รายงานสถานการณ์สื่อ กุมภาพันธ์ – กันยายน 2553

สรุปรายงานสถานการณ์สื่อ

เดือนกุมภาพันธ์

รัฐบาลใช้สื่อในความควบคุมอธิบายประชาชนกรณีการตัดสินยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และความเห็นทางการเมืองของสองกลุ่มเหลืองแดงที่ขัดแย้งกัน

ความเคลื่อนไหวของสื่อภาครัฐในเดือนกุมภาพันธ์ก่อนการตัดสินคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เครือข่ายสื่อของรัฐจะเสนอรายการ เพื่อการชี้แจงในหลากหลายรูป แบบ ทั้งสกุ๊ปและเสวนา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบใน 2 เรื่อง คือคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีการโจมตีว่าพิจารณา 2 มาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน ทั้งมีการให้ร้ายกระบวนการยุติธรรม และคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท การดำเนินคดีกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

นายสาทิตย์ระบุว่า รายการดังกล่าวกำหนดนำเสนอผ่านสื่อรัฐในวันที่ 8 - 25 กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อป้องกันการบิดเบือน จนนำไปสู่การสร้างสถานการณ์ทางการเมือง เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องการให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางการเมือง แต่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ และรัฐบาลไม่ได้ใช้สื่อรัฐมาเป็นเครื่องมือของตัวเอง ขณะนี้ได้มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการปลุกระดมให้เกิดความสับสนมา โดยตลอดว่าการดำเนินคดีต่าง ๆไม่ยุติธรรม และมีการบิดเบือนแบบกระบวนการใต้ดิน เช่น ทำใบปลิวเถื่อน ซีดีเถื่อน


เดือนมีนาคม 2553

เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯระบุ สื่อถูกคุกคามอย่างหนักและทุกรูปแบบตั้งแต่ปี 2549-2552 เหตุคู่ขัดแย้งไม่พอใจรายงานไม่เข้าข้าง ชี้สื่อต้องสมดุลเป็นธรรม เตรียมหารือ “อภิสิทธิ์-อานันท์” ในวันนักข่าว

วันที่ 3 มีนาคม นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยถึงกรณี พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก  เตือนให้สื่อทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับหลัก ระวังตัวเนื่องจากการเสนอข่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549-2552 เป็นสถานการณ์ที่สื่อทำงานลำบาก เพราะรายงานข่าวท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรง กดดัน มีการทำร้ายผู้สื่อข่าว ล้อมสำนักงาน ไม่พอใจการนำเสนอข่าวที่ไม่เข้าข้างฝ่ายตัวเอง ข่มขู่สารพัดรูปแบบ ซึ่งสมาคมได้ออกมาตรการต่างๆ เช่น ทำคู่มือการรายงานข่าวท่ามกลางความขัดแย้ง ออกแถลงการณ์ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ เรียกร้องให้รัฐบาล ฝ่ายค้าน แกนนำผู้ชุมนุม ปล่อยให้สื่อสารมวลชน ทำงานอย่างมีอิสระ เสรีภาพ                                                   นายประดิษฐ์ระบุว่า การที่ พล.ต.ขัตติยะพูดในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการข่มขู่ ไม่ถึงขั้นขนาดรุนแรง แต่สื่อมวลชนต้องเตือนเครือข่ายของตัวเอง สถานการณ์ล่อแหลม ต้องรายงานข่าวอย่างระมัดระวัง ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ดูความสมดุล เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยสมาคมมีความห่วง แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกแถลงการณ์ หากมีการทำร้ายก็กฎหมายอาญาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม "เสธ.แดง"  ก็ไม่สมควรที่จะข่มขู่คุกคามสื่อ                                                                                นายประดิษฐ์กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 5 มีนาคม 2553 สมาคมนักข่าวฯ จะจัดงานวันนักข่าว ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายอานันท์ ปัญญารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี จะเป็นกล่าวปาถกฐาพิเศษ โดยคณะกรรมการสมาคมฯ จะใช้โอกาสหารือกับทั้งสองท่าน ในประเด็นสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อสารมวล ชนไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน

////

เดือนเมษายน

การเมืองเดือด-สื่อสะเทือน

 

“จตุพร” ขู่ปิดล้อมเอ็นบีที

วันที่ 1 เมษายน 2553 ระหว่างการชุนนุมของกลุ่ม นปช.นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ข่มขู่จะนำคนเสื้อแดงไปปิดล้อมสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยระบุว่า เสนอข่าวใส่ร้ายกลุ่มคนเสื้อแดง และยังโจมตีการทำงานของสื่อสารมวลชน ที่ไม่นำเสนอข่าวสารในเชิงเข้าข้างกลุ่มคนเสื้อแดงว่าไม่มีความเป็น

///////

สมาคมวิชาชีพสื่อสองสมาคม “สมาคมนักข่าวฯ-สมาคมเคเบิลทีวีฯ” แถลงการณ์ไม่เห็นด้วยรัฐบาลโดย ศอฉ.สั่งปิดพีทีวีและเว็บไซต์ประชาไทย ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐสามารถทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

วันที่ 8 เมษายน.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่องการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเว็บไซต์ ระบุว่า ตามที่รัฐบาลอ้างอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการปิดกั้นสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีทีวี รวมทั้งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาข่าวสารความคิดเห็นทางการเมือง เช่น เว็บไซต์ www.prachatai.com ตั้งแต่ช่วงเช้า

ชี้ปิดสื่ออาจขัด รธน.มาตรา 45

ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกันแล้ว มีความเห็นว่า การปิดกั้นสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี และการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่แสดงความคิดเห็น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 ทั้งนี้ รัฐบาลจะสามารถใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนได้เพียงการห้ามเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนเท่านั้น

ปิดอีกฝั่งแต่ปล่อยให้อีกฝ่ายดำเนินรายการได้อาจนำไปสู่ความแตกแยกตอกย้ำสองมาตรฐาน

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่า การดำเนินการปิดกั้นสัญญาณและการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าว เพื่อป้องกันการบิดเบือนข่าวสาร ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ขณะที่รัฐบาลยังใช้สถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐในการเสนอรายการที่มีลักษณะนำเสนอข้อมูลด้านเดียว อีกทั้งยังปล่อยให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอื่นๆ นำเสนอเนื้อหาในลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมมากขึ้นนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่รัฐบาลอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “2 มาตรฐาน” และสร้างความชอบธรรมแก่ผู้ชุมนุมมากขึ้น

 

เรียกร้องสื่อรายงานข่าวให้รอบด้านครบถ้วนและเสนอความจริง

ขณะที่การปิดกั้นสื่อในลักษณะนี้เป็นการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าวออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยความครบถ้วนรอบด้าน โดยนำเสนอความจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และ ระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา การแสดงจุดยืนของทั้งสองสมาคมเป็นไปตามหลักการของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำแถลงการณ์ฉบับนี้ไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

วันที่ 9 เมษายน 2553

กก.สมาคมนักข่าวฯจากเครือเอเอสทีวีผู้จัดการทีวีประกาศลาออก ระบุสมาคมไม่มีความเหมาะสมในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อกรณีออกแถลงการณ์หลังรัฐบาลสั่งปิดพีทีวีของคนเสื้อแดง

นายเกียรติก้อง ทองเรือง ตัวแทนจากเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ได้แถลงลาออกจากตำแหน่งกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า รับไม่ได้กับการออกแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 กรณีแย้งคำสั่งของรัฐบาลสั่งปิดสถานีพีเพิลชาแนล หรือ “พีทีวี” และสั่งปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่า ข้ออ้างที่ว่าการปิดสถานีดังกล่าวเป็นการกระทำการที่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และเป็นการกระทำในลักษณะสองมาตรฐาน เนื่องจากไม่สั่งปิดทีวีดาวเทียมที่ออกอากาศในลักษณะเดียวกัน (เอเอสทีวี) นั้นเป็นการให้เหตุผลที่ไร้เดียงสา

ไม่ยอมรับพีทีวีเป็นสื่อ นายเกียรติก้องระบุว่า เหมือนถูกตบหน้า รู้สึกโกรธและอับอาย หลังจากที่ได้เห็นแถลงการณ์ดังกล่าวที่อ้างว่าออกมาจากสมาคมนักข่าวฯ ที่สังคมเชื่อว่าใกล้ชิดกับข้อมูล ซึ่งน่าจะรับรู้และเข้าใจดีว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์วิกฤตในบ้านเมือง  และมีเป้าหมายอย่างไร การออกแถลงการณ์ โดยอ้างว่ารัฐบาลกำลังจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการทำหน้าที่ของสื่อนั้นถือเป็นเรื่องที่ขัน และน่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ยังมีคนในสมาคมนักข่าวฯยังเข้าใจว่าสถานีพีทีวีนั้นยังเป็นสื่อ

ชี้เนื้อหาหยาบคายปลุกระดมหมิ่นสถาบัน นายเกียรติก้องระบุว่า  คนในสมาคมนักข่าวฯ ยังไม่เข้าใจอีกหรือว่าสถานีพีทีวีมีลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร เพราะตลอดเวลาที่ออกอากาศ มีแต่การใช้ข้อมูลที่บิดเบือน ปลุกกระดมให้เกิดความเกลียดชัง มีการถ่ายทอดการปลุกระดมจากเวทีของคนเสื้อแดงด้วยถ้อยคำที่สุดจะหยาบคาย หลายครั้งมีคำพูดที่จงใจหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ พฤติกรรมทำนองเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นกับเว็บไซต์ของคนเสื้อแดงที่มีเจตนาในลักษณะเดียวกัน แต่สมาคมนักข่าวฯ กลับทำเหมือนหูหนวกตาบอด เพราะถ้าสมาคมยอมรับพีทีวีและเวบที่ปลุกระดมแล้วนั่นก็หมายความว่าต้องยอมรับสื่อเสื้อแดงอื่นๆ เช่น วอยซ์ ออฟ ทักษิณ เรดนิวส์ ที่มีเจตนาจาบจ้วงสถาบันฯใช่หรือไม่

 

เผยเอเอสทีวีถูกรังแกจากรัฐบาล “ทักษิณ-สมชาย”

นายเกียรติก้องระบุในแถลงการณ์ผ่านสื่อในเครือว่า กรณีของเอเอสทีวี แม้ว่าจะถูกวิจารณ์ในการทำหน้าที่มาตลอดจากหลายฝ่าย แต่ก็ยืนยันอย่างเปิดเผยว่าเราได้ทำหน้าที่โดยยึดความถูกต้อง เป็นธรรมเป็นหลักสำคัญ ชี้ถูกชี้ผิดให้สังคมได้เห็น และได้ยืนหยัดต่อสู้อย่างเข้มแข็งด้วยความเจ็บปวดตลอดมา เอเอสทีวีผู้จัดการถูกรังแก ถูกกระทำจากอำนาจป่าเถื่อนจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีความพยายามสั่งปิดหลายครั้งมีการฟ้องศาลปกครอง แต่เราก็ยืนหยัดต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายจนได้ชัยชนะ และได้รับการคุ้มครองจากการทำหน้าที่สื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ระบุสมาคมฯไม่เคยปกป้องเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ

แต่ที่น่าเจ็บปวด ก็คือเราไม่เคยได้รับกำลังใจและการปกป้องจากสมาคมนักข่าวฯเลย มิหนำซ้ำ หลายครั้งที่มองเราว่าไม่ใช่สื่อ  กรณีการลอบสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการ สมาคมก็ไม่เคยออกแถลงการณ์ประณามคนร้ายแต่อย่างใด แม้ว่า นายสนธิ จะกลายมาเป็นผู้นำมวลชนเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเขาก็ยังมีความเป็นสื่อติดตัวอยู่ และขณะถูกยิงก็กำลังเดินทางไปทำหน้าที่ในฐานะสื่อที่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีด้วยซ้ำไป

ตำหนิสมาคมไม่ได้เรียกประชุมก่อนออกแถลงการณ์ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

นายเกียรติก้องระบุว่า การออกแถลงการณ์ไม่ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการสมาคมนักข่าวฯ หรือแจ้งให้ทราบ  ทั้งที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและในสถานการณ์ที่ไม่ปกติจะต้องมีการระดมความเห็น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอถอนตัวจากการเป็นกรรมการสมาคมนักข่าว

 

 

หมายเหตุ-ภายหลังกรณีดังกล่าวสมาคมนักข่าวฯได้มีมติให้มีคณะทำงานที่รับผิดชอบการออกแถลงการณ์เร่งด่วน โดยมีกก.รับผิดชอบรวม 7 คน คอยสื่อสารและตัดสินใจร่วมกันก่อนออกแถลงการณ์โดยไม่ต้องเรียกประชุม และได้ใช้กรณีดังกล่าวกับงานด้านอื่นๆ โดยไม่ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการ นอกจากนี้ กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกลอบยิงสมาคมฯได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของคนร้ายและเดินทางไปเยี่ยมนายสนธิหลังเกิดเหตุ

////

สื่อภาคสนามถูกคุกคามหนัก ไล่พ้นเวทีปราศรัย ทุบรถถ่ายทอดสด หลังแกนนำม็อบขึ้นประกาศไล่กลางเวทีผ่านฟ้าลีลาศ แกนนำไกล่เกลี่ยขอร้องผู้ชุมนุมอย่าขับไล่สื่อ ชี้เป็นหลักฐานในภายหลัง

เวลา 16.00 น. วันที่ 11 เมษายน 2553  นายสมชาย ไพบูลย์ แนวร่วมนปช.ขึ้นปราศรัยบนเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ กล่าวโจมตีการทำงานของสื่อมวลชนไทยจากการเสนอข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ว่าบิดเบือน ทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงดูไม่ดี โดยระบุว่าสื่อมวลชนไทยโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์รายงานเฉพาะความสูญเสียของทหารมากกว่าผู้ชุมนุม ทั้งที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่าหลายเท่า ขณะที่มีสื่อมวลชนต่างประเทศหลายที่มาขอภาพจากคนเสื้อแดงเพื่อช่วยเผยแพร่ไปทั่วโลก

กล่าวหาสื่อรับใช้อำมาตย์ไล่พ้นเวที

นายสมชายระบุว่า ต่อไปนี้จะไม่ขอพึ่งพาสื่อมวลชนไทย เพราะรับใช้อำมาตย์ คนเสื้อแดงไม่ง้อสื่อมวลชนไทย และหากไม่นำเสนอก็ขอให้ออกไปจากพื้นที่ชุมนุม พร้อมระบุให้สื่อมวลชนออกข่าวไปได้เลยว่าคนเป็นผู้ด่าสื่อเอง ขณะที่นายสมชาย ปราศรัย ผู้ชุมนุมต่างตะโกนโห่ร้อง เขย่าตีนตบ ร้องตะโกนด่าสื่อมวลชนไทย หลายคนเดินวนเวียนพร้อมด่าว่าการทำงานของสื่อตลอดเวลา

สื่อหวั่นถูกทำร้ายหนีออกจากเวทีท่ามกลางเสียงตะโกนด่า ทุบรถจนกระจกบาดแขน

เหตุการณ์ดังกล่าวผู้สื่อข่าวช่างภาพกว่า 20 ชีวิต ได้ตัดสินใจออกจากเวทีผ่านฟ้าฯ ไปรวมตัวกันที่บริเวณ กองกำกับการสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน  และสตรี ขณะเดินออกการ์ด นปช.ตะโกนด่าว่า “ไสหัวไป” และกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้าเวทีมองสื่อมวลชนไทยที่เดินผ่านด้วยสายตาที่โกรธแค้น นอกจากนี้ รถถ่ายทอดสดของทีวีสีช่อง 3 ที่ประจำอยู่ที่กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กฯถูกผู้ชุมนุมใช้ก้อนอิฐขว้างใส่กระจกรถด้านข้างคนขับ จนกระจกแตกละเอียดเป็นเหตุให้นายไพบูรณ์ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณแขนขวาเนื่องจากถูกกระจกรถบาด ตำรวจที่เห็นเหตุการณ์จึงเข้าไประงับเหตุและช่วยกันรถถ่ายทอดสัญญาณออกนอกพื้นที่ไป

แกนนำแดงเอาน้ำเย็นเข้าลูบไกล่เกลี่ยก่อนเชิญกลับทำข่าวอีกครั้ง

ต่อมานายพายัพ ปั้นเกตุ เข้าพบผู้สื่อข่าวเพื่อชี้แจงว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล ช่วงเย็นจะมีการนำเรื่องข้าที่ประชุม เพื่อไม่ให้ผู้ที่ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีสื่อมวลชน พร้อมยกมือไหว้และขอให้สื่อกลับเข้าไปทำงานในพื้นที่ แต่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย  โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ทุกช่องพากันถอนออกนอกพื้นที่ ขณะที่ผู้สื่อข่าวแขนงอื่นยังปักหลักอยู่ที่กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กฯ                                                       “วีระ” แจงม็อบสื่อเป็นพี่น้องของผู้ชุมนุมและใช้สื่อในการเก็บหลักฐานได้

จากนั้นเวลา 16.30 น. นายวีระ มุสิกพงศ์ ปราศรัยบนเวทีราชประสงค์ว่า เหตุปะทะเมื่อทำให้แกนนำเกิดอารมณ์ค้าง จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าสื่อสารมวลชนไม่รายงานข้อเท็จจริง แต่กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้ต้องการเปิดสงครามกับสื่อมวลชนภาคสนาม เพราะปัญหา ยู่ที่นักข่าวที่นั่งอยู่ในห้องแอร์ ตลอด 4 ปีที่ทำงานร่วมกับสื่อมา ไม่เคยมีปัญหา จึงอยากให้พี่น้องประชาชนหากอำนวยความสะดวกกับพี่น้องสื่อมวลชน  รวมทั้งอยากฝากไปยังแกนนำที่สะพานผ่านฟ้า รวมทั้งมวลชนคนเสื้อแดงที่ไปปิดล้อมสื่อสถานีต่างๆ ให้กลับมารวมตัวกัน                                                          นายวีระระบุว่า กำลังได้รับชัยชนะ อย่าทำอะไรโดยพลการ เพราะการปฏิบัติการทุกเรื่องจะต้องมีการระดมความคิดกัน อย่าเคลื่อนไหวโดยอิสระ เพราะทำให้เกิดความเสียหายแก่แนวร่วม  ขอให้พวกเราร่วมกันปรบมือเรียกพี่น้องของเรากลับมา เพราะต่างคนต่างก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง และในอนาคตเราจะต้องใช้ภาพข่าวของสื่อมวลชนเป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีต่อไป

สื่อนอกรายงานภาพการใช้อาวุธของชายชุดดำในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553

วันเดียวกันมีสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์รายงานว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดงใช้ระเบิดมือและปืนไรเฟิลตอบโต้เจ้าหน้าที่ในการเข้าสลายการชุมนุม ขณะที่อัลจาซีร่า แพร่ภาพคนลึกลับถืออาก้ากลางวงปะทะในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยสำนักข่าวรอยเตอร์และดีพีเอ ตั้งข้อสังเกตว่า อาวุธที่ผู้ประท้วงใช้ตอบโต้การกดดันเพื่อสลายการชุมนุมนั้นมีตั้งแต่ ท่อนไม้ ระเบิดเพลิง ระเบิดมือ ไปจนถึงปืนไรเฟิล อัลจาซีร่าแพร่ภาพชายลึกลับกับอาก้ากลางวงตะลุมบอน

สำนักข่าวรอยเตอร์จี้ บช.น.ทำคดีช่างภาพเสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน 2553

วันที่ 14 เมษายน 2553 หัวหน้าข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์และผู้สื่อข่าว 3 คน เข้าพบ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูริ มูราโมโต ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ระหว่างการปะทะของทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ที่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และต้องการให้ตำรวจเร่งจับกุมผู้ที่ก่อเหตุโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ขอหารือกับ พล.ต.ต.อำนวย เป็นการส่วนตัว ไม่เปิดเผยชื่อ และขอความร่วมมือสื่อมวลชนไม่ให้บันทึกภาพ

พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า  สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศญี่ปุ่นเฝ้าติดตามเรื่องนี้ เขาจะให้ข้อมูลบางส่วนที่สามารถเปิดเผยได้เท่านั้น แต่บางเรื่องไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะทางญาติผู้เสียชีวิตไม่ยอมให้เปิดเผย เช่น ผลการตรวจทางแพทย์ ยืนยันว่าตำรวจให้ความสำคัญในคดีเป็นพิเศษ  โดศพผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ประเทศไทยถึงวันที่ 14 เมษายน 2553 เป็นวันสุดท้าย

 

การ์ดให้สื่อเวทีราชประสงค์สวมปลอกแขนของกลุ่ม นปช.ที่มีข้อความทางการเมือง

วันที่ 20 เมษายน 2553 นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้เปลี่ยนมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยการให้สื่อมวลชนที่ทำข่าวการชุมนุมลงทะเบียนรับปลอกแขนที่มีข้อความยุบสภาว่า ทางสมาคมฯได้รับทราบความคิดเห็นและข้อกังวลใจจากการเปลี่ยนมาใส่ปลอกแขนดังกล่าวของกลุ่มนปช.จากพี่น้องสื่อมวลชนในพื้นที่จำนวนหนึ่ง

นายจีระพงษ์กล่าวว่า ได้ประสานไปยังนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ที่มีหน้าที่ดูแลสื่อมวลชนที่ทำข่าวการชุมนุมโดยตรง ซึ่งนายณัฐวุฒิได้ยืนยันว่าปลอกแขนสีเขียวเข้มที่มีสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวฯ ที่ตนได้แจ้งให้กับนายณัฐวุฒิรับทราบด้วยตัวเองก่อนที่จะมีการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. ก็ยังสามารถใช้ใส่ทำข่าวในการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ได้ตามปกติโดยไม่มีการห้ามเข้าพื้นที่หลังเวทีซึ่งเป็นที่แถลงข่าวของ นปช.แต่อย่างใด

สมาคมฯแจงปลอกแขนของสมาคมเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ป้องกันคนแฝงตัว

นายจีรพงษ์กล่าวว่า การทำและแจกปลอกแขนของสมาคมฯนั้นเพราะได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตของนักข่าวทุกคนที่เดินทางเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ที่ชุมนุม การจัดทำปลอกแขนก็เพื่อการแสดงตัวและสังกัดของสื่อมวลชนให้มีความชัดเจนและต้องการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ในในการทำหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อนำข้อมูลรายงานต่อประชาชนและนักข่าวทุกคนที่ได้รับปลอกแขนจะมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดและมีการตรวจสอบเพื่อป้องกันบุคคลอื่นที่ไม่มีความปรารถนาดีแฝงอาชีพสื่อมวลชนไปในการชุมนุม

ไม่ขัดข้องหากใช้ควบคู่กับสมาคมฯแต่ไม่ควรมีคำว่า “ยุบสภา” กก.สมาคมฯกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากแกนนำนปช.ต้องการทำปลอกแขนเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้สื่อมวลชนควบคู่กันไปด้วยก็ไม่ขัดข้อง แต่ไม่ควรมีข้อความว่า "ยุบสภา" หรือข้อเรียกร้องอื่นของ นปช.อยู่ด้วย เพราะสื่อมวลชนมิใช่ขั้วของความขัดแย้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด ส่วนแกนนำจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมอย่างไรก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะข่มขู่คุกคามหรือขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

สมาคมฯทำหนังสือถึงประธานรัฐสภาในนามกลุ่มองค์กรภาคประชาชน 16 องค์กร

เรื่องขอให้ใช้กลไกรัฐสภาแก้วิกฤติการเมือง

เรียกร้องกลไกรัฐสภาแก้วิกฤตชาต

 

เหตุการณ์ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 16 คน เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 6 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 800 คนนั้น เป็นการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตที่ทำให้ประเทศไทยยิ่งถลำลึกลงไปสู่ วิกฤตการณ์ของความรุนแรงและความแตกแยกมากยิ่งขึ้น ก่อนที่ประเทศไทยจะถลำลึกยิ่งไปกว่านี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าในวันนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยยังคงดำรงอยู่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องร่วมใช้กลไกรัฐสภาในแนวทางที่สร้างสรรค์ร่วมหาทางออกให้กับวิกฤติของ ประเทศในครั้งนี้ แทนที่จะออกไปใช้แนวทางนอกรัฐสภา ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมวิกฤติของประเทศและอาจทำให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อความ เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้

 

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนจำนวน ๑๖ องค์กร ดังรายนามข้างท้าย ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ใช้กลไกรัฐสภาเป็นเวทีในการแก้ปัญหาและนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤตและช่วยกัน เปลี่ยนเส้นทางของประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าไปสู่หายนะ โดยใช้ “สันติวิธี” และ “การเจรจา”และมีข้อเรียกเรียกร้องดังต่อไปนี้

 

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ประสานงานเพื่อนำวิกฤตมาแก้ปัญหาในรัฐสภาโดยเร็ว

๑. ขอให้ประธานรัฐสภาในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้นำให้การประสานงานเพื่อ นำวิกฤติการเมืองนอกรัฐสภาเข้ามาสู่การแก้ปัญหาในรัฐสภาโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้มีความขัดแย้งในหลายระดับ ทั้งปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมและปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย รัฐสภาต้องร่วมกันวางแนวทางการปฏิรูปสังคมและการเมืองเพื่อนำประเทศออกจาก วิกฤติในระยะยาวให้ได้

 

๒. ในปัญหาเฉพาะหน้า ประธานรัฐสภา ต้องประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีส.ส.ในรัฐสภาโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั่งโต๊ะเจรจาเพื่อ ก็ช่วยหาทางออกให้กับวิกฤติของประเทศ เพราะมีความเห็นพ้องต้องกันในสังคมแล้วว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของคนในประเทศควรจบที่การเลือกตั้ง สิ่งที่แตกต่างกันมีแต่เพียงว่าเราควรมีการเลือกตั้งเมื่อไร ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองควรทำการตกลงร่วมกัน หากตกลงกันได้จะเป็นหนทางที่ประเทศไทยควรเลือกมากกว่าวิถีทางที่มุ่งหน้าไป สู่การแตกหักและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้อีก

 

๓. ประธาน รัฐสภาควรประสานความร่วมมือกับพรรคการเมืองทุกพรรคจัดทำวาระของฝ่าย นิติบัญญัติ ที่จำเป็นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขความแตกแยกในสังคมและต้องร่วมกัน ผลักดันกฎหมายแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

 

สุดท้ายนี้ในนาม ๑๖ องค์กรภาคประชาชนขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาพึงตระหนักว่า ประชาธิปไตย คือการอยู่ร่วมกันให้ได้ภายใต้ความแตกต่าง ไม่ใช่การทำลายล้างกันไปข้างหนึ่ง ถ้าสังคมไทยช่วยกันใช้สันติวิธีและวิถีทางประชาธิปไตย เราจะสามารถเปลี่ยนเส้นทางของประเทศไทยจากที่กำลังเดินไปสู่หายนะ ให้กลับมาสู่เส้นทางที่จะออกจากวิกฤตการณ์โดยไม่เสียเลือดเนื้อได้ ซึ่งกลไกรัฐสภามีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยกันคลี่คลายวิกฤติในครั้งนี้

 

รายนามองค์กร เครือข่ายที่ร่วมลงนาม

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

ศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.)

เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง

เครือข่ายสันติวิธี

กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง

กลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง

เครือข่ายจิตอาสา

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕

เครือข่ายพุทธิกา

กลุ่มนักศึกษาใส่ใจไทย

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)

กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี

ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มูลนิธิชุมชนไท

๒๑ เมษายน ๒๕๕๓

สมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทยเยี่ยมนักข่าวโดนสะเก็ดระเบิด

วันที่ 21 เมษายน นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย และนายสุทิน บัวตูม ที่ปรึกษาสมาคมฯ เเข้าเยี่ยมนายสุภณัฐ รัตนธนาประสาน อายุ 22 ปี นักข่าว เอเอสทีวี ที่บาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่บริเวณเข่าขวาจากจุดปะทะสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมมอบเงินสวัสดิการ โดยนายศิโรจน์ระบุว่า เท่าที่ประเมินน่าจะมีนักข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ นักศึกษาฝึกงาน และเจ้าหน้าที่เทคนิคในรถถ่ายทอดสด รวมกับสื่อมวลชนจากต่างประเทศร่วม 100 คน เข้าทำข่าวการชุมนุม                                                           นายศิโรจน์กล่าวว่า นอกจากนั้น ยังมีทรัพย์สินเป็นกล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวีดิโอ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค รถยนต์ รถถ่ายทอดสด ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ รวมมูลค่าหลายสิบล้านบาท ถูกส่งมาทำข่าวครั้งนี้ ซึ่งหากเกิดความรุนแรงก็อาจทำให้นักข่าว บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต รวมทั้งทรัพย์สินเสียหายได้ อาชีพนักข่าวต้องเข้าทำข่าวทุกอย่างไม่มีข้อแม้ แต่ขอให้ทุกกลุ่มมีสติ ไตร่ตรองให้รอบคอบ ว่าความรุนแรงจะสร้างความเสียหายกับทุกฝ่าย และยังพ่วงสื่อมวลชนไปด้วย และความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ การมีสติ ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ คือทางออก ซึ่งครั้งนี้หากใครมีสติ มีปัญญา แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก่อน ฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ

วันที่ 24 เมษายน 2552 ทวิตสื่อถูกอ้างเป็นพยานหลังบึ้มสีลม

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.แถลงโดยนำข้อความในทวิตเตอร์ของ น.ส.ฐาปนีย์ หรือ "แยม" เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งใช้ชื่อว่า "yam3miti"  ซึ่งได้โพสต์ข้อความไว้เมื่อคืนวันที่ 22 เมษายน ต่อเนื่องวันที่ 23 เมษายน หลังเกิดเหตุคนร้ายลอบยิงแยกศาลาแดงทำให้มีคนตายและบาดเจ็บ โดยนายณัฐวุฒิระบุว่า เป็นการระบายความคับแค้นใจ และยกตัวอย่างการโพสต์ข้อความในหลายๆ ครั้งที่มีใจความว่า "นี่คือข้อเท็จจริงจากปากคำ ตร.ยอม รับว่ามีชายฉกรรจ์ 20 คน ปาระเบิดขวด และตำรวจได้ไล่ตาม แต่ถูกทหารจับตัวเอาปืนจ่อหัวและบอกว่า ไม่ต้องตามแล้ว ตร. บอกคนสีลมหรือคนเสื้อหลากสีถูกจัดตั้งมา นี่คือข้อเท็จจริงขอให้คนอ่านใช้วิจารณญาณ เมื่อไปถามทหารแล้วทหารก็ไม่พูดอะไร แต่ ตร.ที่ถูกเอาปืนจ่อเป็นรอง ผกก. ระดับ ผบ.หมู่ เขาไม่เปิดเผยใบหน้าทำได้เท่านี้ เมื่อนักข่าวไม่สามารถรายงานได้หรือรายงานไปไม่มีใครเชื่อก็น่าเห็นใจสังคม ไทยจริงๆ"

 

วันที่ 30 เมษายน 2553 สมาคมฯออกแถลการณ์ประณามการบุกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของนายพายัพ ปั้นเกตุ และคนเสื้อแดง ในคืนวันที่ 29 เมษายน โดยก่อนหน้านั้นมีการคุกคามสื่อมวลชนที่ตั้งคำถามต่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เวทีราชประสงค์

 

 

แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อ

เรื่อง ประณามการข่มขู่นักข่าว ในกรณีการบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอประณามการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการใช้พฤติกรรมข่มขู่คุกคามผู้สื่อข่าว จากกรณีการแถลงข่าวของนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช. ซึ่งได้กล่าวอ้างว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการซ่องสุมกำลังเพื่อเตรียมสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง

ข่มขู่ด้วยน้ำเสียงก่อนท้าไปพิสูจน์ที่โรงพยาบาล

ในการแถลงข่าวดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ถามกลับไปว่า มีภาพถ่ายเป็นหลักฐานหรือไม่ ว่าในโรงพยาบาลมีทหารอยู่จริง แต่สิ่งที่นักข่าวได้รับจากแกนนำ โดยเฉพาะนายจตุพร นอกจากไม่ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ยังแสดงอารมณ์ความฉุนเฉียว คุกคาม พร้อมกับท้าว่า “ถ้าไม่เชื่อให้ไปดูพร้อมกัน” และย้ำว่านักข่าวคนนี้ต้องไปด้วยให้ได้“ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและจับนักข่าวเป็นตัวประกันในการบุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาฯ

ไม่เห็นด้วยกับการแถลงข่าวแล้วต่อเสียงไปยังเครื่องขยายของเวทีปราศรัยเหตุผู้ชุมนุมโห่หากตั้งคำถามไม่ถูกใจ

นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว ได้มีการต่อสายไปยังเครื่องขยายเสียงที่เวทีปราศรัย ทำให้คำกล่าวของนายจตุพร ถูกกระจายเสียงให้ได้ยินกันทั่วพื้นที่ชุมนุมราชประสงค์ กลายเป็นชนวนชักชวนให้มวลชนเสื้อแดงให้บุกโรงพยาบาลในค่ำคืนนั้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้แกนนำหยุดการกระทำที่เป็นการคุกคามสื่อ  และยั่วยุให้เกิดความรุนแรงดังนี้

ผู้สื่อข่าวไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

 

1.ผู้สื่อข่าวไม่ใช่คู่ขัดแย้งของกลุ่มผู้ชุมนุม และการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเป็นการทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ความรับผิดชอบต่อสังคม ฉะนั้นจึงขอให้แกนนำ และกลุ่มผู้ชุมนุมหยุดพฤติกรรมอันเป็นการข่มขู่ คุกคามสื่อมวลชน

2.ขอให้แกนนำปรับเปลี่ยนวิธีการแถลงข่าว โดยการถ่ายทอดเสียงออกไปยังผู้ชุมนุม เพราะนอกจากจะทำให้ผู้สื่อข่าวไม่สามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระแล้ว ยังถูกผู้ชุมนุมห้อมล้อม และมีการโห่ไม่พอใจหากตั้งคำถามไม่ถูกใจ ซึ่งเป็นการลิดรอนการทำหน้าที่

ทั้งนี้ ขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนทุกท่านในการทำหน้าที่ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ และขอให้หน่วยงานต้นสังกัด ตระหนักถึงความปลอดภัยของนักข่าวเป็นสำคัญ

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

30 เมษายน 2553

 

จากปากคำของเหยี่ยวข่าวสาวที่ถูกคุกคาม

“หนู แค่ตั้งใจจะสอบถามความจริงว่าที่แถลงว่ารพ.จุฬาฯ มีทหารอยู่จริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีจริงแล้วไปกันมันจะไปรบกวนคนไข้ มันคงวุ่นวายน่าดู หนูเลยอยากรู้ว่ามั่นใจในข้อมูลมากแค่ไหน หนูแค่ต้องการความจริงเท่านั้น”

เธอ เล่าต่อไปว่า แต่คำถามของหนูกลับได้รับคำตอบว่าเอาสิถ้างั้นไปกันเลย เราต้องไปด้วยนะ แล้วจากนั้นมันก็วุ่นวายมากมวลชนก็พากันไปที่โรงพยาบาล ซึ่งหนูไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น

“หนูกลัวมาก ตกใจร้องให้เลย กลับบ้านก็ไม่กล้ากลับคนเดียว ต้องให้พี่ๆไปส่ง  ตอนที่เขาจะไปกันการ์ดบางคนก็มาตามหาหนู จะให้หนูไปด้วยให้ได้ เขาถามกันใหญ่ว่า นักข่าวตัวเล็กคนนั้นอยู่ไหนๆ”

คำบอกเล่าของเธอผสมกับน้ำตามันทำให้หัวสมองของผมหนักอึ้ง ได้แต่ปลอบใจน้องไม่ให้กลัวมากไปกว่านี้  ปลอบ ไปก็คิดไปว่าพวกเรานักข่าวจะต้องทนอยู่กับสภาพแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ สภาพที่มีความกดดันรอบด้านทั้งจากอารมณ์ของคน และสภาพความขัดแย้งที่ตึงเครียดขึ้นทุกวัน

วันนี้ นักข่าวเรียกว่าเป็นคนกลุ่มเดียวเลยก็ว่าได้ ที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่ต้องอยู่ในดงของคนเสื้อแดง ไม่นับตำรวจทหารที่อยู่ห่างจากพื้นที่ชุมนุมไปพอสมควร ไม่นับพ่อค้าแม่ขายที่ทุกวันก็สวมเสื้อแดงเพื่อความสะดวกในการขายของหาราย ได้เลี้ยงชีพ นักข่าวกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวที่อยู่ใจกลางม็อบ ถ้าเคยเห็นในทีวีก็จะรู้ว่าโต๊ะทำงานของสื่อถูกล้อมด้วยมวลชนเสื้อแดงรอบ ด้านเป็นวงกลม ฉะนั้นเพื่อความอยู่รอดเราต้องเป็นมิตรกับพวกเขาบรรดาการ์ด แกนนำทั้งหลาย  แต่อีกด้านหนึ่งสังคมก็มอบหมายให้ เราต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ซักถาม ตั้งข้อสงสัยกับแหล่งข่าวเสื้อแดง มันเป็นแรงเสียดทานที่ยากจะหาจุดสมดุลจริงๆ

เพราะการอยู่ในม็อบมันไม่เหมือนอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ทำเนียบหรือรัฐสภา  ที่ คุณจะถามแหล่งข่าวแรงยังไง แหล่งข่าวก็ไม่มีทางเอาคนมาล้อมคุณ ไม่สามารถใช้อารมณ์ของมวลชนมาสร้างแรงกดดันบีบคั้นการทำหน้าที่ได้ แต่ที่ม็อบมันไม่ใช่เลย เอาแค่การแถลงข่าวแล้วต่อสายไมค์ไปเปิดบนเวทีปราศรัยก็ไม่ใช่แล้ว มันไม่ใช่การแถลงข่าว นักข่าวอย่างพวกเราไม่สามารถซักถามได้อย่างอิสระ เพราะทุกคำถามเขาก็จะรู้กันหมดว่าใครเป็นคนถาม ถามถูกใจก็ดีไป ถามไม่ถูกใจก็เป็นอย่างน้องสาวผมคนนี้

ที่เขียนมาเล่าให้ฟังแค่อยากให้รู้ว่าในชะตากรรมของบ้านเมือง มันก็มีชะตากรรมของนักข่าวตัวเล็กๆคนหนึ่งที่กว่าจะได้คำตอบว่า “ในโรงพยาบาลไม่มีทหาร” เธอต้องเสียขวัญร้องห่มร้องให้ขนาดนี้ เพราะแค่อยากรู้ความจริงเท่านั้น ความจริงที่ใครต่อใครบอกว่ามันคือสิ่งไม่ตาย แต่มันได้มายากเหลือเกิน

เดือนพฤษภาคม


ปะทะเดือนสื่อบาดเจ็บล้มตายสังเวยวิกฤตใต้
-การเมือง

ยิงดับชีพนักข่าวยะลา-สันนิษฐานถูกระบุเป็นสายข่าวทางการเหตุพกวิทยุสื่อสาร

วันที่ 2 พฤษภาคม 2553 เช้าตรู่คนร้ายยิงนายอารูมิง ยามา อายุ 30 ปี ผู้สื่อข่าวและช่างภาพหนังสือพิมพ์ส่วนกลางและท้องถิ่นหลายฉบับ เสียชีวิตขณะขับขี่รถจักรยานยนต์จากบ้านพักไปยังที่ทำการศูนย์รวมข่าวเมืองยะลา ขตเทศบาลนครยะลา ขณะมาถึงที่เกิดเหตุถูกรถกระบะไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนไล่ติดตามไปจากปากทางลัดลำใหม่ ขณะขับแซงคนร้ายบนกระบะท้าย 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงใส่ติดต่อกันหลายนัด หลังก่อเหตุคนร้ายได้ขับรถมุ่งหน้าไปทาง ต.ท่าสาป อย่างรวดเร็ว สาเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่า คนร้ายเป็นพวกโจรใต้เห็นพฤติการณ์นายอารูมิงที่มีวิทยุสื่อสารจึงคิดว่าเป็นสายข่าวให้กับทางการได้ติดตามไปยิงปิดปากนายอารูมิงจนเสียชีวิตดังกล่าว                                                                                                                    สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วยเหลือเบื้องต้น

นายอับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์ เลขาธิการสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกสลดใจกับเหตุ การณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้ตายเป็นคนมีความ ประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกับใคร และพอมีเวลาว่างจากการทำข่าว จะไปทำงานเป็นช่างซ่อมรถยนต์ และเสมียนที่อู่ซ่อมรถ และขณะนี้ทางสมาคมฯ กำลังรอผลการสืบสวนทางคดีของพนักงานสอบสวน ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากเรื่องใด และจะเร่งรัดตำรวจให้เร่งสอบสวนติดตามหาตัวกลุ่มคนร้ายโดยเร็ว ส่วนการช่วยเหลือผู้ตาย นั้น ขณะนี้นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ ได้มอบหมายให้เข้าไปดูแลในเรื่องของการจัดการประกอบพิธีฝังศพ รวมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 5,000 บาท อย่างไรก็ตาม จะทำรายงานเสนอไปยังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการต่อไป

แม่ทัพภาค 4 แสดงความเสียใจ-สมาคมนักข่าวฯยืนไว้อาลัย

 

พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ แสดงความเสียใจและโทรศัพท์สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ ขณะที่นายวสันต์ อัครเดช บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์หาดใหญ่เจอนัล พร้อมทีมงานได้เดินทางมามอบเงินให้กับ นางยาหารอ หมานเต๊ะ มารดาของ นายอารูมิง ยามา ที่บ้านพักของนายอารูมิง ในเขตเทศบาลนครยะลา จำนวน 5,000 บาท พร้อมระบุว่า เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของสื่อท้องถิ่น ที่ทำงานเพื่อสังคมโดยตลอด เปรียบเทียบเสมือนเงาของพระอาทิตย์ เมื่อพระอาทิตย์ส่องสว่าง จะเห็นเงาทันที น้ำใจของเพื่อนสื่อให้กับนายอารูมิง เชื่อว่าวิญญาณนายอารูมิงจะมีความสุขขณะเดียวกันมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันยืนไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของ นายรูมิง ยามา 1นาที ก่อนที่จะเปิดเสวนาเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กทม. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม

วันที่ 3 พฤษภาคม องค์กรวิชาชีพสื่อร่วมออกแถลงการณ์วันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกร่วมสร้างสันติภาพ ยุติธรรม รับผิดชอบต่อสังคม

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “ วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ” เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่จะต้องมีเสรีภาพ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

เรียกร้องสื่อทำหน้าที่เพี่อสันติ ยุตธิรรม และรับผิดชอบสังคม

1.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนประเภทต่างๆ พึงตระหนักว่าท่ามกลางวิกฤติของประเทศในขณะนี้ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะต้องวางเป้าหมายการรายงานข่าว “เพื่อสันติภาพ ความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม” กล่าว คือ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆอย่างเท่าเทียม  และต้องรายงานถึงสาเหตุของปัญหารวมถึงนำเสนอทางออก

แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย

 

จี้คู่ขัดแย้งหยุดใช้สื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง บริหาร-นิติบัญญัติจริงใจปฏิรูปสื่อวิทยุ-โทรทัศน์

2.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งยุติการใช้สื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โดยการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน สร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

3.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองคลื่นความถี่ต้องแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปตัวเองให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยฝ่ายรัฐบาลต้องยุติการแทรกแซงและใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง

เรียกร้องประชาชนใช้วิจารณญาณรับข่าวสาร

 

4.ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง

5.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่อาจยอมรับได้และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

3 พฤษภาคม 2553

 

องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ  นายกรัฐมนตรี  สื่อมวลชน  และประชาชน

เรื่อง ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสื่อมวลชน

ยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อต่อรัฐบาลในการปฏิรูปสื่อโดยเฉพาะสื่อภาครัฐ

 

ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแผนปรองดองเพื่อแก้ไขวิกฤตประเทศไทย โดยได้ระบุถึงการสนับสนุนและยืนยันสิทธิการแสดงออกและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน แต่ได้แสดงความกังวลถึงข้อวิจารณ์ว่า การใช้สื่อในช่องทางต่างๆ รวมทั้งการใช้สื่อของรัฐ มีส่วนสร้างความขัดแย้งหรือนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังนั้นในกระบวนการปรองดอง สื่อจะต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องเป็นกลไกที่เป็นอิสระเข้ามากำกับดูแลอย่างแท้จริง และต้องไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน แต่เป็นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์จะทำให้สังคมก้าวพ้นความขัดแย้งและกลับมามีความปรองดองสงบสุขได้อย่างรวดเร็วนั้น

สื่อถูกใช้บิดเบือนในรอบหลายปีที่ผ่านมา-กลุ่มบุคคลอ้างตัวเป็นสื่อทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนดังมีรายชื่อแนบท้ายข้อเสนอนี้ ได้พิจารณาข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีด้วยความรอบคอบแล้ว เห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการใช้สื่อมวลชนบางส่วนบิดเบือน ทั้งยังมีบุคคลบางกลุ่มอ้างตัวเป็นสื่อมวลชนกระทำการให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ขณะเดียวกันสื่อมวลชนที่ประพฤติอยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพก็ตกเป็นเป้าหมายถูกปิดกั้นการทำหน้าที่และถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ

ขอให้เกิดกลไกอิสระควบคุมกันเอง รัฐบาล-ภาคส่วนสังคมต้องร่วมผลักดัน

 

ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพควบคู่ไปกับสำนึกและความรับผิดชอบตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพนั้น นอกจากจะต้องมีกลไกอิสระเพื่อควบคุมกันเองที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพแล้ว  ยังต้องมีการดำเนินการในด้านอื่นๆ ที่รัฐบาล สื่อมวลชนและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม จะต้องร่วมกันผลักดันดังต่อไปนี้

๑)      รัฐบาลต้องเร่งรัดการปฏิรูปสื่อภาครัฐ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหารงานสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.๑๑)ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปสื่อภาครัฐที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมาเอง ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องกำกับดูแลให้หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ เร่งเตรียมการจัดทำแผนจัดการคลื่นความถี่ให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลสามารถนำมาจัดสรรใหม่ได้ทันทีที่การจัดตั้งองค์กรอิสระดังกล่าวเสร็จสิ้น

๒)     รัฐบาลต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๕ โดยเคร่งครัด และดำเนินการออกกฎหมายตาม มาตรา ๔๖ เพื่อกำหนดบทนิยามของคำว่า “สื่อมวลชน” ให้ชัดเจนว่า สื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สมควรได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นสื่อที่ปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และต้องไม่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน

๓)      วุฒิสภาต้องเร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ...... ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ขณะเดียวกัน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

๔)      ในระหว่างยังไม่มี กสทช. คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) แต่งตั้งขึ้น ต้องเร่งดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลสถานีวิทยุชุมชน โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเคเบิลทีวีให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด

๕)      สื่อมวลชนทุกสาขาต้องปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมแห่งตนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องไม่เสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน ต้องมีกลไกควบคุมความรับผิดชอบทางจริยธรรมและศีลธรรมต่อประชาชนและสังคมมากยิ่งขึ้น โดย องค์กรควบคุมกันเองทางวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ทั้งจะต้องเร่งรัดปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงาน โดยเฉพาะกระบวนการรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน และการรับผิดทางจริยธรรมของสื่อที่ละเมิดจริยธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

๖)      การบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีต่าง ๆ ขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องกระทำด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอนให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น การดำเนินคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทจะต้องเป็นไปเพื่อรักษาเกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัวของบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

๗)     ประชาชนควรเปิดรับข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและใช้วิจารณญาณในการเปิดรับสื่อ และหากเห็นว่าสื่อใด นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมให้ร้องเรียนต่อองค์กรควบคุมกันเองทางวิชาชีพโดยทันที

๘)      องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนสนับสนุนให้มีองค์กรอิสระในภาควิชาการและภาคประชาสังคม ทำหน้าที่ตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ

๙)      องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามรายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ พร้อมเป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งรัฐบาลในการผลักดันกระบวนการปฏิรูปสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ได้โดยมีเสรีภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและนำไปสู่ความปรองดองของประชาชนไทยในที่สุด

 

 

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ

เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน

เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้

เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลางและภาคตะวันออก

 

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓

 

วันที่ 13 พฤษภาคม 2553

นายกฯ ตอบรับแผนปฏิรูปสื่อของเครือข่ายวิชาชีพสื่อมวลชน มอบให้เป็นตัวกลางเปิดเวทีสาธารณะก่อนถกร่วมภาครัฐ

ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ในนามเครือข่ายสภาและสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน 10 องค์กร ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้ และเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลางและภาคตะวันออก เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสื่อมวลชน

จี้ปรับช่อง 11

นายประสงค์กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการปฏิรูปสื่อภาครัฐ โดยเฉพาะช่อง 11 ที่เห็นว่ากรมประชาสัมพันธ์ไม่มีความสามารถในการจัดการต้องให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายตามมาตรา 46 เพื่อให้ความคุ้มครองสื่อและผู้ประกอบวิชาชีพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เร่งรัดให้วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) โดยเร็ว ระหว่างที่ยังไม่มี กสทช.ให้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงฯ เร่งรัดดำเนินการตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลวิทยุชุมชน โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี                                                    นาย ประสงค์กล่าวว่า ทั้งนี้สื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เสนอข่าวสร้างความขัดแย้ง การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ใช้เพื่อการขัดขวางการทำหน้าที่สื่อ ประชาชนควรเปิดรับข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย สามารถร้องเรียนต่อองค์กรที่ควบคุมกันทางวิชาชีพได้ทันที ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนสนับสนุนให้มีองค์กรอิสระในภาควิชาการและภาค ประชาสังคมตรวจสอบการนำเสนอข่าวสารอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยองค์กรที่ยื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมเป็นแกนกลางในการประสานงานความร่วมมือ กับภาคส่วนอื่นๆ และรัฐบาลในการผลักดันกระบวนการปฏิรูปสื่อ                                 

