นินทาสื่อโลก
โดย บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
*****คณะกรรมการเสรีภาพสื่อโลก (ดับเบิลยูพีเอฟซี) ได้เผยผลการสำรวจกฎหมายหมิ่นประมาทใน 58 ประเทศทั่วโลกพบว่าจุดประสงค์ของประเทศต่างๆในการนำกฎหมายหมิ่นประมาทมาใช้กับสื่อนั้นแม้จะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีข้อเหมือนกันตรงที่รัฐพร้อมใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องตัวเอง และเพื่อจะข่มขู่และตอบโต้ภายใต้ข้ออ้างว่าจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐหรือหน่วยงานต่างๆ จนอาจนำมาซึ่งการเซนเซอร์ข่าวภายใต้ข้ออ้างว่าบ่อนทำลายความมั่นคงหรือสร้างความแตกแยกทางศาสนาหรือในวงสังคม ที่น่าวิตกมากกว่านั้นพบว่าการณรงค์ของดับเบิลยูพีเอฟซีเพื่อให้รัฐแก้ไขหรือยกเลิกการใช้กฎหมายนี้กับสื่อปรากฎว่าล้มเหลว ไม่มีอะไรคืบหน้าแม้แต่น้อย
*****ขณะที่นักข่าวพลเมืองหรือนักข่าวออนไลน์กำลังเป็นอาชีพใหม่ยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งพยายามเสาะแสวงหาข่าวมารายงานด้วยใจมุ่งมั่นโดยหารู้ไม่ว่าเต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน จากสถิติจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว เปิดเผยว่ามีนักข่าวออนไลน์ทั่วโลกอย่างน้อย 56 รายถูกรัฐบาลหลายประเทศรวมไปถึงเกาหลีเหนือและอิหร่าน จับเข้าซังเต เนื่องจากละเมิดกฎหมาย ขณะที่น.ส.ซูซาน แมคไบรด์ ผู้ช่วยคณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย คอลเลจ ชิคาโก และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บข่าวพลเมือง ChicagoTalk.org ให้ความเห็นว่า แนวโน้มที่นักข่าวพลเมืองหรือนักข่าวออนไลน์ผ่านสื่อใหม่ เช่น บล็อก เว็บเครือข่ายสังคม (โซเชียลเน็ตเวิร์คกิ้ง) จะเสี่ยงต่อการถูกจับกุมมีมากขึ้น เนื่องจากสื่ออินเทอร์เน็ตเปิดกว้างให้รายงานข่าวได้อิสระ เปิดช่องใส่ความเห็น-พาดพิงบุคคลอื่น จึงง่ายต่อการละเมิดกฎหมาย
*****ขอแสดงความยินดีกับนักข่าว 5 คนจากโซมาเลีย ศรีลังกา ตูนีเซียและอาเซอร์ไบจัน ที่ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อระหว่างระหว่างประเทศประจำปีนี้จากคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว(ซีพีเจ) ถือเป็นรางวัลเกียรติยศอันทรงคุณค่าที่จะมอบให้กับนักหนังสือพิมพ์ผู้กล้ายืนหยัดปฏิบัติหน้าที่โดยไม่หวาดหวั่นกับการข่มขู่คุกคาม และการเซนเซอร์ เพื่อจะปกปักไว้ซึ่งเสรีภาพสื่อในประเทศนั้นๆ
*****ถึง ที่สุดของที่สุดในการเอาตัวรอด ตอนนี้หนังสือพิมพ์ทั่วแดนดินถิ่นอินทร์หงอยอเมริกาซึ่งเผชิญกับวิกฤติราย ได้จากโฆษณาและยอดขายหดหายไปมาก นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งอเมริกาจึงแถลงต่อคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาวิงวอน ขอให้รัฐช่วยในรูปของการคืนภาษีกำไรย้อนหลังจากที่เคยจ่ายเมื่อต้นทศวรรษนี้ นอกเหนือจากยินยอมให้เจ้าของสื่อสามารถปรับปรุงระบบการจัดเก็บเงินสำรอง เลี้ยงชีพ เพื่อให้หนังสือพิมพ์พอจะมีเงินสดหมุนเวียนจะได้ไม่มีการลอยแพนักข่าวมาก ขึ้นไปอีกในปีหน้า แต่ก็ยืนกรานไม่ต้องการให้รัฐยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทางการเงินเหมือนกับที่ เข้าไปช่วยประคองสถานการณ์ของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เนื่องจากเกรงว่ารัฐจะฉวยโอกาสเข้าไปแทรกแซงกระบวนการผลิตข่าวจนไม่มีอิสระ หรือตกเป็นเครื่องมือของรัฐโดยปริยาย
*****ในเมื่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ถูกจำกัด จึงไม่น่าสงสัยแม้แต่น้อยว่าเหตุใดชาวมาเลเซียจึงหันไปอ่านข่าวจากอินเทอร์เน็ตแทนหนังสือพิมพ์มากขึ้น ผลักดันให้มีเว็บข่าวผุดขึ้นถึง 8 แห่งภายใน 2 ปี เท่านั้น