สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-30 มิ.ย.2563

 

สรุปสถานการณ์สื่อ ประจำวันที่ 1-30 มิ.ย.2563

 

1.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงาน "MONO หยุดดำเนินธุรกิจ 2 บริษัทวิทยุ" โดย บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) แจ้งว่าบริษัท โมโน เรดิโอ จำกัด และบริษัท โมโน เรดิโอบรอดคาซท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% ได้หยุดดำเนินธุรกิจ และยุติการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงทางคลื่น 91.5 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมไปถึงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และบริษัทย่อยดังกล่าวขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การหยุดดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบอันเป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของบริษัทแต่อย่างใดเนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้รับรู้และบันทึกตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนในงบการเงินของบริษัทย่อยและบริษัทไว้แล้ว ขณะที่บริษัทจะบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อไป

 

2.เว็ปไซต์ "เนชั่นสุดสัปดาห์" รายงานมีติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติตามที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จำนวน 39 คน ตามมติคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งมาครบวาระ 3 ปี ดังนี้

1.สาขาการแพทย์และสาธารณสุข

1.1 ศาสตราจารย์เฉลิม หาญพาณิชย์

1.2 ศาสตราจารย์บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ

1.3 พลโทศาสตราจารย์คลินิกภานุวิชญ์ พุ่มหิรัญ

1.4 ศาสตราจารย์ยง ภู่วรวรรณ

1.5 ร้อยตำรวจเอก รุ่งเรือง กิจผาติ

2.สาขาต่างประเทศ ความมั่นคง และการเมือง

2.1 นายดนัย มู่สา

2.2 นายบรรสาน บุนนาค

2.3 พลเอก วิทยา จินตนานุรัตน์

2.4 พลโท สุขสันต์ สิงหเดช

3.สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเกษตร

3.1 นางสาวนันธิกา  ทังสุพานิช

3.2 นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี

3.3 นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม

3.4 ศาสตราจารย์สมชาติ  โสภณรณฤทธิ์

3.5 นายอดิทัต วะสีนนท์

4.สาขาเศรษฐกิจและการคลัง

4.1 นายเกริกพงษ์ เกสรทอง

4.2 นางชลิดา พันธ์กระวี

4.3 นางดวงตา ตันโช

4.4 นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ

4.5 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

5.สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย

5.1 พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์

5.2 นางสาวจันทจิรา เอี่ยมมยุรา

5.3 นายเชิดศักดิ์ เจนวรากุล

5.4 นายณอคุณ สิทธิพงศ์

5.5 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ

5.6 นายนที ทับมณี

5.7 นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์

5.8 นายนนทิกร กาญจนะจิตรา

5.9 นายธนกฤต วรธนัชชากุล

5.10 พลตำรวจตรี ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์

5.11 นายพิรุฬ เพียรล้ำเลิศ

5.12 นายพีระศักดิ์ ศรีรุ่งสุขจินดา

5.13 นายมานะ วีระอาชากุล

5.14 ผช.ศ.วรรณภา ติระสังขะ

5.15 พลตำรวจโท วราวุธ ทวีชัยการ

5.16 นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส

5.17 นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์

5.18 ผู้ช่วยศาสตราจารย์อดิศร เนาวนนท์

5.19 ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์

5.20 นางอัจฉรา อุณหเลขกะ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

 

3.เว็ปไซต์ "techsauce" รายงานหัวข้อ "Microsoft ปลดพนักงานคัดเลือกข่าว แทนที่การทำงานด้วยระบบ AI" โดยมีเนื้อหาระบุถึง Microsoft บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกได้เริ่มทดแทนงานของพนักงานในส่วนของการคัดกรองข่าวด้วยระบบอัตโนมัติหรือ AI แล้ว โดยปกติทางบริษัทนั้นจะมีการคัดเลือกข่าวมาจากสำนักข่าวต่าง ๆ มาขึ้นบนเว็บไซต์ MSN ซึ่งหน้าที่นั้นถูกทำโดยผู้คัดเลือกข่าวของ Microsoft ซึ่ง Microsoft ได้เผยว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ได้ทำการประเมินธุรกิจของเราเป็นประจำ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในบางส่วน และในบางครั้งก็อาจมีการปรับเปลี่ยนพนักงานในบางแห่งเช่นกัน และการตัดสินใจที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุผลจากสถานการณ์การระบาด

เหมือนกับบริษัทเทคโนโลยีหลายๆ แห่งที่มีการซื้อข่าวจากสำนักข่าวเพื่อใช้บนเว็บไซต์ของตนเอง ซึ่งผู้คัดเลือกข่าวจะเป็นผู้เลือกว่าข่าวใดที่ควรจะนำมาขึ้นบนเว็บไซต์ แต่การทดแทนของระบบอัตโนมัตินี้จะเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน ส่งผลให้พนักงานชั่วคราวของที่ทำตำแหน่งนี้นั้นถูกปลดกว่า 50 คนภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แต่สำหรับพนักงานประจำนั้นยังคงมีการจ้างงานต่อไป

