48 องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิฯออกโรงกดดันรัฐบาลฟิลิปปินส์กรณีสังหารหมู่ที่มากินดาเนา


48 องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิฯออกโรงกดดันรัฐบาลฟิลิปปินส์กรณีสังหารหมู่ที่มากินดาเนา
แหล่งที่มา เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA
30 พฤศจิกายน 2552


48 องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพทั่วโลกได้ร่วมกันประณามอย่างรุนแรงต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตอย่างน้อย 28 คน จากยอดผู้เสียชีวิตที่พบศพแล้วทั้งสิ้น 57 คน ทั้งยังกดดันให้รัฐบาลของประธานาธิบดี กลอเรีย อาร์โรโย่ นำตัวผู้บงการและมือสังหารมาลงโทษโดยเร็วที่สุด

แถลงการณ์ร่วมฉบับวันที่ 27พฤศจิกายน ออกในนามขององค์กรส่งเสริมการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกสากลหรือ INTERNATIONAL FREEDOM OF EXPRESSION EXCHANGE (IFES) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 80 องค์กรทั่วโลก กล่าวว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง และสะเทือนวงการสื่อมวลชนทั่วโลก และถือเป็นการก่ออาชญากรรมครั้งที่รุนแรงและน่าสะพรึงกลัวที่ไม่มีครั้งใดเทียบได้

ในบรรดาองค์กรที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ รวมถึงเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SOUTHEAST ASIAN PRESS ALLIANCE (SEAPA) และ ศูนย์เสรีภาพสื่อมวลชนและความรับผิดชอบในฟิลิปปินส์ หรือ CENTER FOR MEDIA FREEDOM AND RESPONSIBILITY ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งSEAPA และเป็นแกนนำในการออกแถลงการณ์ร่วมครั้งนี้ นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวอิสระ หรือ  ALLIANCE OF INDIPENDENT JOURNALISTS และศูนย์ศึกษาการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในอินโดนีเซีย หรือ INISTITUE FOR THE STUDY ON THE FREE FLOW OF INFORMAION ซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งของSEAPA ก็ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้ด้วยเช่นกัน

แถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และกำจัดวัฒนธรรมการเพิกเฉยต่อผู้กระทำผิดซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาการใช้ความรุนแรงซ้ำซ้อนให้หมดไป และยังได้คัดค้านความพยายามใดๆของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะห้ามสื่อมวลชนอิสระเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนข้อเรียกร้องขององค์การพันธมิตรในฟิลิปปินส์ที่จะให้มีคณะค้นหาความจริงที่เป็นอิสระเข้าไปที่จังหวัดมากินดาเนาและยืนยันจะให้ความช่วยทุกวิถีทางที่ทำได้

“การประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ ซึ่งหมายถึงการให้ทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ อาจจะนำไปสู่การจำกัดข้อมูลข่าวสารในขณะที่ข้อมูลและความจริงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ และจะทำให้ความจริงใจของรัฐบาลที่จะสาวให้ถึงต้นต่อของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้น”
“เราขอให้ทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังเพราะเหตุการณ์ในขณะนี้ที่ยังอ่อนไหว และเรียกร้องให้รัฐบาล ทหาร ตำรวจ รับผิดชอบต่อความมั่นคง ปลอดภัยของทุกๆคณะที่จะเข้าไปในพื้นที่ในวันข้างหน้านี้“
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาดูรัฐบาลอาร์โรโย่อยู่ว่าจะทำอะไรได้มากไปกว่าการปลดรองผู้ว่าราชาการจังหวัดมากินดาเนาและยานตำรวจระดับสูงของจังหวัด การประกาศกฎอัยการศึกในเขตจังหวัดมากินดาเนาที่เป็นพื้นที่ความขัดแย้งของเจ้าพ่อสองตระกูด คือ อัมปาตวน และมาดูดาดาตู และดูเหมือนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานาธิบดีอาร์โรโย่ตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายมาออก เนื่องจากว่าได้ปล่อยปละละเลยให้การสังหารผู้คนเป็นเรื่องที่กระทำได้ง่ายมานานและเป็นที่ทราบกันว่าผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารในครั้งนี้ เป็นฐานเสียงสำคัญที่ทำให้นางอาร์โรโย่มีชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2548 และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2550 ที่ผ่านมา

