1.เว็ปไซต์ "วอชิงตันโพสต์" รายงาน นักข่าวทำเนียบขาวมีผลรวจผลบวกกับไวรัสโคโรนา โดยนักข่าวสามคนรวมถึง Michael D. Shear ผู้สื่อข่าวของ New York Times ได้ทดสอบเป็นบวกในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่ทำงานร่วมกับสื่อมวลชน การติดเชื้อรายใหม่ครั้งนี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลอีกรอบ ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวของทำเนียบขาว เรียกร้องให้สมาชิกหลีกเลี่ยงห้องแถลงข่าว และพื้นที่ทำงานขนาดเล็กที่อยู่ด้านหลังภายในปีกตะวันออกของทำเนียบขาว
2.เว็ปไซต์ "ไทยโพสต์" รายงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาปรับรูปแบบและกระบวนการให้ทุน พร้อมกับการสร้างความเข้าใจกับผู้ที่จะเสนอขอให้รับการพิจารณาแบบทั่วถึงได้โครงการที่มีคุณภาพและเกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยจากการที่ได้เปิดให้ทุนปี 2563 ได้รับความสนใจอย่างมากมีผู้เสนอโครงการมากว่า 1,460 โครงการ แต่จัดสรรได้เพียง 95 โครงการ ด้วยงบประมาณจำกัดเพียง 300 ล้านบาท ดังนั้น ในปี 2564 ได้ทำแผนเสนอของบประมาณเพิ่มเติม ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยนำประสิทธิภาพและผลสำเร็จ และสรุปผลโครงการที่เสนอขอในปีที่ผ่านมาไปประกอบการพิจารณา และจะเปิดเวทีทั้ง 4 ภาค เน้นการให้ความรู้เสนอแนะวิธีการเขียนขอทุน การกำหนดประเด็นปัญหาและผลิตชิ้นงาน และชี้แจงข้อจำกัดและกระบวนการการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อตัดปัญหาการทิ้งงานในอนาคต วางแผนจะประกาศเปิดรับโครงการตั้งแต่เดือน ม.ค.2564 และปลายเดือน ก.พ.2564 จะได้โครงการของผู้รับทุนเพื่อให้เวลาทำงานทันกำหนดเวลา
3.วันที่ 15 ต.ค.2563 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แถลงการณ์ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่อง หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลิดรอนเสรีภาพสื่อ การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 4 องค์กร มีความเห็นร่วมกันว่า การใช้อำนาจเช่นนี้ ยิ่งจะสร้างความขัดแย้งให้สังคมมากขึ้น และอาจนำไปสู่การลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชนซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เมื่อเหตุที่รัฐบาลอ้างในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีข้อโต้แย้ง ยังมีข้อสงสัยว่า เป็น “สถานการณ์ที่มีความร้ายแรงอย่างยิ่ง” หรือไม่ ข้ออ้างดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอที่รัฐบาลจะอาศัยเป็นข้อยกเว้น ในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ให้การรับรองว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้” ดังนั้น การดำเนินการใดๆ ของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พึงต้องระมัดระวังมิให้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน แต่ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ต้องระมัดระวังในการใช้เสรีภาพภายในขอบเขตความรับผิดชอบด้วย
4.วันที่ 15 ต.ค.2563 นักวิชาการด้านสื่อ 62 รายชื่อ 24 สถาบันออกแถลงการณ์ เรื่อง "การสื่อสารเพื่อคลี่คลายวิกฤติความขัดแย้งในสังคมไทย" โดยแถลงการณ์ มีเนื้อหาระบุถึง สังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤติความขัดแย้งของคนในสังคมอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน และไม่มีทีท่าว่าวิกฤติจะคลี่คลายลง ทุกวันนี้ จํานวนการสื่อสารที่กระตุ้นความเกลียดชัง บิดเบือนความจริง และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจากสื่อมวลชนกระแสหลักหรือสื่อภาค ประชาชนฝ่ายใดก็ตาม ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงดําเนินต่อไปและไม่เร่งหาทางแก้ไข อาจนําไปสู่วิกฤติ ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงยิ่งในสังคม ในฐานะนักวิชาการที่สอนด้านสื่อและการสื่อสารทั้งหมด 62 คน (ตามรายนามแนบท้าย) รู้สึกห่วงใย ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมองว่าการสื่อสารเป็นกลไกสําคัญที่จะนําไปสู่การหาทางออกที่แท้จริงของ วิกฤตการณ์ได้ จึงขอเสนอทางออกดังต่อไปนี้1. ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงและการสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อกันทั้งในการเผชิญหน้าและการสื่อสารผ่านสื่อทุกประเภท2. ขอให้ภาครัฐจัดพื้นที่การสื่อสาร เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติดังกล่าวได้สื่อสารกัน รับฟังกัน และพูดคุยหาทางออกร่วมกันอย่างมีสติ3. ขอให้ผู้บริหารองค์กรสื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับในองค์กรสื่อมวลชนยึดมั่นในจรรยาบรรณสื่อและความรับผิดชอบต่อสังคม นําเสนอข้อมูลข่าวสารของเหตุการณ์อย่างถูกต้อง รอบด้าน ไม่กระตุ้นความเกลียดชัง มุ่งสร้างสติและสันติให้คนในสังคม4. ขอให้องค์กรที่ทําหน้าที่กํากับดูแลสื่อและการสื่อสาร ทั้งของภาครัฐและภาควิชาชีพปฏิบัติงานกํากับดูแลสื่อในเชิงรุกบนพื้นฐานของจรรยาบรรณสื่อ ความรับผิดชอบต่อสังคมและคํานึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้านของคนในสังคม5. ขอให้สถาบันการศึกษาและนักวิชาการด้านสื่อและการสื่อสารตระหนักถึงพันธกิจสําคัญของตนในการร่วมแก้ปัญหาสังคมด้วยการสื่อสาร โดยช่วยกันสื่อสารเพื่อสร้างสติและสันติใน สังคม รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการสื่อสารให้แก่นิสิตนักศึกษา และคนในสังคม เพื่อร่วมกันหาทางออกของวิกฤตการณ์ครั้งนี้6. ขอให้คนในสังคมร่วมกันตรวจสอบการทํางานของสื่อที่มุ่งสร้างความเกลียดชัง บิดเบือนความจริง และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจนําไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพได้7. ขอให้ผู้ใช้สื่อมีสติในการส่งสารและรับสาร เคารพในความเป็นมนุษย์ ไม่สื่อสารสร้างความเกลียดชัง เปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อไม่ ตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชังของฝ่ายใด
5. 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีการจัดชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จนนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ และขอเรียกร้องต่อทุกฝ่าย ดังนี้1. ขอให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ โดยให้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และต้องไม่ใช้สื่อของรัฐปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง2. ขอให้ฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุม เข้าใจและเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ให้สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน รอบด้านและเป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร จึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคามและแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ จะส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ของประชาชน3. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่การรายงานข่าวสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ส่งผ่านถ้อยคำความรุนแรงที่อาจจะสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในสังคมและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากที่สุด
6.เว็ปไซต์ "ข่าวสด" รายงานจากกรณี นายกิติ อายุ 24 ปี ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทถูกจับกุม ยึดกล้อง และโทรศัพท์ ขณะรายงานสด บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยนักข่าวประชาไทได้พูดในไลฟ์ว่า "ผมถูกควบคุมตัวเรียบร้อยแล้วครับ" โดยถูกควบคุมตัวมัดมือไพล่หลังในรถผู้ต้องขัง เมื่อช่วงค่ำ วันที่ 16 ต.ค.2563 ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2563 โดยประชาไทเปิดเผยว่า นายกิติ นักข่าวประชาไท ที่ถูกจับกุมขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ สลายชุมนุมแยกปทุมวัน ฯ ได้รับการปล่อยตัว จาก ตชด.ภาค1 แล้ว โดยถูกปรับ 300 บาท ข้อหาฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ม.368
7.วันที่ 19 ต.ค.2563 กอร.ฉ สั่ง กสทช. – ดีอีเอส ระงับ/เผยแพร่การนำเสนอข่าว ของ Voice TV ประชาไท The reporter THE STANDARD โดยพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้ออกคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา
11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบุตอนหนึ่งว่า เนื่องจากปรากฏว่าได้มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทางโทรทัศน์ด้วยการนำเสนอเนื้อหารายการบางส่วนของ วอยซ์ทีวี และ / หรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV ประชาไท Prachatai.com The reporter THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTHจึงให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) ดำเนินการเพื่อตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2563