Microsoft เป็นบริษัทเทคโนโลยีแรกๆ ที่ได้ทำการนำระบบนักข่าวอัตโนมัติเข้ามาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งทาง Google ก็กำลังที่จะลงทุนในด้านนี้เพื่อความเข้าใจกลไกของระบบเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็นหลาย ๆ บริษัทนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนการทำงานของคนมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

 

4.เพจ "Workpoint News" รายงานว่าเฟซบุ๊กพร้อมเตือนผู้ใช้งาน แปะป้ายสื่อโดนคุมเนื้อหาโดยรัฐ โดยจากคำแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของบริษัทเฟซบุ๊ก มีการประกาศฟีเจอร์ใหม่ที่จะทำให้ผู้ใช้งานทราบว่าใครคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังข่าวสารที่คุณกำลังอ่านอยู่ ในการรายงานของ BuzzFeed และ CNBC ระบุว่า สื่อที่ถูกควบคุมเนื้อหาโดยรัฐอย่างเช่น RT และ Sputnik ของรัสเซีย รวมถึง CCTV และ Xinhua ของจีน จะถูกแปะป้ายว่าเป็นการโพสต์โดยมีรัฐควบคุมบางส่วนหรือทั้งหมดของเนื้อหา เฟซบุ๊กแจ้งว่าจะทำการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ 65 คนจากทั่วโลกที่มีความรู้ในด้านสื่อ การกำกับดูแล และสิทธิมนุษยชน ในบางกรณีแม้ว่าสำนักข่าวนั้นจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกควบคุมเนื้อหาไปด้วย จึงต้องมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญในการคัดแยกสื่อแต่ละประเภท

นอกจากนั้นยังจะมีการบล็อกโฆษณาจากสื่อเหล่านี้ไม่ให้โผล่ในอเมริกา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีอิทธิพลจากต่างชาติเข้ามามีส่วนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย.2020 ทางด้านโซเชี่ยลมีเดียเจ้าดังอีกรายอย่างทวิตเตอร์นั้น พวกเขาได้ทำการแบนโฆษณาจากฝั่งรัสเซียไปตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อนแล้ว

 

5.เว็ปไซต์ "thumbsup" รายงานว่า "ครม. เห็นชอบเก็บภาษีจาก แพลตฟอร์มดิจิทัลคาดมีรายได้เพิ่ม 3,000 ล้านบาท" ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 9 มิ.ย. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษี “อี–เซอร์วิส“ หรือ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอเข้ามา ซึ่งเป็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก ดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้เรียกว่าภาษีอีบิสิเนส (E-Business)

"รัชดา ธนาดิเรก" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การเก็บภาษีดังกล่าวจะไม่เป็นภาระกับผู้ใช้บริการ เพราะปัจจุบันมีทั้ง เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น หนัง เพลง เกมส์ การจองโรงแรมจากแพลตฟอร์มต่างประเทศโดยไม่เสียมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่า จะสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะส่งมติเข้าที่ประชุมสภาฯ ตามขั้นตอนต่อไป

 

6.เว็ปไซต์ "ส่องสื่อ" รายงานเปิดผลประกอบการไทยรัฐทีวีปี 2562 โดยระบุว่ารายได้ในช่วงปี 2562 ไทยรัฐทีวีทำรายได้รวมไปทั้งสิ้น 1,376,103,399 บาท ดันรายสูงขึ้นร้อยละ 25.17 และมีรายได้หลักอยู่ที่ 1,265,097,780 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.34 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,099,357,161 บาท เพิ่มขึ้นมา 277 ล้านบาท เมื่อหักรายจ่ายรวมที่มีอยู่ที่ 1,431,374,125 บาท ลดลงจากปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 7.27 ทำให้ผลประกอบการขาดทุนลดลงจากปี 2561 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 554,515,039 บาท เหลือขาดทุนเพียง 171,389,707 บาท

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า "หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี ด้วยยอด 36 ล้านบาท – ส่วนออนไลน์ฟาดกำไรไปเพียง 14 ล้านบาทเท่านั้น โดยผลประกอบการในส่วนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐย้อนหลัง ซึ่งบริหารงานโดย บริษัท วัชรพล จำกัด ตั้งแต่ปี 2556 มีรายได้รวมอยู่ที่ 5,164 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 2,092 ล้านบาท รายจ่ายมีอยู่รวม 2,542 ล้านบาท จากนั้นมารายได้จึงลดลงมา แต่ยังคงได้กำไรหลักพันล้าน จนปี 2559 ได้รายได้รวมเพียง 3,071 ล้านบาท และกำไรหลุดหลักพันล้าน เหลือเพียง 927 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ผลประกอบการปี 2562 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีผลประกอบการหลุดไปอยู่ที่ 1,706 ล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนอยู่ที่ 1,722 ล้านบาท ทำให้กลายเป็นผลประกอบการขาดทุนไป 36,040,572 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐขาดทุน สรุปผลประกอบการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แบ่งเป็นดังต่อไปนี้ ปี 2556 รายได้รวม 5,164,506,046 บาท

