รายงานสถานการณ์สื่อประจำเดือนตุลาคม 2552
โดย ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ศูนย์เฝ้าระวังการคุกคามสื่อมวลชน ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ติดตามสถานการณ์สื่อประจำเดือนตุลาคม โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยป(ส.ส.ท.)หรือสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ซึ่งกรรมการบริหารประเภทผู้ทรงคุณวุฒิส.ส.ท. 3 คน ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการแต่งตั้งบุคคลที่สามารถทำงานเต็มเวลา เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายของทีวีทีไทยมีนโยบายที่ต้องการให้กรรมการบริหารทีวีไทยทำงานเต็มเวลาเพื่อการบริหารให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีกรณีปัญหาที่นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิทยุและมัลติมีเดียทีวีไทยไม่ผ่านคัดเลือกการสอบคัดเลือกบุคคลบรรจุเข้าเป็นพนักงาน ส.ส.ท.ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิทยุและมัลติมีเดีย จึงทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้อำนวยการส.ส.ท.ให้สอบสวนกระบวนการสอบคัดเลือก ซึ่งหลังจากมีการตรสวจสอบแล้วไม่พบกระบวนการที่ไม่โปร่งใสดังกล่าว
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม บริษัท ไทยเดย์ ดอดคอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และบริษัท เมเนเจอร์ จำกัด ผู้ดูแลเวปไซด์ผู้จัดการ (www.manager.co.th) ถูกศาลอาญาสั่งปรับ 2 หมื่นบาทและนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ถูกสั่งจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา จากกรณีที่ร่วมกันหมิ่นประมาทนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่านายนพดลทรยศต่อทุนมูลนิธิมหิดล ซึ่งบริษัทไทยเดย์ฯ ได้บันทึกภาพและเสียงลงในวีซีดีเผยแพร่และบริษัทเมเนเจอร์ได้นำข้อความดังกล่าวลงในเว็บไซต์ ส่วนผู้บริหารบริษัทไทยเดย์ และบริษัท เมเนเจอร์ อีก 5 คน ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยดังกล่าวร่วมทำผิดกับนายสนธิแต่อย่างใด ทั้งนี้ในส่วนของนายสนธิได้อุทธรณ์ฎีกาต่อไป
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม คณะรัฐมนตรี ได้มีมติส่งร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษีกาตรวจพิจารณา ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา และเสนอบรรจุระเบียบวาระให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป กฎหมายดังกล่าวจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนได้ในอนาคต
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม รถยนต์ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภาถูกกรีดด้วยของแข็งโดยกล้องวงจรปิดที่อาคารจอดรถสวนสัตว์ดุสิต(เขาดิน) จับภาพบุคคลต้องสงสัย ที่ติดบัตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มองซ้าย มองขวา ก่อนปฏิบัติการขูดสีรถได้รับความเสียหายไปหลายคัน กระทั่งมีการตั้งข้อสงสัยว่าบุคคลในภาพคล้ายกับนายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่า คนในภาพมีหน้าตาคล้ายคลึงตนมาก แต่ไม่เหมือนตรงกางเกงที่ไม่เคยมีกางเกงสีดังในภาพ จึงอาจจะไม่ใช่ก็เป็นได้
ขณะที่ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (NBC) ผู้ผลิตข่าวสารเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อรูปแบบใหม่ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ โดยหวังเพิ่มทุนจาก 120 ล้านบาทเป็น 170 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีรองรับการเผยแพร่ผ่านสื่ออื่นๆ เช่นระบบเว็บไซต์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เคเบิลทีวีและดาวเทียม คาดว่าจะเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 50 ล้านหุ้น ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้
ส่วนประเด็นการร้องเรียนของบุคคลนอกวงการสื่อที่ช่วยสอดส่องการทำหน้าที่ของสื่อให้อยู่ในกรอบจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้ทำหนังสือถึงนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ท้วงติงการเสนอภาพข่าวคนร้ายฆาตกรรมและหั่นศพเด็กชายอายุ 5 ขวบ เผยแพร่ลงหน้า 1 ในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวนหลายฉบับ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อจิตใจ ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค อาจทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้บริโภคที่เห็นภาพข่าวเกิดความรู้สึกหดหู่ เศร้าซึม หากเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะอาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
ซึ่งเรื่องนี้จากนั้นคณะกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯได้ออกประกาศ เรื่อง การเสนอข่าวและภาพข่าวเด็กและเยาวชนที่ระบุว่า “เพื่อรักษาและส่งเสริมศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติและปกป้องอนุชนของชาติ และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติข้อ15 ที่ว่าในการเสนอข่าวหรือภาพใด ๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตก เป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส
ข้อ17 ที่ว่า หนังสือพิมพ์จะต้องไม่เสนอภาพข่าวที่อุจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียว โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชนอย่างถี่ถ้วน และข้อ24 ที่ว่า การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ พึงตระหนักถึงความสำคัญของข่าวต่อสาธารณชน และไม่เสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
จึงขอให้สมาชิกผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์พึงตระหนักและระมัดระวังใน การเสนอข่าวและภาพข่าวที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ทั้งนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ส่งกรณีปัญหาการเสนอข่าวและภาพข่าวดังกล่าวให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่ง ชาติ พิจารณาตามขั้นตอนแล้วด้วย.