นายกฯกังวลสื่อครอบคลุมอินเทอร์เน็ต เอสเอ็มเอส เว็บบอร์ดด้วยหรือไม่

ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางของเครือข่ายสมาคมวิชาชีพและถือว่าเป็นข้อเสนอของกลุ่มคน กลุ่มแรกที่เสนอข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสื่อตามแผนปรองดองขึ้นเป็นองค์กรแรก โดยขอให้เครือข่ายเป็นคนกลางในการจัดเวทีสาธารณะนอกรอบและอย่างเป็นทางการ ขึ้นมา จากนั้นก็ขอให้ภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ตนมีข้อสังเกตว่าสื่อต้องรวมไปถึงอินเทอร์เน็ต เอสเอ็มเอส ทีวีดาวเทียม เว็บบอร์ดสนทนาด้วยหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่กว้าง อาจจะต้องจัดวงออกไปอีกต่างหาก เพราะปัจจุบันก็ถูกมองว่ารัฐเข้าไปละเมิดสิทธิเสรีภาพเพราะใช้กฎหมายเกี่ยวกับความผิดด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนสถานีโทรทัศน์พีทีวีและเอเอสทีวีตนก็ต้องการให้เชิญมาพูดคุยด้วยเช่นกัน ส่วนการบังคับใช้กฎหมายของอนุคณะกรรมการ กสทช.นั้นเห็นว่ามีช่องกฎหมายที่จะดำเนินการได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ จึงขอมอบหมายให้นายสาทิตย์ไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

วันที่ 14 พฤษภาคม 2553

ทหารเริ่มรุกหนักสื่อถูกยิงอีก 1 คนแนวสวนลุมพินี

เอเอฟพีรายงานว่า มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศของสำนักข่าว "ฟรองซ์ 24”คือ นายนิวสัน แลนซ์ ถูกยิงบริเวณต้นขาขณะถือกล้องบันทึกภาพการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ ประท้วง บริเวณด้านหน้าสวนลุมไนท์ บาร์ซ่าร์ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจุฬา ถูกยิงที่บริเวณขาระหว่างเหตุปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ประท้วงบริเวณสวนลุมไนท์บาร์ซา นอกจากนี้ นายสุบิน น้ำจัน ช่างภาพมติชน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ตรงฝั่งตรงข้ามสวนลุมพินี ถูกยิงได้รับบาดเจ็บตรงบริเวณต้นขา โดยนายสุบินถูกนำส่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และยังมีช่างภาพโทรทัศน์ของสำนักข่าววอยซ์ทีวีถูกยิงที่ขาซ้ายอีก 1 คนคือนายศุภวัฒน์ ปันจันตา ซึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ

เผยฮาร์ดคอร์บางส่วนสวมปลอกแขนนักข่าวอาจทำทหารเข้าใจผิด

ระหว่างการปะทะกันสถานวิทยุ อสมท.คลื่น 100.5 Mhz ได้รายงานพิเศษติมสถานการณ์การชุมนุม โดยนายพลากร สุวรรณ์รัตน์ ระบุว่า เหตุที่นักข่าวถูกยิงหลายคน เนื่องจากได้พูดคุยกับนักข่าวในพื้นที่ ทราบว่าตั้งแต่ค่ำคืนที่ผ่านมา มีกลุ่มฮาร์ดคอของนปช.ได้สวมปลอกแขนสีเขียวคล้ายนักข่าว ออกป่วนมีพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่วางใจว่าคนที่สวมปลอกแขนนักข่าว เป็นนักข่าวจริง หรือว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมแฝงตัวมา และตอนนี้นักข่าวในพื้นที่หวาดกลัวพอสมควรเนื่องจากมีความไม่ไว้วางใจเกิด ขึ้น

 

รอยเตอร์รายงานมีสื่อต่างชาติถูกยิงขณะทหารปะทะเสื้อแดง

รอย เตอร์รายงานว่ามีผู้สื่อข่าวต่างประเทศถูกยิงในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่าง กลุ่มคนเสื้อแดงกับกองทัพที่กรุงเทพฯ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสื่อมวลชนคนดังกล่าวทำงานให้สำนักข่าวใด มีเชื้อชาติอะไร และได้รับบาดเจ็บหนักแค่ไหนผู้พบเห็นเหตุการณ์ระบุเพียงว่า สื่อมวลชนต่างชาติรายนี้ถูกยิงขณะยืนอยู่ท่ามกลางทหารและผู้ชุมนุม เขาถือกล้องวิดีโออยู่ในมือ และมีเลือดไหลออกมาจากมือของเขา ขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

 

สมาคมนักข่าวฯ แสดงความห่วงใยสวัสดิภาพผู้สื่อข่าว ในการทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง พร้อมเตือนผู้สื่อข่าวหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง

นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ เปิดเผยถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นในขณะนี้ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเจ้าหน้าที่ทหาร ในหลายจุดจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สมาคมนักข่าวฯ มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสื่อมวลชน โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่อยู่ภาคสนาม ซึ่งต้องทำหน้าที่ท่ามกลางสภาวะความกดดัน จึงขอแจ้งเตือนให้ทุกคนระมัดระวัง และคำนึงความปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวควรหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง ที่อาจเป็นแนวปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งบริเวณหลังเวทีของกลุ่ม นปช. บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งหากสื่อมวลชนเห็นว่าการทำหน้าที่ในพื้นที่ไม่ปลอดภัย ขอให้ย้ายไปใช้พื้นที่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายเสด็จ กล่าวด้วยว่า สมาคมนักข่าวฯ ขอแสดงความห่วงใยไปยังผู้สื่อข่าว และช่างภาพ จากหนังสือพิมพ์มติชน สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ วอยซ์ทีวี รวมถึงผู้สื่อข่าวต่างประเทศอีกหลายสำนัก ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ชุมนุมฯ และเจ้าหน้าที่รัฐ ดูแลความปลอดภัยให้กับผู้สื่อข่าว ซึ่งมีสัญลักษณ์ “ปลอกแขนสีเขียว” ของสมาคมนักข่าวฯ เป็นการแสดงตนในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพื่อการรายงานข้อมูล ข้อเท็จจริงไปสู่ประชาชน

ช่างภาพไทยถูกยิงสาหัสอีก 1 คน

เวลาประมาณ  16.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพเครือเดอะเนชั่น ถูกยิงที่โคนขาขวาได้รับเจ็บระหว่างการปะทะกันของทหารและกองกำลังไม่ทราบฝ่ายบริเวณถนนราชปรารภ ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพญาไทที่อยู่ใกล้ๆ ที่เกิดเหตุ แต่เป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะไม่มีรถพยาบาลเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ระหว่างการชุมนุมพบว่าปลอกแขนของสมาคมฯที่ทำขึ้นเพื่อความปลอดภัยของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศถูกแจกจ่ายไปถึงสามพันชิ้น บางส่วนถูกกระจายไปอยู่กับบุคคลที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพสื่อหรือผู้ช่วยเหลือ โดยพบว่าทหาร ตำรวจ และหน่วยข่าวบางแห่งใช้ปลอกแขนดังกล่าวในการหาข่าว รวมทั้งวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วิ่งเข้าออกบริเวณโดยรอบการชุมนุม

 

ม็อบแดงล้อมรถนักข่าวช่อง3 อ้างข่าวเอียงก่อนยอมปล่อย

เวลา 09.10 น. วันที่ 14 พฤษภาคมผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  ได้ปิดล้อมรถข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่บริเวณสวนลุมพินี เนื่องจากอ้างว่า ไม่พอใจการเสนอข่าวของทางสถานี แต่ไม่ได้เกิดการทำร้ายร่างกายหรือแต่อย่างใด หลังการเจรจาพูดคุยกัน จนในที่สุดกลุ่มคนเสื้อแดงได้ปล่อยรถคันดังกล่าวไปแล้ว

 

วันที่ 15 พฤษภาคม 2553 10:02

“หมอเหวง” วอนนักข่าวเข้าเวทีราชประสงค์

น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้ไม่มีสื่อมาปรากฏตัวที่หลังเวทีเหมือนกับทุกวันที่ผ่านมา โดยทราบมาว่ากองบรรณาธิการได้สั่งการให้นักข่าวไม่เข้ามาในพื้นที่ นี่คือสัญญาณการสลายการชุมนุม ดังนั้นขอเรียกร้องให้สื่อกลับเข้ามาทำหน้าที่ในพื้นที่เหมือนเดิม และขอรับรองความปลอดภัยของสื่อที่จะเข้ามาทำงาน โดยผู้ชุมนุมและการ์ดจะให้ความดูแลเป็นอย่างดี

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างชาติ'ผมไม่โทษใคร'

นายเนลสัน แรนด์ ผู้สื่อข่าวชาวแคนาดา ของสถานีโทรทัศน์ฟรองซ์ 24 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการปะทะกัน บริเวณถนนพระราม 4 ได้ออกมาเปิดใจบนเตียงผู้ป่วยว่าไม่โทษใครจากเหตุการณ์ นี้จำได้ว่าถูกยิงที่ข้อมือซ้าย และจำได้ว่า ตะโกนขอความช่วยเหลือ "ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง แต่ผมก็ไม่สนใจหรอก เพราะพาตัวเองเข้าไปอยู่ใน สถานการณ์เอง และไม่ควรมีใครถูกกล่าวโทษในเรื่องนี้" นายแรงกล่าว ก่อนจะเผย ว่า ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นกับตัวเอง

 

ศอฉ. ปัดใช้งบไอซีทีปิดเว็บปลุกระดม 770 เว็บ

ศอฉ.เผยยอดปิดเว็บปลุกระดมรวม 770 เว็บ ยันขอความร่วมมือจาก ISP ไม่เอี่ยวงบไอซีทีตามข่าวลือ 530 ล้านบาท

 

เช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553  ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์การชุมนุมของกลแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ ( นปช.)  ศอฉ.มีคำสั่งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายปลุกระดมและปิดแล้ว 770 เว็บไซต์ จากสัปดาห์ที่ผ่านมามีเพียง 612 เว็บไซต์ โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะการถ่ายทอดสดการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ที่เข้าข่ายยั่วยุและปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง สำหรับเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ที่ถูกสั่งปิดไป ได้ยื่นฟ้องศาลแพ่ง แต่ศาลไม่รับคำฟ้อง และให้เหตุผลว่า ศอฉ.มีอำนาจดำเนินการดังกล่าวอยู่แล้ว                                                                                                                นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น เว็บไซต์เผชิญปัญหาอย่างหนัก เพราะต้องย้ายเซิร์ฟเวอร์ไปต่างประเทศทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขั้น จากเดิมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท ต่อเดือน ส่วนผู้ที่สามารถเข้าเว็บประชาไทได้ก็จะก็อปปี้เนื้อหาแล้วโพสผ่านโซเชีย ลเน็คเวิร์ค เพื่อให้สามารถอ่านข้อความได้ นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่า ศอฉ.จะไม่พยายามควบคุมโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วย

 

สื่อมวลชน ผวา ศอฉ.เตือนคนปองร้าย ย้ายออกพื้นที่ปะทะ

ศอฉ. แถลงว่ากลุ่มก่อการร้ายมุ่งโจมตีสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่สาธารณะสุข และคนบริสุทธิ์ ที่อยู่ในพื้นที่การปะทะระหว่างคนเสื้อแดงและทหารในพื้นที่รอบนอกราชประสงค์ จึงขอให้ออกมาห่างจากจุดปะทะ พร้อมทั้งเตือนให้ผู้ชุมนุมเสื้อแดงออกจากพื้นที่ภายในเวลา 15.00 น.ทำให้สื่อแขนงต่างๆ แจ้งไปยังสื่อมวลชนที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ให้เตรียมถอนตัวออกไปอยู่ในจุดปลอดภัย                                                                                                                                    ขณะเดียวกัน รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้นำรถตู้หลายคันมาขนบุคลากรออกไปทางถนนอังรีดูนังต์ พร้อมแจ้งให้สื่อมวลชนที่ปักหลักรายงานข่าวอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน ขณะที่สื่อมวลชนที่ปักหลักรายงานอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหลังเวทีปราศรัยแยกราชประสงค์ ได้เริ่มพากันทยอยออกมาเรื่อยๆ ท่ามกลางการจุดพลุขึ้นสู่ท้องฟ้า ไล่เครื่องบินที่บินสังเกตการณ์อยู่เหนือพื้นที่ชุมนุม

บีบีซีระบุ รบ.ไทยปัดข้อเสนอ"เสื้อแดง"ดึงยูเอ็นร่วมเจรจา

สำนักข่าวบีบีซีของ อังกฤษรายงานว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอของแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จ การแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม " เสื้อแดง"    ที่เสนอให้มีการดึงองค์การสหประชาชาติเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยความ ขัดแย้งทางการเมืองในไทยที่ลุกลามบานปลายจนมีผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม บีบีซีระบุว่า ปณิธาน วัฒนายากร   โฆษกรัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวโดยยืนยันความขัดแย้งทางการเมืองในไทยไม่จำเป็นต้องมีองค์กรภายนอกประเทศเข้ามาแทรกแซง

เรเชล ฮาร์วีย์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซีประจำกรุงเทพรายงานว่า บรรยากาศล่าสุดในกรุงเทพฯ ไม่ต่างไปจากสภาพบ้านเมืองที่มีสงครามกลางเมือง โดยสามารถพบเห็นร่องรอยความเสียหายจากการปะทะ เปลวเพลิง และกลุ่มควันสีดำลอยฟุ้งอยู่ทั่วไปในย่านใจกลางเมือง จนทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมีเสถียรภาพของไทย ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่ลำดับที่สองของภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกัน บีบีซีรายงานโดยอ้างคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมาและต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ออกมาเรียกร้องเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาให้รัฐบาลสั่งยุติปฏิบัติการ ทางทหาร และเริ่มต้นกระบวนการเจรจา

 

17 พฤษภาคม 2553

สถานทูตจีนขนนักข่าวออก

 

 

วันดังกล่าวเครื่องบินแบบ AU-23 Peacemaker บินต่ำโปรยใบปลิวคำประกาศของ ศอฉ.ให้ออกนอกพื้นที่การชุมนุมลงมายังย่านราชประสงค์ พร้อมประกาศเสียงตามสายแจ้งเตือนให้กับประชาชน ขณะที่ กลุ่มการ์ดเสื้อแดงยิงพลุจุดโคมลอยรบกวนการบิน จากน้นบนเวทีได้บรรเลงเพลงปลุกใจ ขณะที่สถานทูตจีนประสานขนนักข่าวออกนอกพื้นที่ หลังจากโดยรอบพื้นที่ชุมนุมราชประสงค์มีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างชาติถูกลูกหลงบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยผู้สื่อข่าวจากประเทศจีนทั้งหมดเก็บ สัมภาระเตรียมพร้อมออกเดินทางทันที และไปรวมตัวกันอยู่ภายในบริเวณวัดปทุมวนาราม ก่อนที่เจ้าหน้าที่กาชาดจะเดินทางไปรับตัวและพาออกนอกพื้นที่

 

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2553

สื่อนอกเปิดโปง "คนชุดดำ" นักรบเสื้อแเดง

หนังสือพิมพ์คมชัดลึกอ้างการรายงานของไฟแนนเชี่ยลไทมส์ที่มีการเปิดโปงเบื้องหลัง" นักรบชุดดำ " เมาทั้งยาบ้าและยากระตุ้นฮอร์โมน คลั่งไคล้ชุดดำ ผู้นำอินโดนีเซียส่งจดหมายถึงประธานอาเซียน เรียกร้องให้จัดการประชุมสุดยอด ออกแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์ในไทย รอยเตอร์ส ระบุ ยังคงมีการเจรจาหลังฉาก แต่ข้องใจว่าแกนนำคนใดแน่ที่สามารถกุมบังเหียนพวกที่ก่อความไม่สงบได้                                                                                                               นายทิม จอห์นสัน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สหรือเอฟที. ประจำกรุงเทพฯ ได้นำเสนอบทความเรื่อง "นักรบชุดดำ"-แนวหน้าในเหตุปะทะที่ไทย"บนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2553  ว่าท่ามกลางสงครามหลากสีในไทยนั้น มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่านักรบชุดดำ ซึ่งเป็นกองกำลังลึกลับคอยสร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้น และเริ่มมีการนำภาพของคนเหล่านี้ออกมาเปิดเผยเป็นระยะๆ แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่เคยเปิดเผยตัวออกมาว่าเป็นใคร

เผยคนชุดดำติดอาวุธเป็นแนวร่วมนปช.

ด้านเว็บไซต์ของเอฟทีกล่าวว่านักรบชุดดำเหล่านี้มีปืนเป็นอาวุธ และดูเหมือนจะเป็นกลุ่มติดอาวุธของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่อ้างมาตลอดว่าต่อสู้โดยสันติอหิงสาขณะยังคงปักหลักประท้วงรัฐบาลอยู่หลังแนวปราการยางรถยนต์และหลาวไม้ไผ่กลางย่านแหล่งช็อปปิ้งหรูหราที่สุดของกรุงเทพมหานคร

เมายาคลั่งชุดดำ

นายจอห์นสันรายงานว่า กลางสถานที่ชุมนุมรอบราชประสงค์  มีวัยรุ่นหลายคนเดินไปเดินมาในสภาพเมายา ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างสารเทสโทสเตโรนหรือยากระตุ้นฮอร์โมนและเมธาเฟตามีนหรือยาบ้า  โดยต่างคุยโตโอ้อวด แสดงความคลั่งไคล้ในชุดโปรด  ประกอบด้วยรองเท้าดำ กางเกงดำ เสื้อยืดดำ ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ต้องมีโลโก้ปืนยี่ห้อดังอย่าง กล็อก หรือ เฮคเลอร์ แอนด์ คอช                                                                                                                                 ระบุพิราบแดงเสียสูญเสียการควบคุมให้กลุ่มหัวรุนแรง

ไฟแนนเชี่ยลไทมส์รายงานว่า กลุ่มรักสันติหรือสายพิราบในกลุ่มเสื้อแดงซึ่งยอมรับข้อเสนอปรองดองของรัฐบาลเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนได้สูญเสียอำนาจการควบคุมกลุ่มนปช.ให้กับกลุ่มหัวรุนแรงหรือพวกฮาร์ดคอร์ ซึ่งได้ลุกขึ้นสู้กับทหารโดยใช้อาวุธตามมีตามเกิดเท่าที่พอหาได้ อย่างหนังสติ๊ก ระเบิดทำเอง และระเบิดขวด แต่ก็มีหลักฐานมากขึ้นทุกทีว่ากลุ่มเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ ที่อาจจะอยู่หรืออาจจะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของแกนนำก็ได้คอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง  โดยหลายคนเชื่อว่า พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธแดงอยู่เบื้องหลังกลุ่มนักรบชุดดำเหล่านี้

สื่อนอกข้องใจแกนนำคุมมือป่วนได้หรือไม่

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวในรัฐบาลว่า ยังคงมีการเจรจากันหลักฉาก แต่ก็ยิ่งทำให้เกิดข้อข้องใจเช่นกันว่า มีแกนนำเสื้อแดงคนใด ที่มีอำนาจควบคุมผู้ประท้วงอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะพวกที่ออกไปก่อความไม่สงบ นักวิเคราะห์การเมืองคนหนึ่ง บอกว่า ทางออกตอนนี้คือการเจรจา หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องปราบปรามกันอย่างรุนแรงไปเลย ซึ่งต้องอาศัยกำลังทหารที่มากกว่านี้ และอาจจะกลายเป็นวันที่มืดมิดสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าใครจะได้รับชัยชนะก็ตาม

องค์กรนิรโทษกรรมสากลตำหนิรัฐบาลไทย

ขณะเดียวกัน กลุ่มนิรโทษกรรมสากลในอังกฤษ ได้ออกมาตำหนิกองทัพไทยเรื่องการใช้กำลังอย่างรุนแรง ในการควบคุมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตามท้องถนน โดยระบุว่า ทหารไทยละเมิดกฏหมายด้วยการยิงกระสุนจริงในหลายพื้นที่ นายเบนจามิน ซาวัคกี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทยของทางกลุ่มบอกว่า จากข้อมูลของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ และวีดีโอที่บันทึกเอาไว้ได้ชี้อย่างชัดเจนว่า  ทหารยิงกระสุนจริงเข้าใส่ประชาชนที่ไม่มีอาวุธ และไม่ได้เป็นอันตรายทั้งต่อทหาร หรือบุคคลอื่น ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษษยชนข้อสำคัญเรื่องสิทธิในการมีชีวิต                                                                                                                                               ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีที่รายงานข่าวนี้บอกว่า รัฐบาลไทยอ้างว่า มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายร้อยแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ทำร้ายประชาชน แต่ทางกลุ่มนิรโทษกรรมสากล กลับระบุว่า พลแม่นปืนของทหารเป็นผู้สังหารเจ้าหน้าที่พยาบาล 2 คน ซึ่งสวมเครื่องแบบทางการแพทย์สีขาว รวมทั้งเด็กวัย 17 ปีอีกคนด้วย

 

วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิพากษ์ สื่อไทยในสถานการณ์ความขัดแย้ง

ในการสนทนากับนักข่าวทีวีช่องหนึ่ง ผมถามเธอว่า เคยสังเกตบ้างไหมว่า เมื่อครั้งที่เสื้อแดง "บุก" รัฐสภา ภาพถ่ายที่ลงในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จะเป็นภาพที่ถ่ายจากกองกำลังฝ่ายรัฐซึ่งตั้งอยู่หลังประตู ไม่มีภาพที่ถ่ายจากมุมของฝ่ายเสื้อแดงเลย เธอตอบว่า ก็รู้สึกน่ากลัวที่จะยืนอยู่ฝ่ายเสื้อแดง ผมถามว่ากลัวอะไร เธอตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน แต่รู้สึกน่ากลัว

 

ระบุสื่อไทยใช้ภาพมุมเดียว

อันที่จริงคำถามของผมเพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นอย่างง่ายๆ ว่าการทำข่าวการชุมนุมของสื่อไทยนั้นให้น้ำหนักแก่ข่าวความขัดแย้งอย่างไม่สมดุลเท่านั้น ภาพถ่ายที่มองจากมุมเดียวของเหตุการณ์ "บุก" สภานั้น อาจอธิบายทางเทคนิคได้ว่า เพราะฝ่ายเสื้อแดงเป็น "ผู้กระทำ" (actor) จึงเป็นธรรมดาที่กอง บ.ก.ย่อมเลือกภาพที่มองเห็น "ผู้กระทำ" มากกว่า "ผู้ถูกกระทำ" ในความเป็นจริงแล้ว นักข่าวอาจส่งภาพจากทั้งสองฝั่งมาจำนวนมากก็ได้                                                    แต่แม้ตอบอย่างนั้น ก็ยังมีคำถามตามมาอีกว่า เราจะวินิจฉัยคนในข่าวความขัดแย้งว่า ใครคือ "ผู้กระทำ" และใครคือ "ผู้ถูกกระทำ" ได้จากปรากฏการณ์เฉพาะหน้าที่เห็นเท่านั้นหรือ ถ้าสื่อไทยตอบว่าใช่ ก็ถือว่าเป็นคำอธิบายความไม่สมดุลของการทำข่าวได้หมดจดแล้ว ไม่มีเรื่องจะคุยกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม คำตอบของนักข่าวหญิงท่านนั้นน่าสนใจ เพราะหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลายแง่หลายมุมของเหตุการณ์นั้นถูกเปิดเผยขึ้นจากนักข่าวต่างประเทศ (และสำนักข่าวของไทยแห่งหนึ่ง อันเป็นสำนักข่าวใหม่) จนทำให้ฝ่ายรัฐต้องสร้างคำอธิบายใหม่ให้แก่เหตุการณ์หลายครั้ง จนมาลงเอยที่คนชุดดำ และการก่อการร้าย                                                                                                                                         หากไม่นับสำนักข่าวไทยแห่งใหม่นั้นแล้ว ในข่าวที่ใหญ่และมีความสำคัญต่อทั้งปัจจุบันและอนาคตของไทยขนาดนั้น สื่อไทยได้ฝากฝีมืออะไรไว้บ้าง? และทั้งหมดนี้อธิบายได้ด้วยความกลัวเท่านั้นหรือ?                                                                                                             จนถึงทุกวันนี้ สังคมไทยก็ไม่รู้ว่าได้เกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในวันที่ 10 เมษายน สื่อไทยได้แต่ตามสัมภาษณ์บุคคลในเหตุการณ์ที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น ผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่ายในโรงพยาบาล เหตุการณ์ "สังหารหมู่" (ไม่ว่าใครเป็นผู้ทำ) ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยครั้งนี้ จึงมีแต่เรื่องราวของผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายโดยตัวเขาเองก็จับต้นชนปลายไม่ถูก และสังคมไทยเองก็จับต้นชนปลายไม่ถูกเท่ากัน

อัดสื่อไทยไม่เคยทำข่าวเชิงสืบสวนกรณีตายจากการเมือง(เหมือนนิสัยนักวิชาการ)