กำไร 2,092,916,070 บาท ปี 2557 รายได้รวม 4,453,206,879 บาท กำไร 1,647,861,811 บาท ปี 2558 รายได้รวม 3,904,466,471 บาท กำไร 1,456,098,724 บาท ปี 2559 รายได้รวม 3,071,240,670 บาท กำไร 927,489,691 บาท

ปี 2560 รายได้รวม 2,597,030,036 บาท กำไร            603,793,955 บาท ปี 2561 รายได้รวม 2,135,406,715 บาท กำไร 313,002,104 บาท ปี 2562 รายได้รวม 1,706,034,580 บาท ขาดทุน 36,040,572 บาท

ด้าน "ไทยรัฐออนไลน์" ดูแลโดยบริษัท เทรนด์ วี จี 3 จำกัด โดยในช่วงปี 2562 มีรายได้รวม 194,152,118 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 176,319,744 บาท ทำให้ได้กำไรสุทธิ 14,117,375 บาท ต่างจากปี 2561 ที่ทำรายได้รวม 196,099,391 บาท ไม่แตกต่างจากปี 2562 แต่มีต้นทุนน้อยกว่า คือมีรายจ่ายรวมเพียง 150,742,689 บาท ทำให้ได้กำไรไป 36,139,467 บาท

 

7.เว็ปไซต์ "tvdigitalwatch" รายงานหัวข้อ ไตรมาสแรกปี 63 อสมท รายได้ลด 21% ขาดทุน 877 ล้าน โดยมีเนื้อหาระบุว่า เขมทัตต์ พลเดช  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผย งบการเงิน ในไตรมาส 1 ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563  อสมท มีผลขาดทุน 877 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปี 2562 ที่มียอดขาดทุนอยู่ที่ 32 ล้านบาท  ซึ่งเป็นผลจากการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์

ในขณะเดียวกันมีรายได้รวม 467 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยธุรกิจวิทยุและธุรกิจโทรทัศน์ ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สามารถสร้างรายได้มากที่สุด โดยในปี 2563 ธุรกิจวิทยุสามารถสร้างรายได้ในสัดส่วน 29% ธุรกิจโทรทัศน์ 24% รายได้จากการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล 19% ธุรกิจร่วมดำเนินกิจการ(สัมปทาน) 22% ธุรกิจใหม่  (สื่อออนไลน์ต่างๆ ของ อสมท)  1% รายได้อื่นๆ  5%

-ธุรกิจโทรทัศน์ ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 บมจ. อสมท มีรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ 111 ล้านบาท ลดลง36%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยในช่วงต้นปี 2563 ช่อง 9 ประกาศหันมาเน้นนำเสนอคอนเทนต์ข่าวลงผัง รวมกว่า 300 ชั่วโมงต่อเดือน และเสริมด้วยซีรีส์จีนและภาพยนตร์ต่างประเทศและอินเดีย

-ธุรกิจวิทยุ มีรายได้วิทยุในช่วงสามเดือนแรกปี 2563  135 ล้านบาท คลื่นวิทยุที่มีผลงานโดดเด่น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2562 ได้แก่ คลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 MHz คลื่นวิทยุที่สามารถสร้างรายได้สูงรองลงมาได้แก่ คลื่นความคิด FM 96.5 MHz, คลื่น MET 107 MHz, คลื่น FM 100.5 MHz News Network, คลื่น Active radio FM 99 MHz, และ คลื่น Mellow 97.5 MHz ตามลำดับ

-ธุรกิจใหม่ บมจ.อสมท มีรายได้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ ในไตรมาสหนึ่งปี 2563 เพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ได้ 9 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2562

-ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล มีรายได้ในไตรมาสหนึ่งปี 2563 จำนวน   92 ล้านบาท  ลดลงจาก 118 ล้านบาทในไตรมาแรกของปี 2562 ทั้งอสมท คาดว่า รายได้ส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังของปีนี้ เป็นผลมาจาก มีรายได้จากให้เช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา จำนวน 5 ช่อง

