นินทาสื่อโลก มิย 53
บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
*****ข่าวดีต้อนรับประธานาธิบดีเบนิโญ"นอยนอย"อาคีโน ขวัญใจสื่อและชาวตากาล็อกฟิลิปปินส์ ก็คือการประกาศจะเร่งสอบสวนเพื่อกระชากตัวบงการสังหารหมู่นักข่าวกว่า 20 คนที่เกาะมินดาเนาเมื่อปลายปีที่แล้วมาลงโทษให้ได้ ข่าวร้ายก็คือกระบวนการเย้ยฟ้าท้ากฎหมายในประเทศนี้ยังรุ่งโรจน์สุดๆ ล่าสุดนักข่าวถูกฆ่าติดๆกันถึง 3 รายในรอบสัปดาห์ ตอกย้ำภาพของประเทศนี้ว่าเป็นประเทศที่อันตรายมากที่สุดแห่งหนึ่งของอาชีพสื่อมวลชน ซึ่งชอบขุดคุ้ยนักการเมืองมาเฟียระดับท้องถิ่นที่ฉ้อโกงทุกรูปแบบ เท่ากับว่านับตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดยุคเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส มีนักข่าวถูกสังหารแล้ว 140 ราย
*****สถานีข่าวยักษ์ใหญ่ของตะวันตก อาทิ ซีเอ็นเอ็นและบีบีซี ที่กำลังก้าวสู่ยุคตกต่ำเมื่อระดับความน่าเชื่อของข่าวมีแต่ลดลงตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ กำลังเจอศึกหนักกระหน่ำซ้ำเติม เมื่อไชนา เน็คเวิร์ก คอร์ป(ซีเอ็นซี )ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักข่าว “ซินหัว” ได้ฤกษ์เปิดตัว"สถานีข่าวภาคภาษาอังกฤษ"เป็นครั้งแรก เพื่อนำเสนอข่าวคราวและความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกในมุมมองของมังกรจีนและหรือของชาวเอเชียบ้าง
*****ข่าวดีในวันสื่อมวลชนโลกประจำปีนี้ก็คือคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อการพัฒนาร่วมกับกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดนและสมาคมหนังสือพิมพ์โลกได้จัดประกวดบทความข่าวเชิงพัฒนาเพื่อชิงรางวัลลอเรนโซ นาตาลีในหัวข้อที่เกี่ยวกับการพัฒนา ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน เพื่อ๙ซญกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มความตระหนักณุ๋ถึงความสำคัญของนโยบายการพัฒนา อย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การต่อสู้กับความยากจน
*****ด้านกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ได้ใช้วันเสรีภาพสื่อโลก ประกาศ 40 รายชื่อ " นักล่าสื่อมวลชนที่เลวร้ายที่สุดของโลก" ซึ่งมีทั้งนักการเมือง ผู้นำศาสนา ขบวนการค้ายาเสพย์ติดและกลุ่มติดอาวุธ ที่ใช้การเซ็นเซอร์ การจับกุมคุมขัง การลักพาตัว การทรมานหรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือฆาตกรรมผู้สื่อข่าว โดยในรายชื่อผู้ล่าเหล่านี้ มีบุคคลระดับประธานาธิบดี 17 คน และผู้นำรัฐบาลหลายคน ส่วนใหญ่เป็นคู่แข่งหรือเป็นปรปักษ์กับสหรัฐแทบทั้งสิ้น สำหรับผู้ล่าหน้าใหม่ ที่เพิ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีเป็นครั้งแรก รวมไปถึงมุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำตาลีบัน เนื่องจากการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์มีผลโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของสื่อท้องถิ่น โดยการโจมตีราว 40 ครั้งของตาลีบัน เมื่อปี 2552 ล้วนแต่มีเป้าหมายไปที่สื่อ
*****ฟรีดอม เฮาส์ กลุ่มสังเกตการณ์ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากการบริจาคของเอกชนและรัฐบาลตะวันตก ได้เผยผลสำรวจเสรีภาพสื่อไทย-สื่อโลก ประจำปี 52 ปรากฎว่าตกต่ำเกือบทุกภูมิภาค ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยบรรดาประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ทั้งไทย และเม็กซิโก ต่างเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองหรือความรุนแรงด้านยาเสพติด ขณะที่จีนและรัสเซียเพิ่มมาตรการคุมเข้มการนำเสนอข่าว เท่ากับว่าขณะนี้มีประชาชนเพียง 1 ใน 6 คนในโลกที่อยู่ในประเทศที่มีเสรีภาพด้านข่าว
*****พอบ้านเมืองวิกฤติ ภาพลักษณ์ของสื่อไทยก็พลอยวิกฤติไปด้วย หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรีบด่วนสรุปทันทีว่าในมุมมองของนักข่าวต่างชาติแล้วขณะนี้กรุงเทพฯมีชื่อติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของคนในวิชาชีพสื่อ เนื่องจากมีช่างภาพนักข่าวเสียชีวิต2 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 7 คนระหว่างทำข่าวความวุ่นวายการปะทะกัน 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้สถิติของนักข่าวช่างภาพที่เสียชีวิตระหว่างทำข่าวทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี สูงสุดที่ปากีสถาน ตาย 3 ไนจีเรียตาย 2 โซมาเลีย แคเมอรูน แองโกลา เม็กซิโก อัฟกานิสถาน อิรัก เยเมน ตายประเทศละ 1 คน
*****หนังสือพิมพ์ทั่วทุกมุมโลกกำลังถูกบีบให้ต้องปฏิวัติตัวเองให้เข้ากับโลกยุคอินเตอร์เนต ซึ่งต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดกับการทดลองของ 2 สื่อในอังกฤษ แนวทางแรกเป็นของบริษัท นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ของเจ้าพ่อสื่อ รูเพิร์ท เมอร์ด็อกที่เริ่มเก็บเงินสำหรับคอนเทนท์ต่างๆ บนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์
เดอะไทม์ส และซันเดย์ ไทม์ส โดยถ้าเป็นรายวัน จะคิดวันละ 1 ปอนด์ หรือราว50 บาท แต่ถ้าเป็นรายสัปดาห์ จะเสียแค่ 2 ปอนด์
แนวทางที่ 2 อาจเลียนแบบหนังสือพิมพ์อีฟนิ่ง สแตนดาร์ดที่เปลี่ยนตัวเองเป็นหนังสือพิมพ์แจกฟรีตามสถานีรถไฟจากราคาปกที่เคยตั้งไว้ฉบับละ 50
เ พนนี การปรับเปลี่ยนนี้ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการวางจำหน่ายลงจาก 30 เหลือแค่ 4 เพนซ์ต่อฉบับ และทำให้ยอดคนอ่านพุ่งขึ้นจาก 5 แสนรายเป็น 1.3 ล้านราย
*****ประธานกรรมการบริหารวอชิงตัน โพสต์ บริษัทแม่ของนิตยสารนิวส์วีก
หนึ่งในนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ที่ดีที่สุดของสหรัฐ ยอมรับอย่างหน้าชื่นอกตรมว่ากำลังเฟ้นหาผู้เหมาะสมที่จะเข้ามาซื้อกิจการของนิตยสารฉบับนี้ ซึ่งประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักทั้งจากอินเทอร์เน็ต และภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนต้องลดยอดการพิมพ์ลงเหลือแค่ 1.5 ล้านฉบับ รวมทั้งเริ่มปลดพนักงาน
*****นักข่าวอิตาลีราว 2,000 คนได้พร้อมใจกันสวมตะกร้อปากระหว่างชุมนุมประท้วงเพื่อเป็นสัญลักษณ์คัดค้านการออกกฎหมายที่ห้ามตำรวจดักฟังโทรศัพท์และห้ามสื่อตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหาที่ได้จากการดักฟัง ในร่างกฎหมายปิดปากที่จำกัดเสรีภาพสื่อนี้ได้กำหนดลงโทษปรับสำนักพิมพ์เป็นเงินกว่า 450,000 ยูโร และนักข่าว 20,000 ยูโรหากฝ่าฝืน ส่วนผู้ที่บันทึกเสียงหรือถ่ายภาพบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจได้รับโทษจำคุก
*****แลร์รี คิง พิธีกรชื่อดังของสหรัฐวัย 76 ปี ตัดสินใจยุติการทำรายการสัมภาษณ์คนดังในช่วงภาคค่ำกับทางสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็นในปลายปีนี้ แล้วหลังดำเนินรายการมานานถึง 25 ปี โดยได้สัมภาษณ์บุคคลดังหลากหลายอาชีพ เช่น นักการเมือง ดารา คนดังหรือคนเป็นข่าวดังหรืออื้อฉาวมากถึงเกือบ 50,000 ครั้งในช่วง 53 ปีของอาชีพพิธีกร จนได้รับการบันทึกในสถิติของกินเนส บุ๊ค ออฟ เวิลด์ เรคคอร์ด ในฐานะรายการที่ออกอากาศยาวนานที่สุดกับสถานีโทรทัศน์แห่งเดียวในช่วงเวลาเดียวกันตลอด
*****นายอีริค ชมิดท์ ซีอีโอของกูเกิลให้แนะนำคณะบรรณาธิการข่าวที่กล่าวหากูเกิลระหว่างการประชุมสมาคมบรรณาธิการข่าวแห่งสหรัฐว่าเป็นตัวการแย่งชิงเม็ดเงินก้อนใหญ่ไปจากเวบไซต์ของหนังสือพิมพ์ ว่าธุรกิจสื่อจะต้องยื่นมือเข้าหาผู้อ่านผ่านเทคโนโลยี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ เปลี่ยนเนื้อหาผ่านอุปกรณ์ไร้สายอย่างเช่นคินเดิลของอะเมซอน ดอท คอมหรือไอแพดของแอปเปิล หรือสมาร์โฟนแอนดรอยด์ของกูเกิลเอง
***** ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย นีลเส็น บริษัทวิจัยด้านสื่อ สำรวจพบว่า ชาวออสเตรเลียแค่ 28% ที่ยินดีจ่ายเงินเพื่ออ่านหนังสือพิมพ์บนเว็บไซต์ โดยมีผู้บริโภคเพียง 1% เท่านั้น ที่เคยจ่ายเงินเพื่ออ่านข่าวที่มีบนอินเทอร์เน็ต
เท่านั้น และ 4% เคยจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงคอนเทนท์ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์
*****ขณะที่ศูนย์วิจัยพิวของสหรัฐ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการรับสื่อด้านข่าวของผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน พบว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อด้านข่าวอันดับ 3 รองจากสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น และสถานีโทรทัศน์ระดับประเทศ โดยร้อยละ 78 รับข่าวสารจากสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ร้อยละ 73 รับข่าวสารจากสถานีโทรทัศน์ข่าวระดับประเทศเช่น ซีบีเอส ซีเอ็นเอ็น และฟอกซ์ ขณะที่ร้อยละ 61 รับข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต อีกร้อยละ 54 รับฟังจากรายการวิทยุ ร้อยละ 50 เผยว่าอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และอีกร้อยละ 17 อ่านหนังสือพิมพ์ระดับประเทศ
*****สูงสุดคืนสู่สามัญ ในเมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรที่จิรังยั่งยืน หนังสือพิมพ์เลอ มังด์ หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของฝรั่งเศสมานานกว่า 66 ปีและเป็นผู้สร้างตำนานหนังสือพิมพ์ที่ยึดมั่นในความเป็นอิสระไม่ยอมจำนนให้กับกองทัพนาซีที่ยึดครองฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกับสื่ออื่นๆ ก็กำลังจะมาถึงฉากสุดท้ายเฉกเช่นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ที่ประสบภาวะวิกฤติการเงิน ระหว่างนี้ก็เปิดเจรจาต่อรองกับนายทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการ
*****บรรดาคนดังในแวดวงต่างๆรวม 158 คน รวมถึงศิลปินฮิปฮอป นักแสดงชาวอินเดีย และแชมป์โลกมวยรุ่นเวลเตอร์เวต ได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกส่งถึงหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดี้ยน เรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์วิทยุบีบีซี ระงับแผนที่จะปิดสถานีวิทยุ เอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค และสถานีวิทยุเกี่ยวกับดนตรีอีก 6 แห่งในปีหน้า เพื่อโยกงบประมาณไปทุ่มให้กับสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าบีบีซีนั้นเติบโตมาพร้อมกับภาคภูมิใจในการนำเสนอในเรื่องของความแตกต่างและภายใต้แนวคิดดังกล่าว
***** นายอเล็กซานเดอร์ เลเบเดฟ มหาเศรษฐีรัสเซียผู้เป็นอดีตสายลับเคจีบีได้ซื้อหนังสือพิมพ์"ดิ อินดิเพนเดนซ์"ของบริษัท "อินดิเพนเดนท์ นิวส์ แอนด์ มีเดีย พีแอลซี" (ไอเอ็นเอ็ม) ของอังกฤษด้วยเงิน แค่ 1 ปอนด์ (ราว 48 บาท) โดยเมื่อปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีผลประกอบการขาดทุน 12.4 ล้านปอนด์(ราว 595 ล้านบาท)
*****ทางการมาเลเซียได้สั่งระงับการต่อใบอนุญาตการพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ซอรา คีดิลันของนายอันวาร์ อิบรอฮิม หัสหน้าพรรคฝ่ายค้านใหญ่อ้างว่าขัดต่อกฎหมายการพิมพ์กรณีประโคมข่าวว่าหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลกำลังจะล้มละลาย ขณะที่หนังสือพิมพ์โต้ว่ากำลังละเมิดสิทธิเสารีภาพสื่อ
*****ศึกนี้คงยืดเยื้อไปอีกหลายยก ตราบใดที่รอยแค้นที่สั่งสมมานานยังไม่ได้รับการสะสาง จึงเป็นเรื่องไม่แปลกใจแต่อย่างใด ที่ศาลเวเนซูเอลลาได้ออกหมายจับนายกิลเลอร์โม ซูลัวกา เจ้าของสถานีโทรทัศน์ "โกลโบวิชั่น" ที่ยังวิจารณ์ประธานาธิบดีชาเวซ ฮิวโก อย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะถูกปิด ถึงยึดใบอนุญาตมาหลายครั้งแล้วก็ตาม ด้วยข้อหาแอบสะสมรถโตโยต้าคันใหม่เอี่ยมถึง 24 คันในบ้านพัก ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อตรงไหน