และก็คงจะเช่นเดียวกับการ "สังหารหมู่" ครั้งอื่น ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา, 6 ตุลา, หรือพฤษภาทมิฬ สื่อไทยไม่เคยทำการสืบสวนในเชิงข่าว เพื่อให้เห็นภาพของความสลับซับซ้อนเบื้องหลังเหตุการณ์ แก่นเรื่องของเหตุการณ์กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างวีรชนและทรราช ส่วนใครจะเป็นวีรชนหรือใครจะเป็นทรราชนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเขามีโอกาสพูดถึงวีรกรรมของเขาได้มากน้อยเพียงไรหลังเหตุการณ์ แน่นอนว่าฝ่ายชนะย่อมมีโอกาสมากกว่า และนี่หรือมิใช่ คือเหตุผลหลักที่สื่อไทยยังพูดถึงการสังหารหมู่ครั้งนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครแพ้ชนะอย่างเด็ดขาด แก่นเรื่องที่สื่อถนัดจึงยังไม่โผล่ออกมา

 

กล่าวหาสื่อไรสมรรถภาพจะเผชิญการสังหารหมู่ทางการเมืองอีกต่อไป

 

โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจการสังหารหมู่ทางการเมือง ท่ามกลางสื่อที่ไร้สมรรถภาพเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่นอนว่าสังคมไทยย่อมจะเผชิญการสังหารหมู่ทางการเมืองต่อไปอีกหลายครั้งในอนาคต แน่นอนว่า ความสามารถที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมากนั้น เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีข้อมูลที่ได้ถูกพิสูจน์แล้ว (verified) จำนวนมากพอ แต่สื่อไทยไม่ถนัดในการพิสูจน์ข้อมูล ที่ทำกันเป็นปกติก็คือ หยิบข้อกล่าวหาของฝ่ายหนึ่งไป "พิสูจน์" โดยนำไปถามผู้ถูกกล่าวหา อย่างที่เรียกกันว่าการทำข่าวแบบปิงปอง

ความสำคัญระดับพื้นฐานของนักข่าวอ่อนด้อย

แท้จริงแล้ว การพิสูจน์ความจริง (verification) เป็นหัวใจสำคัญของการทำข่าวคู่กันไปกับการ "อธิบาย" (ซึ่งจะพูดถึงข้างหน้า) และการพิสูจน์ความจริงเป็นเทคนิควิธีที่จะต้องฝึกปรือ (ทั้งจากสถานศึกษาและจากประสบการณ์การทำงานจริง) เจนจัดที่จะรู้ว่าจะตรวจสอบข้อมูลหนึ่งๆ ที่แหล่งใด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบโดยตรงหรือโดยอ้อม                                                          แต่ความสามารถของนักข่าวไทยในการทำงานที่มีความสำคัญระดับพื้นฐานเช่นนี้อ่อนด้อยอย่างยิ่ง เนื่องจากการฝึกที่ไม่เพียงพอ ทั้งจากสถานศึกษาและที่ทำงาน ในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ สื่อไทยจึงได้แต่หยิบฉวยข้อมูลใกล้มือไปใช้ โดยไม่ได้มีการพิสูจน์ความจริงเลย คู่ขัดแย้งเพียงแต่พยายามทำให้ข้อมูลของฝ่ายตนอยู่ "ใกล้มือ" นักข่าวที่สุดเท่านั้น

 

นักข่าวไม่ทำการบ้านทำให้ตื้นเขิน

คำถามที่นักข่าวป้อนให้แก่แกนนำ นปช.ก็ตาม ผู้อำนวยการ ศอฉ.ก็ตาม จึงตื้นเขินและแสดงถึงการไม่ทำ "การบ้าน" อย่างชัดเจน ที่จริงแล้วนักข่าวจะทำ "การบ้าน" ได้ดี ก็ต่อเมื่อต้องมีข้อมูลที่ถูกพิสูจน์แล้วจำนวนมากในกระเป๋าด้วย ถ้ากระเป๋าว่างเปล่า ถึงจะขยันเท่าไร ก็เท่ากันกับไม่ได้ทำ "การบ้าน" อยู่นั่นเอง เขาป้อนอะไรมา นักข่าวก็ได้แต่เอ๋อ ที่ถามต่อ ก็เป็นเพียงต้องการความชัดเจน เพื่อส่งต่อให้โรงพิมพ์ได้สะดวก                                                                         เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการ "เลือกข้าง" ไม่ว่าสื่อจะเลือกข้างใดในความขัดแย้ง สื่อก็ยังมีหน้าที่พิสูจน์ความจริงของข้อมูลอยู่นั่นเอง เพราะนั่นคือสาระของสินค้าที่สื่อผลิตขายผู้บริโภค นักข่าวหรือ บ.ก.จะสวมเสื้อหลากสี หรือได้สัมปทานทีวีของรัฐเท่าไรก็เป็นเรื่องของบุคคล แต่พวกท่านทั้งหลายเก็บสตางค์จากผู้อ่านด้วยเหตุผลว่า ท่านจะขายข่าวที่ได้พิสูจน์ความจริงจนสุดความสามารถของท่านแล้ว... ทั้งนี้ ถ้าสื่อไม่ใช่แก๊งต้มตุ๋น                                                                        อีกด้านหนึ่งของการทำข่าว นอกจากการพิสูจน์ความจริงของข้อมูล ก็คือการอธิบาย หรือการเล่า (narration) คนเราไม่สามารถ "เล่า" อะไรได้ ไม่ว่าจะมีข้อมูลที่พิสูจน์แล้วมากสักเพียงใด จนกว่าจะได้สร้างโครงเรื่องขึ้นก่อน ฉะนั้นทุกๆ การเล่า จึงมีคำอธิบายอยู่ในนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโครงสร้างของเรื่องราวนี่แหละที่อาจมีอคติส่วนตน, ผลประโยชน์ทางอุดมการณ์, อิทธิพลของนาย ฯลฯ แทรกเข้ามาได้ โดยอุดมคติแล้ว สื่อควรป้องกันมิให้สิ่งเหล่านี้เข้ามากำกับการเล่าข่าวของตนจนสุดความสามารถที่มนุษย์จะทำได้

จี้ให้สื่อเลือกข้างไม่ควรทำตามฝรั่งให้ดูผลกระทบ

แต่ในปัจจุบัน คนทำข่าวบางคนถึงกับอ้างสื่อฝรั่งมังค่าว่า การ "เลือกข้าง" เป็นสิ่งปกติและสื่อควรทำ (โดยไม่ดูผลกระทบต่อสังคมฝรั่งว่า เมื่อสื่อ "เลือกข้าง" แล้วเกิดอะไรขึ้นแก่สังคมการเมืองฝรั่งบ้าง) สื่อก็ควรได้รับคำเตือนด้วยว่า หาก "เลือกข้าง" จริง ก็ช่วยประกาศออกมาเลยว่าได้ "เลือกข้าง" ไหนไปแล้ว ผู้บริโภคควรมีสิทธิในการปกป้องตนเองด้วยวิจารณญาณมากขึ้น อย่าเสนอตัวประหนึ่งเป็นสื่อที่มุ่งประกอบอาชีวปฏิญาณอย่างบริสุทธิ์ (ดังนั้น โดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว ไม่รู้สึกว่าทีวีช่องหอยม่วงน่ารังเกียจเท่ากับช่องทีวีไทย แม้ทั้งสองช่องใช้เงินของผู้บริโภคดำเนินการทั้งคู่ก็ตาม)                                                                                                                    คำเตือนอีกข้อหนึ่งก็คือ ถึงจะ "เลือกข้าง" อย่างไร โครงสร้างของเรื่องราวที่เสนอ ต้องไม่ละทิ้ง, กลบเกลื่อน, ปิดบัง, บิดเบือน ฯลฯ ข้อมูลที่ได้พิสูจน์ความจริงแล้ว หากข้อมูลเหล่านั้นยังสามารถรองรับโครงสร้างของเรื่องราวได้อยู่โดยไม่ติดขัด หรือโดยไม่แย้งกันในตัวเอง การ "เลือกข้าง" ของสื่อก็ดูจะมีผลกระทบต่อการเสนอข่าวตามอาชีวปฏิญาณไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่สื่อไทยไม่ให้ความสำคัญแก่การพิสูจน์ความจริงของข่าว การ "เลือกข้าง" จึงทำให้โครงสร้างของเรื่องราวที่สื่อสร้างขึ้นเต็มไปด้วยอคติได้ง่าย โดยสื่อไม่เคยเตือนผู้อ่านเลยว่า ตนได้เลือกข้างไหนไปแล้ว                                                                                                              หลายคนพูดตรงกันว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่สังคมไทยเผชิญอยู่ สื่อไทยเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเอง เหตุใดจึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นเรื่องเข้าใจยาก รัฐไทยในปัจจุบัน แม้มีอำนาจเด็ดขาดจากกฎหมายความมั่นคงและสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง แต่ทุกคนก็รู้ว่า ในความเป็นจริงรัฐไม่มีอำนาจจริงที่จะกำกับควบคุมสื่อเอกชนได้ หากความพยายามจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลของรัฐถูกแฉแก่สาธารณชน รัฐจะตกในฐานะลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

ชี้แค่สื่อขยับตัวรัฐก็ถอย แต่กลับเลือกโอนอ่อน

 

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพียงแต่สื่อขยับตัวเท่านั้น ไม่ต้องลุกขึ้นสู้ด้วยซ้ำ รัฐก็ต้องถอย แต่สื่อกลับเลือกจะโอนอ่อนให้แก่แรงกดดันของรัฐ ทั้งนี้ หมายรวมถึงสื่อทุกชนิด รวมทั้งทีวีด้วย

แรงกดดันจากทุนอาจมีความสำคัญกว่ารัฐ เหตุใดทุนจึง "เลือกข้าง" คำตอบหนึ่งที่พูดกันอยู่เสมอคือผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่นนายทุนทีวีต้องการต่อสัมปทานเป็นต้น แต่น่าสงสัยว่าคำอธิบายนี้ไม่เพียงพอ ผลประโยชน์ของนายทุนทีวีนั้นสลับซับซ้อนหลายแง่หลายเงื่อน ผูกพันเชื่อมโยงไปถึงทุนอีกหลายกลุ่ม การจะได้หรือไม่ได้สัมปทานจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำตัวน่ารักแก่รัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่เท่านั้น (ซึ่งก็ถูกเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว) ความเชื่อมโยงกับทุนหลากหลายกลุ่มที่มีอำนาจกำกับการเมืองอยู่ต่างหาก ที่ทำให้สัมปทานจากรัฐมีความมั่นคง                                      สิ่งที่ผูกพันทุนไว้กับ "ระเบียบ, ความสงบเรียบร้อย, นิติรัฐ, ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ฯลฯ" นั้นมีสองอย่าง อำนาจต่อรองทางการเมืองที่สูงสำหรับรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของทุน "ฝ่ายกู" นั้นอย่างหนึ่ง และอคติทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่สองนี้แหละที่อธิบายการเซ็นเซอร์ตัวเองของทุนสื่อเอกชน ที่ไม่ต้องขอสัมปทานจากรัฐได้ ก็โตและรวยมาท่ามกลาง "ระเบียบ, ความสงบเรียบร้อย, นิติรัฐ, ผลิตภัณฑ์มวลรวม ฯลฯ" อย่างนี้นี่หว่า จะปล่อยให้พวกบ้านนอกขอกตื้อมาละเลงจนเละไปได้อย่างไร

 

ซัดสื่อไทยไม่มีกึ๋นพอที่จะเป็นกลางได้ ศัตรูคือทุนไม่ใช่รัฐ

ศัตรูของเสรีภาพสื่อไทยนั้นไม่ใช่รัฐมานานแล้ว แต่คือทุน ถ้าเราไม่ตระหนักเรื่องนี้ให้ดี เราก็จะไม่ช่วยกันสร้างกลไกทางกฎหมาย, สังคม, และวัฒนธรรม ที่แข็งแกร่งพอจะปกป้องเสรีภาพของสื่อได้เลย ถ้าสังคมไทยมีข้อมูลรอบด้าน มองเห็นทั้งข้ออ่อนข้อแข็งของแต่ละฝ่ายที่ร่วมอยู่ในความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรงกับความจริงจะทำได้ยากขึ้น เพราะจะถูกสื่อตรวจสอบอย่างรวดเร็วและหนักแน่น ทุกฝ่ายจะต้องระมัดระวัง ไม่ใช้ความเท็จเป็นเครื่องมือต่อสู้ เพราะจะทำให้เสียความชอบธรรมจนเพลี่ยงพล้ำ โอกาสของการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่ายก็จะลดลงอย่างมาก แม้แต่ทางออกจากความขัดแย้งเฉพาะหน้าก็อาจเห็นได้ชัดขึ้น แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งซึ่งหลายคนมองเห็นว่า สื่อไทยไม่ "เป็นกลาง" นั้น ไม่จำเป็นต้องตีโวหารอะไรให้มากหรอก คุณไม่มีกึ๋นจะ "เป็นกลาง" ได้ ก็เท่านั้นเอง

นักข่าวพม่าถูกทำร้ายในวัดปทุมวนาราม

ผู้สื่อข่าวหญิงชาวพม่า ชื่อไนซ์ จากสำนักข่าวอิระวดี ได้เข้าไปทำข่าวภายในวัดเพื่อทำสารคดี หญิงและเด็ก ในนวัดปทุมฯซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจหาจัดฉากม็อบอยากกลับบ้าน กลุ่มผู้ชุมนุมหญิงจึงรุมทำร้ายหลังจากนั้นการ์ดนปช.เข้าช่วยไว้ และพาไปหลบหลังเวที คุยกับนายแพทย์ เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. จากการสอบถามทราบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ อ้างว่าผู้สื่อข่าวพม่าจัดฉากม็อบอยากกลับบ้าน กลุ่มนปช.หญิงจึงรุมเข้าตบตีผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว ก่อนที่การ์ดนปช. จะเข้ามาช่วยไว้ได้ และพาไปหลบไปยังหลังเวที

วันอังคาร ที่ 18 พฤษภาคม 2553

CNN ถูกเปิดผนึกเวียนในสื่อต่างๆ ถึงการเสนอข่าวที่ไม่เป็นกลาง เอนเอียงไปฝ่ายเดียว

สงสัยในความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวระดับโลก

น.ส.นภัส ณ ป้องเพชร ระบุว่า ผู้สื่อข่าว CNN ประจำประเทศไทย แดน ริเวอร์ และ ซาร่าห์ ซไนเดอร์ ทำให้ดิฉันต้องกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังว่าข่าวของสำนักข่าวของคุณเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ มีความถูกต้อง และไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ ในขณะที่ดิฉันกำลังเขียนจดหมายฉบับนี้ มีผู้เสพข่าวของ CNN กำลังตั้งคำถามถึงความแม่นยำและแหล่งข่าวในการนำเสนอเหตุการณืที่เกิดขึ้นใน อาฟกานิสสถาน ไฮติ อิรัก อิหร่าน เป็นต้น .. เพิ่มเติมจากการเสนอข่าวในกรุงเทพมหานคร

 

อัดเสนอข่าวด้านเดียวตื้นเขิน

ในฐานะที่เป็นสำนักข่าวชั้นนำของโลก CNN มีหน่าที่ในการเสนอข่าวอย่างรอบด้าน บนพื้นฐานของความจริงต่อประชาชนทั่วโลกที่ให้ความไว้วางใจอย่างสุจริตต่อการเสนอข่าวของสำนักข่าวของท่าน เครือข่ายข่าวนานาชาติของท่านยังดำรงอยู่และเข้าถึงอย่างกว้างขวางโดยพื้นฐานของการนำเสนออย่างระมัดระวังและไว้ใจได้มาอย่างยาวนาน ; นักข่าว ผู้สื่อข่าว และผู้ที่ทำการวิจัยข้อมูลของ CNN ต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตนตามมาตรฐานการปฏิบัติและจริยธรรมของผู้สื่อข่าว ในอันที่จะนำเสนอเรื่องราวและข้อเท็จจริงรอบด้าน ไม่ใช่การนำเสนอข่าวด้านเดียว ที่ตื้นเขิน และความจริงเพียงครึ่งเดียว

ความเสียหายและโอกาสที่จะเกิดความเสียหายที่ร้ายแรงจากความเข้าใจผิดหรือการรับรู้ที่ไม่ถูกต้องอาจจะเกิดขึ้นได้ (และถูกทำให้แย่ลง) ไม่เพียงแค่ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศ ภาวะเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ต่อประชาคมโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่จริงๆของผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่และไม่มีปากเสียงของประเทศนั้นๆด้วย นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่โต CNN ไม่ควรจะเพิกเฉยและละเลยหน้าที่ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในในการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียวในประชาคมโลก หรือการที่ไม่ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข่าว และแม้แต่การบิดเบือนข้อเท็จจริงที่นำมาจากการการวิจัยอย่างคร่าวๆ ผิวๆเผินๆ หรือการนำเสนอ/แจกจ่ายรูปภาพที่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งของความจริงทั้งหมดในภาพรวม

 

สองผู้สื่อข่าวล้วนแต่รายงานจากผู้ชุมนุมฝ่ายเดียว

คุณริเวอร์ และคุณ ซไนเดอร์ ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดภายใต้ภาวะที่อาจจะเกิดการคุกคามชีวิต เพราะผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอื่นๆทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ ทุกสิ่งที่คุณริเวอร์และคุณซไนเดอร์กล่าวถึงและเขียนถึง ล้วนแต่เป็นเรื่องที่นำมาจากแกนนำของกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้าน หรือผู้ชุมนุมที่ฟูมฟายรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ ดังนั้น รายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวกับทางฝ่ายรัฐบาลล้วนได้มาจากแหล่งข่าวรองๆทั้งสิ้น ยังไม่ปรากฏว่ามีการเข้าไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐโดยตรง หรือการเข้าไปรับทราบการรายงานจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องการการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซึ่งถูกคุกคามและต้องทนทุกข์จากการกระทำของกลุ่มผู้ประท้วง แล้วนำมารายงานข่าว

ไม่รายงานความเสียหายจากการกระทำของผู้ชุมนุม

 

ทำไมจึงมีความแตกต่างในการนำเสนอข่าว (สองมาตรฐาน – ผู้แปล) ทำไมจึงไม่มีการรายงานข่าวความพยายามหลายๆครั้งของทางฝ่ายรัฐบาลที่จะเจรจาหรือเชิญผู้ชุมชุมให้กลับบ้าน ทำไมจึงไม่มีการรายงานวิธีการมากมายหลายอย่างที่เลวร้ายน่ากลัวที่กลุ่มผู้ประท้วงได้กระทำและเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ด้วยการเผาทำลายร้านค้า การเผายางรถยนต์รอบๆตึกอพาร์ทเม้นท์ ยิงลูกแก้วเข้าสู่ประชาชนจากที่สูง ทำร้ายประชาชนในรถยนต์ และที่เลวร้ายที่สุดก็คือกีดขวางเจ้าหน้ราที่ทางการแพทย์และรถพยาบาลที่กำลังลำเลียงผู้ได้รับบาดเจ็บจากกรณีการยิงระเบิด เอ็ม 79 ในพื้นที่การปะทะที่ถนนสีลมเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2010 ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับได้บีบบังคับให้ทางฝ่ายรัฐบาลต้องอยู่ในฐานะที่ยากลำบากที่จะต้องเมินต่อกลุ่มคนเสื้อแดง

 

ซัดป้ายสีรัฐบาลและทหารอย่างหยาบกระด้าง

สิ่งที่คุณริเวอร์และคุณซไนเดอร์เลือกใช้ไม่ว่าจะเป็นภาษา คำศัพท์ หรือภาพที่กินใจในการนำเสนอข่าว ล้วนเป็นเรื่องของทหารที่ปฏิบัติตนตามกฎหมายและอยู่ภายใต้ภาวะกดดันอย่างสูง ฝ่ายรัฐบาลได้รับการป้ายสี วาดภาพในด้านลบ หยาบกระด้าง และปกครองอย่างกดขี่ ในขณะที่พวกที่มีความรุนแรงที่แท้จริงและละเมิดกฎหมายของกลุ่มคนที่ประท้วงรัฐบาล ผู้ซึ่งจะต้องรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อการกระทำที่เกินเลยและก้าวร้าว ไม่เพียงกระทำต่อทหารที่มีอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนที่สิ้นหวัง ปราศจากอาวุธ ผู้ที่ปฏิบัติตนภายใต้กฎหมาย และประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ครั้งหนึ่งเป็นเขตที่รุ่งเรืองของมหานครแห่งนี้ (ซึ่งการปฏิบัติตนเช่นที่กล่าวมานี้ หากเป็นกฎหมายของอเมริกา จะถูกจัดเป็นกลี่มผู้ก่อการร้ายทันที) – แต่คนกลุ่มนั้นกลับปฏิบัติตนเสมือนว่ามีอิสระที่จะต่อสู่ และได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนจากประชาคมโลก นี่เป็นการทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆในกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลไทยกำลังส่งทหารที่มีอาวุธเข้าไปเข่นฆ่าประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควร

 

เรียกร้อง cnn เปลี่ยนผู้สื่อข่าวในไทย ชี้ไม่เข้าใจเรื่องของไทยเพียงพอ

ในฐานะที่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ใน “เขตสงคราม” ของกรุงเทพ และมีประสบการณ์ตรงที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงที่มีการข่มขู่อย่างต่อเนื่อง เรามีความกังวลว่าครอบครัวของเรา เพื่อนฝูง และบ้านเรือนของเราจะถูกระเบิดหรือถูกโจมตีจากกลุ่มหัวรุนแรงของกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาล กองกำลังต่างๆ – ดิฉันอยากจะขอร้องให้ CNN ใช้จริยธรรมของวิชาชีพในการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนละพินิจพิเคราะห์ข่าวที่บิดเบือนจกการนำเสนอโดยผู้สื่อข่าวที่ได้พูดถึงข้างต้น หากพวกเขาไม่มีความสามารถในการหาข่าวที่เป็นจริงจากแหล่งข่าวอื่นๆนอกเหนือไปจากแกนนำคนเสื้อแดงและคนแปลที่เห็นอกเห็นใจฝ่ายเสื้อแดง หรือจากนักข่าวที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ไม่รู้เรื่องวัฒนธรรม เมินเฉยต่อประวัติศาสตร์ และสภาวะทางสังคม และหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ CNN น่าจะหาผู้สื่อข่าวคนอื่นเข้ามาทำข่าวในประเทศไทย

 

 

ให้ดำเนินการอย่างจริงต่อความอยุติธรรมต่อประเทศไทยของ cnn

ดิฉันขออ้อนวอนและขอให้สำนักข่าวของท่านลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย กับรัฐบาลไทย และประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่เคารพกฎหมาย รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่ โดยการรายงานข่าวและงานวิจัยแย่ๆ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้น รวมถึงการรายงานความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนเกินเลยเกินความเป็นจริง สำเนาของจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จะมีการแจกจ่ายในประเทศไทย และในประชาคมโลก รวมถึงในเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนทั่วไป กรุณาติดต่อดิฉันได้ทุกเมื่อหากท่านต้องการข้อมูลเฉพาะเพิ่มเติม หรือหลักฐานที่เชื่อถือได้ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อความที่ดิฉันเขียนมาทั้งหมดข้างต้น พร้อมจดหมายฉบับนี้ ดิฉันได้แนบตัวอย่างข้อมูลจากสำนักข่าวระหว่างประเทศที่มีคุณภาพดี ที่รายงานโดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่น่านับถือ เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านได้พิจารณาประเมินข่าวที่ต่ำกว่ามาตรฐานและบิดเบือนของสำนักข่าวของท่านที่รายงานโดยคุณริเวอร์ และคุณซไนเดอร์

 

รัฐแฉคนบงการตั้งเป้าฆ่าสื่อไทย-เทศและผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือหวังปั้นเรื่องเข้าสู่เวทีนานาชาติ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การข่าวยืนยันชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายต่อไป มีกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่มที่จะถูกปฏิบัติการโดยกองกำลังติดอาวุธของผู้ก่อการร้าย คือ 1.สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ซึ่งทาง ศอฉ.ได้แจ้งให้สื่อมวลชนซึ่งทำงานในพื้นที่รับทราบ รวมถึงต้องแจ้งการทำงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยกันและสื่อที่ทำงานในพื้นที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงสุด

2.ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุขในพื้นที่เกิดเหตุปะทะซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ศอฉ.ได้แจ้งแล้วว่าเป็นเป้าหมายหนึ่ง โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายต้องการให้เกิดการสูญเสียเพื่อสร้างเป็นเงื่อนไขให้ลุกลามบานปลายของสถานการณ์และความรุนแรงต่อไป 3.ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายประสงค์ให้เสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและแจ้งเตือนประชาชนดำเนินการให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมออกจากพื้นที่ภายในเวลา 15.00 น.