เงินเยียวยาคืนคลื่น ยังไม่ทำให้ปีนี้กำไร โดยบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมาใด้อนุมัติเงินเยียวยา ในการคืนคลื่น 2,600 MHz แก่ อสมท  3,235 ล้านบาท โดยแบ่งจ่าย 10 ปี และอสมท จะต้องแบ่งจ่ายให้กับบริษัท เพลย์เวิร์ค ซึ่งยังเป็นประเด็นที่สหภาพ อสมท ออกมาคัดค้าน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่า รายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับเงินเยียวยาครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้ อสมท พลิกมามีกำไรในปี 2563 จากข้อมูลในอดีต 4 ปีย้อนหลัง อสมท  ขาดทุน เพิ่มขึ้นลดลงไม่แน่นอน โดย ขาดทุน 734 ล้านบาท ในปี 2559 ขาดทุน 2,542 ล้านบาทในปี 2560  ขาดทุน 375 ล้านบาทในปี 2561 และขาดทุน 457 ล้านบาทในปี 2562  แต่ ปี 2563 ไตรมาสแรก  ขาดทุน 877 ล้านบาท มากว่าปี 2562 ทั้งปีเกือบ 1 เท่า

 

8.เว็ปไซต์ "ไทยโพสต์" รายงานว่า ศาลฟิลิปปินส์พิพากษานักข่าวคู่ปรับ "ดูเตร์เต" ผิดฐานหมิ่นประมาท โดยมาเรีย เรสซา อายุ 56 ปี บรรณาธิการและผู้บริหารสำนักข่าวแรพเลอร์ และสำนักข่าวแรพเลอร์ของเธอ โดนฟ้องดำเนินคดีอาญาหลายข้อหา ภายหลังเสนอข่าวและบทความวิจารณ์นโยบายของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต รวมถึงสงครามยาเสพติดที่มีผู้โดนเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมไปหลายพันคน

คดีนี้สืบเนื่องจาก "วิลเฟรเด เก็ง" นักธุรกิจ ยื่นฟ้องบทความของสำนักข่าวแรพเลอร์เมื่อ 8 ปีก่อน ที่เขียนโดยเรย์นัลโด ซานโตส จูเนียร์ อดีตผู้สื่อข่าวของแรพเลอร์ ที่โดนศาลตัดสินว่ามีความผิดข้อหาหมิ่นประมาททางไซเบอร์เช่นเดียวกับเรสซา บทความนี้กล่าวหาเก็งว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและค้ามนุษย์ และบอกว่าเก็งให้ผู้พิพากษาระดับสูงของฟิลิปปินส์ยืมรถยนต์ของเขา

คดีนี้ยื่นฟ้องตามความผิดของกฎหมายหมิ่นประมาททางไซเบอร์ที่เริ่มบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2555 หรือ 4 เดือนหลังจากแรพเลอร์เผยแพร่บทความนี้ แต่อัยการที่ยื่นฟ้องบอกว่า บทความนี้มีการแก้ไขความผิดพลาดในการพิมพ์ในปี 2557 หมายความว่าบทความนี้มีการเผยแพร่ใหม่อีกครั้งหลังกฎหมายนี้บังคับใช้

ผู้พิพากษา "ไรเนลดา มอนเตซา" แห่งศาลแขวงกรุงมะนิลา ระบุในคำพิพากษาเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายนว่า บทความของแรพเลอร์ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่อเก็ง และเสรีภาพของสื่อมวลชนไม่สามารถนำมาใช้เป็นโล่ป้องกันการโดนดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท

 

9.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้แก่ "ธนกร ศรีสุขใส"

 

10.เว็ปไซต์ "เนชั่นทีวี" รายงานว่า ผู้บริหารเครือเนชั่นฯ มอบหมายทนายความ เข้าแจ้งความดำเนินคดี 2 อดีตพนักงาน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังมีพฤติการณ์ เข้าแก้ไขเพจเฟซบุ๊ค นำข่าวในเครือหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยนายสิทธิเวทย์ จิวสิทธิประไพ ทนายความ ได้รับมอบหมายจาก บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าแจ้งความกับตำรวจกองปราบปราม กรณีเพจข่าว 3 เพจ ของบริษัทถูกลักลอบนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยแจ้งความเอาผิดกับอดีตพนักงานของบริษัท 2 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ภายหลังอดีตพนักงานของบริษัทเนชั่นฯ นำเพจเฟซบุ๊กข่าวของรายการที่บริษัทในเครือเนชั่นเป็นเจ้าของ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับอดีตลูกจ้างที่ได้ลาออก ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากมีการเข้าเพจเฟซบุ๊กของบริษัท 3 เพจ แล้วดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

 

11.เว็ปไซต์ "rainmaker" รายงานเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ว่า สยามโพสต์ ได้ออกเปิดเผยว่า ไทยรัฐอยู่ในระหว่างส่งรายชื่อพนักงานที่กำลังจะถูกจ้างออกให้แก่ผู้บริหาร โดยมีจำนวนถึง 50% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยหลังมีการเจรจาระหว่างผู้บริหารและพนักงานเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา