แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
เรื่อง การคุกคามสื่อมวลชนในเหตุจลาจล
จากเหตุการณ์ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้ากดดันผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จนแกนนำประกาศยุติการชุมนุม และผู้ชุมนุมบางส่วนได้ก่อการจลาจลด้วยการวางเพลิงเผาสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งของทางราชการและภาคเอกชน นอกจากนี้ ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ปรากฎว่านายฟาบิโอ โพเลนชี ช่างภาพชาวอิตาเลียน ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต และยังมีผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษได้รับบาดเจ็บรวมอยู่ด้วย
ขณะเดียวกัน มีกลุ่มผู้ชุมนุมตามเวทีย่อยต่างๆ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเวทีหลัก เช่นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสี่แยกคลองเตย กล่าวหาว่าสื่อมวลชนไม่เป็นกลางและประกาศให้ผู้ชุมนุมทำร้ายนักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม รวมถึงการบุกเข้าไปเผาทำลายทรัพย์สินและอาคารที่ทำการของสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ โดยอาคารที่ทำการของสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ ได้รับความเสียหายจากการวางเพลิงจนต้องหยุดการออกอากาศเป็นการชั่วคราว ขณะที่เครือบางกอกโพสต์ก็ตกเป็นเป้าหมายของการบุกรุกทำลาย แต่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยสกัดกั้นได้ทัน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของนายฟาบิโอ โพเลนชีอย่างสุดซึ้ง พร้อมทั้งขอย้ำไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ว่า สื่อมวลชนไม่ใช่ “คู่ขัดแย้ง” เราเพียงทำหน้าที่นำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณะ
ดังนั้น สื่อมวลชนจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่คุกคาม ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ พร้อมทั้งขอเรียกร้องมายังฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
๑. ขอประณามการข่มขู่คุกคามผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและสำนักงานสื่อมวลชนทุกแขนงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการกระทำของกลุ่มแนวร่วม นปช.ที่นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ยังเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอีกด้วย และขอเรียกร้องให้กลุ่มแนวร่วม นปช.ยุติการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนโดยทันที
๒. ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ โดยไม่ปล่อยให้สื่อมวลชนตกเป็นเป้าหมายในการข่มขู่คุกคาม ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว ช่างภาพหรือสำนักงานของสื่อมวลชน
ในภาวะที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามบานปลายจนสร้างความเสียหายและมีผลกระทบต่อภาวะจิตใจของคนไทย ตลอดจนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อนำข้อเท็จจริงมานำเสนออย่างรอบด้านและเป็นธรรม โดยปราศจากความหวาดกลัวจากการขุมขู่คุกคามในทุกรูปแบบ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