วันที่ 18 พฤาภาคม 2553

แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเรียกร้องให้แกนนำผู้ชุมนุมดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับผู้สื่อข่าว

 

สืบเนื่องจากขณะนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวในสถานที่ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ (นปช.) และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เกิดความไม่ปลอดภัย โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รับบาดเจ็บแล้วหลายราย ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (๑๘ พ.ค.) ได้เกิดเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกายทีมงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศระหว่างเข้าสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ภายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นเขตอภัยทานจนได้รับบาดเจ็บก่อนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (การ์ด) นปช. จะเข้าช่วยเหลือจนได้รับความปลอดภัย                                                                                                                                    เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวที่ปฏิหน้าที่ตามจริยธรรมทางวิชาชีพในการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวการชุมนุม ดังนั้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้                                                                                                         1.ขอให้แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ (นปช.) ทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องการรายงานข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งแกนนำต้องช่วยดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมนุม

2.ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ดำเนินการด้วยความละมุนละม่อม และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว พร้อมทั้งแจ้งการปฏิบัติหน้าที่ที่ชัดเจนแก่สื่อมวลชนก่อนเข้าปฏิบัติการใดๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทุกครั้ง

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับสื่อมวลชนทุกแขนงที่ทำหน้าที่อย่างทุ่มเทเพื่อนำเอาความจริงมานำเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน และขอให้พี่น้องสื่อมวลชนระมัดระวังตนเองในการทำหน้าที่ในสถานการณ์วิกฤติและเต็มไปด้วยความกดดันของทุกฝ่ายเช่นนี้ด้วย

 

วันที่ 19 พฤษภาคม

สื่ออิตาลีตาย1  เผาช่องสาม บุกเครือโพสต์ เผาเอ็นบีทีขอนแก่น

ช่วงสายวันสุดท้ายของการของการกระชับพื้นที่นายฟาบิโอ โพเลนชี ช่างภาพชาวอิตาลีถูกยิงเสียชีวิตอีก 1 คน ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เดินทางไปล้อมสถานีโทรทัศน์ช่องสามและเผาอาคารทำให้ทหารต้องนำ ฮ.ไปลงดาดฟ้าช่อง3 เพื่อรับผู้บริหาร-พนง.หนีตึกที่ถูกไฟไหม้ และมุ่งหน้าไปยังอาคารบางกอกโพสต์ส่งผลให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และโพสต์ทูเดย์ต้องปิดกองบรรณาธิการตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม แต่ชาวบ้านโดยรอบอาคารบางกอกโพสต์ออกมาปิดกั้นไว้ได้

ช่องสามจอดำหลายวันติด

สำหรับสถานีโทรทัศน์ช่องสาม ต้องยุติการออกอากาศเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน เป็นเหตุให้นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยในฐานะนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดเหตุชุลมุนต่อผู้สื่อข่าวหลายจุด
ตนกำลังหารือกับคณะกรรมการสมาคมฯ เพื่อดำเนินการ อย่างไรก็ตามขอให้ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ ดูแลระมัดระวังสวัสดิภาพให้ตัวเองปลอดภัยก่อน

เผาเอ็นบีทีขอนแก่นวอด

 

วันเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดง ขอนแก่น บุกเข้าไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์NBTขอนแก่น
พร้อมจุดไฟเผาตึกและห้องส่งออกอากาศจนวอดทั้งหลัง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าควบคุมสถานการณ์เอาไส้ได้พร้อมนำรถดับเพลิงเข้าฉีดน้ำสกัดกั้น ขณะเดียวกันมีรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง ได้ไล่สื่อมวลชนออกจากพื้นที่

 

วันที่ 20 พฤษภาคม องค์วิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์อีกรอบหลังการคุกคามสื่อมวลชน

เสียใจสื่อสังเวยชีวิต

จากเหตุการณ์ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้ากดดันผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จนแกนนำประกาศยุติการชุมนุม และผู้ชุมนุมบางส่วนได้ก่อการจลาจลด้วยการวางเพลิงเผาสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งของทางราชการและภาคเอกชน นอกจากนี้ ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ปรากฎว่านายฟาบิโอ โพเลนชี ช่างภาพชาวอิตาเลียน ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต และยังมีผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษได้รับบาดเจ็บรวมอยู่ด้วย                                  ยืนยันสื่อทำตามหน้าที่ ไม่คู่ขัดแย้ง

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มผู้ชุมนุมตามเวทีย่อยต่างๆ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเวทีหลัก เช่นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสี่แยกคลองเตย กล่าวหาว่าสื่อมวลชนไม่เป็นกลางและประกาศให้ผู้ชุมนุมทำร้ายนักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม รวมถึงการบุกเข้าไปเผาทำลายทรัพย์สินและอาคารที่ทำการของสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ โดยอาคารที่ทำการของสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ ได้รับความเสียหายจากการวางเพลิงจนต้องหยุดการออกอากาศเป็นการชั่วคราว ขณะที่เครือบางกอกโพสต์ก็ตกเป็นเป้าหมายของการบุกรุกทำลาย แต่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยสกัดกั้นได้ทัน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของนายฟาบิโอ โพเลนชีอย่างสุดซึ้ง พร้อมทั้งขอย้ำไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ว่า สื่อมวลชนไม่ใช่ “คู่ขัดแย้ง” เราเพียงทำหน้าที่นำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่คุกคาม ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ พร้อมทั้งขอเรียกร้องมายังฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

ประณามการคุกคามของกลุ่ม นปชป.

๑.         ขอประณามการข่มขู่คุกคามผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและสำนักงานสื่อมวลชนทุกแขนงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการกระทำของกลุ่มแนวร่วม นปช.ที่นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ยังเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอีกด้วย และขอเรียกร้องให้กลุ่มแนวร่วม นปช.ยุติการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนโดยทันที

๒.         ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ โดยไม่ปล่อยให้สื่อมวลชนตกเป็นเป้าหมายในการข่มขู่คุกคาม ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว ช่างภาพหรือสำนักงานของสื่อมวลชน

ในภาวะที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามบานปลายจนสร้างความเสียหายและมีผลกระทบต่อภาวะจิตใจของคนไทย ตลอดจนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อนำข้อเท็จจริงมานำเสนออย่างรอบด้านและเป็นธรรม โดยปราศจากความหวาดกลัวจากการขุมขู่คุกคามในทุกรูปแบบ

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓

วันที่ 21 พฤษภาคม 2553

จดหมายเปิดผนึกเรื่อง
“แนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย”

จาก
คณาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียน ท่านบรรณาธิการ และ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เคารพ

จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ และสื่อทางเลือกใหม่ๆ เช่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และ อินเทอร์เน็ต  มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดการรับรู้ด้านข้อมูลข่าวสาร และในการชี้นำความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน  ในหลายกรณี สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ และในการระดมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมวลชนอย่างเข้มข้น

บางครั้งสื่อซึ่งมีวาระทางการเมืองชัดเจนได้มีพฤติกรรมอันขัดต่อจรรยาบรรณทางวิชาชีพ   ด้วยการใช้ภาษาที่ หยาบคาย ยั่วยุ ปลุกเร้า สร้างความเกลียดชัง และด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง  ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะไม่เหมาะสมแล้ว ยังผิดกฎหมายในหลายๆ ฉบับอีกด้วย  ทว่าด้วยภาวะของการขาดองค์กรกำกับดูแลของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนช่องโหว่ของการบังคับใช้กฎหมายทำให้พฤติกรรมดังกล่าวดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนจิตวิทยาของมวลชนในสถานการณ์ของการแบ่งขั้วทางความคิดในสังคมไทยอย่างมาก

แสดงความห่วงใยสื่อผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพสื่อมวลชน

ในช่วงตั้งแต่วันศุกร์ที่14 พฤษภาคม จนถึงขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ความรุนแรงในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับการชุมนุมทวีขึ้นถีงขีดสุด สื่อหลายแขนงเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อวินาศกรรมของกลุ่มที่ได้ยกระดับไปเป็นผู้ก่อการร้าย เช่นในกรณีของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  และ สื่อในเครือโพสต์ พับบลิชชิ่ง  เป็นต้น หรือ จากการข่มขู่คุกคามตามที่ทำการและกองบรรณาธิการต่างๆ และในสนามข่าว ทำให้สื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่ควรจะเป็น ส่งผลให้สวัสดิภาพ ขวัญ และกำลังใจของนักวิชาชีพข่าวยิ่งอ่อนล้าลงไปอีกในช่วงแห่งสถานการณ์อันตึงเครียดนี้

ทางคณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นห่วงเสรีภาพ และสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวและนักปฏิบัติการด้านข่าวสาร อีกทั้งยังมีความกังวลใจต่อปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง   ด้วยเหตุนี้จึงขอนำเสนอ “แนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย” โดยมีสาระสำคัญดังนี้

เสนอหนทางการสร้างสันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย

1)   การนำเสนอข่าวในสื่อทุกประเภทพึงยึดหลักความถูกต้อง จรรยาบรรณวิชาชีพ และประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะการแสวงหาข้อมูลที่ตรวจสอบได้และนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง ปราศจากความเป็นฝักเป็นฝ่าย

2)   สื่อไม่ควรให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความรุนแรง ที่แบ่งฝักฝ่ายสองขั้วอย่างชัดเจน และความขัดแย้งที่มีเป้าหมายเดียวเพื่อเอาชนะ โดยเน้นหาผู้ชนะและผู้แพ้ แต่สื่อควรให้ความสำคัญกับเหตุและผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความรุนแรงและความขัดแย้ง เช่น ความชอกช้ำทางจิตใจ และความสูญเสียของสังคมและประเทศชาติ โดยภาพรวม มากกว่า การนำเสนอภาพความสูญเสียที่กระทบอารมณ์ความรู้สึก  การสอดแทรกวาระทางการเมือง การกระตุ้นยอดขาย หรือ การแสวงผลประโยชน์ทางการตลาด

3)   การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อควรแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น และต้องหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่ส่อเสียด ยุยง หยาบคาย และการปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชัง หรือ พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงใดๆ

เรียกร้องสื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่าย

4)   สื่อควรมุ่งเน้นบทบาทของการเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำเสนอเหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุแห่งความขัดแย้ง และเพื่อหาทางออกในการคลี่คลายปัญหา และสร้างความสมานฉันท์ในสังคม

5)     ในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง องค์กรกำกับดูแลที่เป็นอิสระของรัฐ  และองค์กรกำกับดูแลตนเองในวิชาชีพสื่อ จำเป็นต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนและเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่จำเป็นต้องรอการร้องเรียน

6)   การใช้สื่อเพื่อเป็นช่องทางในการก่อการร้าย ก่อวินาศกรรม อันอาจนำไปสู่ความสูญเสียทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สิน และจิตใจ จำเป็นต้องมีการจัดการตามกฎหมาย และ กระบวนการยุติธรรมให้เด็ดขาด

จี้รัฐดูแลสื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายการก่อวินาศกรรม

รัฐ ควรสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้สื่อข่าวในภาวะวิกฤตินี้จะได้รับเสรีภาพ และ สวัสดิภาพในการทำหน้าที่ผู้แจ้งข่าวสารให้ประชาชน โดยไม่ตกเป็นเป้าหมายในการก่อวินาศกรรม หรือ การข่มขู่ คุกคาม และปองร้ายใดๆ ในขณะเดียวกัน องค์กร/สมาคมวิชาชีพสื่อและ องค์กรที่เป็นเจ้าของสื่อควรส่งเสริมและดูแลสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าว และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงให้เพียงพอและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

7)   องค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และสิทธิเสรีภาพ ควรรณรงค์ในประเด็นของความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆกับการใช้เสรีภาพสื่อที่สร้างสรรค์และ สอบทานได้

 

คณาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจักษ์ถึงความอุตสาหะ ความอดทน และความกังวลของสังคมในภาวะการณ์อันอ่อนไหวนี้ และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพยายามขับเคลื่อนร่วมกับ ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ สื่อทุกแขนงทุกประเภท กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และ นักการเมือง ภาคประชาสังคม ได้ตระหนักถึง “แนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย” และร่วมผลักดันให้นำไปสู่การปฎิบัติจริง เพื่อช่วยเยียวยา และบูรณะสังคมอันบอบช้ำของเราต่อไป

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

 

ข่าวสดออนไลน์เปิดปากคำ 2 นักข่าวฝรั่ง เล่าประสบการณ์สยองในวัดปทุมวนาราม โดยระบุว่าเว็บไซต์ข่าว ดิ ออสเตรเลียน ของออสเตรเลีย รายงานว่า นายสตีฟ ทิกเนอร์ นักข่าวช่างภาพในสังกัดที่มาจากเมืองนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ เข้าไปทำข่าวการชุมนุมและอยู่ในที่เกิดเหตุสลายผู้ชุมนุมที่วัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พ.ค. ทิกเนอร์ เล่าว่า ตลอดคืนนั้นมีแต่เสียงปืนและระเบิด ภายในวัดมีทั้งคนตายและผู้บาดเจ็บ คนที่อยู่ในวัดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และไม่ใช่กลุ่มฮาร์ดคอร์นายทิกเนอร์ กล่าวว่า ชายคนหนึ่งที่อยู่ในวัดถูกทหารที่อยู่ห่างจากวัดไม่กี่เมตรยิงเข้าใส่ ชายคนนั้นทรุดลงไปกองกับพื้น เมื่อตนและพระสงฆ์จะเข้าไปช่วยลากชายคนนั้น ก็ถูกทหารยิงใส่เข้ามา ตนคิดว่าทหารรู้ว่าตนเป็นนักข่าว เพราะเห็นกล้อง ต่อมาตนและพระช่วยกันลากชายคนนั้นเข้าไป แต่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา บรรยากาศในตอนนั้นเต็มไปด้วยความกลัว ตื่นตระหนกและเครียด ตนไม่ได้ออกจากวัด เพราะกลัวถูกยิงตาย ข้างนอกวัดมีสไนเปอร์และรถถัง มีแต่ความโกลาหล

ด้านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะโกล้บ แอนด์ เมล์ สื่อชื่อดังของประเทศแคนาดา รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายมาร์ก แม็กคินนอน ผู้สื่อข่าวเดอะโกล้บ แอนด์ เมล์ ปฏิบัติหน้าที่ทำข่าวเหตุทหารไทยบุกโจมตีเวทีชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงแยกราช ประสงค์ และเขียนบทความเรื่อง In a Bangkok Buddhist temple, the groans of the wounded shot seeking sanctuary. เล่าประสบการณ์เฉียดตายในวันดังกล่าว ว่า ตนกับนายแอนดรูว์ บันคอมบ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ดิ อินดีเพนเดนต์ ประเทศอังกฤษ พร้อมนายร็อบ ดอนเนลแลน ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และอาสาทำหน้าที่ล่ามแปลภาษา ออกไปเก็บข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทั่งท้ายที่สุดเข้าไปทำข่าวในเขตวัด ปทุมวนารามในช่วงเย็นและพบชาวนา รวมทั้งชาวบ้าน ซึ่งเป็นมวลชนคนเสื้อแดงหลบภัยอยู่ข้างในวัดประมาณ 1,500 คน ส่วนแกนนำ นปช.นั้นหายไปหมดสิ้น                                                                                                                           นายแม็กคินนอนระบุว่า ก่อนหน้านี้แกนนำเสื้อแดงกล่าวกับมวลชนว่าถ้าทหารบุกเข้าที่ชุมนุมให้ เคลื่อนย้ายมายังวัดปทุมวนารามเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม พอใกล้ถึงกำหนดที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว เวลา 20.00 น. วันที่ 19 พ.ค. สถานการณ์รอบๆ วัดก็ตกอยู่ในสภาพตึงเครียด จนตนกับแอนดรูว์และร็อบออกจากวัดไม่ได้ต้องหลบกระสุนกันชุลมุน แม้ว่าวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และน่าจะปลอดภัยก็ตาม ขณะเดียวกัน คนบางคนในกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามยิงพลุตอบโต้ฝ่ายทหาร                                                                                                                  ต่อมาตนเข้าไปหลบในกุฏิพระและมีโอกาสใช้อินเตอร์เน็ตตรวจสอบเหตุการณ์ ข้างนอก จากนั้นนายแอนดรูว์โทรศัพท์มือถือเข้ามาบอกว่า "ผมถูกยิงแล้วเพื่อน" เมื่อไปถึงบริเวณประตูวัดพบนายแอนดรูว์ถูกปืนลูกซองยิงใส่ได้รับบาดเจ็บตรง ต้นขา และเสียงกระสุนปืนดังสนั่นหวั่นไหวมาก

ผู้สื่อข่าวแคนาดารายงานต่อไปว่า เขาใช้มือถือโทร.ติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานทูตแคนาดา อังกฤษ รวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ และต่อสายไปยังสำนักงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผู้ออกคำสั่งปราบปรามคนเสื้อแดง ชั่วโมงอันยาวนานผ่านพ้นไป บางขณะเสียงปืนเงียบไป แต่กลับดังระงมขึ้นอีก ตามด้วยเสียงระเบิดปริศนาหลายนัด ในที่สุดได้รับโทรศัพท์แจ้งว่ามีการตกลงหยุดยิงเพื่อให้รถพยาบาลเข้ามารับ นายแอนดรูว์กับผู้บาดเจ็บออกจากวัดไปโรงพยาบาล                                                                                                                            เมื่อรถมาถึงนายแอนดรูว์ปฏิเสธไม่ยอมขึ้นรถเป็นคนแรก เพื่อเปิดทางให้ผู้บาดเจ็บคนอื่นๆ ไปก่อน เพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อเจ้าหน้าที่มาช่วยชาวต่างชาติแล้วจะกลับไปเลยโดย ละทิ้งคนอื่นๆ หรือไม่ ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินขอให้ตนเข้าไปบอกคนในวัดว่าพรุ่งนี้เช้าจะ พยายามกลับมาใหม่ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อช่วยเหลือสตรี คนชรา และผู้บาดเจ็บที่อาจยังหลงเหลือ จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 7 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่การแพทย์ 2 คน บาดเจ็บ 10 คน

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 18:02:56 น.  มติชนออนไลน์


"พี่สาวช่างภาพอิตาลี" วอนคืน "บันทึกสุดท้าย" ของน้องคืน หลังเดินทางมาวางช่อดอกไม้ที่จุดเกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่บริเวณหน้าสนามราชกรีฑาสโมสร ถนนราชดำริ นางอลิสซาเบตต้า โพเลนกิ้ พี่สาวของนายฟาบิโอ ช่างภาพชาวอิตาลีของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่แยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา เดินทางมายังจุดที่น้องชายเสียชีวิตเพื่อวางช่อดอกไม้ และยืนไว้อาลัย                                                                  จากนั้น นางอลิสซาเบตต้าเปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุ น้องชายเข้าไปถ่ายภาพจังหวะที่ทหารบุกเข้าสลายการชุมนุม และปะทะกันกับกลุ่มผู้ชุมนุม หลังจากน้องชายโดนยิง ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือนายฟาบิโอได้ฝากกล้องอุปกรณ์การทำงาน และทรัพย์สินของผู้ตายเอาไว้กับชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร อยากขอร้องให้ช่วยประชาสัมพันธ์ถึงชายที่รับฝากของเอาไว้ ช่วยเอาเมมโมรี่การ์ดในกล้องของน้องชายมาคืนด้วย ไม่ได้ติดใจในเรื่องทรัพย์สินอื่นๆ เพียงแค่อยากเห็นภาพที่บันทึกเอาไว้เป็นภาพสุดท้าย โดยสามารถประสานคืนเมมโมรี่การ์ดผ่านสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

 

24 พฤษภาคม 2553

รุมจวกซีเอ็นเอ็นเสนอข่าวบิดเบือนไม่รอบด้าน

 

วันที่ 24 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) จัดประชุมสัมมนาในหัวข้อ บทบาทของซีเอ็นเอ็น กับมาตรการทางสังคมของไทย โดยมีตัวแทนจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ สมาคมการค้าและผู้ประกอบการเคเบิลทีวี สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย คณะวารสารศาสตร์สื่อสารมวลชน นายสมเถา สุจริตกุล นักเขียน และนายกมล สุโกศล แคลปป์ หรือ สุกี้ วงพรู ผู้ที่เขียนจดหมายโต้แย้งการนำเสนอข่าวของซีเอ็นเอ็น เข้าร่วมการประชุม                                                                               นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทย ได้นำคลิปการนำเสนอข่าวของซีเอ็นเอ็นมาเปิดให้ที่ประชุมดู เพื่อเปรียบเทียบกับสำนักข่าวต่างประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นอัลจาซีรา และฟรองซ์ 24 ขณะเดียวกันที่ประชุมมีการวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น เกี่ยวกับวิกฤติการณ์การเมืองไทยไม่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข่าวของนายแดน ริเวอร์ ที่ไม่นำเสนอให้รอบด้าน ผิดกับสำนักข่าวอื่นๆ ที่มีการนำเสนอรอบด้านมากกว่า                                                                                                        “มุมของผู้ชุมนุม และของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่อนุสรณ์สถานฯ วันที่  28 เมษายน และเหตุการณ์กระชับวงล้อมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีชายชุดดำแฝงอยู่ แต่ซีเอ็นเอ็นกลับเสนอข่าวในมุมของผู้ชุมนุมแนว ร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฝ่ายเดียวว่า ถูกทหารใช้ความรุนแรง ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ ได้รายงานตรงกันว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ และยิงมาที่ฝ่ายทหารหลายครั้ง จนเหมือนมีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน จนกลายเป็นกระบอกเสียงที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่การเสนอคลิปข่าวมีภาพนายแดนรายงานอพาร์ตเมนต์ของตัวเอง โดยที่ไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์แต่อย่าง” นายนิพนธ์ กล่าว

จี้รัฐเร่งแจงให้ต่างชาติทราบ

 

ขณะที่ รศ.ดร.พรจิต สมบัติพานิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการนำเสนอข่าวของซีเอ็นเอ็นต่อเหตุการณ์การชุมนุมว่า ปัญหาของซีเอ็นเอ็น คือ การรายงานข่าวที่บิดเบือนของสถานีโทรทัศน์ และนายแดน ริเวอร์ ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นประจำประเทศไทย ที่นำเสนอข่าวในลักษณะนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว เสมือนคนอยากได้ข่าว แต่ไม่ลงพื้นที่ อาทิ การรายงานข่าวภายในคอนโดมิเนียม ซึ่งห่างจากพื้นที่การชุมนุม แล้วอ้างว่ามีชาวต่างชาติได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เพราะถูกกระสุนยิงขึ้นมา เป็นต้น ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีเพียงประชาชนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ทราบว่าซีเอ็นเอ็นนำเสนอข่าวไม่ตรงตามความจริง ฉะนั้นก็จะต้องหาวิธีในการเผยแพร่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับทราบข้อมูลดัง กล่าว โดยตนอยากให้รัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์เหตุการณ์ต่างๆ ให้ต่างชาติได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงโดยเร็ว

 

ซัดซีเอ็นเอ็นทำงานเพื่อเต็มเติมจินตนาการของตะวันตก

นายสมเถา กล่าวว่า การทำงานของซีเอ็นเอ็นเหมือนเป็นการทำงานเพื่อเติมเต็ม จินตนาการของชาติตะวันตกที่จะออกมาในลักษณะว่า ประชาชนต่อต้านเผด็จการทหาร และมักมีจินตภาพว่า ทหารต้องฆ่าประชาชน โดยที่ไม่หาความจริงว่าการเมืองไทยมีความซับซ้อนอย่างไร การทำงานของนายแดนเหมือนคนขี้เกียจทำการบ้าน คนไทยที่มีความรู้ภาษาอังกฤษต้องช่วยกันนำเสนอความจริงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ กต่างๆ เพื่อนำเสนอความจริงอีกด้านให้นานาชาติได้รู้เกี่ยวกับสถานการณ์จริงใน ประเทศไทย โดยต้องตอบโต้อย่างทันท่วงที

อัด "แดน ริเวอร์" ตีไข่ทหารยิงปชช.

 

นายกมล หรือสุกี้ วงพรู กล่าวว่า โดยส่วนตัวได้ทำหนังสือไปยังซีเอ็นเอ็นแล้วว่ามีการนำเสนอข่าวไม่รอบ และบิดเบือน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในการปฏิบัติการกระชับวงล้อมต่อผู้ชุมนุมของทหาร ทั้งนี้ในฐานะที่มีบ้านอยู่ซอยงามดูพลี ได้ลงมาดูสถานการณ์ตลอด และอยู่ใกล้ๆ กับที่นายแดนยืนรายงานข่าวด้วย โดยเฉพาะบริเวณสะพานไทย-เบลเยียม แต่เมื่อกลับไปดูข่าวกลับพบว่านายแดนไม่ได้เสนอความจริงทั้งหมด “วันที่ 14 พฤษภาคม ผมยืนอยู่แถวบ่อนไก่ สะพานไทย-เบลเยียมอยู่เกือบ 2 ชั่วโมง ยืนยันได้ว่าทหารไม่ได้ใช้กระสุนเลยแม้แต่นัดเดียว มีแต่ทางฝั่งผู้ประท้วงที่ทั้งยิงและขว้างระเบิดมาฝั่งทหาร แต่นายแดนกลับเสนอข่าวเรื่องพลแม่นปืนของทหารเท่านั้น ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอความจริงแบบนี้” นายกมล กล่าว

ยื่นหนังสือประท้วงซีเอ็นเอ็น

 

ระหว่างการสัมมนาเกี่ยวกับการรายงานข่าวของซีเอ็นเอ็นนั้น ผู้ร่วมประชุมรายหนึ่งให้ความคิดเห็นว่า เรื่องที่นายแดนนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่ดูเสมือนว่าอยู่ในเหตุการณ์ด้วยนั้น จากการสอบถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่อยู่ในเหตุการณ์ ยืนยันว่า นายแดนและทีมข่าวซีเอ็นเอ็นไม่ได้อยู่ในจุดเกิดเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ซีเอ็นเอ็นได้ภาพดังกล่าวมาจากสำนักข่าวแห่งใด                                                               จากการสัมมนาดังกล่าวที่ประชุมมีมติ 1.จะมีการตั้งคณะทำงานชุดเพื่อศึกษากรณีการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศที่ เสนอข่าวเพียงด้านเดียว เพื่อหาข้อเท็จจริงมาสร้างความสมดุล 2.จะมีการจัดสัมมนาผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เรื่องการเสนอข่าวเกี่ยวกับการเมืองไทย เพื่อให้นายแดนได้อธิบายการทำงานของตนเองด้วยว่ามีมุมมองเรื่องการเมือง ไทยอย่างไร 3.การทำหนังสือถึงสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เพื่อรายงานให้ทราบถึงการทำงานของนายแดน ริเวอร์ ที่นำเสนอข่าวอย่างขาดความน่าเชื่อถือ ทั้งที่อยู่ในเมืองไทยมาหลายปี

 

ลุยปิด วิทยุชุมชนแดงขอนแก่น

เวลา 12.30 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ได้ร่วมกันเข้าทำการยึดเครื่องส่งและอุปกรณ์สถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงที่ เชื่อมเครือข่ายสัญญาณ ทั้งจังหวัดจำนวน 5 สถานี หลังศาลอมุมัติหมายค้น โดยให้เหตุผลว่า สถานีวิทยุดังกล่าวมีการเผยแพร่ข้อความปลุกระดมคนเสื้อแดงให้มาชุมนุมและก่อ ให้เกิดความเสียหาย ทั้งการเผาสถานที่ราชการ และเป็นการฝ่ฝืนพรก.ฉุกเฉิน ประกอบด้วยสถานีวิทยุคนเสื้อแดง ถ.ประชาสโมสร อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแม่ข่ายสถานีสิทยุคนเสื้อแดง สถานีวิทยุชุมชน บ้านหนองปอ อ.เมือง สถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น สถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง อ.ชุมแพ และสถานีวิทยุชุมชน อ.บ้านไผ่                               แต่ศาลอนุมัติหมายค้นเพียง 4 สถานี ยกเว้นสถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง อ.บ้านไผ่ ที่ตั้งในสำนักงาน นายเรืองเดช สุพรรณฝ่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ขอนแก่น และเคยใช้เป็นสถานีในการระดมคนมาปิดถนนมิตรภาพ และยึดรถทหารก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน สถานีวิทยุคนเสื้อแดง อ.ชุมแพ ที่ผอ.รส.จังหวัด ได้แจ้งให้ตำรวจ สภ.ชุมแพ เข้าดำเนินการตรวจค้นและยึดเครื่องส่ง ก็ได้รับแจ้งว่า สถานีดังกล่าวได้ปิดดำเนินการแล้ว จึงไม่มีการเข้าตรวจค้น                                                   สำหรับสถานีวิทยุ 3 สถานีที่เข้าตรวจค้น พบว่า สถานีทั้งหมดทราบล่วงหน้าว่า จะมีการตรวจค้นและยึดเครื่องส่ง โดยสถานีวิทยุคนเสื้อแดง ถ.ประชาสโมสร สถานีแม่ข่าย เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดได้ เพียงพาวเว่อร์แอมป์ มิกเซ่อร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยทั้งหมดถูกถอดไว้แล้ว ขณะที่สถานีวิทยุชุมชนบ้านหนองปอ พบว่า อุปกรณ์ทั้งหมดได้มีการถอดรื้อ โยกย้ายไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่สถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงน้ำพอง เจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นผิดสถานที่ จนต้องตามไปยึดอุปกรณ์บางส่วน จากสำนักงานอดีต ส.ส.คนหนึ่ง และอุปกรณ์ทั้งหมดถูกนำมาเก็บไว้ที่สโมรสรนายทหาร ค่ายศรีพัชรินทร์ ขอนแก่นน

 


เดือนมิถุนายน 2553

1 มิถุนายน 2553

นายกฯห่วงการกำกับสื่อเรียก กทช.หารือ

นายฐากร ตัณฑสิทธ์ รักษาการเลขาธิการ กทช.เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ กทช.เข้าหารือเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมสื่อหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีปราน อนุ กทช.ปลัดสำนักนายกฯ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์

โดยนายกฯระบุว่าการใช้อำนาจของ กทช.ล่าช้าเกินไป ต้องเข้าไปดูเว็บไซต์ด้วย รวมถึงเอสเอ็มเอส วิทยุชุมชน ดาวเทียม เคเบิลทีวี เพื่อดำเนินการให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดความรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา

โดย กทช.มอบให้นายพนา ทองมีอาคม เข้าไปดูแลวิทยุชุมชุน ส่วนเว็บไซต์และเอสเอ็มเอสให้  พ.อ.นทีเป็นผู้รับผิดชอบ

/////

สื่อถูกเล่นแร่แปรธาตุ

วันที่ 3 มิถุนายน นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วิพากษ์ถึงบทบาทของสื่อตั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งการตกแต่งภาพให้เหมือนหน้าบุคคลสำคัญ การใช้สื่อเป็นเครื่องมือหรือการเล่นแร่แปรธาตุกับสื่อที่มีขณะนั้นมีเฉพาะวิทยุกับสิ่งพิมพ์ บิดเบือนไปในทางที่ต้องการ เอาความจริงครึ่งเท็จครึ่ง

 

วันที่ 4 มิถุนายน มิเดียมอร์นิเตอร์เป็นเครื่องมือบิดเบือนเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม ระหว่างการเสวนาที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเกิดสังคมออนไลน์ขึ้นใหม่ทั้งเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ โดยนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ มิเดียมอร์นิเตอร์ เรียกร้องให้สังคมตระหนักและรู้เท่าทันสื่อออนไลน์

 

วงเสวนาธรรมศาสตร์ระบุสื่อถูกปิดกั้น รัฐไม่เท่าเทียม

 

วันที่ 5 มิถุนายน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) นักศึกษาห้องเรียนสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์มธ. จัดเสวนาหัวข้อ “สื่อบิดเบือน หรือกฎหมายบิดบัง สิทธิเสรีภาพกับข้อมูลข่าวสาร ภายใต้สถานการณ์ชุมนุมที่ผ่านมา มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาควิชาการ องค์กรอิสระ และตัวแทนสื่อมวลชน เข้าร่วมเสวนา มีนักศึกษาให้ความสนใจจำนวนมาก โดย น.ส.สาวิตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุว่า สื่อหลายสำนักถูกปิดกั้น แทรกแซง จนประชาชนอึดอัดหันไปใช้พื้นที่ของสื่อใหม่และสื่อกระแสรอง ในหลายประเทศมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับสื่อเพื่อควบคุมความเป็นกลาง แต่สำหรับประเทศไทยใช้กฎหมายควบคุมเนื้อหา เช่น พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในช่วงที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญม.45 จะห้ามรัฐปิดสื่อ แต่ก็มีข้อยกเว้น รัฐใช้ข้อยกเว้นนี้ปิดสื่อ เว็บไซต์ แบบไม่มีเหตุผล ไม่เสมอภาคเช่นปิดเว็บประชาไท แต่ไม่ปิดเว็บผู้จัดการ ที่สำคัญไม่ต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ

นักวิชาการให้สื่อบอกประชาชนว่าอยู่สีไหน

 

น.ส.สาวิตรีระบุว่า สื่อ สามารถเลือกข้างได้ แต่ต้องบอกประชาชนให้รู้เพื่อประชาชนจะได้รู้ว่า อยู่สีไหน และต้องเปิดรับฟังความเห็นที่แตกต่างด้วย ในยุคแบบนี้ต้องชัดเจน อย่าเป็นอีแอบ  เลือกข้างได้แต่ต้อง เสนอรอบด้าน สร้างสรรค์ไม่บิดเบือน ยอมรับความหลากหลายทางความคิด แต่ถ้าสื่อไม่ว่าสีใด เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือไม่โดนแทรกแซงต้องผนึกกำลัง กันบอกประชาชนว่าโดนแทรกแซง

สื่อรัฐย่อมถูกกดดัน แต่สื่อสิ่งพิมพ์หลักไม่ถูกกดดันจากรัฐบาล

ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  สื่อโทรทัศน์นั้นแม้ไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐก็สามารถแทรกแซงได้อยู่แล้วเพราะ โทรทัศน์อยู่ภายใต้สัมปทานของรัฐบาล ดังนั้นคนของรัฐสามารถยกหูโทรศัพท์ ไปยังเจ้าของสถานีได้เสมอ แต่เรื่องแบบนี้ไม่มีหลักฐาน ส่วนหนังสือพิมพ์หลักยังไม่ถูกรบกวนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลแม้ ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินนสถานการณ์ที่มีเหตุกระทบต่อความมั่นคงรัฐสามารถปิดหรือเซนเซอร์ สื่อได้ แต่หลังจากนั้นเปิดให้ตรวจสอบได้ หรือถ้าใช้อำนาจไปแล้วเกิดความ เสียหายรัฐต้องรับผิดชอบ ส่วนการติดเรตติ้งของภาพยนต์นั้นกระทรวง วัฒนธรรมไม่มีสิทธิไปชี้ว่าใครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่ใช่ศาล

////

ซีเอ็นเอ็นแพร่ภาพชายชุดดำสะพายเอ็ม 16 หลังบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงชุมนุม

วันที่ 5 มิถุนายน ซีเอ็นเอ็นได้แพร่ภาพการ์ดนปช.ชุดดำสะพายปืนเอ็ม 16 ระหว่างการชุมนุมที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอ หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของซีเอ็นเอ็นระหว่างการชุมนุม

 

วันที่ 7 มิถุนายน

รมต.คุมสื่อคนใหม่น้อมรับการวิจารณ์สื่อภาครัฐ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า จะเน้นในเรื่องของการประชา สัมพันธ์ของภาครัฐ โดยความจริงคำว่าภาครัฐนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะที่ทำเนียบ หรือตัวรัฐมนตรีเท่านั้น แต่รวมทั้งหมดของรัฐบาลทุกกระทรวง ซึ่งต้องดำเนินไปพร้อมกันทั้งหมดจึงจะเห็นผลงานต่าง ๆ ดังนั้นก็ต้องพยายามทำงานร่วมกัน ส่วนที่ผ่านมามีการมองกันว่ารัฐบาลมีการใช้สื่อของรัฐในการบิดเบือน ข้อมูล ข้อเท็จจริงนั้น ความจริงการเป็นรัฐบาลก็อาจถูกวิจารณ์ได้ ก็ต้องน้อมรับ แต่ถ้าเสียงวิจารณ์นั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเราก็ต้องชี้แจงให้เกิดความเข้า ใจว่าความจริงเป็นอย่างไร และตนคิดว่าเราสามารถชี้แจงได้

 

วันที่ 10 มิถุนายน

สื่อทีวียอมรับรายงานข่าวยากในสถานการณ์วิกฤต

น.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวช่อง 3 เปิดเผยระหว่างการร่วมเสวนา “นักข่าวเล่าให้ฟัง ; จากราชดำเนินถึงราชประสงค์” ว่า สื่อทีวีปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการควบคุมโดยรัฐเกือบทุกอย่าง ขณะที่นายตวงศักดิ์ ชื่นสนธุวล ผู้สื่อข่าวมติชน บอกว่า ระหว่างการชุมนุมมทีการต่อสู้ด้วยอาวุธทำให้ผู้สื่อข่าวภาคสนามทำงานยาก ไม่รู้จะโดนลูกหลงเสียชีวิตเมื่อไหร่ ขณะที่นายสถาพร คงพิพัฒน์วัฒนา ผู้สื่อข่าวทีวีไทย ระบุว่า การเสนอข่าวไม่ได้รับการขอร้องจาก ศอฉ.หรือรัฐบาล ถ้าประชาชนรับข้อมูลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเท็จสิ่งใดจริง

 

วันที่ 11 มิถุนายน

สธ.เปิดทีวีสุขภาพ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ.เผย จะเปิดสถานีโทรทัศน์เพื่อสุขภาพ เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพให้กับประชาชน การดูแลสุขภาพ การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างครบวงจร รวมทั้งใช้เป็นเวทีถ่ายทอดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างการถ่ายทำจะมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนในพื้นที่ลงไปถ่ายทำด้วย

 

วันที่ 20 มิถุนายน 2553

องอาจเล็งถก5กลุ่มสื่อหวังเดินหน้าปฏิรูปสื่อ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปสื่อซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปรองดอง 5 ข้อของรัฐบาล ว่า ตอนนี้งานปฏิรูปสื่อยังไม่มีใครเป็นประธาน แต่จะเกิดความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับสื่อเอง เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องมีอิสระและสิทธิเสรีภาพในการทำงาน ฉะนั้นงานปฏิรูปสื่อต้องดำเนินไปบนพื้นฐานนี้ ดังนั้นในส่วนของภาครัฐเป็นเพียงส่วนเล็กๆในการปฏิรูปสื่อฯ ทั้งนี้วิธีการที่จะเดินต่อจากนี้ไปนั้นตนในฐานะที่กำกับดูแลเรื่องนี้ที่ นายกฯมอบหมายให้ดำเนินการก็จะเริ่มรับฟังความคิดเห็นจาก 5 ภาคส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสื่อ

โดยกลุ่มแรกในวันพุธที่ 23 มิ.ย. จะพบกับองค์กรวิชาชีพสื่อที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มที่สอง กลุ่มเครือข่ายวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดหมาย กลุ่มที่สามภาคประชาสังคม ภาคประชาชนที่ทำงานด้านสื่อ เช่น กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ กลุ่มพ่อแม่เฝ้าระวังสื่อ ฯ กลุ่มที่สี่ ภาคเอ็นจีโอ อาทิ คณะกรรมการปฏิรูปสื่อฯ และกลุ่มที่ห้า ประชาชนทั่วไป เพราะถือเป็นคนที่เกี่ยวกับสื่อโดยตรงในฐานะเป็นคนรับข้อมูลข่าวสาร                     เมื่อเรารับฟังความคิดเห็นจาก 5 ส่วนนี้แล้วก็คงจะมาประมวลกันว่าข้อเสนอแนะต่างๆ ภาคส่วนที่จะต้องไปดำเนินการ ถ้าเป็นส่วนของรัฐบาล เช่น หากเห็นควรให้มีการแก้ไขกฎหมาย รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาก็จะรับส่วนนี้มาทำ ถ้าส่วนอื่นใครเกี่ยวข้องกับเรื่องไหนส่วนนั้นก็รับไปทำ ทั้งนี้การปฏิรูปสื่อยังใม่มีกรอบเวลาและผมขอไปรับฟังความเห็นในเบื้องต้น ก่อน และผมยืนยันว่าการปฏิรูปสื่อไม่ใช่การสั่งให้สื่อปฏิรูปอย่างเด็ดขาด ต้องเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของสื่อเองและคนในแวดวงในสื่อสารมวลชนทั้ง หมด ” นายองอาจ กล่าวผนึก 3 หน่วยงาน ไอซีที-ยุติธรรม-วัฒนธรรม จัดการเว็บไม่เหมาะสม โดยจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หวั่นไทยถูกโจมตีข้อมูลเพราะยังขาดการป้องกันที่ดี

 

วันที่ 17 มิถุนายน

หน่วยงานรัฐลงเอ็มโอยู.สกัดเว็บผิด กม.

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ลงนามบันทึกความข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที นายพรีพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม นายนิพิทธ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒธรรม เป็นผู้ร่วมลงนามเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางสื่อเทคโนโลยี สารสนเทศ เพื่อทำงานและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันการกระทำความผิดและการใช้งานอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของเว็บไซต์ และเว็บบอร์ดต่างๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นภัยต่อสังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงประเทศชาติ เพราะมีทั้งการพนัน การฉ้อโกง การหลอกหลวงประชาชานในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งหากไม่มีการบูรณการในการทำงาน ก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างมาก                                                                                                                   นาย จุติ กล่าวต่อว่า ได้ฝากให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงวัฒนธรรม ไปช่วยพิจารณาและเกาะติดว่า ปัจจุบันธุรกิจค้าของเก่า ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเว็บไซต์นั้น เพราะบางครั้งเป็นการค้าขายสิ่งที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตในการประกอบธุรกิจที่ ไม่สุจริต ดังนั้นต้องเร่งปราบปราบ โดยขอกำลังคนจากกระทรวงยุติธรรม มา 50 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมทั้งหมด                                                  ด้านนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ภายใน 3 เดือน จะเร่งขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ก่อนให้ปิดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเว็บไซต์หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะต้องปิดกั้นทุกช่องทางไม่ให้เกิดขึ้น และหลังจากนั้นจะขอความร่วมมมือไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตของเอกชน

วันที่ 21 มิถุนายน

นักการเมืองใช้สื่อมากกว่าสื่อใช้นักการเมือง

 

นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ให้สัมภาษณ์ในประชาธุรกิจ วิพากษ์สื่ออย่างรอบด้าน “ต้องเลิกสัมภาษณ์นักการเมือง”  นักการเมืองใช้สื่อมากกว่าสื่อใช้การเมือง เขาใช้สื่อเพื่อบอกในสิ่งที่เขาต้องการจะบอก โดยที่เขาไม่ต้องลงทุนกับการฆ่าโฆษณา และสื่อไม่ได้ทำหน้าที่เชิงสืบสวน เช่น กรณีการยิง 6 ศพในวัดปทุมวนาราม สื่อต้องทำงานเชิงสืบเพื่อหาไม่โม่งที่ยิงคน 6 ศพ วันเดียวกันนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์พิเศษ นสพ.ข่าวสด ระบุ สื่อต้องมีอิสระในการนำเสนอ

เนชั่นเปิดทีวีบันเทิงช่องใหม่

วันที่ 21 มิถุนายน เครือเนชั่นได้กำเนิดแมงโก้ทีวี ทีวีบันเทิงดาวเทียมช่องใหม่ เน้นไลฟ์สไตล์ ซอฟนิวส์ของวงการบันเทิง ศิลปวัฒนธรรม มีเป้าหมายสร้างสื่อในการสร้างชุมชนคุณภาพของวิถีชีวิตรุ่นใหม่และสังคม                                                                                                 ส.ว.ระบุอรัฐอุปสรรคสร้างปรองดอง

 

วันที่ 21 มิถุนายน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ปฏิเสธการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา กรณีการใช้สื่อของรัฐเพื่อความปรองดองและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม โดยนายองอาจส่งนายกฤษณพร เสริมพานิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เข้าชี้แจงแต่นายกฤษณพรก็ส่งระดับผู้อำนวยการสำนักฯเข้าชี้แจงแทน โดยเขาระบุว่า ช่อง 11 พยายามเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้ยยกับรัฐบาลแสดงความคิดเห็น                                                                       อสมท.ยันไม่เคยถูก ศอฉ.เรียกพบชี้นำเสนอข่าว

ขณะที่นายพรชัย ปิยะเกศิน ผอ.ฝ่ายรายการ สำนักโทรทัศน์ บมจ.อสมท.ระบุว่า การระบุว่า ศอฉ.เรียกผู้อำนวยการสถานีทุกช่อบไปพบเพื่อไม่ให้เสนอข่าวที่เป็นผลเสียของรัฐบาลนั้นไม่เป็นความจริง แต่ อสมท.ให้ความร่วมมือกับ ศอฉ.โดยพิจารณาและนำเสนอข่าวตัววิ่งผ่านจอเท่านั้น  ขณะที่นายศิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช เห็นว่า สื่อรัฐเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดอง ซึ่งนายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่า รายการของช่อง 11 ของ สอง ดร.เป็นรายการที่สุดโต่งจะพิจารณาเสนอนายกฯให้ปรับปรุงรายการดังกล่าว

เผยรัฐบาลอ้างมั่นคง-สถาบันปิดสื่อใหม่

วันที่ 23 มิถุนายน คณะกรรมการเครือข่ายรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อและเครือข่าย ได้ร่วมกันแถลงข่าวในหัวข้อ “สื่อภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โดยเห็นว่า รัฐบาลได้เข้าปิดกั้นสื่อใหม่ทั้งอินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน และทีวีดาวเทียม ทำให้ประชาชนได้รับข่าวสารด้านเดียวจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การปิดไม่ใช่เพิ่งมีหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่พยายามมาตลอด แต่หลังประกาศ พ.ร.ก.แล้วรัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องขออำนาจศาล โดยอ้างกระทบความมั่นคงและหมิ่นสถาบัน

สื่อทีวี-วิทยุเล็งขอเพิ่ม กสทช.ฝ่ายละสอง

วันที่ 26 มิถุนายน ผู้จัดการสุดสัปดาห์ตีพิมพ์รายงานระบุว่าสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสี่ยงและวิทยุโทรทัศน์ โดยนางจำนรรค์ ศิริตัน นายกฯสมาพันธ์ผลักดันขอเพิ่ม
โควต้ากรรมการ กสทช.เพิ่มจากเดิม 11 คน     เป็น 15 คน โดยเห็นว่าควรเพิ่มอาชีพสื่อวิทยุ 2 คนและโทรทัศน์ 2 คน เพราะเป็นเรืองของวิทยุและโทรทัศน์โดยตรง

อดีตคนข่าวตกเป็นผู้ต้องหาวางระเบิดภูมิใจไทย

วันที่ 27มิถุนายนก นายเดชพล พุทธจง ผู้ต้องหาร่วมกันวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย ถูกเปิดเผยว่าเดิมชื่ออดิศัย พุทธจง อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “ยุคอีสานไทยใหม่” ก่อนจะเปลี่ยนอาชี่พไปขายเฟอร์นิเจอร์มือสองที่ จ.นครราชสีมา และเคยลงสมัคร ส.ส.พรรคพลังธรรม และไม่เคยเป็นผู้สื่อข่าวของ นพส.ข่าวสด                                                                                           วันที่ 29 มิถุนายน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯและผู้อำนวยการ ศอฉ.สั่งจับตา นพส.เรดพาวเวอร์กระบอกเสียงของคนเสื้อแดงที่หมิ่นเหม่ต่อความมั่นคง

สื่อยักษ์ใหญ่จีนเตรียมสยายปีกตั้งทีวีภาษาอังกฤษ 24 ชม.ต 9 ต

วันที่ 3 กรกฎาคม สำนักข่าวซินหัวสำนั กข่าวใหญ่ของจีนประกาศตั้งสถานีข่าวภาคภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมง เพื่อขยายอิทธิพลสื่อของรัฐบาลจีนไปยังประเทศต่าง ครอบคลุมการรายงานข่าว สารคดี สภาพอากาศ

ศาลรับฟ้องสนธิหมิ่นสถาบัน

วันที่ 5 กรกฎาคม ศาลอาญาประทับรับฟ้องคดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการหมิ่นสถาบันตาม ป.อาญา 112 หลังนำคำพูดหมิ่นสถาบันของดา ตอร์ปิโด มาพูดบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อวันที 20 กรกฎาคม 2551  โดยนายสนธิได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยกรมธรรม์ประกันชีวิตวงเงิน 5 แสนบาท

เผยนักข่าวตกเป็นเป้าเอาชีวิต

วันที่ 6 กรกฎาคม องค์กรระหว่างประเทศดานการปกป้องสื่อ(พีอีซี) สำนักงานใหญ่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า จากการรวบรวมสถิติผู้สื่อข่าวเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลก 6 เดือนแรกของปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ส 59 ราย เพิ่มจากเดิม 53 ราย ที่สำรวจในปีเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าผู้สื่อข่าวยังคงถูกคุกคามด้านสิทธิและเสรีภาพ โดยประเทศเม็กซิโกอันตรายที่สุดสำหรับสื่อ มีผู้เสียชีวิตมากสุด 9 ราย ตามด้วย ฮอนดูรัส ปากีสถาน ไนจีเรีย สาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งการขัดแย้งในพื้นที่ ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า ผลประโยชน์ท้องถิ่น และขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ตลอดจนเหตุเผชิญหน้ารุนแรงทางการเมือง

ไอบีเอ็มนำเสนอโซลูชั่นครบวงจรให้สื่อออนไลน์

วันที่ 6 กรกฎาคม 2553 นพพ.ไทยรัฐระบุว่า บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดงานสัมมนา IBM Smarter Media “Breakthrough the on-line business” ระหว่างวันศุกร์ที่ 25 – วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2553 ณ วีรันดา รีสอร์ท แอนด์ สปา (หัวหิน-ชะอำ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอไอทีโซลูชันครบวงจรที่เป็นประโยชน์กับสื่อออนไลน์เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์บุริม โอทกานนท์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเกียรติบรรยาย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมาย สมาชิกชมรมฯ ที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ไทยรัฐออนไลน์ เครือเนชั่น ASTV ผู้จัดการ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ อสมท. มติชนออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์แนวหน้า หนังสือพิมพ์ดาราเดลี่ และหนังสือพิมพ์สยามกีฬา

องอาจเผย รัฐบาลไม่เคยใช้อำนาจแทรกแซงสื่อ และจะพยายามเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อของรัฐ

วันที่ 9 กรกฎาคม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปสื่อ ว่า ในโอกาสครบรอบ 22 ปี สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ที่จะมีพิธีเปิดตัวสถานีข่าวสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยนั้น ยืนยันว่า การนำเสนอข่าวที่ผ่านมาเป็นไปอย่างรอบด้านแล้ว และรัฐบาลไม่เคยใช้อำนาจเข้าไปบีบบังคับหรือแทรกแซงการนำเสนอข่าว แต่ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาทำให้รัฐจำเป็นต้องใช้ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในการสื่อสารกับประชาชน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายลงก็จะพยายามเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้แสดง ความคิดเห็นมากขึ้น ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะมีการเปิดทีวีดาวเทียมในชื่อเอเชียอัพเดทนั้น สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีกฎหมายควบคุมการเปิดหรือปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ขณะนี้มีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเกิดขึ้นจำนวนมาก                                                                                                                   นายกสั่งองอาจหาทางให้ฝ่ายค้านจ้อช่อง11 ชี้รัฐถูกเพ่งดูความจริงใจปฏิรูปสื่อ

วันที่ 9 กรกฎาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังห้องส่งสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง11 ถนนวิภาวดี เพื่อเป็นประธาน “เปิดสถานีข่าวสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”และเนื่องในโอกาสวันคร บรอบ 22 ปี สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท.) โดยนายกฯกล่าวว่า ประสบการณ์ของสทท.ที่ผ่านประสบการณ์ มา 22 ปี อาจจะถือว่าเป็น22ปีที่ผ่าน

นายกฯเผยสื่อทีวีรัฐยากที่เลี่ยงการโฆษณา

กระบวการเรียนรู้ซึ่งสมควรจะได้เก็บ เกี่ยวบทเรียนเพื่อที่จะในเรื่องของการดำเนินการปฏิรูปสื่อซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของการปฏิรูปและกระบวนการปรองดองได้ อย่างไรก็ตาม จำได้ว่าสถานีนี้เริ่มต้นมาสำหรับคนไทยนึกถึงช่อง11ฐานะทีวีที่ไม่มี โฆษณา เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่บ่งบอกว่าการดำเนินการเรื่องของกิจการ ทางด้านสื่อสารมวลชนทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากการเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจ เป็นส่วนใหญ แต่การผลิตสื่อและการกระจายเสียงเผยแพร่ภาพเป็นการกระบวนการที่มี ต้นทุนค่อนข้างสูงที่ต้องมีการลงทุน ที่สุดเครื่องมือเครื่องไม้เหล่านี้มักถูกนำไปใช้และมีผลตอบแทนใน เชิงธุรกิจด้วย                                                             “สถานีวิทยุ โทรทัศน์ในยุคแรกจึงหลีกเลี่ยงกับการที่จะต้อง มีโฆษณาหรือมีการได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ซึ่งในระดับหนึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาต่อการกระบวนการของการนำเสนอข้อ มูลข่าวสารหรือสาระหรือบันเทิงกับประชาชน แต่จุดกำเนิดของช่อง11 ในประเทศไทยเป็นตัวบ่งบอกว่าเวลาที่สื่อสารมวลชนทำ งานแล้วจะต้องตอบสนองปัจจัยในเรื่องของธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์ก็จะ พบความเป็นจริงว่ามีช่องว่างคือมีการการให้ข้อมูลข่าวสารบางด้าน ซึ่งจะไม่ได้สามารถได้รับพื้นที่เพียงพอในการนำเสนอต่อประชาชน”นายกฯ กล่าว                                          นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อปี 2534 ซึ่งเป็นปี ก่อตั้งช่อง 11 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ก็มาทำงานด้านสื่อที่นี่ และรายการที่บุกเบิกและสร้างชื่อเสียงมากคือรายการนเวทีชาวบ้าน ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชาวบ้านมีสิทธิ์มีเสียงในการ ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ปัญหาต่างๆ และได้รับความนิยมตนก็ได้รับการทาบให้มาทำรายการมองต่างมุมซึ่ง เป็นครั้งแรกที่นำเสนอรายการที่ค่อนข้างชัดแจ้งในเรื่องของการ เมืองและเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่คิดเห็นแตกต่างใช้พื้นที่ของ สื่อได้ เพราะยุคนั้นในการใช้สื่อในการนำเสนอเนื้อหาสาระทางการเมืองมี ค่อนข้างน้อย แม้แต่การนำเสนอข่าวสารที่เป็นรายการข่าวตามปกติก็ไม่เป็นที่นิยม หรือสนใจมากนัก ถ้ามีรายการเนื้อหาสาระทางด้านการเมืองก็จะเป็นการนำเสนอฝ่ายเดียว แต่รายการมองต่างมุมเป็นการเปิดโอกาสให้นที่คิดแตกต่างกันมานั่งร่วม โต๊ะ เปิดให้มีตัวแทนของประชาชนเข้ามานั่งกลุ่มหนึ่งร่วมรายการและ สามารถตั้งคำถามที่เป็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนได้

"สุเทพ"อารมณ์บูด!หลังถูกจี้ถาม ย้อนสื่อ"คนไทยหรือเปล่า

วันที่ 9 ก.ค.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์กรณีทำงานของเจ้าหน้าที่หลายหน่วย ลักษณะการทำงานดูเหมือนจะสวนทางกับแนวทางปรองดองของรัฐบาลว่า การปรองดองหรือการสมานฉันท์นั้นไม่ได้หมายความว่า ต้องอดทน ยอมให้คนฝ่าฝืนกฎหมายหรือให้คนทำผิดกฎหมายหรือทำร้ายประเทศไทย หรือทำร้ายสถาบันของชาติ คนทำผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี ส่วนการปรองดองสมานฉันท์เป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศที่ต้องมีความคิดที่ ดีต่อกัน มีความเข้าใจกัน ความเห็นอาจต่างกันในทางการเมืองแต่ต้องนึกถึงว่าเราเป็นเจ้าของประเทศ เป็นคนไทยด้วยกัน เป็นพี่น้องกัน ต้องไม่ทำร้ายกัน ต้องไม่ทำลายบ้านเมือง

เมื่อถามว่า แต่คนไทยส่วนใหญ่มองว่าที่ออกมาเรียกร้องนั้นมีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่เจ้าหน้าที่กระทำต่อประชาชนโดยไม่ถูกต้อง นายสุเทพ กล่าวว่า ตอนที่เกิดเรื่องสื่อก็น่าจะเห็นแล้วว่าการที่มาเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ไม่มีใครว่าอะไร การมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนรัฐบาลก็เห็น ได้ยิน และรัฐบาลก็ลงมือแก้ไขแล้ว แต่การเอาปืนมาไล่ยิงทหาร มายิงประชาชนด้วยกันเอง หรือการไปปฏิบัติการที่ทำให้ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขได้ อย่างนั้นไม่ใช่วิธีการในระบอบประชาธิปไตย                                          "ผมคิดว่า ถ้าคุณถามอย่างนี้ คุณปฏิเสธความเป็นจริงไปแล้ว เพราะเห็นกันอยู่ตำตาแล้ว ก็ยังบอกว่าไม่รู้ว่าใครทำอีก ผมก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรแล้ว คนไทยด้วยกัน เป็นเจ้าของประเทศเหมือนกันก็ต้องรู้สึกว่าอะไรคือความจริง อย่าเอาความไม่จริงมาเบี่ยงเบน บิดเบือน มาทำให้ประเด็นต่างกันไป แก้ปัญหาตรงความเป็นจริงดีกว่า"นายสุเทพ กล่าว เมื่อถามว่า คนส่วนหนึ่งคิดว่า ทหารไปไล่ยิง แล้ว ศอฉ.จะสอบสวนหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวย้อนถามทันทีด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า"คนไทยหรือเปล่าน้อง”                                                                                              “จุติ”พบผู้ผลิตข่าวออนไลน์รับข้อ เสนอวางหลักเกณฑ์-ตั้ง กก.ดูแลบล็อกเว็บ

วันที่ 14 กรกฎาคม นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที แจงกรรมการชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ตั้ง Cyber Scout เพื่อให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อจับผิด ยอมรับภาครัฐยังขาดหลักเกณฑ์บล็อกเว็บ ต่างคนต่างทำ เตรียมรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนตั้งกรรมการกลางดูแล พร้อมย้ำเว็บหมิ่นต้องจัดการ เผยงานหลักก่อน พ้นเก้าอี้ เร่งให้ ทีโอทีเป็นทางด่วนข้อมูล

ทีวีญี่ปุ่นเกาะติดหลังสื่อิตาลีตายอีก 1 คน

มติชน อ้าง “มติชนออนไลน์” รายงานเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 ว่า นิปปอนเทเลวิชั่น(เอ็นทีวี) ของญี่ปุ่นกำลังทำสารคดีการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โบแลนสกี้ ช่างภาพชาวอิตาลี ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่ที่สี่แยกสารสิน วันที่ 19 พฤาภาคม โดยแยกเป็นสองประเด็คนคือ สาเหตุการเสียชีวิตที่ไม่ได้รับการเปิดเผยจากตำรวจทำให้ญาติจะเดินทางมายังประเทศไทย และเมมโมรีการ์ดของผู้เสียชีวิตหายไป โดยอ้างว่ามีชายใส่หมวกแก๊ปและมีผ้าปิดใบหน้านำกล้องของผู้ตายไปด้วย โดยครอบครัวผู้ตายต้องการเมมโมรีการ์ดคืนเพื่อนำภาพสุดท้ายที่ถ่ายไว้ไปตีพิมพ์

วันที่ 27 กรกฎาคม 2553

 

ยิงหัวนักข่าว"ไทยรัฐ"ดับคาร้านอาหาร คาดปมส่วนตัว

นายก้องภพ สวัสดี หรือเดช อายุ 51 ปี ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำ อ.กำแพงแสน อ.ดอนตูม และ อ.บางเลน จ.นครปฐม  ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม.ยิง เสียชีวิตเมื่อเวลา 22.00 น.วันที่ 27 กรกฎาคม เหตุเกิดภายในร้านอาหารครัวผ่องศรี หมู่ 4 ต.ห้วยพระ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม และผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย จากการตรวจสอบภายในรถยนต์ของผู้ตาย พบอาวุธปืนขนาด .45 มม.ขึ้นลำกล้องเตรียมพร้อมของผู้ตาย 1 กระบอก แต่ไม่ได้พกปืนติดตัวลงไปนั่งทานอาหาร

นายกมล สังกะ อายุ 55 ปี  เจ้าของร้านอาหารครัวผ่องศรี เล่าว่า ผู้ตายได้เข้ามานั่งทานอาหารพร้อมด้วยแฟนสาว และกลุ่มเพื่อนๆ ที่มาร่วมกินโต๊ะแชร์จำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 18.00 น.ซึ่งผู้ตายนั่งอยู่โต๊ะอาหารด้านใน ก่อนเกิดเหตุได้มีรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า สีขาว ไม่ทราบทะเบียน มาจอดบริเวณตรงข้าม จากนั้นมีชายลักษณะสูงโปร่ง ไว้ผมยาว สวมหมวก เดินตรงเข้ามาในร้าน อ้อมมาทางด้านซ้ายของโต๊ะที่ผู้ตายนั่งอยู่ ชักปืนยิงงใส่หลายนัด

พ.ต.อ.วรวิทย์ กล่าวว่า คนร้ายมุ่งเอาชีวิตผู้ตายแน่นอน เพราะผู้ตายเป็นผู้สื่อข่าวประจำ 3 อำเภอ คือ ดอนตูม กำแพงแสน และบางเลน และประกอบธุรกิจส่วนตัวด้วย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ตายเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี เป็นคนมีพรรคพวกมาก ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าคนร้ายสังหารผู้ตายด้วยสาเหตุใด ขณะที่ พล.ต.ท.พงษ์สันต์สันนิษฐานไว้ 3 ประเด็น คือ เรื่องการนำเสนอข่าวที่อาจจะทำให้ผู้ตกเป็นข่าวบางคนไม่พอใจ ประเด็นที่ 2 ความขัดแย้งส่วนตัวและ ประเด็นที่ 3 เรื่องชู้สาว

วันที่ 29 กรกฏาคม 2553

CPJ ออกรายงานไทยสอบคดีฃเสียชีวิตของสื่อชาติ 2 คน ไม่ดีพอ

สำนักข่าวเอพีรายงานวั โดยอ้างรายงานของคณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (The Committee to Protect Journalists )  หรือ CPJ  ซึ่งเป็นกลุ่มเสรีภาพสื่อที่มีฐานที่ตั้งที่กรุงนิวยอร์คของสหรัฐ ฯ ที่ว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวในอันที่จะทำการสอบสวนอย่างเหมาะสมต่อการเสียชีวิตจากการถูกยิงของผู้สื่อข่าวสองคนขณะเข้าทำข่าวความรุนแรงทางการ เมืองในไทยและว่าผู้ก่อเหตุสมควรถูกนำตัวมาดำเนินคดีในศาล โดยทั้งรัฐบาลและผู้ประท้วงต่างเกี่ยวข้องในการกระทำแบบไม่ยั้งคิดอันมีอันตรายถึงตาย นำไปสู่การเสียชีวิตของนายฮิโระ มูราโมโต ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส์ เมื่อ 10 เมษายน และนายฟาบิโอ โพเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี และสื่อมวลชนบาดเจ็บอีก 9 คน รายงานของ CPJ ระบุว่า ผลการสอบสวนขั้นต้นของรัฐบาลและแม้แต่การชันสูตรศพของทั้งคู่ไม่ สมบูรณ์และคลุมเครือ ขณะที่การสอบสวนโดยบรรดาสถานฑูต ญาติผู้เคราะห์ร้าย และองค์กรสื่อต่างๆ ถูกขัดขวางหรือถูกปฏิเสธที่จะให้ ข้อมูล CPJ  จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทำการชันสูตรอย่างเป็นทางการ รวมทั้งทำการสอบสวนของตำรวจในเรื่องการเสียชีวิตให้เสร็จสมบูรณ์ กับให้ทำการสอบสวนอย่างเต็มที่ และให้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคณะผู้สอบสวนอิสระรายงานยังอ้างผู้สื่อข่าวประมาณ 24 คน เป็นพยานในความรุนแรง กล่าวหาทหารฝ่ายรัฐบาลหลายครั้งว่าได้ยิ่งสุ่มเข้าไปในกลุ่มผู้ประท้วงที่ เห็นได้ว่าไม่มีอาวุธ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ๆ มีผู้สื่อข่าวอยู่ ขณะเดียวกัน พยานก็เห็นผู้ประท้วงแต่งชุดดำซึ่งติดอาวุธหนัก ผู้ยิงปืนและยิงเครื่องยิงลูกระเบิด เข้าใส่ทหารที่ประจำการอยู่ในพื้นๆที่มีสื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่อยู่เช่นกัน

วันที่ 29 กรกฎาคม

 

กทช.กองปราบบุกเมืองคอนจับวิทยุชุมชนและทีวีชุมชนเถื่อน 12 สถานี


พล.ต.ต. ศรีวรา รังสิพราหมกุล รอง ผบช.ก.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตำรวจกองปราบ เดินทางไปประสานขอกำลังตำรวจ สภ.เมือง นครศรีธรรมราช บุกเข้าตรวจค้นจับกุมสถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช 9 ทีวีชุมชน 3 แห่ง โดยเฉพาะที่โรงแรมทวินโลตัสนครศรีธรรมราช นั้นตรวจจับสถานีวิทยุชุมชน 7 สถานี ทีวีชุมชน 1 สถานี ตลาดท่าม้า ต.ในเมือง อ.เมือง จับกุมวิทยุชุมชน 1 แห่ง ทีวีชุมชน 1 แห่ง และที่ อ.ทุ่งสง จับวิทยุชุมชน 1 แห่ง ทีวีชุมชน 1 แห่ง โดยดำเนินคดีในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 2498 โดยตั้งข้อหาความผิด 3 ประการ คือ การประกอบกิจการวิทยุชุมชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต การใช้เครื่องส่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และการใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต

มหาดไทยเปิดทีวีจี้ผู้ว่าฯ นอภ.ขอความร่วมมือเคเบิลท้องถิ่นแพร่ข่าวสาร

 

วันที่ 29 กรกฏาคม นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ได้กล่าวถึงการจัดทำสถานีโทรทัศน์มหาดไทยระหว่างการประชุมผู้ว่าฯประจำเดือนว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจสามารถใช้โทรทัศน์มหาดไทยเพื่อการสื่อสารกับประชาชนได้ เน้นไปทางประชาสัมพัน
ธ์สถานที่และเทศกาลท่องเที่ยว  โดยให้ผู้ว่าฯและนายอำเภอช่วยประชาสัมพันธ์และของความร่วมมือเคเบิลท้องถิ่น โรงแรม ร้านค้า สถานที่ราชากร และอาคาร อปท.ทั่วประเทศติดตั้งในจุดที่รองรับประชาชนมาใช้บริการ

วันที่ 30 กรกฎาคม

สมาคมนักข่าวฯยื่นหนังสือ รมต.ประจำสำนักนายกฯจี้คดีสื่อเสียชีวิต นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ รองเลขาธิการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือผ่านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ด้านหน้าตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล ไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการขอให้รัฐบาลเร่งรัดติดตามตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตด้วยความยุติธรรม โปร่งใสต่อกรณีของนายฮิโรยูริ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์และนายฟาบิโอ โพเลนกี ช่างภาพชาวอิตาเลียน ที่ถูกยิงเสียชีวิตในระหว่างการเข้าไปทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มนปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 และ 19 พ.ค. 2553 ที่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

นายองอาจกล่าวว่า จะนำหนังสือของสมาคมนักข่าวฯไปยื่นให้นายกรัฐมนตรีทันทีเพื่อให้ทางรัฐบาลอำนวยความสะดวกและพิจารณาข้อเรียกร้องของญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งตนช่วยประสานดีเอสไอและกระทรวงยุติธรรมในการอำนวยความสะดวกและพยายามดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของพี่สาวของผู้เสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อวานนี้(29ก.ค.)พี่สาวและเพื่อนนักข่าวชาวฝรั่งเศสของช่างภาพอิตาลี(นายฟาบิโอ) ได้มาพบตนก็พอใจที่รัฐบาลช่วยอำนวยความสะดวกให้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่มีเจตนาปิดบังข้อเท็จจริง เพราะสามารถพิสูจน์ได้ที่มีรายงานต่างๆออกมา ซึ่งเรายินดีให้ข้อมูลต่างๆกับญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องการทราบสาเหตุของการเสียชีวิต

 

กทช.ดีเดย์เดินหน้าเชือดวิทยุชุมชน-เคเบิ้ลทีวีเถื่อนสิงหาคม

 

วันที่ 30 กรกฏาคม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์  รองเลขาธิการ กทช. กล่าวว่า  ตั้งแต่วันที่  1 สิงหาคมนี้  กทช.จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.  2498 อย่างเข้มข้นในการดำเนินการจับกุมวิทยุชุมชนและทีวีชุมชนที่ใช้คลื่นความถี่ อย่างผิดกฎหมาย และไม่ยอมให้ความร่วมมือกับการดำเนินต่าง ๆ และใช้สื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน และกลายเป็นสาเหตุสำคัญของความวุ่นวายทางการเมือง โดยจะประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
ในการเข้าจับกุม โดยมีบทลงโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน  100,000 บาท  หรือทั้งจำและปรับ ทั้งนี้  ล่าสุดได้จับกุมวิทยุชุมชนและทีวีชุมชนที่ทำผิดกฎหมาย  อย่างวิทยุชุมชนที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช  3 สถานี และจังหวัดสุราษฎ์ธานี 1 แห่ง  ได้แก่ เอโอ ชาแนล, ซีเอสทีวี, เอ็นทีวี และสุราษฎร์ แชนแนล  ใช้เครื่องส่งสัญญาณไม่ได้รับอนุญาต  เสาส่งสัญญาณไม่เป็นไปตามกฎหมาย และทีวีชุมชน ที่ใช้คลื่นความถี่ ย่าน UHF400-500  ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  8 แห่ง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี  2 แห่ง ซึ่งการใช้คลื่นความถี่ย่านดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น เพราะยังไม่เคยอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใดใช้ นอกจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3  5  7  9  11 และไทยพีบีเอสเท่านั้น 

เผยมีวิทยุชุมชนเกือบ 8 พันแห่งเข้าสู่ระบบของ กทช.
นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขา กทช.  กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานีวิทยุชุมชนที่เข้าสู่ระบบการดำเนินการของ กทช.แล้วเกือบ  8,000 แห่ง  มาลงทะเบียนเพื่อออกอากาศชั่วคราว  1 ปี กับ กทช.จำนวน  6,629 แห่ง และได้รับใบอนุญาตชั่วคราว  1 ปี  6 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 528 ราย ส่วนที่เหลืออีก  1,080 แห่ง ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กทช.  โดยในส่วนนี้มีการร้องเรียนว่ามีการปลุกระดมประมาณ  84 สถานี ซึ่ง กทช.กำลังติดตามดูอย่างใกล้ชิด   ส่วนเคเบิ้ลทีวี มาลงทะเบียนกับ กทช. เพื่อออกอากาศชั่วคราว 767 ราย  และได้รับอนุญาตจาก กทช.แล้ว 44 ราย ขณะที่ทีวีชุมชนที่ใช้คลื่นถี่ย่าน UHF มีประมาณ 10 ราย ซึ่ง กทช. จะดำเนินงานจับกุมตามกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย


พี่สาวสื่ออิตาลีเรียกร้องรัฐบาลสอบสวนการตายวอนขอคืนกล้อง-โทรศัพท์ดูต่างหน้า

 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2553 น.ส.อลิซาเบ็ธ โพแลนสกี้ พี่สาวนายฟาบิโอ โพแลนสกี้ ช่างภาพชาวอิตาลี  แถลงที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งสืบสวนสอบสวนคดีโดยเร็ว และต้องการได้กล้องและเมมโมรีการ์ด รวมทั้งโทรศัพท์มือถือคืน เพราะเสมือของดูต่างหน้าน้องชาย นอกจากนี้ ยังระบุว่าภาพถ่ายของน้องชายเธอถูกนำไปใช้ในทางการค้าโดยเร็ว และระบุว่าไม่ต้องการให้การตายของน้องชายถูกนำไปใช้ในทางการเมือง

สมเกียรติ ชี้ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลที่จะปฏิรูปสื่อชี้เป็นสิทธิของสื่อ

นสพ.สยามรัฐฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม ได้นำบทสัมภาษณ์นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ลงตีพิมพ์โดยเนื้อหาสำคัญนายสมเกียรติระบุว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่ปฏิรูปสื่อหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เริ่มเดินสายพบปะสื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ โดยเห็นว่ารัฐบาลไม่ต้องอะไร  เพราะการปฏิรูปสื่อเป็นหน้าที่ของสื่อไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล และไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขโดยการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอข่าวสาร

///

เดือนสิงหาคม 2553

สื่อไร้พรมแดนอัดเว็บวิกีลิกส์ไร้ความรับผิดชอบเผยชื่อคนช่วยกองกำลังนานาชาติในอัฟกานิสถาน

 

วันที่ 12 สิงหาคม องค์ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน(อาร์เอสเอฟ) ออกโรงวิพากษ์เว็บไซต์วิกีลีกส์ว่าขาดความรับผิดชอบอย่างไม่น่าเชื่อ หลังแฉรายชื่อชาวอัฟกันที่ให้ความช่วยเหลือกองกำลังนานาชาติต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยเว็บดังกล่าวได้เผยแพร่เอกสารในชั้นความลับของทหารสหรัฐเรื่อชาวอัฟกัน 70,000 หน้า ที่บางส่วนมีรายชื่อชาวอัฟกันอยู่ด้วย จดหมายเปิดผนึกของอาร์เอสเอฟะระบุว่า เสียใจต่อการไร้ความรับผิดชอบอย่างน่าเหลือเชื่อที่คุณแสดงออกมาเพื่อเผยแพร่เอกสารชื่อ “บันทึกสงครามอัฟกัน ค.ศ.2004-2010” บนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พร้อมเรียกร้องอย่าทำผิดพลาดซ้ำอีก และระบุว่า เว็บแห่งนี้เคยมีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงภายใต้สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ

ลุยปิดเว็บผิดกฎหมายหมิ่นพุ่งเหตุเปิดง่าย

วันที่   14 สิงหาคม 2553  นพส.โพสต์ทูเดย์ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของนนายอารีย์ จิวรรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที.ว่า ไอซีที.ได้สั่งปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย โดยแยกเป็นเว็บหมิ่นมากที่สุดหลักหมื่น url เว็บลามก อนาจาร และเว็บการพนัน โดยระบุว่า สาเหตุเว็บผิดกฎหมายเพิ่มาขึ้น เพราะเปิดง่าย สำหรับการสั่งปิดเริ่มจากการแจ้งเบาะแสจากประชาชนและการมอนิเตอร์จากเจ้าหน้าที่  จากนั้นส่งเรื่องไปยังศาลเพื่อให้ออกคำสั่งปิด

ญาตินักข่าวญี่ปุ่น-อิตาลีบินไปมาไทยหาสาเหตุตาย

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ส่งหนังสือ รายงานความคืบหน้าการดำเนินการและการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ Mr. Hiroyuki Muramoto ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะเกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมกลุ่มแนว ร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ผ่านมาโดยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ฯ ได้ประสานมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดูแลความคืบหน้าและติดตามคดีและให้แจ้งความคืบหน้าให้ทางการญี่ปุ่นทราบเป็นระยะ ๆ

พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและประสานกับผู้ เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ จากกล้อง CCTV และ สอบคำให้การพยานผู้เห็นเหตุการณ์ และภาพถ่ายส่วนหนึ่งจากกล้องที่ Mr.Muramoto ถ่ายไว้ก่อนเสียชีวิต รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อและ Website ของ DSI ขอให้ประชาชนผู้รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับพนักงาน สอบสวนคดีพิเศษ                                                                                                          ส่วนการรายงานการตรวจศพ Mr.Muramoto สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า สาเหตุ เกิดจากบาดแผลซึ่งเกิดจากกระสุนปืนความเร็วสูงเข้าที่บริเวณทรวงอกซ้าย 1 นัด ทะลุออกทางต้นแขนขวาด้านหลังทิศทางจากซ้ายไปขวา หน้าไปหลัง ล่างขึ้นบนเล็กน้อย ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้ประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้ทำการ ตรวจศพต่อไป นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ้ ได้เร่งติดตามผลการตรวจ DNA ที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุเพื่อตรวจเปรียบเทียบ กับ DNA ของศพผู้เสียชีวิต เพื่อพิสูจน์ยืนยันจุดเกิดเหตุและจุดที่เสียชีวิตทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป

รายงานนายกฯประเทศเหยื่อเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือรายงานความคืบหน้าการดำเนินการและการสอบสวน กรณี การเสียชีวิตของ Mr.Muramoto ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศเพื่อมีหนังสือแจ้งความคืบหน้าให้สถานเอกอัครราชทูต ญี่ปุ่นทราบไปแล้ว โดยต่อมา คณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้เข้าพบผู้บริหาร และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเจ้าหน้าที่ส่วนกิจการต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 23  กรกฎาคม  เพื่อประชุมหารือติดตามผลความคืบหน้าของคดี โดยเจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นยังคงขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากเป็นคดีที่ทางการญี่ปุ่นและญาติผู้เสียชีวิตให้ความสำคัญ ซึ่งผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นว่าได้เร่ง รัดการดำเนินการ อย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังติดขัดปัญหาปฏิบัติอยู่บ้างในเรื่องของเอกสารสำนวนการสอบสวนที่สำคัญ                                     รมว.ตปท.ญี่ปุ่นไม่ติดใจการตายของช่างภาพรอยเตอร์

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายคัตสึยะ โอคาดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการรวมถึงกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า คดีมีความคืบหน้าในหลายประเด็น มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสืบสวนสอบสวน ทั้งพยานบุคคลและดีเอ็นเอ การที่ยังไม่สามารถสรุปหาสาเหตุการเสียชีวิตและดำเนินการกับผู้เอาผิดได้ เนื่องจากช่วงเกิดเหตุการณ์รุนแรง มีหลายคดีที่จำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่กันไป ทำให้การสืบพยานหลักฐานดำเนินการอย่างยากลำบาก และรัฐบาลยืนยันจะไม่ก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นพอใจ ไม่ติดใจการทำงานของรัฐบาลไทย และยังขอให้มีการเดินหน้าคดีต่อไป โดยวันเดียวรมว.ต่างประเทศญี่ปุ่นได้ยืนไว้อาลัยบริเวณสี่แยกคอกวัวจุดที่ช่างภาพชาวญี่ปุ่นถูกยิงเสียชีวิต

วันที่ 27 สิงหาคม 2553

สื่อนอกอ้างถูกคุกคามจนต้องถอนตัวทีมติดตามคดีนักข่าวตาย

ไทยรัฐรายงานว่า นายอาร์โน ดูบัส ผู้สื่อข่าวฝรั่งเศสตัวแทนองค์สื่อไร้พรมแดนที่ติดตามทำข่าวการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โพเลนกี้ ช่างภาพอิตาลี เปิดเผยว่า ได้ไปฟังการแถลงข่าวของดีเอสไอเกี่ยวกับเสียชีวิตของผู้ชุมนุมและได้พูดคุยกับนักสิทธิมนุษยชน ทำให้ทราบว่าหน่วยงานที่ต้องเปิดเผยความจริงคือ ศอฉ.และทหาร เพราะส่งกำลังเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ และระบุว่าเพื่อนของโพเลนกี้ที่ติดตามข่าวการเสียชีวิตของโพเลนกี้ ถูกยกเค้าภายในออฟฟิศ ขโมยกล้องและคอมพิวเตอร์ไปเท่านั้น ทำให้ไม่สบายใจขอถอนตัวจากทีมติดตามไปแล้ว และช่างภาพอิสระชาวอเมริกันได้นำคลิปวันเกิดเหตุมาให้น้องสาวโพเลนกี้ไว้เป็นหลักฐาน ก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแฟนสาวชาวไทยข้อหาขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 28 สิงหาคม 2553

สถานทูตสหรัฐเรียกร้องสื่อเคารพความเป็นส่วนตัวหลังสูญเสียลูกสาว

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจกรณี น.ส.นิโคล จอห์น บุตรสาว วัย 17 ปี ของเอกอัครราชทูตอิริก จี.จอห์น เสียชีวิต พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิส่วนบุคคลของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯด้วย

วันที่ 31 สิงหาคม

รัฐบาลเตรียมเสนอกม.ป้องสื่อเข้าสภา

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพ เปิดเผยว่า หลังส่งร่างให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯดูแล้วจะนำร่างเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยร่างดังกล่าวเป็นร่างที่สภาวิชาชีพด้านสื่อมวลชนเสนอเข้าไปไม่ใช่ร่างของรัฐบาล โดยเนื้อหาของกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

วันที่ 31 สิงหาคม

ยิงเอ็ม 79 ถล่มเอ็นบีที

คนร้ายยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ใส่สถานีทัศน์แห่งประเทศไทยหรือเอ็นบีทีเมื่อเวลา 13.20 น. แรงระเบิดทำให้กิ่งไม้บริเวณลานจอดรถด้านหน้าอาคารหัก รถยนต์เสียหายสามคัน รถตู้ของสำนักข่าวได้รับความเสียหายอีกหนึ่งคัน โดยเป็นครั้งที่สองที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ถูกยิงเอ็ม 79 ใส่ โดยตำรวจเชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่วางระเบิดที่อาคารคิงส์พาวเวอร์ซอยรางน้ำ

เดือนกันยายน 2553

วันที่ 1 กันยายน นพส.หลายฉบับรายงานว่า ศอฉ.สั่งปิดเรดพาวเวอร์ และตักเตือนหนังสือพิมพ ไทยรัฐกรณีรายงานข่าวตั้งทีมไล่ล่ากลุ่มคนเสื้อแดง ต่อมานายุสเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ได้ปฏิเสธกรณีดังกล่าว

วันที่ 1 กันยายน

ลูกสุเทพฟ้องนักการเมืองสื่อสิ่งพิมพ์กรณีที่ดินบนเขาแพง อ.เกาะสมุย

นสพ.มติชนคัดคำฟ้องของนายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร นายประชา ประสพดี นายสิงห์ทอง บัวชุม นายประเกียรติ นาสิมมา นสพ.ข่าวสด และนสพ.มติชนเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งจ.สุราษฎร์ธานี ฐานหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหาย 500 บาท โดยนายแทนได้บรรยายฟ้องว่า นสพ.สองฉบับหวังมุ่งผลกำไรในทางการค้าจากยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ที่เพิ่มขึ้นจากข่าวหมิ่นประมาท มิใช่การเสนอข่าวสารด้วยความสุจริตหรือติชมด้วยความเป็นธรรม                                                    เป็นการกระทำที่ขาดจรรยาบรรณ ใช้วิชาชีพในทางอคติมุ่งทำลายบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เสนอข่าวใส่ความซ้ำในทำนองเดียวกัน ชี้นำว่าโจทก์เป็นตัวแทนของบิดากระทำผิดด้วยการหลีกเลี่ยงหาช่องทางที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ได้รับความเสียหายทางการเมือง  โดยนสพ.ข่าวสดและมติชนำคำกล่าวของนักการเมืองไปตีพิมพ์เป็นการจงใจละเมิดต่อโจทก์ โดยได้ยื่นฟ้องตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2553

2สมาคมนักข่าวฯออกแถลงการณ์ประณามยิงเอ็นบีที

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์เรื่องหยุดคุกคามสื่อว่าการยิงเอ็นบีทีเป็นการคุกคามต่อสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวในองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพในการรายงานข่าวและนำเสนอข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก จึงขอให้ตระหนักว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานและนำเสนอข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร จึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายการข่มขู่ ขอให้ฝ่ายความมั่นคงเร่งสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้ก่อเหตุมาลงโทษตามกฎหมาย และองค์สื่อขอเป็นกำลังใจให้กับสื่อมวลชนทุกแขนง

วันที่ 1 กันยายน

อุปนายกสมาคมนักข่าวฯชี้ ศอฉ.ปิดนสพ.ไม่ได้

นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.เปิดเผยว่ามีสื่อมวลชนบางฉบับเสนอข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสนอข่าวในลักษณะหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบัน โดยจะแจ้งความดำเนินคดีหรือปิดหนังสือพิมพ์ควรจะระบุให้ชัดเจนว่าหนังสือพิมพ์ฉบับใดมีพฤติการณ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และศอฉ.ไม่มีอำนาจปิดหนังสือพิมพ์เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรค 3 ทำได้เพียง การเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายและต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส  และหากศอฉ.ยังข่มขู่ว่าจะใช้อำนาจปิดในลักษณะนี้อีกกก.สมาคมนักข่าวฯจะหารือถึงมาตรการในการดำเนินการร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆ ต่อไป

วันที่ 3 กันยายน

อิหร่านเตือน นสพ.ก้าวล่วงเมียผู้นำฝรั่งเศส

เอพีรายงานว่า รัฐบาลอิหร่านเตือนหนังสือพิมพ์ไม่ให้ก้าวล่วงภรรยาผู้นำฝรั่งเศส หลังสื่ออิหร่านเกิดความขัดแย้งกับนางคาร์ลา บรูนี ภริยาประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมีแนวโน้มลุกลามบานปลาย หลังเธอออกมาเรียกร้องให้อิหร่านไม่ให้ประหารนักโทษสตรีผู้หนึ่งด้วยการปาหินใส่ เพราะถูกกล่าวหาว่าคบชู้และมีส่วนร่วมในการสังหารสามีตัวเอง โดยบทบรรณาธิการของนสพ.เคย์ฮานที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของอิหร่านได้ประณามนางบรูนีว่าเป็นโสเภณีในฉบับวันที่ 26 สิงหาคม พร้อมระบุว่าเธอเป็นนักร้องและนักแสดงแก่ๆ  ที่มีส่วนทำให้ชีวิตครอบครัวของนายนิโกลาส์ ซาร์โกซี กับภรรยาคนที่ 2 ต้องหย่าร้างกัน และนางบูรนีสมควรได้รับโทษตายไม่ต่างจากหญิงอิหร่านคนดังกล่าว

วันที่ 4 กันยายน 2553

รถขนผู้สื่อข่าวร่วมงานสื่อสัญจรเกิดอุบัติที่แม่ฮ่องสอน

รถลากที่พาคณะโฆษกสัญจรและสื่อมวลชนกว่า 50 คนต้องระทึกเมื่อรถแทรกเตอร์ที่ใช้ลากรถเกิดพลิกคว่ำทำให้รถลากต้องเสียหลักพลิกคว่ำ ระหว่างพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ จ.แม่ฮ่องสอน แต่ไม่มีผู้ใด้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯได้โทร.จากจีนแสดงความห่วงใยกับ น.พ.มารุต มัสยวาณิช รองโฆษกฯหัวหน้าทีมสื่อสัญจร

วันที่ 4 กันยายน

เนชั่นติวนักข่าวภาคเหนือรับมือโซเชียลมิเดีย

เครือเนชั่นจัดประชุมผู้สื่อข่าวภูมิภาคภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติวเข้มให้นักข่าวภาคสนามเข้าสู่สื่อยุคโซเชียลมิเดีย โดยกำหนดหัวข้อประชุมเรื่อง สื่อมวลชนยุคดิจิตอลทิศทางโซเชียลมิเดียและนักข่าวได้อะไรจากโซเชียลมิเดีย

วันที่ 5 กันยายน

กลุ่มตาลีบันปล่อยนักข่าวญี่ปุ่นหลังคุมตัวไว้นาน 5 เดือน

กลุ่มก่อการร้ายตาลิบันในอัฟกานิสถานปล่อยตัวนายโคซูเกะ สึเนโอกะ นักข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นหลังถูกลักพาตัวไปและกักขังไว้นาน 5 เดือน เพื่อต่อรองให้รัฐบาลญีปุ่นเจรจากับทางการอัฟกานสิถานให้ปล่อยตัวนักรบตาลีบันที่ถูกจับตัวไว้ และเรียกเงินค่าไถ่จากรัฐบาลอัฟกาสนิสถาน โดดยผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นอยู่ในความดูแลของสถานทูตก่อนจะเดินทางกลับมาตุภูมิ ทั้งนี้ตาลีบันได้ลักพาตัวต่างชาติไปหลายสิบคนส่วนใหญ่เป็นนักข่าวเพื่อต่อรอง

วันที่ 5 กันยายน

ชี้สื่อใหม่จะปฏิรูปสังคม รัฐบาลไม่จำเป็น

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา “สื่อหลัก ฟรีทีวีจะอยู่อย่างไร กับการรุกคืบของสื่อใหม่” โดยนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กรรมการบริษัท สำนักข่าวทีนิวส์ จำกัด ระบุว่า สื่อใหม่มีคนไทยใช้มากขึ้น สื่อไม่ได้มีกระแสหลักกระแสรอง แต่สิ่งใดนำเสนอข่าวจะเรียกว่าสื่อ โทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเสมือแมสมีเดีย โดยสื่อใหม่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยรัฐบาลไม่ต้องมาปฏิรูปสื่อ

วันที่ 6 กันยายน

รวบมือปืนยิงนักข่าวไทยรัฐสาเหตุเปิดโปงทุจริตในเทศบาล

มือปืนยิงนายก้องภพ สวัสดี ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ถูกตำรวจ บช.ภ.7 จับกุมได้ สาเหตุมาจากผู้ตายเสนอข่าวเปิดโปงการทุจริตในเทศบาลแห่งหนึ่งในพื้นที อ.ดอนตูมม และร้องเรียนยัง สตง.เพื่อให้ตรวจสอบจนสร้างความโกรธแค้นให้ผู้ถูกร้องเรียน จนจ้างมือปืนไปสังหารขณะนั่งกินโต๊ะแชร์กับเพื่อนๆ โดยทีมสังหารมีถึง 9 คน ซึ่งตำรวจสามารถจับกุมได้ 7 คน รวมทั้งนายวัชรินทร์ ลี้ไพบูลย์ สอบจ.นครปฐม ผู้จ้างวาน แต่ให้การปฏิเสธและเข้ามอบตัวก่อนูกจับกุม และจับกุมนายอภิรักษ์ พิมพิทักษ์ และนายกำพล มีศิลป์ สองมือปืนที่บุกยิง

วันที่ 9 กันยายน

ทบ.นำทับสื่อมวลชนพิสูจน์รุกป่าสวนผึ้ง

พล.ต.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ เจ้ากรมทหารช่างราชบุรี ร่วมประชุมกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนที่ค่ายทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี หลังมีข่าวราษฎรบุกรุกป่าพื้นที่ราชพัสดุจำนวนหลายหมื่นไร่ ก่อนจะพาสื่อมวลชนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบพื้นที่ป่าบ้านถ้ำหิน และมีกำลังตรวจสอบภาคพื้นดินด้วย

วันที่ 11 กันยายน

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ให้ค้นความจริงจากคนเป็นในจุลสารราชดำเนิน

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ได้เขียนรายงาน “โศกนาฎกรรมพฤษภา ค้นความจริงจากสื่อในสมรภูมิราชประสงค์” โดยแสดงความเห็นต่อจุลสารราชดำเนิน หนังสือรายสามเดือนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยยกตัวอย่างของผู้เขียนบทความในจุลสารฉบับดังกล่าวหลายคน และเห็นว่า ใครที่พยายามค้นความจริงจากความตาย 90 ศพ ทำไมไม่ลองค้นหาความจริงจากคนเป็นในจุลสารราชดำเนินฉบับพิเศษ “โศกนาฎกรรมพฤษภา 53” ดูบ้าง

วันที่ 11 กันยายน

เฮลิคอปเตอร์เอ็นบีทีตกแม่น้ำเจ้าพระยาขณะบินถ่ายสารดคีหน้าวัดกลางเกร็ด

เฮลิคอปเตอร์โรบินสัน รุ่น อาร์ 44 มูลค่า 20 ล้านบาทของบริษัท เฮลิลักซ์ จำกัด ที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเช่าไว้ถ่ายทำสารคดีประสบอุบัติเหตุหางเกี่ยวกับสายไฟจนตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือวัดกลางเกร็ด ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็จ จ.นนทบุรี แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียง น.ส.พัชรินทร์ พัชรประภานันน์ ผู้สื่อข่าวเอ็นบีที ได้รับบาดเจ็บที่ขา ส่วนช่างภาพ นักบินที่ 1 และ 2 ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

วันที่ 14 กันยายน

สิรินาฎ ศิริสุนทร วิพากษ์สื่อและสมาคมนักข่าวฯ

นพส.กรุงเทพธุรกิจได้ตีพิมพ์บทความจับกระแสของ สิรินาฎ ศิริสุนทร ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่สื่อมวลชนของไทยและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หลังนิสิตนักศึกษาเข้าพบนายกฯที่ทำเนียบและตั้งคำถามที่ผู้เขียนเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน ทั้งการถามเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรียกร้องให้นายกฯรับผิดชอบกรณีมีคนเสียชีวิตจากการสลายการขชุมนุม และระบุว่า ปัญหาของสื่อไทยคือก้มหัวให้กับอำนาจและชนชั้นนำรวมไปถึงยอมจำนนกับธุรกิจสื่อด้วยความยินดี

วันที่ 15 กันยายน

ตั้งกก.สอบฟ้าเดียวกันหมิ่นสถาบัน

ดีเอสไอ-วธ.เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อความหมิ่นเบื้องสูงใน "ฟ้าเดียวกัน" ระบุไม่มีการจดแจ้งตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติในขณะนี้พบว่า นิตยสารฟ้าเดียวกัน ยังไม่มีการจดแจ้งตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ปี 2550 และนิตยสารฉบับดังกล่าวได้มีการตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งก่อนปี 2550 ได้ใช้กฎหมายพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ข้อมูลเบื้องต้นของสันติบาลและหอสมุดแห่งชาติ ยืนยันตรงกันว่าไม่ได้มีการขออนุญาตจดแจ้งการพิมพ์ เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องดำเนินคดี โดยโทษคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ทางหอสมุดแห่งชาติได้พยายามติดต่อไปยังบรรณาธิการนิตยสายดังกล่าวอยู่นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อดูแล ข้อความนิตยสารฉบับดังกล่าวว่า มีการจาบจ้วงต่อสถาบันเบื้องสูงหรือไม่ แต่คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่จะมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมเป็นคณะกรรมการ

ฟ้าเดียวกัน เป็นวารสารราย 3 เดือน ที่นำเสนอการเคลื่อนไหวทางสังคม ในรูปแบบของขบวนการประชาชนและทางความคิด โดยฉบับแรกวางแผงเมื่อต้นปี พ.ศ. 2546 พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มี ธนาพล อิ๋วสกุล เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

วันที่ 16 กันยายน

ทวิตช่วยชีวิตนักข่าว

บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ เขียนบทความใน นอกบ้านผ่านเมือง ใน  นสพ.คมชัดลึก ถึงความสำคัญของทวิตเตอร์ที่ทำให้ผู้สื่อข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังนาน 5 เดือน โดยเขาได้รับการปล่อยตัววันเดียวหลังจากได้ทวิตเตอร์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่าเขายังไม่ตายและมีชีวิตอยู่

ป่าสวนผึ้งเหยี่ยวข่าวเดลินิวส์ถูกจ้างยิง

นสพ.เดลินิวส์รายงานวันที่ 21 กันยายนระบุว่า ทีมข่าวเฉพาะกิจของ นพส.เดลินิวส์ที่เข้าพื้นที่รายงานข่าวการบุกรุกป่าสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้รับการแจ้งเตือนจาก กอ.รมน.ราชบุรี การเสนอข่าวของเดลินิวส์สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มนายทุนหลายกลุ่มที่เสียประโยชน์ จนลงขันจ้างมือปืนทำร้าย และได้เข้ามาฝังตัวอยู่ที่ จ.ราชบุรี.

วันที่ 22 กันยายน

อนุพงศ์ขอหนีไกลนักข่าว-การเมืองหลังเกษียณ

พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา  ผบ.ทบ.เปิดเผยขณะเข้าร่วมงานเกษียณอายุราชการของนายทหารกองทัพบกที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ จ.นครนายกว่า จะอยู่ห่างจากสื่อมวลชน และอยู่ห่างจากการเมืองให้มากที่สุด

วันที่ 23 กันยายน 2553

สื่อยักษ์ใหญ่เปิดโครงการรำลึก 30 เหตุการณ์สำคัญของโลก

ซีเอ็นเอ็นเปิดโครงการ cnn 30 : were you there  เพื่อรำลึก  30 เหตุการณ์สำคัญของโลก เปิดโอกาสให้ผู้ชมทั่วโลกโพสตร์รูปภาพหรือคลิปวิดีโอที่เป็นความทรงจำเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ www.cnn.com/-30 หรือทางแอพพลิเคชั่นของไอโฟน โดยคลิปและรูปภาพที่ดีที่สุดจะได้ออกอากาศทางช่องซีเอ็นเอ็นอินเตอร์เนชั่นแนล

วันที่ 25 กันยายน 2553

คนข่าวยุคดิจิทัล

กาแฟดำ ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจถึงนักข่าวภาคสนามของเครือเนชั่น โดยเรียกว่าเป็น ทหารเดินเท้าแถวหน้า ที่ต้องลุยไปยังจุดเกิดเหตุโดยยึดหลักความน่าเชื่อถือแม่นยำ และมีเครื่องไม่เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อความคล่องแคล่วในทุกสถานการณ์และพร้อมรายงานสดและอธิบายเบื้องหลังของข่าวพร้อมเล่าเกร็ดและสีสันทุกแง่มุมได้อย่างฉับพลัน โดยกาแฟดำระบุว่าเป็นบันทึกคนข่าวยุคดิจิทัลในสมรภูมิข่าวเดือด และพูดถึงการเสี่ยงภัยของนักข่าวภาคสนามเพิ่มสูงขึ้น และพูดถึงการเปิดตัวหนังสือของคนข่าวเนชั่น 3 คน ที่เล่าเบื้องหลังการเมืองเดือนช่วงมีนาคาถึงเดือนพฤษภาคม

วันที่ 25 กันยายน

สื่อหวั่นการตลาด-อำนาจรัฐคุกคาม

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน(คพส.) ร่วมกับคณะอบรมหลักสูตรผู้บริหารสื่อมวลชนระดับกลางรุ่น 2(บสก.2) โดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “ปฏิรูปสื่อ : ผ่าปัญหา…คว้าทางออก

โดยนางสุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่า การปฏิรูปสื่อเป็นส่วนหนึ่งประกอบหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ โดยสื่อจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อความถูกต้องควบคู่ไปกับการมีเสรีภาพโดยสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้มีกลไกคือ 1.กลไกการตลาดที่สมดุลไม่ให้ตลาดนำเกินไปและไม่ให้รัฐกุมอำนาจได้มากเกินไป 2.กลไกการดูแลไม่ใช่ควบคุม เพราะเมื่อสื่อดูแลตัวเองรัฐก็ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกทางกฎหมายควบคุม เพราะกระทบต่อเสรีภาพ 3.การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการตรวจสอบ และ 4.ความรับผิดชอบของสื่อแบบมืออาชีพ เพราะสื่อเป็นองค์กรที่ถูกคาดหวังสูง

วันที่ 28 กันยายน

นักข่าวภูมิภาคนครปฐมถูกยิงดับ

นายประจวบ  เพ็งเรือง อายุ 50 ปี ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำจังหวัดนครปฐม และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสัปดาห์นิวส์ อยู่บ้านเลขที่ 40/4ม.4 ต.ทัพหลวง อ.เมือง จ.นครปฐมถูกยิงเสียชีวิตที่ริมถนนมาลัยแมน บริเวณหน้าร้านคาราโอเกะน้องปลา เลขที่ 11/33-35 ม.6 ต.วังตะกู อ.เมือง จ.นครปฐม เหตุผู้ตายชวนมือปืนดื่มเบียร์ แต่ถูกปฏิเสธจึงอ้างว่าเป็นนักข่าวสายพระราชสำนัก คู่อริจึงถามว่าใหญ่แค่ไหน ก่อนจะตบจนล้มลง และถูกคู่อริรุมทำร้ายหน้าร้านหลังจากพยายามเดินออกไปจากร้าน และช่วยกันลากออกไปยิงข้างถนนจนเสียชีวิต โดยตำรวจติดตามจับกุมได้ 1 คนหลังก่อเหตุได้เพียงวันเดียวพบประวัติเคยฆ่าคนตายด้วยสาเหตุเพียงเร่งเครื่องรถยนต์เสียงดัง