร้างความเสียหายต่อประเทศในวงกว้าง รวมถึงข่าวที่โฆษณาเกินจริง
รมว.ดิจิทัลฯ ยืนยันศูนย์ต้านข่าวปลอมจะไม่มีเรื่องการเมืองมาแทรกแซง จะไม่เกี่ยวข้องกับข่าวที่เป็นข้อพิพาทระหว่างนักการเมืองด้วยกัน และจะไม่มีการล้วงความลับจากประชาชน ส่วนขั้นตอนการตรวจสอบข่าวปลอมนั้น เมื่อเกิดข่าวปลอมใดๆ จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 1 ชั่วโมง และนำเสนอขั้นตอนการตรวจสอบเป็น infographic เพื่อนำเสนอต่อไปยังประชาชน จากนั้นจะให้ ปอท.ดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอม โดยจะมีการเปิดตัวศูนย์ต้านข่าวปลอมอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 พ.ย.นี้


5.เว็ปไซค์ positioningmag (https://positioningmag.com/1248352) ได้รายงานถึงความคืบหน้ากฎหมายใหม่สิงคโปร์ที่ออกมาเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอม มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 2 ต.ค. ภายหลังกฎหมายฉบับนี้ทำให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ต้องขึ้นคำเตือนข้างๆ โพสต์ที่ทางการมองว่าเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะในกรณีร้ายแรง ต้องลบออก แต่จะมีแค่ 3 เพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และกูเกิล ยังได้รับข้อยกเว้นชั่วคราวจากข้อกำหนดในกฎหมายเพื่อให้พวกเขามีเวลาปรับตัว แต่หากการกระทำถูกตัดสินว่าเป็นภัยและสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของสิงคโปร์ บริษัทอาจถูกปรับเงินสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในขณะที่บุคคลอาจรับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิชาการเกือบ 100 คนทั่วโลกออกมาแสดงความกังวลต่อกฎหมายนี้เช่นกัน และเตือนก่อนหน้านี้ว่า อาจคุกคามเสรีภาพด้านวิชาการนักเคลื่อนไหวหลายคนกลัวว่า กฎหมายนี้อาจถูกใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างในการเลือกตั้งครั้งหน้าในสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะถูกจัดภายในอีกไม่กี่เดือน

6.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" (https://songsue.co/3503/) ได้รายงานหัวข้อ "เจาะข้อมูลเรตติ้ง : ไทยรัฐทีวีกับอนาคตบนเส้นทางทีวีดิจิทัล" เกี่ยวกับเรตติ้งของไทยรัฐทีวีตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในปี 2560 – 2561 ที่เรตติ้งขยับขึ้นสูงแบบทวีคูณ จากการปรับกลยุทธ์ รวมไปถึงการวางจุดเด่นของตัวเองเป็นสถานีข่าว ที่เน้นข่าวอาชญากรรม การเมือง และสังคมเป็นหลัก รวมถึงการได้รายการข่าวและวาไรตี้มาเสริมทัพ ส่วนเรื่อง "รายได้" ไทยรัฐทีวีมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีตามเรตติ้ง โดยเฉพาะในปี 2561 ทำรายได้มากถึง 999 ล้านบาท ขยับจากในปี 2559 อยู่ที่ 515 ล้านบาท และปี 2560 อยู่ที่ 666 ล้านบาท เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" ยังวิเคราะหไปถึงเส้นในอนาคตบนเส้นทางทีวีดิจิทัลคงเป็นช่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากแน่นอน โดยเฉพาะการปรับผังเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มชาวบ้านมากขึ้น เพราะยังเป็นจุดอ่อนของไทยรัฐทีวี โดยเฉพาะเรตติ้งในภาคใต้และภาคอีสานที่ยังคงทำได้ไม่ดีนัก และจะรักษาจุดยืนของการเป็นสำนักข่าวที่รวดเร็ว ตรงต่อสถานการณ์ได้หรือไม่