8.จากกรณีคำสั่งของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ได้ออกคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการบางส่วนของ วอยซ์ทีวี และ/หรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The reporter, THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTHทั้งนี้ นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nakarin Wanakijpaibul ระบุว่า หลายคนคงได้เห็นเอกสารนี้ ผมและทีมงานตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าจริงครับ ทางเจ้าหน้าที่ กอร.ฉ. จะแถลง 10 โมงเช้า ขอบคุณทุกท่านที่ส่งความห่วงใยมาครับ THE STANDARD ขอยืนยันในฐานะสื่อมวลชนว่าจะทำหน้าที่ยึดตามหลักวิชาชีพ จรรยาบรรณ สิทธิเสรีภาพสื่อตามกฎหมายครับ
9.เว็ปไซต์ "ThaiPBS" รายงาน สื่อมวลชนไทย-ต่างประเทศ เรียกร้องรัฐเคารพสิทธิเสรีภาพ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ FCCT ออกแถลงการณ์ ระบุ กังวลต่อความปลอดภัยของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนทั้งไทยและสื่อมวลชนต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติของพระราชกำหนดฉุกเฉินฉบับใหม่ กับข้อห้ามในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่คลุมเครือ และไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะทำให้มีผู้สื่อข่าวถูกจับกุมระหว่างการรายงานข่าวได้ ดังที่เกิดขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ต.ค.2573 แม้จะเป็นการจับกุมเพียงชั่วคราว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้แสดงถึงความเสี่ยงที่สื่อต้องแบกรับในการรายงานข่าวทั้งนี้ FCCT ขอเรียกร้องให้ทางการไทยเคารพบทบาทและหน้าที่ของสื่อทุกแขนงในประเทศไทย เช่นเดียวกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือ TJA ออกแถลงการณ์เช่นกัน ความตอนหนึ่ง ระบุว่า ขอให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ โดยให้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และต้องไม่ใช้สื่อของรัฐปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
10.เว็ปไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" รายงานประชาชน ร้องเรียนตรวจสอบ "ทวิตเตอร์-เฟซบุ๊ค-เว็บบอร์ด" อื้อ จนท.ชี้ 324,990 เรื่อง เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพ์และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดีอีเอส สรุปตัวเลขช่วงการชุมนุม รอบสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13 - 18 ต.ค.2563 พบมีแกนนำ นักการเมือง ผู้ใช้โซเชียล โพสต์ผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เตรียมทยอยส่งดำเนินคดี พร้อมเตือนประชาชนใช้สื่อออนไลน์อย่างระมัดระวัง ตามที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้นโยบายในการตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ เฝ้าติดตามมอนิเตอร์การกระทำความผิดในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระหว่างวันที่ 13-18 ต.ค.2563 โดยที่มีทั้งประชาชนแจ้งเข้ามา และทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบ ว่าเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็น Twitter 75,076 เรื่อง Facebook 245,678 เรื่อง และ Web board 4,236 เรื่อง ซึ่งรวมทั้งผู้โพสต์คนแรก และแชร์ รีทวิตข้อความที่ผิดกฎหมาย
11.วันที่ 19 ต.ค.2563 ทาง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยิสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง การตรวจสอบ-ระงับสื่อมวลชนในการสถานการณ์การชุมนุมที่มีความละเอียดอ่อน ภายหลังมีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ ของสื่อมวลชน อันประกอบด้วย วอยซ์ทีวี และหรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV ประชาไทดอทคอม The Reporters และ The Standard ตามความทราบแล้วนั้น6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการที่อ้างอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของสื่อมวลชน ในสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน จึงขอยืนยันจุดยืนดังต่อไปนี้1. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันจุดยืนคัดค้านการปิดกั้นหรือคุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใด2. การตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ระบุว่า “... การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้...”