สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-30 เม.ย.2563

 

สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-30 เม.ย.2563


1.เว็ปไซต์ "ไทยรัฐออนไลน์" รายงานว่าแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กประกาศใช้งบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ช่วยธุรกิจสื่อในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ที่ได้รับผลกระทบเพราะโควิด-19 จากผลกระทบที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกในระบบเศรษฐกิจที่เจ็บสาหัส ธุรกิจต่างงดลงทุน และประหยัดงบประมาณ สิ่งหนึ่งที่ลดกันมากที่สุดคือ งบโฆษณา โดยเฉพาะที่เจอหนักขึ้นอีกคือสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้เฟซบุ๊กประกาศให้งบเร่งด่วน 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสื่อ 50 องค์กรในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วนอีก 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯนั้นเป็นงบช่วยด้านการตลาดกับสื่อทั่วโลก โดยในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลก เฟซบุ๊ก ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เป็นระยะ ตั้งแต่การเป็นแพลตฟอร์ม ศูนย์ข่าวโควิด-19 การบริจาคหน้ากากอนามัย การลดความละเอียดในการสตรีมมิ่งวิดีโอ เพื่อให้พื้นที่เครือข่ายสื่อสารสำหรับการใช้งานที่จำเป็น

2.เว็ปไซต์ "แนวหน้า" รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. เว็บไซต์ นสพ.The Sydney Morning Herald ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสนอข่าว 'Vital to communities': Government urged to save regional media outlets ระบุว่า พรรคแรงงานและพรรคกรีน 2 พรรคร่วมฝ่ายค้านในรัฐสภาออสเตรเลีย เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือธุรกิจสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรายได้จากโฆษณาหายไปจำนวนมาก

โดยมิเชลล์ โรว์แลนด์ (Michelle Rowland) ส.ส.พรรคแรงงาน ในฐานะโฆษกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ไมเคิล แม็คคอร์แม็ค (Michael McCormack) รองนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้สื่อระดับท้องถิ่นเข้าถึงองทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.3 หมื่นล้านบาท เพราะสื่อมวลชนระดับท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประชาธิปไตยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับของรัฐและสังคม


ขณะที่ซาราห์ แฮนสัน-ยัง (Sarah Hanson-Young) สว.พรรคกรีน เรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้สื่อท้องถิ่นเข้าถึงกองทุนสำหรับผู้จัดพิมพ์เพื่อลดความเสี่ยงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต้องปิดตัวลง ที่ผ่านมามีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น The Bunyip, Sunraysia Daily และ Barrier Daily Truth ต้องปลดพนักงานและปิดตัวลงอย่างไม่มีกำหนด


ด้านไมเคิล มิลเลอร์ (Michael Miller) ประธานบริหาร News Corp Australasia ยอมรับไม่มั่นใจที่สื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นจะกลับมาได้ทั้งหมดหลังจากเข้าสู่ยุคดิจิทัลในช่วงโรคระบาด แต่จะทำอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด ถึงกระนั้นก็ต้องเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเก็บเงินกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์อย่าง Facebook หรือ google ที่เผยแพร่เนื้อหาจากสำนักข่าวต่างๆ เพราะไม่มั่นใจว่ามาตรการภาคสมัครใจจะมีผลเนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่กับสื่อดั้งเดิม  
ส่วนพอล เฟล็ชเชอร์ (Paul Fletcher) รัฐมนตรีด้านการสื่อสารออสเตรเลีย กล่าวว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสื่อท้องถิ่นซึ่งเชื่อมโยงกับเม็ดเงินโฆษณาจากผู้ประกอบการธุรกิจในท้องถิ่น โดยเรียกร้องให้ผู้ให้บริการสื่อออนไลน์มีความโปร่งใสมากขึ้น แต่ยืนยันยังใช้มาตรการเชิงสมัครใจ โดยงบประมาณช่วยเหลือด้านค่าจ้างจำนวน 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 4.3 ล้านล้านบาท ที่ออกมาเพื่อพยุงผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ไม่ให้เลิกจ้างพนักงาน


3.เว็ปไซต์ "คมชัดลึกออนไลน์" รายงานไทยพีบีเอส ออกประกาศพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 โดยรองศาสตราจารย์วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อํานวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) ออกประกาศเรื่องพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ได้รับการยืนยันผลการตรวจจากแพทย์ที่โรงพยาบาลรามคําแหง และพนักงานคนดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ จ.สมุทรปราการแล้ว โดยสํานักบริหารได้ทําการพ่นยาฆ่าเชื้อโรคที่ได้มาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรค ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ของ ส.ส.ท.ไปแล้วทุกอาคาร และได้พ่นยาเพิ่มเติมในทุกสํานักและอาคารอย่างต่อเนื่องทั้งในวันธรรมดาและวันหยุดสลับหมุนเวียนกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

4.เว็ปไซต์ "เดลินิวส์ออนไลน์" รายงานกรณีหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ปีที่ 19 ฉบับที่ 6605 ลงวันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ.2563 ได้ตีพิมพ์ประกาศยุติการพิมพ์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป มีเนื้อหาระบุถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารได้เปลี่ยนแปลงไป สื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยมน้อยลง ประชาชนหันไปบริโภคข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัล สื่อทางเลือกและสื่อโซเชียลแทนทำให้ได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากธุรกิจโฆษณาได้เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค จากต้นทุนในการผลิตหนังสือพิมพ์สูงขึ้น ขณะที่รายได้จากโฆษณาถูกแบ่งถูกแชร์ไปยังสื่ออื่น กองบรรณาธิการคมชัดลึกเป็นองค์กรนำร่องในการทรานส์ฟอร์มไปสู่สื่อดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะทรานส์ฟอร์มสื่อกระดาษหรือออฟไลน์ไปสู่สื่อดิจิทัล หรือออนไลน์ 100% ภายในกลางปีนี้
แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือจากการวางแผน และเป็นสถานการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอ่าน และธุรกิจโฆษณา เดิมคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงเรื่อยๆ แต่เมื่อโควิดเข้ามา ทำให้แผงหนังสือปิด คนอ่านไม่กล้าเดินไปซื้อหนังสือ นี่คือตัวเร่งอีกปัจจัยหนึ่ง โดยไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อไหร่ ทำให้ตัดสินใจที่จะทรานส์ฟอร์ม นสพ.คมชัดลึกไปสู่ คมชัดลึกออนไลน์และสื่อดิจิทัลในเครือเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้


5.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" ได้รายงานสกู๊ปข่าวหัวข้อ "สี่พระยาการพิมพ์ : ขาลงของหนังสือพิมพ์ที่เดลินิวส์ต้องปรับตัวให้ทัน" โดยมีเนื้อหาความเป็นมาของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่มี บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เป็นเจ้าของ และมีประชา เหตระกูล เป็นบรรณาธิการบริหาร โดยมีจำนวนพิมพ์ปัจจุบันที่ 900,000 ฉบับ โดยเริ่มพิมพ์ในชื่อ เดลิเมล์วันจันทร์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2493 และต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น เดลินิวส์ ในวันที่ 22 มกราคม 2522 และใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน

เดลินิวส์ได้เริ่มมีการปรับตัว โดยได้นำเสนอข่าวผ่านเว็บไซต์ของเดลินิวส์เป็นช่องทางเพิ่มเติม และที่ผ่านมาเดลินิวส์ก็รับโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้เดลินิวส์ได้กระโจนเข้าสู่ธุรกิจทีวีอย่างการเปิดตัว “เดลินิวส์ ทีวี” ซึ่งหลังจากแปลงเป็นทีวีดิจิทัลแล้วก็ได้มีการแยกตัวออกจากเดลินิวส์อย่างถาวร เนื่องจากการบริหารไม่ตรงกันนั่นเอง แต่เดลินิวส์ในช่วงปีที่ผ่านมา มีรายได้ที่ลดลงลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปี 2561 มีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลทำให้ในปีนั้นไม่ได้กำไร และขาดทุนนับเป็นจำนวนกว่า 22 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2559 มีรายได้มากกว่าหลักพันล้านบาท และมีกำไรมากกว่าร้อยล้านบาท
แต่ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มมีจำนวนคนอ่านน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันออนไลน์กำลังเข้ามาแทนที่ และยังใช้พื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์ให้มีโฆษณามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำ Cover Ads หรือแม้กระทั่งการใช้พื้นที่บนโลก Social Media ให้คุ้มค่ามากกว่าเดิมด้วยการขายพื้นที่โฆษณาอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้สามารถพอกอบกู้รายได้มาได้บ้าง แต่เดลินิวส์ก็ยังมีจุดอ่อนที่ยังคงเป็นการทำงานที่ต้องใช้องค์กรขนาดใหญ่ รวมไปถึงการที่ใช้พื้นที่โฆษณาที่ยังำไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่ สิ่งที่เดลินิวส์อาจจะทำได้ในตอนนี้คือ การรุกออนไลน์ให้แตกต่างมากขึ้น รวมไปถึงการวิเคราะห์แบรนด์ให้ตรงกับจุดของผู้อ่านมากขึ้น