รายงานเบื้องต้นระบุว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของสองตระกูลเจ้าพ่อที่มีอิทธิพลในพื้นที่ของจังหวัดมากินดาเนา นอกจากนี้ในบรรดาผู้ที่ถูกสังหาร มีภริยาของหัวหน้าคนหนึ่งของตระกูลมาดูดาดาตูที่กำลังจะลงสมัครท้าชิงตำแหน่งผู้ราชการจังหวัดมากินดาเนาซึ่งตกเป็นของผู้นำคนหนึ่งของตระกูลอัมปาตวนที่เป็นศัตรูกันอยู่

“ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีสาเหตุมาจากเรื่องใดก็ตาม รัฐบาลฟิลิปปินส์จะต้องทำงานอย่างรวดเร็วและเร่งด่วนเพื่อนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาลงโทษ และนอกจากความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นและสภาพความเป็นจริงในเรื่องลัทธิการช่วงชิงความเป็นเจ้าพ่อในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลฯแก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งก็คือการเพิกเฉยต่อผู้กระทำผิดที่หมักหมมมานานในสังคมฟิลิปปินส์ ที่เป็นสาเหตุให้ความรุนแรงหรืออาชญากรรมไม่ได้รับการลงโทษ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงการสังหารหมู่ในครั้งนี้ที่ทำให้เพื่อนสื่อมวลชนในมากินดาเนาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเรื่องนี้ถือเป็นพิษร้ายที่กัดกร่อนสังคมที่รัฐบาลฟิลิปปินส์มีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบ” แถลงการณ์ร่วมของIFEXกล่าว

สถิติที่รวบรวมโดยศูนย์เสรีภาพสื่อมวลชนและความรับผิดชอบในฟิลิปปินส์ ระบุว่าการสังหารหมู่ที่มากินดาเนาทำให้ยอดผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์ที่ได้เสียชีวิตในปีนี้พุ่งสูงขึ้นจาก 3 คน เป็น 31 คนรวดเดียว และ เพิ่มขึ้นเป็น 81 คนนับตั้งแต่ปี 2529 เป็นตันมา

“เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่มากินดาเนามีนัยสำคัญมากกว่าเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในภายในหนึ่งวัน แต่เป็นเรื่องที่มีรากเหง้าของปัญหามาจากการเพิกเฉยต่อผู้กระทำผิด ที่รังแต่จะทำให้มีการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และยิ่งส่งผลให้ความอดกลั้นต่อผู้ที่ไม่เห็นลงรอยและต่อการแสดงความเห็นที่เป็นอิสระนับวันจะยิ่งน้อยลง”แถลงการณ์ร่วมกล่าว

รายงานข่าวล่าสุดระบุว่าพบผู้เสียชีวิตแล้ว 57 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง รวมทั้งผู้สื่อข่าวร่วมอยู่ด้วยอย่างน้อย 28 ราย ผู้ต้องสงสัยซึ่งได้เข้ามอบตัวกับทางการตำรวจเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน และขณะนี้อยู่ในควบคุมตัวของหน่วยสอบสวนกลางของฟิลิปปินส์ คือ อันดาล อัมปาตวน จูเนียร์ นายกเทศมนตรีของเขตปดครองหนึ่งในเมืองชารีฟ อาก๊วก และเป็นบุตรชายของผู้ว่าราชการจังหวัดมากินดาเนาคนปัจจุบัน รายงานข่าวระบุว่า อัมปาตวน จูเนียร์ได้นำกองกำลังติดอาวุธ กว่า 100 คน เข้าสกัดคณะของภริยาของนาย เอสมาเอล มาดูดาดาตู ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองบูลวนเพื่อไปกรอกใบสมัครรับเลือกตั้งให้สามีที่เมืองชารีฟอาก๊วก และได้ลักพาตัวผู้ที่ถูกสังหารเหล่านี้ขึ้นรถออกนอกเส้นทางไปประมาณสองกิโลเมตรเพื่อไปยังสถานที่ๆเตรียมไว้เป็นที่สังหารหมู่ ก่อนเกิดการสังหารขึ้นในที่สุด