ทั้งนี้ รัฐบาลจะสามารถใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ก็เพียงการห้ามเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน เฉพาะในประเด็นที่ละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้งเท่านั้น แต่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่เกินกว่าเหตุ3. การปิดกั้นสื่อในลักษณะนี้ ย่อมเป็นความพยายามในการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าว ออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับการอาศัยความเป็นสื่อมวลชนบิดเบือนข้อเท็จจริงและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งกระทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยความครบถ้วนรอบด้าน โดยนำเสนอความจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหาสุดท้ายนี้ การแสดงจุดยืนของทั้ง 6 องค์กรสื่อ เป็นไปตามหลักการของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำแถลงการณ์ฉบับนี้ไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง
12.เว็ปไซต์ "คมชัดลึก" รายงานแถลงการณ์ คณาจารย์ วารสารฯ"ธรรมศาสตร์" ขอให้หยุดแทรกแซงสื่อ ยุติปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชน โดยเฟซบุ๊กเพจ“JCTeam@yrservice”ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของ คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง“ขอให้ยุติการแทรกแซงและปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน” โดยระบุว่า ตามที่มีเหตุการณ์การชุมนุมของประชาชน เยาวชน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ซึ่งโดยภาพรวมเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ได้มีการใช้กำลังของรัฐต่อผู้ชุมนุมในการกระชับพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ข้อ 2 (ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือ ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร)โดยมีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 ให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของสื่อ 4 แห่ง ได้แก่ Voice TV ประชาไท The reporters และThe STANDARD รวมถึงเพจของนักกิจกรรมคือ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH นั้นคณาจารย์ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ขอแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระชับพื้นที่ของรัฐ และต่อประกาศและคำสั่ง ดังกล่าว จึงขอเรียกร้องดังนี้
1. ขอให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งใดที่เป็นการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อทุกประเภท เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในเชิงเปรียบเทียบด้วยตนเอง ดังนั้นการออกกฎระเบียบใดๆ เพื่อระงับหรือจำกัดสิทธิในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งไม่สมควรในการกำกับดูแลสื่อในระบอบประชาธิปไตย2. ขอให้รัฐบาลให้เสรีภาพสื่อได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ การเลือกปฏิบัติในการสั่งระงับหรือจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อบางราย ไม่อาจเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยแก่รัฐ แต่ยิ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการคัดกรองช่องทางการนำเสนอจากรัฐมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในทางปฏิบัติหากรัฐพบว่าสื่อใดนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง รัฐควรชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ ส่วนสื่อที่ละเมิดกฎหมาย รัฐสามารถใช้กฎหมายพื้นฐานที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในการดำเนินคดี3. ขอให้สื่อนำเสนอเนื้อหาข่าวการชุมนุมอย่างรอบด้าน ขอให้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสถาบัน นำเสนอเนื้อหาข่าวการชุมนุมและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ปราศจากการชี้นำต่อประชาชน เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปสู่การเพิ่มความขัดแย้งและใช้ความรุนแรง4. ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงและอำนวยการจัดพื้นที่การเจรจาที่ปลอดภัยกับผู้ชุมนุม จากการที่รัฐใช้กำลังเข้ากระชับพื้นที่กับผู้ชุมนุม จนเกิดการบาดเจ็บทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในทุกกรณี รวมทั้งแสดงการรับทราบข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และอำนวยการจัดพื้นที่การเจรจาที่ปลอดภัยกับผู้ชุมนุมโดยด่วน ในส่วนของผู้ชุมนุม เมื่อรัฐรับทราบข้อเสนอของผู้ชุมนุมแล้ว ขอให้ผู้ชุมนุมพิจารณาชะลอการชุมนุมไว้ชั่วคราว และเข้าร่วมเวทีการเจรจากับฝ่ายรัฐ เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธีร่วมกัน
13.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอเชิญสื่อมวลชนส่งผลงานเข้าประกวด "รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2563 (Media Awards 2020) การประกวด “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2563 ( Media Awards 2020) มีทั้งหมด 6 รางวัล โดยแบ่งประเภทการประกวดดังต่อไปนี้1. ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์2. ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์3. ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที)4. สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที)ประเภทใหม่5. ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 10นาที)6. ภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ...ความงดงามในเสรีภาพการแสดงออก”โดยการประกวดในประเภทที่ 1-4 รับเฉพาะผลงานจากสื่อมวลชนเท่านั้น ส่วนในประเภทที่ 5-6 เปิดรับผลงานทั้งจากสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปสำหรับผลงานที่ส่งเข้าประกวดในประเภทที่ 1-5 ต้องเผยแพร่หรือตีพิมพ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562- 31 ตุลาคม 2563 ส่วนประเภทที่ 6 ต้องเป็นภาพถ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม 2563-31 ตุลาคม 2563 เท่านั้น โดยจะมีการเปิดรับผลงานในทุกประเภทระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2563
14.เว็ปไซต์ "คมชัดลึก" รายงาน อสมท.เตรียมลดพนักงานจากหลักพันให้เหลือแค่ 700 คน โดยนายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท. จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า บริษัทกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติด้านการเงินอย่างหนัก และมีความจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน อสมท. มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกิจการของ อสมท. ดำรงอยู่ได้ด้วยเงินจากการโฆษณา ซึ่งการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลทำให้เม็ดเงินดังกล่าวถูกตัดแบ่งออกไปสู่ช่องทีวีรายใหม่จำนวนมากอย่างต่อเนื่องประกอบกับจำนวนผู้ชมโทรทัศน์และผู้ฟังวิทยุลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ถูกโยกไปสู่สื่อดิจิทัลอื่นๆ เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบแก่อุตสาหกรรมโทรทัศน์อย่างควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นภาวะที่ควบคุมไม่ได้และยังไม่มีจุดสิ้นสุด ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้ประมินธุรกิจลักษณะดียวกับ อสมท. ว่าจำนวนพนักงานที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจในอนาคตคือ 700 คน ในขณะที่ปัจจุบัน อสมท. มีพนักงานมากถึง 1,300 กว่าคน ไม่รวมถึงลูกจ้างโดยมีการแนะนำให้ อสมท. พิจารณาจัดโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) เพื่อปรับลดพนักงานให้เหมาะสม โดยฝ่ายบริหารแนะนำให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ควรมีเป้าหมายในการบริหารจัดการเงินที่ได้รับจากโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ
15.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงาน อสมท เปิดโครงการ"ร่วมใจจาก" จ่ายสูงสุด 35.33 เท่า โดยนายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการ และ รักษาการในตำแหน่ง กก.ผอ.ใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานของ อสมท ในปี 2564 จะมุ่งปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเดิม เพื่อรักษารายได้และเรตติ้ง และสร้างแหล่งรายได้ใหม่เพื่อการเติบโต เช่น การบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ที่ดินย่านรัชดา-พระราม 9 รวมทั้งเดินหน้าพัฒนาโครงการธุรกิจดิจิทัลให้มีผลกำไร ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิมมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจาก Disruptive technology และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้รายได้จากธุรกิจโทรทัศน์และวิทยุของ อสมท ลดลง ซึ่งส่งผลให้ อสมท เริ่มมีผลการดำเนินงานขาดทุนตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ในปีนี้ อสมท จึงได้เริ่มดำเนินโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan :MSP) ประจำปี 2563 โดยที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.อสมท ครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้ อสมท ดำเนินโครงการดังกล่าวตามความสมัครใจและความประสงค์ร่วมกันของพนักงาน และ บมจ.อสมท เพื่อปรับลดจำนวนบุคลากรให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในอนาคตและสถานะทางการเงินขององค์กร โดยพนักงานที่มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร ต้องเป็นพนักงานที่มีอายุระหว่าง 45 ปีบริบูรณ์ ถึง 59 ปีบริบูรณ์ มีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และไม่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยโดยจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2564สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับ คือ 1. ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษได้รับตามจำนวนปีที่ปฏิบัติงาน แต่สูงสุดไม่เกิน 22 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย 2.เงินชดเชยในการทำงานตามตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามระยะเวลาการปฏิบัติงาน (ประมาณ 10-13.33 เท่าของเงินเดือน เดือนสุดท้าย) 3.เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น"ขณะนี้มีพนักงานยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการกว่า 300 คน โดยหลังจากนี้ อสมท จะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และขอยืนยันว่าโครงการดังกล่าว ไม่ใช่การปลดพนักงาน แต่เป็นความสมัครใจของพนักงานที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ บมจ.อสมท ไม่ใช่มติของกระทรวงการคลังตามที่ปรากฎในข่าวแต่อย่างใด"นายสิโรตม์ ระบุ
16.เว็ปไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" รายงาน 'ฉัตรชัย' ลาออกจากกรรมการผู้จัดการ-กรรมการบริหาร 'NBC' มีผล 26 ต.ค. โดยบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) ครั้งที่ 10/2563เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2563 โดยมีมติที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ คือ รับทราบการลาออกของนายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย จากตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารของบริษัทฯ ตามหนังสือลาออก ฉบับลงวันที่ 26 ต.ค.2563 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค..2563 เป็นต้นไป และ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่30 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป
พร้อมอนุมัติการแต่งตั้ง นายสุภวัฒน์ สงวนงาม ดำรงตำแหน่ง รักษาการกรรมการผู้จัดการ แทนนายฉัตรชัยภู่โคกหวาย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2563 ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการสรรหาและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ พร้อมอนุมัติการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.2563 เป็นต้นไป และมีรายละเอียด ดังนี้ เดิม นายฉาย บุนนาค, นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย , นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล นางวรางคณา กัลยาณประดิษฐ กรรมการสองในสี่คนลงลายมือชื่อร่วมกัน พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท ใหม่ : นายฉาย บุนนาค นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล นางวรางคณา กัลยาณประดิษฐ กรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกัน พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนอกจากนี้อนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายนามกรรมการผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีธนาคารของบริษัทฯ หรือลงนามในเช็คที่ออกในนามบริษัทฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป และมีรายละเอียด ดังนี้ เดิมคือ นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล นางวรางคณา กัลยาณประดิษฐ สองในสามท่าน ลงลายมือชื่อร่วมกัน ไม่จำกัดวงเงิน ใหม่ คือ นายฉาย บุนนาค นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล นางวรางคณา กัลยาณประดิษฐ กรรมการสองในสามท่าน ลงลายมือชื่อร่วมกัน ไม่จำกัดวงเงิน ทั้งนี้ไม่มีผลบังคับย้อนหลังต่อลายมือชื่อที่เคยลงนามในเอกสารต่างๆของธนาคาร
17.เว็ปไซต "สำนักข่าวอิศรา" รายงานรมว.ดิจิทัลฯโต้ข้อกล่าวปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน-ปิดสื่อ ยันจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ 2563 กรณีถูกอภิปรายว่ารัฐบาลใช้กฎหมายปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า ข้อกล่าวหาถึงการใช้กฎหมายปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น ในฐานะที่เป็นภาครัฐ มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง คนที่ท่องโลกออนไลน์ทุกวันนี้มีความหลากหลาย แต่เนื้อหากับสิ่งที่ออกมานั้นรุนแรงมาก หากไม่ใช้กฎหมายบ้างจะเกิดการยุยงปลุกปั่นทำลายสถาบันฯด้วยความหยาบคาย เราดำเนินการกับคนที่มีความผิดเท่านั้น ทั้ง 300,000 กว่า URL เป็นตัวเลขที่เราติดตามได้จริง แต่เราดำเนินคดีประมาณ 2,000 ราย เป็นบุคคลที่กระทำความผิดจริงนายพุทธิพงษ์ ระบุถึงกรณีมีการกล่าวหาว่าปิดกั้นสื่อมวลชนนั้น ยืนยันว่าหลายสื่อมีเจตนาเผยแพร่ข่าวทำร้ายจิตใจ จาบจ้วง และไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับใครเลย แบบนี้จะยอมให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ใครทำผิดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ได้ใช้ความรู้สึกดำเนินการ แต่ใช้อำนาจผ่านกระบวนการทางศาล และนำคำสั่งของศาลมาปฏิบัติ วันนี้สื่อทุกแขนงยังนำเสนอได้อย่างเต็มที่ เพียงแต่มีการเตือนให้อยู่ในกรอบของกฎหมายเท่านั้น ต้องการทำให้สังคมการสื่อสารออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัยและสะอาด เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวม
18.เว็ปไซต์ "กรุงเทพธุรกิจ" รายงาน 'ฉาย บุนนาค' ขอบคุณ ม็อบชุมนุมฝั่งตรงข้ามตึกอินเตอร์ลิ้ง อย่างสงบ พร้อมรับฟังความเห็นต่าง ยอมรับ ได้ยินข้อกล่าวหาเนชั่นบิดเบือน โดยนายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แถลงขอบคุณม็อบชุมนุมฝั่งตรงข้ามตึกอินเตอร์ลิ้งที่ชุนุมอย่างสงบ พร้อมรับฟังความเห็นต่าง ยอมรับว่าได้ยินข้อกล่าวหาเนชั่นบิดเบือน แต่ยังไม่เห็นหลักฐาน ถ้ามีอะไรผิดกฎหมายให้ใช้ช่องทางกฎหมายได้เลย หรือส่งหลักฐานมา ก็จะรับไปตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมาไม่มี และจะไม่เติมไฟความขัดแย้ง พร้อมย้ำอุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เคารพความเห็นต่าง และได้ตรวจสอบทุจริตทุกรัฐบาล การทำหน้าที่นำเสนอความจริงอีกด้านอาจทำให้บางคนไม่พอใจ แต่ก็สามารถฟ้องร้องได้ถ้าคิดว่าไม่จริง ยืนยันว่าเนชั่นไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง
19.เว็ปไซต์ "คมชัดลึก" รายงานช่อง 3 ลดพนักงาน อีกรอบ เป้า 30% โดยทีวีดิจิตอล วอชท์ เผยแพร่ข่าวว่า กลุ่มช่อง 3 ได้ประกาศลดพนักงานระลอกใหม่ ตั้งเป้า 30% จากจำนวนพนักงานที่มีอยู่ 1200 คน มีผลสิ้นเดือนตุลาคม โดยมีรายชื่อของ นางสาวพัชรศรี เบญจมาศ หรือ “กาละแมร์” และ นางสาวกุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือ “นีน่า” 2 อดีตพิธีกรข่าว ที่อยู่ในกลุ่มรายชื่อพนักงานฝ่ายข่าว และเป็นพนักงานประจำข่าวดังกล่าว สร้างความแปลกใจให้กับบรรดาพนักงาน ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ทั้งสองคนมีรายชื่อเป็นพนักงานประจำด้วยสำหรับ พนักงานที่ต้องออกในชุดนี้ มีผลเดือนตุลาคม ชดเชยตามกฎหมายแรงงาน บวกเพิ่มพิเศษ 2 เดือน หรือ ได้รับชดเชยสูงสุด 400 วัน หรือประมาณ 13.3 เดือน หากมีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป และต่ำสุด 30 วัน หากมีอายุงาน 120 วัน – 1 ปี
20.เว็ปไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" รายงานช่อง 3 แจงปมเลิกจ้างพนักงาน ลดต้นทุน-ค่าใช้จ่ายเพื่อรันธุรกิจให้ไปต่อ โดยฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ. บีอีซี เวิลด์ ได้ออกหนังสือคำชี้แจงกรณีเลิกจ้างพนักงาน ระบุว่า บมจ. บีอีชี เวิลด์ ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากความจำเป็นที่บริษัทจะต้องปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของบริษัทที่มีจำนวนมากลง โดยหนึ่งในการดาเนินงานที่สาคัญที่จะสามารถทำให้ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถลดลงได้
บริษัทเล็งเห็นแล้วว่าการปรับขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสม สำหรับการประกอบธุรกิจของบริษัทที่ขณะนี้เหลือเพียงช่อง 33 ดิจิทัลเพียงช่องเดียวเท่านั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในเวลานี้ เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ถดถอยและปัจจัยแวดล้อมรวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงต่อไป