6.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" ยังรายงานถึงกรณี "ไทยพีบีเอส" ปรับรูปแบบการนำเสนอข่าว รับมือสถานการณ์ระบาด COVID-19 รายงานข่าวจากที่บ้าน Live from Home โดยไทยพีบีเอสเตรียมความพร้อมปรับรูปแบบการนำเสนอข่าว ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของสถานีไทยพีบีเอส ที่ให้พนักงาน Work from Home โดยลดจำนวนผู้ประกาศข่าวลง ปรับให้เป็นการรายงานข่าว และวิเคราะห์ข่าว ผ่านระบบ 4G ถ่ายทอดสดตรงจากบ้านผู้ประกาศข่าวสู่สายตาผู้ชม
สำหรับการรายงานข่าวจากบ้าน Live from Home ไทยพีบีเอสจะเริ่มในข่าวภาคค่ำ เบื้องต้นจะลดจำนวนผู้ประกาศที่อยู่ในสตูดิโอให้เหลือเพียง 1 คน และอีก 1 คนจะรายงานสดจากบ้าน สามารถ ติดตามข่าวค่ำมิติใหม่ทั่วไทย ได้ทุกวันจันทร์ -ศุกร์ เวลา 18.50-20.30 น. วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 18.02-20.15 น. และติดตามทุกเรื่องราว COVID-19 ไขทุกข้อข้อใจ เตรียมความพร้อมให้คนไทย ปรับการใช้ชีวิตให้อยู่ได้ อยู่เป็น ในภาวะวิกฤต COVID-19 ทางไทยพีบีเอสช่องหมายเลข 3 และ Covid19.thaipbs.or.th


7.เว็ปไซต์ "Rainmaker" รายงานกรณีบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด ทำหนังสือเลิกจ้างถึงพนักงานบางส่วน สาเหตุเกิดจากไวรัสตัวนี้ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายลง โดยมีผลตั้งเเต่ 1 พ.ค.2563 และมีการจ่ายค่าชดเชย 10 เดือนตามกฎหมาย

โดยรายละเอียดภายในหนังสือระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้บริษัทประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติและมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการของบริษัทในเครือทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งรวมถึงความจำเป็นในการเลิกจ้างพนักงานบางส่วนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทลง เพื่อให้บริษัทมีโอกาสรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ด้วยเหตุผลและความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ดังกล่าว บริษัทจึงจำเป็นต้องเลิกจ้าง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และบริษัทยินดีที่จะจ่ายเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมาย จำนวน 10 เดือน


8.เพจที่ใช้ชื่อว่า "พื้นที่ปลอดภัย Disaster and Hazard" ได้โพสต์ข้อความหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ประเทศกรีก แถมหน้ากากอนามัยช่วงไวรัสโควิดกำลังระบาด โดยเป็นภาะจาก Twitter Andreou ได้โพสข้อความว่า "ปกติหนังสือพิมพ์แทบลอยด์กรีก จะมีของแถมทุกวันอาทิตย์... แต่วันนี้แถมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์

"Greek tabloids always include a little gift on Sundays. Usually a free DVD or a book or parts of a model you collect Today, it’s a surgical mask."


9.เว็ปไซต์ "thaipbs" รายงานว่าองค์กรได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านเสริมสุขภาวะทางจิตอย่างกรมสุขภาพจิต และ สสส. ที่มีแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตไว้อยู่แล้ว และด้วยการเป็นหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะเช่นเดียวกัน ร่วมผลิตรายการ บ้าน-พลัง-ใจ ผลักดันให้เกิดวิธีคิดใหม่ ปรับ New Normal ของการใช้ชีวิตในสังคม ให้มุ่งสู่การอยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ เอาใจใส่ ประคับประคองทางสังคม (Social Cohesion) มีรูปแบบรายการจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านครอบครัวที่เป็นตัวแทนของคนหลากหลายอาชีพทั่วประเทศ โดยร่วมกันเรียนรู้ปัญหา เรียนรู้จากกระบวนการตัดสินใจ การอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ความรู้สึกซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะเติบโตด้วยทัศนคติที่จะกลายเป็นต้นทุนชีวิตของคนในสังคม ติดตามชมรายการ “บ้าน-พลัง-ใจ” ทุกคืนวันเสาร์ เวลา 21.10 - 22.00 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 เริ่มตอนแรก วันเสาร์ที่ 18 เมษายน 2563


10.เว็ปไซต์ positioningmag รายงานว่านายอริยะ พนมยงค์ ผู้บริหารที่ช่อง 3 ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังกุมบังเหียนได้เพียงแค่ 1 ปี โดยที่ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งตลาดหลังทรัพย์ เรื่อง แจ้งกรรมการลาออกโดยในรายละเอียด บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งว่า นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ และกรรมการบริษัท เนื่องด้วยเหตุผลส่วนตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 256311.เว็ปไซต์ "มติชน" รายงานว่ามติชนเตรียมประกาศปันผลหุ้น พ.ค.นี้ โดยน.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน แจ้งว่า ตามที่ บมจ.มติชน กำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ครั้งที่ 1/2563 ในวันที่ 24 เม.ย.นั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 16 เม.ย.จึงมีมติอนุมัติดังนี้

1.เลื่อนประชุมสามัญผู้ถือหุ้นออกไปไม่มีกำหนด ซึ่งการเลื่อนดังกล่าวไม่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับเงินปันผล ในวันที่ 7 พ.ค.2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 พ.ค.2563
2.อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลประกอบการปี 2562 ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท โดยบริษัทกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับเงินปันผลในวันที่ 30 เม.ย.2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 พ.ค.2563 ซึ่งเงินปันผลดังกล่าวจ่ายจากกำไรสะสมที่เสียภาษีในอัตรา 23% ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืนได้


11.เว็ปไซต์ "ผู้จัดการออนไลน์" รายงานว่านางประพิณ รุจิรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรกิจ บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ออกประกาศ เรื่อง "โครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนทางบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมในระยะยาว

โดยพนักงานบริษัทฯ ทุกระดับ ที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ ให้ส่งรายชื่อพนักงานไปให้หัวหน้าฝ่าย เพื่อรวบรวมแล้วนำส่งมาที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ภายในวันที่ 31 พ.ค. เพื่อเสนอต่อบริษัทฯ ให้พิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และแจ้งผลการพิจารณาให้พนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ทราบ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน ตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับบริษัทฯ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ในอัตราตั้งแต่ 30-400 วัน ขึ้นอยู่กับอายุงาน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีหลักการก็คือ บริษัทฯ จะพิจารณาเห็นชอบพนักงานที่ขอลาออกตามโครงการฯ นี้ เป็นความต้องการและสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างบริษัทฯ กับพนักงาน เป็นสิทธิฝ่ายเดียวของบริษัทฯ ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานลาออกตามโครงการ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทฯ

พนักงานที่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทฯ แล้ว จะยกเลิกการลาออกตามโครงการฯ ภายหลังไม่ได้ และต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ พร้อมทั้งส่งมอบงานให้เรียบร้อยก่อนสิ้นสภาพการเป็นพนักงาน และบริษัทฯ จะไม่รับพนักงานที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ กลับเข้าทำงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ อีก ทั้งนี้ พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลในวันที่ 1 ก.ค. 2563 และรับเงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายพร้อมเงินชดเชยเป็นเช็ค ในวันที่ 30 มิ.ย. 2563


12.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานว่า นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ลาออกจาก Business Today พร้อมทีมงานส่วนใหญ่ โดยนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ได้ให้สัมภาษณ์กับทางส่องสื่อว่า “ผมและทีมงานส่วนใหญ่ของ Business Today ขอขอบคุณพันธมิตรทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือผมและทีมงานในทุกๆ ด้าน จนสามารถพัฒนาแพลตฟอร์ม Business Today จนได้รับการตอบรับจากผู้อ่านในวงกว้าง และนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2563 ภารกิจในการจัดตั้งและพัฒนาแพลตฟอร์ม Business Today ของผมและทีมงานสิ้นสุดลงแล้ว”