โดยมีทั้งเว็บข่าวภาคภาษาจีน ภาษามาเลย์ และภาษาอังกฤษ บางเว็บมีคนเปิดเข้าไปใช้บริการมากถึงเดือนละ 2 ล้านครั้ง เพราะเชื่อว่าข่าวมีความน่าเชื่อถือมากกว่าหนังสือพิมพ์ ที่อยู่ในความควบคุมของทางการ แถมยังมีจุดเด่นตรงที่ประหยัด สะดวก และรวดเร็วทันเหตุการณ์ เป็นเหตุให้ยอดขายหนังสือพิมพ์รายวันจึงมีแต่ลดลงตามลำดับ
*****นับวันปิศาจร้ายในคราบของระบบทุนนิยมที่ฝังตัวลึกอยูในแวดวงสื่อสารมวลชนก็ยิ่งสำแดงฤทธิ์จนน่ากลัวมากขึ้นทุกที ถึงขนาดทำให้นายวอลเลซ ซูซ่า พิธีกรชื่อดังในรายการโทรทัศน์และอดีตสมาชิกสภารัฐอามาโซนาส บราซิล ซึ่งอยากจะเริ่มเรตติ้งรายการของตัวเอง จนกล้าบงการให้ฆ่าคู่แข่งทางการค้ายาเสพติดแล้วให้ทีมงานในรายการทีวี "กานัล ลิฟเร่" รีบรุดไปถึงที่เกิดเหตุ จากนั้นรีบบันทึกภาพสะเทือนขวัญแล้วนำออกอากาศทางรายการทันที สมแล้วที่จะถูกตำรวจจับนอกเหนือจากถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกสภา
***** ผิดกับที่แดนเสรีอเมริกา การแข่งขันเพื่อให้ได้ข่าวเดี่ยวหรือข่าวเจาะพิเศษทวีความดุเดือดมากขึ้น ถึงขั้นแอบจ่ายเงินนับพันๆดอลลาร์ให้กับแหล่งข่าวเพื่อขอสัมภาษณ์เดี่ยว ซึ่งแม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดจรรยาบรรณสื่อซึ่งปรกติแล้วหนังสือพมพ์ต่างๆจะไม่ทำกัน แต่ทำไงได้เมื่ออยากได้ข่าวเดี่ยวแถมแหล่งข่าวก็นกรู้ขอเงินตอบแทน ค่านิยมผิดๆนี้ก็เริ่มมีมากขึ้นจนน่าวิตก
***** อับอายขายขี้หน้าไปทั้งโลกาแถมยังทำให้แวดวงสื่อสารมวลชนในประเทศถูกลดทอนความน่าเชื่อถืออันเป็นหัวใจสำคัญในความอยู่รอดของวงการนี้ เมื่อหนังสือพิมพ์มอสคอฟสกี คอมโซโมเล็ตส์ หนังสือพิมพ์หัวสีชื่อดังในรัสเซียต้องออกแถลงการณ์พิเศษขอโทษขอโพยกรณีตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ประธานาธิบดีแห่งอดีตเครือรัฐอาร์เมเนีย โดยอ้างว่าเป็นสัมภาษณ์พิเศษระหว่างเข้าพบผู้นำอาร์เมเนียที่ทำเนียบรัฐบาล แต่จริงๆแล้วประธานาธิบดีอาร์เมเนียไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด เป็นเรื่องของบรรณาธิการเวรข่าวในวันนั้นปั้นข่าวขึ้นมาเองโดยดัดแปลงบทถามตอบก่อนหน้าซึ่งปรากฎเป็นเอกสารของทางราชการ
*****ถึงจะอายุแค่ 36 ปี เจมส์ เมอร์ด็อก ลูกชายสุดรักของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก ราชาสื่อโลก ก็กล้าท้าชนตรงๆกับบีบีซีแห่งอังกฤษว่าเป็นตัวคุกคามความเป็นอิสระของวงการสื่อสารมวลชน เนื่องจากอยู่ได้ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐและจากหน่วยงานหลายแห่งรวมไปถึงจากผู้บริโภคที่ต้องจ่ายภาษีทางอ้อม ถ้าเก่งจริงก็ต้องกระโจนเข้าสู่ตลาดการแข่งขันที่ดุเดือดเผ็ดมันประเภทใครดีใครอยู่ โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นช่วงที่วงการสื่อทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ต่างประสบคลื่นมรสุมยักษ์จนล้มหายตายจากไปก็มาก ที่อยู่ก็ได้แต่ประคองตัวเองให้รอดไปวันๆเท่นั้น
****** ไม่รู้ว่า "ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง" หรือเปล่า แดนดินถิ่นอินทรีผยองถึงแสดงความวิตกกังวลกรณีประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา สั่งปิดสถานีวิทยุ 32 แห่งและสถานีโทรทัศน์อีก 2 แห่งซึ่งเป็นหัวหอกในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เนื่องจากไม่ยอมต่ออายุสัญญาหลังจากปล่อยให้สัญญาหมดวาระ แต่สหรัฐมองว่าเป็นการแทรกแซงสื่อและคุกคามเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน อันเป็นองค์ประกอบหลักของระบอบประชาธิปไตย แต่กลับปิดปากเงียบกรณีกระทรวงกลาโหมอเมริกันได้ออกกฎข้อบังคับมากมายเพื่อ จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการทำข่าวสงครามที่อิรักและอัฟกานิสถาน